ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 47: กริยารับช่วง (Infinitive)


มาถึงบทที่ 47 ด้วยความทุลักทุเล ทั้งลูกศิษย์และครู ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เขียนบทที่ 46 ผู้เขียนมีงานยุ่งๆ หลายอย่าง ไม่ใช่ว่าไม่มีเวลา แต่ไม่มีสมาธิจดจ่อพอจะเขียนให้จบได้ บางเรื่องถ้าไม่มีเวลาต่อเนื่องก็จะเขียนลำบาก เพราะต้องเปิดตำรา เอกสารหลายเล่ม จึงจะออกมาเป็นบทเรียนสั้นๆ อย่างนี้ แม้จะมีบทเรียนสำเร็จมาให้ (A Sanskrit Primer) แต่การถอดมาเป็นภาษาไทยต้องปรับปรุงและค้นเพิ่มอีกไม่น้อยเลย

ผู้ที่ติดตามบทเรียนสันสกฤต จะค่อยๆ เห็นความน่าประทับใจของการเรียบเรียงตำรานี้ ที่ลำดับความยากง่ายอย่างเหมาะสม การเขียนตำราสันสกฤตนั้นยากมาก เพราะมีหลากหลายประเด็น ทำอย่างไรจึงหลวมรวมทุกเนื้อหาทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วค่อยๆ ทยอยป้อนออกมาตามลำดับความยากง่าย ถึงระดับนี้ผู้เรียนสามารถแจกรูปนามได้เกือบทั้งหมด รู้จักสนธิสระ พยัญชนะ และแจกกริยาได้มากพอสมควร การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จะอาศัยความรู้ขั้นต้นมาประกอบด้วยเสมอ ดังนั้นผู้เรียนต้องทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอด้วย

พูดมามากแล้ว เข้าบทเรียนเลยดีกว่าครับ....

กริยารับช่วง
กริยาย่อยอีกประเภทหนึ่ง ที่ใช้กันมาก คือกริยารับช่วง สร้างโดยลงปัจจัย “ตุมฺ” ที่ธาตุ ตรงกับในภาษาอังกฤษ infinitive อินฟินิทีฟ
ความหมายของกริยาตุมก็คือ กริยาย่อยชนิดหนึ่ง ไม่เปลี่ยนรูป จึงไม่มีกาล ไม่มีบุรุษ พจน์ เพศ ใดๆ ทั้งนั้น เติมแล้วก็เป็นอันจบเรื่อง และเนื่องจากเป็นกริยาย่อย จึงต้องมีกริยาหลักเป็นตัวยืนเสียก่อน กริยาย่อยนี้จึงรับช่วงทำงานต่อ เช่น ในกรณีที่ ฉันวิ่งไปดื่มน้ำ กริยา “ดื่ม” รับช่วงจาก “วิ่ง” I run to drink. อธิบายง่ายๆ ก็ว่าตรงกับกริยาเติม to ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

ก.การสร้างรูป
2.หลักการง่ายๆ ของการสร้างกริยารับช่วงก็คือ ลงปัจจัย ตุมฺ (หรือ อิตุมฺ) ข้างหลังธาตุ โดยทำคุณเสียก่อน (ถ้าทำได้). แต่หากธาตุลงท้ายด้วยพยัญชนะ ก็จะต้องสนธิด้วย

3. การเติม ตุมฺ
3.1 เติมเข้ากับธาตุที่ลงท้ายด้วยสระ (ยกเว้น อู และ ฤ ที่เปลี่ยนรูปมา) เช่น √ปา> ปาตุมฺ,√ทา> ทาตุมฺ,√ชิ> เชตุมฺ,√นี> เนตุม,√ศฺรุ > ศฺโรตุมฺ, √กฺฤ > กรฺตุมฺ
3.2 ธาตุจำนวนหนึ่งที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะ. ถ้าลงท้ายด้วย กฺ ตฺ ปฺ สฺ พยัญชนะเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเติม ตุมฺ เช่น √ศกฺ > ศกฺตุม, √มนฺ > มนฺตุมฺ, √อาปฺ > อาปฺตุมฺ, √กฺษิปฺ > กฺษิปฺตุม, √ลุปฺ > ลุปฺตุม, √ศปฺ (สาป) > ศปฺตุม, √วสฺ (อาศัย) > วสฺตุมฺ
ส่วนพยัญชนะท้ายอื่นๆ จะเปลี่ยนตามกฎสนธิ (แบบเดียวกับการเติม ต) เช่น

  • √ปจฺ > ปกฺตุมฺ
  • √ตฺยชฺ > ตฺยกฺตุมฺ
  • √ทฺฤศฺ > ทฺฤษฺฏุมฺ (ตัวนี้พิเศษหน่อย, เมื่อเติม ตุมฺ, ศ จะเปลี่ยนเป็น ษ, แล้ว ต จะเปลี่ยนเป็น ฏ)
  • √สฺปฺฤศ > สฺปฺฤษฺฏุม
  • √กฺฤษฺ > กฺฤษฺฏุม,
  • √ปฺรฉฺ > ปฺรษฺฏุมฺ
  • √ยชฺ > ยษฺฎุมฺ
  • √สฺฤชฺ > สฺฤษฺฏุมฺ
  • √กฺรุธฺ > กฺโรทฺธุมฺ (เปลี่ยน ต เป็น ท แล้วเลื่อนเสียงลมหายใจมาก จากข้างหน้าไปข้างหลัง)
  • √ลภฺ > ลพฺธุมฺ (เหตุผลเดียวกับข้างบน)
  • √รุหฺ > โรฒุมฺ (หฺ กับ ตฺ ประสมเป็น ฒฺ เลย)
  • √วหฺ > โวฒุมฺ (พิเศษ)
  • √ทหฺ > ทคฺฆุมฺ (กรณีนี้ หฺ มาจาก คฺฆ เมื่อเติม ตุมฺ จะกลับไปใช้รูปเดิม)
  • √นหฺ < นทฺธุมฺ (กรณีนี้ หฺ มาจาก ธฺ เมื่อเติม ต จึงเปลี่ยนเสียง และเลื่อนเสียงลมหายใจมาก)

พยัญชนะท้าย ทฺ จะเปลี่ยนเป็น ตฺ, พยัญชนะ มฺ จะเปลี่ยนเป็น นฺ (ตามหลักสนธิปกติ) เช่น
อทฺ > อตฺตุม, วิทฺ > วิตฺตุม (หรือเติม อิตุมฺ เป็น วิทิตุมฺ ก็ได้) คมฺ > คนฺตุมฺ

4. กณีที่แทรกเสียง อิ ก่อนเติม ตุมฺ (เรียกง่ายๆ ว่า เติม อิตุมฺ) ก็เมื่อเสียงท้ายเป็นสระ อู และธาตุ ศี, และธาตุอื่นๆ อีกไม่มาก ซึ่งมักจะเป็นพวกลงท้ายด้วยพยัญชนะ, และธาตุที่ลงปัจจัยพิเศษแล้ว (กรรมวาจก บอกเหตุ ฯลฯ)
เช่น √ภู > > ภวฺ > ภวิตุมฺ, √ศี> ศยฺ > ศยิตุมฺ, √อีกฺษฺ > อีกฺษิตุมฺ, √วนฺทฺ > วนฺทิตุมฺ, √คุหฺ > คูหิตุมฺ (คูหฺ เมื่อนำมาใช้จะยืดเสียง)

5. กริยาบอกเหตุ และนามธาตุ ที่ต้องเติม อย, จะใช้ อยิตุมฺ ธาตุจะนำไปทำเป็นรูปปัจจุบัน เช่น √จุรฺ > โจรยิตุมฺ, √กถฺ > กถยิตุมฺ,

√ตฑฺ > ตาฑยิตุมฺ

6. ธาตุบางตัวที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะ อาจแทรก อิ หรือไม่ก็ได้ เช่น √มฺฤชฺ > มารฺชิตุมฺ หรือ มารฺษฺฏุมฺ (ในการแจกรูป ธาตุ

√มฺฤชฺ จะทำพฤทธิเสมอ) ,

ข.การใช้กริยารับช่วง
1. ใช้เทียบเท่ากับกรรมของกริยา หรือกรรมวาจก โดยเฉพาะของกริยา √ศกฺ (สามารถ, can) และ √อรฺถฺ (ควรค่าที่จะ..) เช่น กถยิตุมฺ กศฺโรติ เขาสามารถที่จะบอก. ศฺโรตุมรฺหติ กุมาระ “เจ้าชายควรได้ยิน” ธาตุ อรฺหฺ นั้นมักจะใช้กับกริยารับช่วง เพื่อบ่งบอกการขอร้องอย่างนอบน้อม หรือเสนอความเห็นด้วย ดังในประโยคที่สอง. บางครั้งเราใช้กริยารับช่วงกับกริยาแสดงการเคลื่อนไหว และกริยาที่หมายถึง ปรารถนา หวัง สังเกต รู้ เป็นต้น

2. บ่อยครั้งที่กริยารับช่วงไม่ได้มีความหมายเป็นกรรมการก แต่มีความหมายเป็นการกอื่น เช่น ภวติ โภกฺตุมนฺนมฺ = อาหารมีอยู่เพื่อกิน นั่นคือ มีอาหารสำหรับกิน. สมรฺโถ คนฺตุมฺ = ความสามารถที่จะไป. แม้กระทั่งใช้เสมือนกรรตุการก ก็มิใช่ว่าจะไม่มี

เรื่องที่ว่ากริยารับช่วงจะเป็นการกอะไรนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ขึ้นกับความหมาย และเป็นการอธิบายเชิงเปรียบเทียบ ภาษาอังกฤษอาจมองว่าเป็นการกที่ 6 (ของ แห่ง) แต่ในภาษาไทยอาจมองว่าเป็นการกที่สองคือ กรรม ก็ได้ ที่สำคัญคือ เป็นกริยาที่ถูกส่งต่อจากกริยาอื่น อาจส่งมาจากกริยาหลัก หรือกฤตตัวอื่นๆ ก็ได้

  • 3. บางกรณี กริยารับช่วงมีความหมายกึ่งๆ กรรมวาจก เช่น กรฺตุมารพฺธะ = เริ่มแล้วที่จะถูกทำ (อารพฺธ = การเริ่ม) (ไม่ใช่ทำด้วยตนเอง). ศฺโรตุมฺ น ยุชฺยเต. = ไม่เหมาะที่จะถูกฟัง (ไม่ใช่สิ่งนั้นฟังเอง) ทั้งยังพบได้บ่อยร่วมกับรูปกรรมวาจกของ ศกฺ เช่น
  • ตฺยกฺตุมฺ น ศกฺโรติ. เขาไม่สามารถที่จะทิ้ง. แต่
  • ตฺยกฺตุมฺ น ศกฺยเต. เขาไม่สามารถที่จะถูกทิ้ง.

ทั้งสองประโยค ใช้ ตฺยกฺตุมฺ เหมือนกัน แต่ประโยคล่าง กรรมวาจก จะแปลกริยารับช่วงเป็นกรรมวาจก
นเรา ศกฺยาวิหาเนตุมฺ (ศกฺเยา อิห อานี+ตุม) ชายทั้งสองไม่สามารถถูกนำมาที่นี่ (ในที่นี้ไม่มีกริยาหลัก)

ธาตุที่ควรรู้ 

โปรดสังเกตเสียงเน้น (คำขีดเส้นใต้) ศัพท์ง่ายจะไม่แจกรูปให้ดู

  • √อรฺหฺ (รหติ) มีสิทธิ เหมาะ
  • √อาปฺ + สมฺ
  • √กฺฤ+อป-อา.  จ่าย
  • √คมฺ+ อภิ (อภิจฺฉติ) เยี่ยม เข้าไป
  • √คาหฺ+อว (อวคาหเต) ดำลงไปใต้ (ตามด้วยกรรมการก)
  • √ตปฺ (ปติ, -เต) เผา, ไหม้, เจ็บ, เป็นทุกข์ (กรรมวาจก), ทำตบะ 
  • √ธา+วิ.  จัด แต่ง เรียง
  • √นฺฤตฺ (นฺตฺยติ) เต้นรำ
  • √ภู + ปฺร. สามารถ กล้า,
  • √วฺฤตฺ + ปฺร (ปฺรรฺตเต) ดำเนินต่อ

แบบฝึก

แต่งประโยคจาก กริยา ตุมฺ ในบทเรียน 5 ประโยค

หมายเลขบันทึก: 574164เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2014 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2014 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เผอแป๊บเดียว ..  บทที่  47 แล้วนะคะ  ขอบคุณค่ะ

ส่งการบ้านค่ะ อิอิ

1.) อหํ จิกิตฺสาลยมาคจฺฉามฺยภิคนฺตุมฺ วฺยาธิตามฺ กนฺยามฺ ศยฺยามฺ
ฉันมาโรงพยาบาลเพื่อที่จะมาเยี่ยมหญิงที่นอนป่วยอยู่บนเตียง

2.) สา ปาทตฺเรเณ ปณเต นฺรตฺตุมฺ
เธอซื้อรองเท้ามาคู่นึงเพื่อเอาไว้ใช้เต้นรำ

3.) สรฺวาหฺณมฺ น วทติ ศิวมฺ ตปฺตุมฺ
เขาไม่ยอมพูดทั้งคืนเพื่อที่จะทำตบะถึงพระศิวะ

4.) อหมฺ อูกฺตฺวา ตมฺ ปฺรีณยิตุมฺ
ฉันพูดเพื่อให้เขายินดี

5.) คฺฤเห สฺถิตะ ปกฺตุมฺ
ฉันอยู่ในบ้านเพื่อทำกับข้าว

Thank you for your much appreciated generosity in sharing your knowledge and your time.

I have a question though ;-) Would it be more politically correct to say กุมาระ = เด็ก/ลูก-ชาย (in your ศฺโรตุมรฺหติ กุมาระ “เจ้าชายควรได้ยิน”)?

ชื่มชมครับ เป็นภาษาที่ยาก แต่น่าสนุกนะครับ ถ้าเราแปลบทสวดมนต์ทุกวันได้ มหัศจรรย์ครับ...เพราะเสียงทำนองเขาเหมือนใบโพธิ์บนต้นแกว่งไปแกว่งมาตามแรงลม ราวเสียงดนตรีครับ

"เรา..คงจะแก่..ที่จะเรียน..อิอิ"..

มีดอกไม้มาฝาก..คุรุ..เจ้าค่ะ

สวัสดีครับ 

พี่ Dr. Ple คุณ ทิมดาบ และคุณ ยายธี

ภาษาสันสกฤตมีกฎเยอะครับ เลยเรียนยุ่งยากหน่อย แต่ถ้ากำหนดเวลาดีๆ วันละนิดๆ หน่อยๆ ก็บริหารสมองได้เหมือนกัน อิๆๆ

คุณ sr

ประโยคที่ยกมา ส่วนมากจะมาจากหนังสืออื่น ก็เลยแปลไปตามเนื้อหาเดิมครับ

อันที่จริง แปลได้ทั้ง ลูกชาย เจ้าชาย หรือเจ้าบ่าวก็ได้ครับ ในที่นี้คงมาจากนิทานอะไรสักเรื่อง

คุณ ศรีฯ

3.) สรฺวาหฺณมฺ น วทติ ศิวมฺ ตปฺตุมฺ=> ตปิตุมฺ (ป มักจะเติม อิตุมฺ)

เขาไม่ยอมพูดทั้งคืนเพื่อที่จะทำตบะถึงพระศิวะ

5.) คฺฤเห สฺถิตะ ปกฺตุมฺ => คฺฤเห ติษฺฐามิ ปกฺตุมฺ. 

สฺถิตะ เป็น เอกพจน์ แต่ไม่ระบุบุรุษ จึงไม่แปลว่า ฉัน

ถ้าจะใช้ ฉัน ต้องเป็นอาขยาต หรือใช้กฤตอื่น แล้วมี อหมฺ ก็ได้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท