​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๐. เยือนเมืองแห่งอีกา


          สถาบันคลังสมองของชาติจัดการศึกษาดูงาน เรื่องพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (University Engagement) ที่ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เริ่มด้วยการเข้าร่วมการประชุม 2014 Engagement Australia Conference 21-23 July 2014 ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt เมือง Wagga Wagga, NSW ทำให้ผมได้รู้จัก “เมืองแห่งอีกา” เพราะคำว่า Wagga (อ่านว่าว้อกก้า แต่บางคนก็ออกเสียง แว้กก้า) เป็นภาษาพื้นเมือง ออสเตรเลีย แปลว่าอีกา

          เราเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิค่ำวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ด้วย TG 475 ไปยังซิดนีย์ ถึงเวลา ๗ น. เศษ ของวันที่ ๒๐ แล้วไปรอคิวตรวจคนเข้าเมืองเกือบ ๒ ชั่วโมง จึงออกมาขึ้นรถโค้ช ๒๔ ที่นั่ง ไปยังเมือง Wagga Wagga ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คืออยู่ครึ่งทางระหว่าง ซิดนีย์กับเมลเบิร์น แต่ว้อกก้าว้อกก้าอยู่เข้าไปในทวีป ไม่ได้อยู่ที่ชายฝั่งทะเลอย่างเมืองอื่นๆ จัดเป็นเมือง ในแผ่นดินที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ นิวเซ้าธ์เวลส์ แต่ก็มีประชากรไม่ถึง ๕ หมื่นคน

          เราแวะเที่ยวเมือง Kiama (อ่านว่า ไคอามา) เพื่อชม Blowhole ที่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก Kiama Blowhole น่าจะจัดได้ว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ทางธรรมชาติ อาจเรียกว่าน้ำพุก็ได้ เป็นน้ำพุที่เกิดจากแรงดัน จากคลื่นซัดชายฝั่ง อัดเข้ามาในช่องระหว่างหินที่น่าจะเป็นลาวาภูเขาไฟที่ชายฝั่ง นอกจาก Blowhole แล้ว คลื่นที่แนวชายฝั่ง ที่ซัดโขดหินแตกเป็นฟองขาว ก็สวยงามมาก

          หลังจากแวะกินอาหารเที่ยงระหว่างทาง ที่เมือง Bandanoon เราไปชมวัดป่าสุญญตาราม ที่เมืองนี้ ที่มีคนไทยจากซิดนีย์ไปช่วยกิจการของวัดที่มีการก่อสร้างขยายอยู่เรื่อยๆ

          กว่าจะถึงโรงแรม Murcure ก็ปาเข้าไปเกือบสองทุ่ม อุณหภูมิ ๖ องศาเซลเซียส เรากินอาหารเย็น ที่โรงแรม แล้วเข้าห้องพักผ่อน เพราะเดินทางกันมาตลอดวัน

          เช้าวันที่ ๒๑ กรกฎาคม อุณหภูมิ ๓ องศา ผมออกไปวิ่งชมเมืองตอน ๗ น. เพราะรอให้สว่าง ที่นี่อาคารสูง ๑ - ๒ ชั้นเท่านั้น เพราะที่ดินเหลือเฟือ และมีสวนสาธารณะและสนามกีฬาใหญ่โตมากอยู่ใกล้ๆ เห็นนกเกาะสายไฟ นึกว่าถ้าเป็นบ้านเราก็ต้องเป็นนกเขา แต่ที่นี่เป็นนกแก้ว เกาะอยู่เป็นคู่ๆ วิ่งไปเจอนกสีดำ คล้ายอีกาตัวเดียว ที่ปีกมีสีขาวด้วย แต่ตัวเล็กกว่าอีกาบ้านเรา มีคนบอกว่าที่โรงแรมก็ได้ยินเสียงร้อง และในวันหลังผมเห็นอีกาแบบที่บ้านเราสองตัว

          ถนนที่นี่มีทางเท้ากว้างเมตรเศษๆ อยู่ห่างจากถนนประมาณ ๒ - ๓ เมตร เป็นทางเท้าที่ราบเรียบ และสะอาด มีสนามหญ้าคั่นออกจากริมถนน ผมจึงวิ่งออกกำลังอย่างสบาย มีดอกไม้ตามบ้านบ้างเล็กน้อย ส่วนต้นไม้ยืนต้นยังไม่ผลิใบ เพราะยังอยู่ในฤดูหนาว ซึ่งอากาศเย็นลงเรื่อยๆ บ้านคนส่วนใหญ่เป็นบ้าน ชั้นเดียว มีรั้วพอจะบอกว่าเป็นบริเวณบ้าน ไม่เป็นรั้วกันขะโมยแบบบ้านเรา สภาพเมืองบอกว่าเป็นเมือง บ้านนอก

          เช้าวันที่ ๒๒ ผมออกไปวิ่งเวลา ๖.๓๐ น. อากาศเย็นลงไปอีก และเช้าวันที่ ๒๓ ก็ยิ่งเย็นลงไปอีก แต่ผมไม่ได้ออกไปวิ่ง ตอนเช้าวันที่ ๒๓ เวลา ๘.๓๐ น. เราไปขับรถชมบริเวณมหาวิทยาลัย Charles Sturt University (CSU) พบว่า บนยอดหญ้ายังมีแม่คะนิ้ง หรือเหมยขาบ เกาะอยู่ มีคนบอกว่า ตอน ๖ โมงเช้าอุณหภูมิ - ๑ องศา

          บ่ายวันที่ ๒๓ เรานั่งรถกลับไปซิดนีย์ สองข้างทางเป็นลาดเขาที่มีทุ่งหญ้า ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่บ้าง สวยงามมาก มีฝูงวัว และฝูงแกะ เป็นระยะๆ บางช่วงมีหินเป็นก้อนขนาดเล็กใหญ่ต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาด เท่าตัวแกะไปจนถึง ๑๐ - ๒๐ เท่าของตัวแกะ ใช้เวลาประมาณ ๖ ชั่วโมง มีช่วงหยุดพัก ๒ ช่วง แต่ไม่ได้ไป ชิมไวน์ตามกำหนดการเดิม เพราะไม่อยากถึงซิดนีย์ดึกเกินไป

          ผมได้ความรู้ว่า เมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในทวีป อากาศหนาวกว่าเมืองชายทะเล


Kiama Blowhole ยามน้ำพุ่ง


ยามน้ำลด


คลื่นซัดชายฝั่ง


บรรยากาศบริเวณ Blowhole


บรรยากาศในสวนสาธารณะ


วัดป่าสุญญตาราม


ฟังเรื่องราวของวัดป่าสุญญตาราม คนที่ไม่อยู่ในภาพคือ ผศ. ดร. ทพ. อนุพันธุ์ กับผม


Wombat สัตว์ในตระกูล Marsupials


ลู่วิ่งยามเช้า อุณหภูมิ _ องศา


นกแก้วเกาะสายไฟ


อีกลู่วิ่ง


แม่คะนิ้งที่ ว้อกก้าว้อกก้า


บรรยากาศกาศยามเช้า โปรดสังเกตแม่คะนิ้งที่สนาม

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 574939เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2014 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2014 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภาพสวยงามมากค่ะ

และ University - Community Engagement เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยไทยต้องนำมาเติมเต็มพันธกิจที่ทำอยู่แล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท