วิถีไทย : ชาวน้ำปาดชีวิตความผูกพันธ์กับ "ผ้าทอ"


มีอยู่ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสเดินทางไปที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำการสรุปผลการวิจัยเรื่องผ้าทอของจังหวัดอุตรดิตถ์


วันนั้นผมเดินทางไปกับพี่น้อย (อ.วันธะนา) และ พี่ปัด (อ.ปัญณิตา)ครั้นเมื่อถึงบ้านของพี่ลำบอง หลวงมั่ง ผมก็ได้พบกับคุณยายคนหนึ่ง จากนั้นเมื่อคุยกันได้สักพักคุณยายก็ได้ชวนผมเดินไปที่บ้านของท่านเพื่อดูผ้าทอที่ท่านกำลังทออยู่


ผมจึงรีบไขว่คว้าโอกาสที่แสนดีนั้นไว้ครับ ไม่พลาดที่จะเข้าไปสัมผัสกับวิถีไทยแบบลึกซึ้งจากคุณยายซึ่งเปรียบเสมือนปราชญ์ทางด้านผ้าทอที่สืบทอดภูมิปัญญามานานนับร้อย ๆ ปี

ซึ่งก่อนอื่นผมขออนุญาตเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชาวน้ำปาดที่มีวิถีชีวิตกับผ้าทอเพื่อเป็นการศึกษาบริบทของชาวน้ำปาดจังหวัดอุตรดิตถ์ครับ


เมืองน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

คนน้ำปาดแต่เดิมที่เข้ามาอาศัยเป็นลาวโซ้ง ครั้งแรกได้อพยพเนื่องจากสงครามและการต่อสู้ โดยอพยพเคลื่อนย้ายมาจากเมืองหลวงพระบาทประเทศลาว และถอยถิ่นลงมาเรื่อย ๆ จนมาพบสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ คือ แม่น้ำปาด จากนั้นจึงได้ตั้งรกรากอยู่จนถึงปัจจุบัน

ชาวน้ำปาดในปัจจุบันยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษา ประเพณี วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งเกิดจาการคิดค้น ศึกษาวิจัยของบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่สังเกตคนสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเช่น การมองเห็นดอกไม้แก้วก็นำมาคิดค้นเป็นลายผ้าออกมาเป็นลายดอกแก้ว ลายพญานาค ลายกาบเตยอุ้ง อึ่งอ่าง ลายน้ำไหลน้ำปาดลายจก ลายขิต ลายสิงห์

ชาวน้ำปาดเดิมมักทอผ้าในยามว่าง ในยามค่ำคืนก็จะมีการเขนฝ้าย ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาวกำลังหัดทอผ้า ซึ่งการทอผ้านั้นเปรียบเสมือนความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงน้ำปาดในอดีต เพราะหากทอผ้าไม่เป็นก็หมายถึงผู้สาวนั้นก็จะไม่มีชายหนุ่มมาขอแต่งงาน ถ้าทอเป็นก็จะมีผู้บ่าว (ชายหนุ่ม) มาเกี้ยวพาราสี (การจีบกันของหนุ่มสาวสมัยก่อน เริ่มจากการหัดทอผ้าฝ้าย ต่อมาจึงมีวัฒนธรรมการเพิ่มลวดลายผ้าลายต่าง ๆ )


 เป็นที่กล่าวขานกันมานานว่า ผู้หญิงชาวน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความสามารถในการทอผ้ากันทุกครัวเรือน ผ้าที่จะเริ่มหัดทอก็คือผ้าห่ม ย่าม ผ้าขาวม้า และผ้าที่ต้องนำมาในงานพิธี เช่น “ผ้าล้อ” ซึ่งเป็นผ้าโบราณที่มีลดลายมากมายจนชาวบ้านเรียกว่า “ลายครู” เพราะสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการแกะลายประยุกต์ขึ้นมาเป็นลายผ้าใหม่ ๆ ปัจจุบันนี้มีการทอผ้าคลุมไหล่เลียนแบบลวดลายของ “ผ้าล้อ” โดยให้โทนสีกลมกลืนกันมากขึ้น เช่นลายกาบปิ่น สลับกับลายขอดอกรักสลับกับลายหนามเตย

หมายเลขบันทึก: 57440เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2006 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฟังเพลงออนไลน์ 24 ชั่วโมง สดๆกับดีเจที่ สถานีวิทยุFM 104.75MHz คลื่นฮอตเรดิโอ น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ได้ที่นี่ครับ www.frontfriendservice.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท