การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียนควรใช้วิธีซึมซับมากกว่าการโปรยหว่าน


      หลายคนอาจจะภาคภูมิใจใน “จุดเด่น”ของคนไทยเราที่ชาวต่างชาติมาเยือนต่างชื่นชมกันหลายประการ แต่เราลองหันมามองอีกแง่มุมหนึ่งบ้าง กล่าวคือ เมื่อไม่นานมานี้ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ได้กล่าวถึง“จุดอ่อน” ของคนไทยไว้ 10 ข้อ ว่าไทยอาจไม่เป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนเหมือนที่ผ่านมาในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น คือ

1 . คนไทยรู้จักหน้าที่ของตัวเองต่ำมาก โดยเฉพาะ หน้าที่ต่อสังคม คือ เป็นประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดเป็น ธุรกิจการเมือง ธุรกิจราชการ ธุรกิจการศึกษา ทำให้ประเทศชาติล้าหลังไปเรื่อยๆ
2. การศึกษายังไม่ทันสมัย คนไทยจะเก่งแต่ภาษาของตัวเอง ทำให้ขาดโอกาสในการแข่งขันกับต่างชาติในเวทีต่างๆ ไม่กล้าแสดงออก ขี้อายไม่มั่นใจในตัวเอง เราจึงตามหลังชาติอื่น จะเห็นว่าคนมีฐานะจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
3. มองอนาคตไม่เป็น คนไทยมากกว่า 70% ทำงานแบบไร้อนาคตทำแบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ น้อยคนนักที่จะทำงานแบบเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน
4. ไม่จริงจังในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำแบบผักชีโรยหน้า หรือทำด้วยความเกรงใจ ต่างกับคนญี่ปุ่นหรือยุโรปที่จะให้ความสำคัญกับสัญญาหรือข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพราะหมายถึงความเชื่อถือในระยะยาว ปัจจุบันคนไทยถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือด้านนี้ลงเรื่อยๆ
5. การกระจายความเจริญยังไม่เต็มที่ ประชากรประมาณ 60-70% ที่อยู่ห่างไกลจะขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและชุมชนซึ่งเป็น หน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริม
6. การบังคับกฎหมายไม่เข้มแข็ง และดำเนินการไม่ต่อเนื่อง ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ปราบปรามไม่จริงจัง การดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีอำนาจหรือบริวารจะทำแบบเอาตัวรอดไปก่อน ไม่มีมาตรฐาน ต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว ข้อนี้กระบวนการยุติธรรมจะต้องปรับปรุง
7. อิจฉาตาร้อน สังคมไทยไม่ค่อยเป็นสุภาพบุรุษ เลี้ยงเป็นศรีธนญชัย ยกย่องคนมีอำนาจ มีเงิน โดยไม่สนใจภูมิหลัง โดยเฉพาะคนที่ล้มบนฟูกแล้วไปเกาะผู้มีอำนาจ เอาตัวรอด คนพวกนี้ร้ายยิ่งกว่า ผู้ก่อการร้าย ดีแต่พูด มือไม่พายเอาเท้ารานํ้า ทำให้คนดีไม่กล้าเข้ามาเพราะกลัวเปลืองตัว
8. เอ็นจีโอค้านลูกเดียว เอ็น จีโอ บางกลุ่มอิงอยู่กับผลประโยชน์ เอ็นจีโอดีๆก็มี แต่บ้านเรามีน้อย บ่อยครั้งที่ประเทศเราเสียโอกาสอย่างมหาศาลเพราะการค้านหัวชนฝา เหตุผลจริงๆ ไม่ได้พูดกัน
9. ยังไม่พร้อมในเวทีโลก การสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีการค้าระดับโลกของเรายังขาดทักษะและทีม เวิร์คที่ดี ทำให้สู้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ไม่ได้
10. เลี้ยงลูกไม่เป็น ปัจจุบัน เด็กไทยขาดความอดทน ไม่มีภูมิคุ้มกันเป็นขี้โรคทางจิตใจ ไม่เข้มแข็ง เพราะเราเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่สอนให้ลูกช่วยตัวเอง ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะกระตือรือร้นช่วยตนเองขวนขวาย แสวงหา ค้นหาตัวเอง และเขาจะสอนให้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
           หันกลับมามองการจัดการศึกษาในโรงเรียนของเราดูบ้าง ซึ่งเรามักจะบ่นกันว่านักเรียนเดี๋ยวนี้มีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรมกันมาก โรงเรียนเองก็บอกว่ามีโครงการ/กิจกรรมปลูกฝังและสร้างเสริมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง บางโรงเรียนเข้าโครงการวิถีพุทธด้วยซ้ำ และไปดูผลการประเมินภายนอกของ สมศ.หรือประเมินภายในของโรงเรียน ในมาตรฐานด้านผู้เรียน ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เกือบทุกโรงเรียนจะอยู่ในระดับดี และดีมากแทบทั้งนั้น ซึ่งโดยพฤตินัยก็น่าจะดีตามผลการประเมินไปด้วย
           แล้วสาเหตุของปัญหามาจากไหน? หากเราย้อนดูทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ของ Bandura ก็จะพบว่าแนวทางปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ยั่งยืนต้องใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ให้เกิดการซึมซับไปทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวแบบ(Modelling) และกระบวนการกลุ่มจะมีบทบาทสูงในการกล่อมเกลาให้เกิดการซึมซับ
           แต่เมื่อเราหันมาดูสภาพแวดล้อมในสังคมบ้านเรา ตัวแบบก็แทบจะหายากเต็มที เท่านั้นยังไม่พอ จากข้อมูลที่ไม่เป็นทางการในแต่ละโรงเรียนยังพบว่า แทบจะทุกโรงเรียนมีนักเรียนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ หรือมีครอบครัวที่แตกแยกเกินครึ่ง (ใครลองทำวิจัยสำรวจประกาศบอกสังคมหน่อยก็จะดี) ปัญหาทั้งหลายถาโถมมาที่โรงเรียนทั้งหมด ภาระของครูก็มากมายจิปาถะ เดี๋ยวนี้ถึงมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแล้ว ก็ยัง X-rays ไม่ทั่วถึง
          กิจกรรมของโรงเรียนที่ปลูกฝังเรื่องนี้มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังเป็นลักษณะโปรยหว่าน เหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่มีลักษณะซึมซับแบบไฟสุมขอน แม้แต่โรงเรียนในโครงการวิถีพุทธด้วยกัน ซึ่งต่างก็ยึดหลักไตรลักษณ์(ศีล สมาธิ ปัญญา) เหมือนกัน แต่วิธีปฎิบัติก็จริงจังต่างกัน กิจกรรมที่ทำแบบโปรยหว่านที่มักเห็นกันเสมอ เช่น อบรมหน้าเสาธง นั่งสมาธิ 5-10 นาที เชิญวิทยากรมาบรรยาย จัดนิทรรศการ ฯลฯ เมื่อทำเสร็จแล้วก็แล้วเลย
          แต่ก็มีบางโรงเรียนที่พยายามทำให้นักเรียนเกิดการซึมซับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่ายกย่องอย่างยิ่ง เช่น นิมนต์พระมาให้ครูและนักเรียนใส่บาตรตอนเช้าทุกวัน ซึ่งเด็กบางคนอาจไม่ได้ใส่บาตรได้ทุกวันแต่ก็ได้เห็นได้ซึมซับ(มีจิตที่อนุโมทนา) เมื่อกลับไปบ้านก็มีแนวโน้มจะชักชวนพ่อแม่ไปใส่บาตรบ้าง รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กสวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน พานักเรียนไปสวดมนต์ไหว้พระที่วัดและนั่งสมาธิอย่างต่อเนื่อง นิมนต์พระมาสอนธรรมมะ ฯลฯ แล้วมีการติดตามการปฏิบัติตน มีการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน แล้วใช้การเสริมแรงหลายๆรูปแบบ ซึ่งถ้าทำอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าน่าจะซึมซับให้นักเรียนมีจิตใจที่อ่อนโยน ละเอียดอ่อนมากขึ้น และจะส่งผลต่อการมีสมาธิในการเรียนหนังสือด้วย

                                                                          
        ผมเคยเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องคุณธรรมนำความรู้ให้แก่ครู ก็ได้นำเสนอกระบวนการและเทคนิคการสร้างเสริม รวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนรู้เรื่องนี้แก่ครู จึงขอนำสาระโดยย่อมาเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อ กล่าวคือ
         1.กระบวนการสร้างเสริมค่านิยม ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นคุณลักษณะภายใน การจะสอนโดยบอก สั่ง บังคับ คงไม่สำเร็จ ถ้าทำเช่นนั้นเราก็จะได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่คงทน สิ่งที่เราต้องการให้เกิดคือพฤติกรรมที่แสดงออกจนเป็นนิสัยที่ถาวร เกิดเป็นค่านิยมของเขาตลอดไป ดังนั้นจึงควรมีกระบวนการที่แยบยลดังที่ หลุยส์ แรธส์ ได้นำเสนอคือ
1.1 ให้โอกาสเลือกอย่างเสรี
1.2 มีทางเลือกหลายๆทาง
1.3 ให้คิดพิจารณาอย่างรอบคอบ
1.4 ยอมรับ มีความพอใจหลังการเลือก
1.5 เต็มใจที่จะยืนยันความคิดตามที่ตน ตัดสินใจ
1.6 ได้แสดงพฤติกรรมต่อทางเลือกที่ตน ตัดสินใจ
1.7 ปฏิบัติซ้ำจนเป็นนิสัย
         2.เทคนิคการสร้างเสริมคุณธรรมนำความรู้ เพื่อให้กระบวนการทั้ง 7 ขั้นตอน เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราคงต้องหาเทคนิควิธีการที่เหมาะสมมาใช้ เช่น
2.1 การกล่อมเกลาทางสังคม(Social Learning :SL) โดยใช้การซึมซับ ตัวแบบ และกระบวนการกลุ่ม
2.2 การกระจ่างในค่านิยม( Value Clarification : VC ) โดยใช้เทคนิคการตั้งคำถามให้เขาเกิดความกระจ่างในค่านิยมของตนเอง
2.3 การให้เหตุผลเชิงจริยธรรม(Moral Reasoning :MR) โดยใช้สถานการณ์ให้เขาเลือกตัดสินใจ แล้วดูระดับจริยธรรมของเขาเพื่อหาทางสร้างเสริม
2.4 การปรับพฤติกรรม ( Behavior Modification : BM )โดยเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม เช่น การแต่งพฤติกรรม การใช้ตัวแบบ การวางเงื่อนไข การควบคุมตนเอง การเสริมแรง ฯลฯ
2.5 การเชื่อมโยงหลักธรรม/ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการวิเคราะห์สาระ แก่นแท้ของหลักธรรมที่สำคัญและ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(3ห่วง2 เงื่อนไข)เชื่อมโยงกับการปฏิบัติงาน/โครงการแต่ละเรื่อง ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น
3. แนวทางการจัดการเรียนรู้ อาจดำเนินการได้หลายวิธี ที่เน้นการซึมซับในวิถีชีวิตมากกว่าการโปรยหว่านหรือเพื่อสร้างภาพ อาจดำเนินการผ่านกิจกรรมปกติในโรงเรียน เช่น
-สอดแทรกการสอนในรายวิชาต่างๆ
-ประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน
-โครงการ/โครงงาน
-กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
-ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
-จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อกล่อมเกลา(ครูที่พูดไม่ได้)
-ใช้ดนตรี กีฬา ศิลปะ
-เล่านิทาน /ใช้สื่อคอมพิวเตอร์/เข้าค่าย
-จัดกิจกรรมซึมซับที่ทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ใส่บาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ
                                                            ฯลฯ
               
                 
           หากจะถามว่า ทำไมเราจึงต้องใช้ความพยายามและใช้เวลาในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนอย่างจริงจังและต่อเนื่องด้วย ก็อยากจะบอกว่า เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของคน เราไม่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด ดุจดังภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งมีปริมาณน้ำแข็งมากกว่าส่วนที่โผล่พ้นน้ำออกมาให้เราได้เห็น
          ขอเล่านิทานสักเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ กาลครั้งหนึ่ง มีสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ตั้งของสำนักที่สำคัญ 2 สำนัก คือ สำนักฤษีผู้ปฏิบัติธรรม และสำนักนางโลม สำนักทั้งสองตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกัน หัวหน้าสำนักทั้งสองต่างปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมการณ์ที่ตนมุ่งหวัง โดยฤษีก็มุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนา มีผู้มากราบไหว้ฟังธรรมไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนสำนักนางโลมก็เปิดกิจการให้บริการลูกค้าชายที่มาเที่ยวเกิดความประทับใจและมาใช้บริการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
         วันเวลาผ่านไป ทั้งฤษีและหัวหน้าสำนักนางโลมปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความราบรื่น ไม่เกิดความขัดแย้งหรือบาดหมางกันแต่ประการใด จนทั้งสองแก่เฒ่าและสิ้นอายุขัยในเวลาไล่เลี่ยกัน บุคคลทั้งสองหนีไม่พ้นต้องถูกยมทูตพาดวงวิญญาณมาที่ยมโลกเพื่อให้พญายมพิพากษาตามผลกรรมที่แต่ละคนได้กระทำไว้ ซึ่งมีผู้บันทึกข้อมูลแยกประเภทไว้อย่างละเอียดลออ 2 คน คือ สุวรรณ และ สุวาน ถ้าใครทำความดี สุวรรณก็จะบันทึกไว้ในแผ่นทอง ถ้าใครทำความชั่ว สุวานก็จะบันทึกไว้ในหนังสุนัข
        เมื่อฤษีและหัวหน้าสำนักนางโลมมาอยู่ต่อหน้าพญายมเพื่อรอรับบัญชาจากท่านด้วยหัวใจที่ระทึก พญายมจึงขอบัญชีจากทั้งสุวรรณและสุวานมาตรวจดูข้อมูลผลกรรมของบุคคลทั้งสอง พลิกไปพลิกมาอย่างถี่ถ้วนแล้วมีบัญชาด้วยเสียงอันดังว่า “ฤษี ไปลงนรก หัวหน้าสำนักนางโลมขึ้นสวรรค์”
       ฤษีตกตะลึงในคำบัญชาของพญายม พอได้สติฤษีจึงยกมือขึ้นประท้วงทันที
  “ท่านดูข้อมูลถี่ถ้วนแล้วหรือยัง เพราะตลอดอายุของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญศีล ภาวนาอย่างเคร่งครัด
     พญายมจึงขอบัญชีจากสุวรรณและสุวานมาตรวจดูอีกครั้ง และยืนยันหนักแน่น “ฤษีไปลงนรก หัวหน้าสำนักนางโลมขึ้นสวรรค์” พร้อมทั้งกล่าวต่อ
   “ข้อมูล ปรากฏชัดเจนว่าระหว่างที่ฤษีปฏิบัติธรรมอยู่นั้น จิตใจของท่านไม่ได้จดจ่ออยู่ที่หลักธรรม แต่กลับวอกแวกมุ่งสนใจแต่สำนักนางโลมที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม ส่วนหัวหน้าสำนักนางโลมนั้น ระหว่างปฏิบัติงานอยู่นั้น เกิดความตระหนักอยู่เสมอว่า งานในหน้าที่ของตนเป็นงานที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากสังคม จึงเกิดความทุกข์ใจและมีจิตที่แนวแน่มุ่งไปที่สำนักฤษีฝั่งตรงข้าม หวังอาศัยธรรมะเป็นที่พึ่ง เป็นที่หล่อเลี้ยงจิตใจมาโดยตลอด ดังนั้น จึงขอยืนยันคำตัดสินเดิม” เห็นหรือยังว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง”
... จึงอยากเชิญชวนให้มาช่วยกันปลูกฝังเยาวชนด้วยวิธีซึมซับมากกว่าการใช้วิธีโปรยหว่านกันดีกว่า

********************************************************

หมายเลขบันทึก: 573687เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2014 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2014 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับข้อเสนอเป็นอย่างยิ่ง และเราควรจะสร้างและหาที่ยืนให้กับคนทำความดีอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท