nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

“ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ


      

        แค่อ่านชื่อหนังสือก็ดูเหมือนจะเป็นนวนิยายรักหวานชื่นที่ “ตั้งคำถาม” ต่อความรักของหนุ่มสาว แต่เมื่ออ่านจนจบฉันขอสรุปว่า สาระที่ผู้เขียนสื่อกับผู้อ่านคือ การตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของ “ความดี” ว่าจะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหนในสังคมยุคใหม่

         หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวชาวจีนชื่อ “ไป๋ต้าสิ่ง” ที่เกิดและเติบโตใน “ตรอกฟู่หม่า” (ฟู่หม่าหูท่ง) กลางกรุงปักกิ่งยุคปัจจุบัน เธอเกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติของการเป็น “คนดี มีคุณธรรม” (ภาษาจีนเรียก “เหรินอี้”)

         ตั้งแต่เล็กมาเธอทำทุกสิ่งเพื่อผู้อื่น ยอมเสียเปรียบผู้อื่นตั้งแต่สิ่งเล็กๆ กระทั่งสิ่งใหญ่ๆ เมื่อเธอโตเป็นสาวโดยไม่รู้สึกว่า “เสียเปรียบ” ไม่เคยโกรธ ไม่เคยโทษใคร แต่กลับโทษตัวเอง เธอมีผู้ชายมาชอบหลายคนและเธอก็มีใจชอบชายเหล่านั้น แต่เธอก็สูญเสียผู้ชายคนแล้วคนเล่าให้แก่หญิงอื่น

         เรื่องใหญ่ที่สุดในบทสุดท้ายของหนังสือมี ๒ เรื่องมาถึงพร้อมๆ กัน คือ น้องชายกับน้องสะใภ้มาขอบ้านในตรอกฟู่หม่าที่เธออาศัยอยู่ เธอโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเพียงครู่ยาม เมื่อผ่านไปชั่วข้ามคืน เธอกลับรู้สึกผิดและบอกกับน้องชายน้องสะใภ้อย่างสุภาพว่า เป็นความคิดของเธอล้วนๆ ที่จะให้เขาทั้งคู่มาอยู่แทนที่เธอในบ้านแห่งนี้ ส่วนเธอจะไปอยู่ดูแลแม่แทนที่คนทั้งสองเอง หากทั้งคู่ปฏิเสธเธอจะเสียใจอย่างมาก นั่นเป็นเรื่องแรก เรื่องที่ใหญ่และเป็นบททดสอบความดีที่สำคัญยิ่งกว่า คือ อดีตชายคนรักที่ทิ้งเธอไปอยู่กับหญิงอื่นอุ้มเด็กหญิงอายุ ๒ ขวบมาคุกเข่าขอแต่งงาน เธอปฏิเสธอย่างโกรธเคืองในวูบแรก

         เราที่เป็นคนอ่านย่อมคาดเดาตรงกันว่า ชายคนนี้ย่อมหวังเอาลูกของเขามาให้ “ไป๋ต้าสิ่ง” เลี้ยงเพราะเขากำลังจนตรอก แล้วลุ้นให้เธอตัดสินใจอย่างที่เราคิด แต่นั่นย่อมไม่ใช่ไป๋ต้าสิ่ง

          คำถามสำคัญ(ที่เป็นชื่อเรื่อง) “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” โผล่มาในสองหน้าสุดท้ายของบทจบจากบทสนทนาระหว่าง “ฉัน” ที่เป็นผู้เล่าเรื่องกับไป๋ต้าสิ่ง คำถามนี้ปรากฎอยู่อย่างเหมาะเจาะตลอดทั้งสองหน้า ฉันอ่านซ้ำไปมาเพื่อซึมซับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อกับผู้อ่าน...ช่างจับใจยิ่งนัก

           การเป็นคนดีแบบไป๋ต้าสิ่งเป็นความดีแบบอุดมคติ ดีต่อทุกคนรอบข้างที่เข้ามา ดีจนยอมเบียดเบียนตัวเองเพื่อคนอื่น รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกผิด ถ้าไม่ได้ให้ในสิ่งที่ผู้อื่นขอ และเมื่อได้ให้ไปแล้วเธอรู้สึกสุขใจ เป็นการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

            คนทุกวันนี้อาจมองคนอย่างไป๋ต้าสิ่งว่าเป็นคน “ดีแบบโง่ๆ” แต่ถ้าถามว่าเราอยากเจอคนแบบนี้หรือไม่ ใครจะกล้าตอบว่า “ไม่นะ” หรือ “ไม่มีหรอกคนแบบนี้ แต่ถ้ามีก็ดีนะ”

            คำถามจากปุถุชนอย่างเราๆ ที่ยังเจือด้วยกิเลส โลภ หลง อยู่คือ ความดีแบบนี้ยังมีอยู่อีกหรือ และถ้ายังมีมันจะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหนในสังคมที่คนต่างเห็นแก่ตัวเอง

            ผู้เขียนฉลาดล้ำลึกที่จะสร้างตัวละครแบบนี้ขึ้นมากระทบกระเทียบค่านิยม “ความดีอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง” ที่ไม่รู้ว่ายังมีอยู่จริงหรือไม่.

จันทร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เกี่ยวกับหนังสือ

พระราชนิพนธ์แปล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ผู้เขียน : เถี่ยหนิง

สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 573826เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2014 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2014 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ยังมีค่ะ ........เมื่อเราคิดว่ายังมี ........เรามาช่วยกันให้มันยังมีนะคะ

รัก รัก บันทึกนี้ค่ะ

ได้อ่านแล้ว และชื่นชอบแนวเขียนนี้มากค่ะ

-สวัสดีครับ

-ตามมาให้กำลังใจ

-หนังสือดี ๆ แบบนี้น่าอ่านมาก ๆครับ

-เก็บภาพไม้กวาดใบเป้งมาฝากครับ

-ขอบคุณครับ

ใช่ค่ะน้อง  Bright Lily

เราคงต้องช่วยกันให้คุณค่าความดี และ คนทำดีอย่างต่อเนื่องค่ะ

ได้อ่านหนังสือดีๆ นี่เป็นความสุขมากนะคะพี่ใหญ่  นงนาท สนธิสุวรรณ  

ขอโทษนะคะที่เข้ามาตอบช้า  พักนี้หาเวลาเข้ามาไม่ค่อยได้ค่ะ

หาอ่านนะคะน้องเพชร  เพชรน้ำหนึ่ง

ไม้กวาดใบเป้ง  ไม่เคยได้ยิน  ท่าทางจะแน่น กวาดดี เดี๋ยวจะไปอ่านทำความรู้จัก

ขอบคุณอาจารย์  GD และ  พี่กาญจนา  kanchana muangyai ที่เข้ามาอ่านค่ะ

  • คนเราหลากหลายมาก คนโกงสุดๆยังมี คนดีสุดๆก็น่าจะมีนะครับ 
  • อ่านบันทึกพี่nuiแล้ว ได้รู้ ได้คิด ตลอดเลยครับ

หนังสือดีๆ สักเล่ม กระตุ้นให้เราคิดได้เยอะค่ะ อาจารย์ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ  

สังคมเราย่อมน่าอยู่ถ้าเราเจอคนดีเยอะๆ ไม่ต้องดีขนาดไป๋ต้าสิ่งก็ได้  

พี่เองก็ได้ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการศึกษาจากอาจารย์เยอะมาก  เขียนบ่อยๆ นะคะ

เส้นแบ่งมันบางมากนะครับ แค่ไหนถึงจะ

ดีแบบโง่ๆ

ดีจนยอมเบียดเบียนตนเอง

"ดีแบบโง่ๆ"  เป็นสำนวนดิฉันเอง  เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่ดีจนเบียบเบียนตัวเองกันหรอกค่ะ  ขอแค่ "ดีธรรมดา" คือดีโดยไม่เบียบเบียนตัวเองก็พอแล้ว

หนังสือเล่มนี้ดีมาก  ดิฉันชอบ "ความคิดเชิงปรัชญา" ที่ซ่อนอยู่ ชอบมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท