ลุงเหมย
ข้าราชการครูบำนาญ นายชุมพล บุญเหมย

พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบและบุตรที่ประเสริฐที่สุด ตอนที่ ๘


  ขอน้อมกราบบุญบารมีธรรมของกัลยาณธรรมและรัตนมิตรของอีตาลุงเหมยทุกท่านครับ......ในช่วงนี้ก็คาดว่าทุก ๆ ท่านก็คงเตรียมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างเพื่อจะได้นำมาใช้ในงานวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม นี้....ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานคำขวัญเนื่องในวันแม่ปีนี้แด่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า.....รักเรียน รู้งาน ถนอมบ้านเมืองไทย ร่วมใจสามัคคี คือลูกที่ดีของพ่อแม่ .....ทั้งนี้รวมถึงท่านที่ยังมีคุณแม่อยู่เป็นร่มโพธิ์ทองของบ้าน และท่านที่เป็นแม่ของบุตรแก้วทุกท่าน....วันนี้อีตาลุงก็จะมาว่าต่อถึงเรื่อง...พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบและบุตรที่ประเสริฐสุด ซึ่งเป็นตอนที่ ๘ แล้ว....คราวก่อนได้นำเอาโอวาทของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสำนักสวนโมกขพลาราม ได้เมตตาบรรยายให้กับสาธุชนว่า...ให้สาธุชนได้ปฏิบัติตามหลักของฆราวาสธรรม ๔ ซึ่งประกอบด้วย สัจจะ , ทมะ , ขันติ , และจาคะ

        ข้อที่ ๑ สัจจะ คือความจริง ต้องเป็นคนซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน ต้องเป็นคนจริง จริงต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จริงต่อการงาน จริงต่อเวลา แล้วที่ดีที่สุดนั้น ก็คือ จริงต่อความเป็นมนุษย์ ..... คนโดยมากไม่จริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน ไม่ยอมรับรู้ว่า เป็นมนุษย์นั้นจะต้องเป็นกันอย่างไร ถึงไหน ก็ไม่รู้จักจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน ถ้าจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตนได้ มันก็จริงต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้ ฉะนั้นขอให้จริงต่อความเป็นมนุษย์ คือให้เป็นมนุษย์กันให้จริง ๆ ..... ถ้ามีใครมาด่าเราว่า ไอ้สัตว์ เราก็โกรธสุดขีด แต่ทำไมเรายังไม่เป็นมนุษย์ ยังเป็นสัตว์อยู่ ฉะนั้นเรามีความจริงที่จะเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์กันเสียก่อน ตั้งใจจะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์กันเสียก่อน ข้อนี้เรียกว่า...สัจจะ คือความจริงฝังแน่นอยู่ในจิตใจ

          ข้อที่ ๒ ถัดไปเรียกว่า ทมะ (อ่านว่า ทะ – มะ ) คือ การบังคับตัวเอง , บังคับตัวเองคือบังคับจิต , บังคับจิตคือบังคับกิเลสที่จะเกิดขึ้น นี้เรียกว่า การบังคับตัวเอง ..... มีสัจจะตั้งไว้อย่างไร ก็บังคับตัวเองให้เป็นไปอย่างนั้น ถ้าไม่บังคับ มันก็รักษาสัจจะไว้ไม่ได้ มันก็เป็นไปเสียทางอื่น นี้เราจะต้องมีการบังคับตัวเอง จึงจะรักษาสัจจะไว้ได้ ทีนี้ การบังคับตัวเองต่อสู้กับกิเลสนั้น มันก็เจ็บปวดบ้าง เพราะมันอยากจะไปทำตามอำนาจของกิเลส เช่น อยากจะไปดูหนัง ไปดูละคร อยากจะไปเล่นการพนัน ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน อะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของกิเลส นี่เราบังคับ พอบังคับมันก็เจ็บปวด ไม่ได้ไปดูหนัง ไม่ได้ไปเที่ยวกลางคืน ไม่ได้ไปทำอบายมุข มันก็เจ็บปวด ก็ต้องทน

          ข้อที่ ๓ ขันติ แปลว่า ความอดทน ทนทุกอย่างแหละ แต่ว่าทนที่ดีที่สุดนั้น คือทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ทนหนาว ทนร้อน ทนเจ็บไข้ ทนเขาด่า อย่างนี้ไม่ดีเท่ากับว่า ทนต่อการบีบบังคับของกิเลส กิเลสจะไสหัวให้ไปทำชั่ว เราก็ไม่ทำ เราทนต่อการบีบบังคับของกิเลส คนที่บังคับตัวไม่ได้ ก็นั่งขีดทรายเสีย ไม่นั่งฟัง เห็นไหม ? เพราะ ไมมีขันติ ไม่มีความอดทน ที่จะบังคับตนให้อยู่ในระเบียบ นั่งตรงนี้ก็นั่งขีดทรายเสีย ก็ไม่ได้ฟัง เพราะว่าไม่มีขันติ คือความอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส นิดเดียวที่จะเล่นสนุกอยู่ตรงนี้อีก ให้รู้ความอดทนมันเป็นอย่างนี้ ..... เดี๋ยวนี้มีแดดหน่อยก็ไม่ทน ฝนหน่อยก็ไม่ทน หนาวหน่อยก็ไม่ทน ร้อนหน่อยก็ไม่ทน เหลวไหลในการเรียน การงาน เขาว่าหน่อย นินาหน่อย ก็ไม่รู้จักทน ไปทะเลาะวิวาทกันจนเกิดเรื่องเสียหาย ทีนี้มันต้องทนมาก ก็คือ การบีบบังคับของกิเลสว่าอย่าไปทำอบายมุขเลย ก็ทนได้ ก็ไม่ต้องไปทำ มีความอดทน ก็ช่วยบังคับตนได้ รักษาสัจจะไว้ได้

          ข้อที่ ๔ ข้อสุดท้ายเรียกว่า จาคะ แปลว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน อะไรเป็นของไม่ดีไม่ควรจะมีอยู่ในตน ในเนื้อตัวก็ขัดถูออกไป นับตั้งแต่ว่า กิเลส ที่จะมีในเนื้อหนังร่างกาย มันไม่ควรจะมีในคน ก็อาบน้ำชำระล้างขัดถูออกไป ขี้ไคลที่มันมีอยู่ในเนื้อหนังร่างกายนั้น ถูขี้ไกคลออกไปก็เรียกว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ..... ทีนี้การประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางอะไรต่อสังคม ที่ไม่ถูกไม่ควร ก็ขจัดออกไป ความรู้สึกนึกคิด นิสัยที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม ก็ต้องละไปเสีย ละนิสัยเลว ๆ ไปเสีย ประกอบกิจกรรมทางศาสนา สวดมนต์ภาวนาอะไรอยู่เป็นประจำ ก็เรียกว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนให้ออกไปเสียจากตนเรื่อย ๆ นี้ก็เรียกว่า จาคะ ..... มันไม่มีอะไรที่จะบีบคั้นมาก เพราะว่าเราบริจาคเรื่องของกิเลส เหตุของกิเลสอะไรอยู่เรื่อย ๆ กิเลสก็ไม่แก่กล้า มันก็ไม่บีบบังคับมาก เราทนได้ เราบังคับตัวได้ เราก็รักษาสัจจะไว้ได้

 ธรรมะ ๔ ประการนั้นก็มี สัจจะ ความจริงใจ มี ทมะ การบังคับตัวเอง มี ขันติ ความอดกลั้นอดทน มี จาคะ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน ก็เรียกว่ามี ฆราวาสธรรม ที่สมบูรณ์ จะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย คนหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ก็เป็น ฆราวาส เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ ก็ล้วนอาศัยธรรมะทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเครื่องกำจัดสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนา แล้วมาทำให้เกิดสิ่งที่พึงปรารถนาขึ้นมาอย่างครบถ้วน ก็เป็นอันว่า จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเพิ่มขึ้น ๆ จนถึงที่สุด ที่สูงสุด ที่มนุษย์เราควรจะได้รับ ..... ขอให้จดจำไว้ให้ดีว่า ธรรมะ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องมือ ต้องการจะได้อะไร ให้ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ต้องละเว้นความชั่วอะไร ให้ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ..... นี้เป็นเรื่องที่พอแล้วสำหรับมนุษย์ จะได้เกิดมาเป็น บุตรที่ประเสริฐที่สุด  คือเชื่อฟังพระศาสนา เชื่อฟังกฎเกณฑ์ของธรรม เรื่องความดีความชั่ว เรื่องบุญเรื่องบาป มันมีอยู่เป็นกฎเกณฑ์อันเด็ดขาดตายตัว ซึ่งเราต้องเชื่อฟัง ฉะนั้นบุตรที่เชื่อฟังก็มีแต่ดีโดยส่วนเดียว จึงเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด ..... ขอให้จำไว้ให้ติดต่อกันไปว่า บุตรมีอยู่ ๓ ชนิด คือ ดีกว่า เสมอกัน และเลวกว่า บิดามารดา แต่ว่าบุตรที่เชื่อฟังนั้นประเสริฐที่สุด เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ คนแก่คนเฒ่า พระเจ้าพระสงฆ์ พระพุทะ พระธรรม พระศาสนา จนกระทั่งถึงเรื่องกฎของความดี ความชั่ว ซึ่งเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ เราเชื่อฟังกฎอันนี้แล้วดำรงตนอยู่ในความถูกต้อง ก็จะเป็นบุตรที่ดีคือประเสริฐที่สุด ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ การเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นคนนี้ เพื่อจะทำดีสืบต่อ ๆ กันไป สืบต่อ ๆ ไป จากบิดามารดาได้ทำค้างคาไว้ ฉะนั้นของให้ท่านทั้งหลาย เชื่อฟังธรรมะ ก็จะได้เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด โดยนัยที่ว่ามา ..... ในทีุ่ดนี้ ขออวยพระให้นักเรียนทั้งหลาย จงมีความเชื่อ มีความกล้าหาญ มีความพากเพียร มีสติสัมปัชชัญญะอย่างพอตัว ในการที่จะคุ้มครองตัว ให้เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด ด้วยอำนาจของความเชื่อฟัง ตั้งตนอยู่ในความถูกต้อง แล้วมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เช่น การศึกษา เป็นต้น แล้วมีความสุข มีความสบายใจอยู่พร้อมกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้น ๆ ทุกทิพาราตรีกาล...เทอญ

  ยุวชนของเรา ..... จะต้องเป็นผู้รัก ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที ต่อบิดามารดา ถึงขนาดที่แม้ชีวิตก็อาจจะเสียสละให้ได้......

..... จะต้องเคารพ เชื่อฟัง ครูบาอาจารย์ คนแก่คนเฒ่า พระเจ้าพระสงฆ์ ตลอดถึง
      ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงาม

..... จะต้องรักผู้อื่น อย่างเป็นเพื่อนเกิด – แก่ – เจ็บ – ตาย

..... จะต้องกลัวบาป กล้าบุญ ขยะแขยงต่ออบายมุขในทุก ๆ ความหมาย

..... จะต้องสามารถบังคับความรู้สึกฝ่ายต่ำ หรือกิเลส และพิทักษ์ความรู้สึกฝ่ายสูงไว้ ถึงขนาด
      ที่ยกมือไหว้ตัวเองได้

..... จะต้องมองเห็นชัดถึงความจริงที่ว่า การทำการงานในหน้าที่ของตนทุกดประการ ไม่มีบกพร่อง นั้นคือการฏิบัติธรรม และเป็นบุญกุศลอันสูงสุดในทุก ๆ ศาสนา .....

                                               

                                                                                                                       

หมายเลขบันทึก: 574095เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท