nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

อย่างนี้หรือคือคำนิยมสำหรับหนังสือดีอย่าง Little Lord Fauntleroy ??


 

ปกหน้า และ ปกหลัง ฉบับแปลของ เนื่องน้อย ศรัทธา พิมพ์ครั้งที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๒๐   

          Little Lord Fauntleroy เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก เขียนโดย Frances Hodgson Burnett เด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกอ่านและรักหนังสือเล่มนี้ ถูกนำไปสร้างเป็นหนังก็หลายครั้ง

          ฉันไม่รู้ว่ามีการแปลเป็นภาษาไทยกี่ครั้ง แต่ฉันมีฉบับที่แปลโดย เนื่องน้อย ศรัทธา ใช้ชื่อว่า ลอร์ดน้อยฟอนเติ้ลรอย (พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยบริษัทการพิมพ์สตรีสาร)

         อ่านหนังสือเรื่องนี้หลายรอบ ได้ดูหนังอีกหลายผู้สร้าง ไม่มีข้อสงสัยว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่ามาก

         หากใครได้อ่านจะหลงรักทั้งหนังสือ และตัวละครที่ชื่อลอร์ดฟอนเติ้ลรอย ที่มีความบริสุทธิ์ สดใส จิตใจดี มองโลกและผู้คนรอบตัวในแง่ดี ควรแล้วที่จะแนะนำให้เด็กๆ อ่าน รวมทั้งผู้ใหญ่หากได้อ่านจะอ่านไปยิ้มไปอย่างมีความสุข

          วันก่อนไปร้านหนังสือ เจอฉบับแปลอีกสำนวน ชื่อไทย เจ้าน้อย ฟอนเติ้ลรอย แปลโดย แก้วคำทิพย์ ไชย (พิมพ์ครั้งที่ ๕) สำนักพิมพ์คลาสสิก ไม่ระบุปีที่พิมพ์ ซื้อมาอ่านอีกรอบ


          ที่ปกหน้าหนังสือมีตรากระทรวงศึกษาธิการ เขียนว่า “หนังสืออ่านนอกเวลา สาระการเรียนรู้ภาษาไทย สพฐ. นับแต่ปี ๒๕๕๔”

          ปกหลังมี “คำนิยม” ที่น่า “แปลกใจ” และ “ไม่เข้าใจ” ว่าสำนักพิมพ์เลือกมาพิมพ์ไว้ได้อย่างไร???

“นี่คือ หนังสือชุดที่คุณต้องมีไว้ประจำบ้าน

พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

คุณค่าของหนังสือชุดนี้เล่มนี้ไม่มีความจำเป็นต้องพูดถึง

โลกหนังสือทั้งโลกค้ำประกันคุณภาพอยู่แล้ว

ไม่ว่าคุณจะเป็นหนอนหนังสือ หรือคนที่ไม่จับหนังสือเลย

คุณจักต้องมีหนังสือชุดนี้ไว้ในครอบครอง

เพราะหนังสือชุดนี้แสดงถึง ภูมิปัญญาของคุณ และครอบครัวคุณ

ว่ารู้จักงานด้านปัญญาอันยิ่งใหญ่

เพราะหนังสือชุดนี้เป็นวรรณกรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลก

เป็นงานวรรณกรรมที่ผู้คนต่างยกย่องว่า ดี วิเศษต่อภูมิปัญญา

คุณอย่าได้แปลกใจหากได้ยินผู้คนกล่าวขานถึงหนังสือเล่มนี้

โดยเฉพาะเมื่อออกจากปากของทั้งคนชั้นนำของโลก ของประเทศ หรือชาวบ้านทั่วไป

ทั้งประธานาธิบดี รัฐมนตรี อภิมหาเศรษฐี หรือ วงศาคณาญาติของคุณ

เพราะนี่คือ งานวรรณกรรมอมตะของโลก

จงมาร่วมสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทย ให้ก้าวไกลทันร่วมโลก

วรรณกรรมอมตะ แม้นหากมีวางในห้องรับแขก

ก็จักหนุนส่งท่านให้มีสถานภาพที่ผู้คนมองด้วยความชื่นชมมากขึ้นได้

http://www.facebook.com/pradeum.konsu 

------------------------

         โดยปกติ “คำนิยม” เป็นการกล่าวถึงสาระที่เป็นคุณค่าในหนังสือ เพื่อแนะนำ เชิญชวนให้ซื้ออ่าน แต่ข้อความหลังปกหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แน่ๆ

          คงไม่มีใครซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่อ “แสดงถึง ภูมิปัญญาของคุณ และครอบครัวคุณว่ารู้จักงานด้านปัญญาอันยิ่งใหญ่...”หรือ “....มีวางในห้องรับแขกก็จักหนุนส่งท่านให้มีสถานภาพที่ผู้คนมองด้วยความชื่นชมมากขึ้นได้

          การเลือกคำนิยมแบบนี้มาพิมพ์ ตีความตามตัวอักษรได้ว่า มุ่งหวังเพื่อให้คนซื้อไปมากๆ เพื่อประดับห้องรับแขก อ่านหรือไม่อ่านก็ช่างคุณ

          ตื้นเขิน และเปลือก.

อาทิตย์ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 575101เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

คนเขียนคำนิยม อาจไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของหนังสือเล่มนี้อย่างน้องnui ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ GD ค่ะที่เข้ามาอ่าน

ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ ค่ะ

คนทำหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเอา่ใจใส่เป็นพิเศษค่ะ เพราะหนังสือเป็นสื่อที่ปลูกฝังเรื่องการให้คุณค่าต่างๆ  

คำนิยมปกหลังนี้เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าปลอมๆ 

ความบริสุทธิ์ สดใส จิตใจดี มองโลกและผู้คนรอบตัวในแง่ดี ...  แค่นี้ก็ดูว่าดีจริงๆๆ นะคะ  ... ต้องไปหาอ่านบ้างแล้ว นะคะ  ขอบคุณนะคะ

 

ดูแปลก ๆ ดีไปอีกแบบนี้พี่นุ้ย

อ่านแล้วจะชอบนะคะพี่ Dr. Ple

เพิ่งเคยเห็นค่ะน้องครู  คุณมะเดื่อ เพราะถ้าเราจะปลูกฝังให้เด็กๆ อ่าน ต้องชี้ให้พวกเขาเห็นคุณค่าแท้จริงของสาระในหนังสือจะงดงามกว่า

ช่างคิดคำนะคะลุง  วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ไปงานเลี้ยงเกษียณกี่งานแล้วคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท