เรื่องของอัตถะ (อีกที)


ในบันทึก ทำไมตรัสแต่เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ แต่กลับตรัสให้ปัญจวัคคีย์จาริกไปเพื่อคนหมู่มากจะได้รับประโยชน์สุข ที่ผ่านมา ยกเรื่องอัตถะมาเล่า เรื่องราวยาวมากค่ะ จนต้องแยกเป็นตอนๆ

คงจำได้นะคะ ว่า เล่าไว้ ว่าอัตถะหรือประโยชน์ มี ๓ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ที่มองเห็นได้หรือประโยชน์ปัจจุบัน สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ที่เลยตาเห็น สองอัตถะนี้พระพุทธเจ้ามักตรัสคู่กันเพราะสามารถครอบคลุมถึงอัตถะสุดท้ายได้อยู่แล้ว ซึ่งอัตถะสุดท้ายนั้นก็คือปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ที่มักตรัสไว้เดี่ยวๆ

อัตถะนั้น แม้จะเริ่มต้นที่ทิฐธัมมิกัตถะ แต่ก็ต้องมีสัมปรายิกัตถะมาคอยหนุนให้ทิฏฐธัมมิกัตถะเพิ่มพูนขึ้น และเพราะทิฏฐธัมมิกัตถะเพิ่มพูนขึ้น สัมปรายิกัตถะจึงพรั่งพร้อม เพียบแน่นขึ้นด้วย

ทิฏฐธัมมิกัตถะ นั้น ประกอบด้วย การประกอบการงานโดยชอบธรรมด้วยความขยันและมีการบริหารจัดการที่ดี หมั่นตรวจสอบวิธีและผลการปฏิบัติเพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดได้ทันท่วงที(๑) การรักษาทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรมนี้ให้ปลอดภัย(๑)การคบและทำตามมิตรดี มีท่านเป็นแบบอย่าง คอยไต่ถาม ซักถาม แล้วพิจารณาตามจนสิ้นสงสัยเพื่อหาทางปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีที่ได้เห็น (๑) และ การเลี้ยงชีพพอเหมาะแก่ฐานะ ไม่ฝืดเคืองหรือโอ่อ่าจนเกินไป รู้ทางเจริญและทางเสื่อมของทรัพย์แล้วก็เลี้ยงชีพในทางที่โภคทรัพย์จะเจริญไม่มีเสื่อมเลย ซึ่งทางที่โภคทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบและรักษาไว้ในที่ปลอดภัยจะไม่เสื่อมไปคือการไม่เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงพนัน และ ไม่มีมิตรชั่ว(๑)

จะเห็นว่าในหลักธรรมนี้รวมไว้แล้วทั้งความตั้งใจที่จะทำงาน ปัญญา ความเพียร ความเห็นถูก ศีล สมาธิ เลยนะคะ เพราะทรงแนะนำถึงการหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตด้วยการไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน คนรัก ของผู้อื่น ไม่ลวงผู้อื่นด้วยคำลวง และไม่เปิดโอกาสให้ตนกระทำเรื่องดังกล่าวอันเนื่องมาจากการขาดสติเพราะของมึนเมา (ศีล)  เพื่อเปิดโอกาสให้ตนใช้ชีวิตอย่างสงบ เพื่อใช้โอกาสที่ชีวิตดำเนินไปอย่างเป็นปกตินี้ ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน (สมาธิ) อันควรแก่การนำไปพิจารณาเรื่องราวต่างๆให้เห็นความจริงของเรื่องนั้นๆ (ปัญญา) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่บำเพ็ญทิฏฐธัมมิกัตถะก็คือผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งแล้วนั่นเองค่ะ

สำหรับ สัมปรายิกัตถะ นั้น เป็นการหนุนทิฏฐธัมมิกัตถะให้แน่นแฟ้นขึ้น สมบูรณ์ขึ้น อันเอื้อให้ได้บำเพ็ญสัมปรายิกัตถะเองให้ถึงพร้อมขึ้นด้วย การหนุนซึ่งกันและกันอย่างนี้เองค่ะที่ทำให้มรรคค่อยๆหมุนวนแก่รอบขึ้น

คงไม่ลืมนะคะ ว่าสัมปรายิกัตถะประกอบด้วย ด้วย สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคสัมปทา และ ปัญญาสัมปทา

สัทธาสัมปทา นั้น ตรัสว่าหมายถึงศรัทธาในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือ ตถาคตโพธิสัทธา ว่าทรงปฏิบัติด้วยพระองค์จนพบธรรมที่นำความสงบมาสู่ด้วยพระองค์เองได้จริง ทรงสั่งสอนธรรมเพื่อความสุข ความหลุดพ้นจริงๆ

ในส่วนนี้ ดิฉันมองว่า ในทิฏฐธัมมิกัตถะนั้น คือการมีศรัทธาในพระรัตนตรัยอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะเรายังหวั่นไหวได้อยู่ อาจไม่มั่นใจว่าเราเพียงลำพังจะฝึกตนจนพ้นทุกข์ได้ หรือเพราะปรารถนาสุขในปัจจุบัน จึงอดที่จะวอนขอสิ่งที่ต้องการจากปัจจัยที่มองไม่เห็นได้ ดังนั้นจึงต้องปลูกความเชื่อหรือศรัทธาในข้อนี้เป็นนิจ เพราะการที่เราจะมีธรรมเป็นที่พึ่ง จึงปฏิบัติตนตามธรรมด้วยตนเองโดยไม่หวั่นไหว ไม่สวดอ้อนวอนขอการดลบันดาลจากใครๆ หรือจากเทพใดในศาสนาอื่นนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากค่ะ ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันมีการบูชาราหูบ้าง พระพิคเณศวร์บ้าง ควบคู่ไปกับการบูชาพระพุทธเจ้า เพื่อวอนขอบางอย่างจากเทพเหล่านี้

หรือ แม้แต่การบูชาพระโพธิสัตว์เอง หากบูชาผิดคติไป เราก็อาจตกหล่นไปจากประโยชน์ที่พึงได้ในพุทธศาสนาก็ได้ค่ะ เพราะที่เราบูชาท่าน ควรบูชาที่ปณิธาน ความพยายาม ของท่านไม่ใช่บูชาเพื่อหวังผลดลบันดาล

หรือ เราอาจนำธรรมที่ไม่เหมาะกับเรามาปฏิบัติจึงไม่เห็นผลตามที่ตรัส ก็เกิดความไม่มั่นใจในสิกขา อันทำให้พลอยไม่มั่นใจในปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ตามไปด้วย  

ดังนั้น เราจึงต้องเชื่อมั่นใจในตถาคตโพธิสัทธา หรือก็คือเชื่อมั่นในศักยภาพในความเป็นมนุษย์นั่นเอง ว่าแม้จะเป็นมนุษย์ ก็สามารถสร้างสิ่งดีๆให้แก่ตนได้ด้วยตน มีตนเป็นที่พึ่งของตนได้ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นใดนอกเหนือไปจากธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดง ปัญญา และความเพียรในการปฏิบัติของตน

การหมั่นระลึกถึงพระองค์ หรือ พุทธานุสสติ ก็เป็นอีกทางที่นอกจากจะทำให้จิตสงบแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนศรัทธาในพระองค์ได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ 

ส่วนคำว่า สีลสัมปทา หรือ ความถึงพร้อมของศีล หมายถึงการเว้นขาดการกระทำอันผิดสิกขาบท ๕ ในทิฏฐธัมมิกัตถะก็รวมการมีเจตนาว่าจะไม่เบียดเบียนใครๆรวมทั้งตนเอง ไว้ด้วยเช่นกันเพราะการที่เราหาเลี้ยงชีพโดยชอบนั้น ก็หมายความถึงการดำรงตนในศีลหรือสิกขาบทอยู่แล้ว แต่เราก็อาจไม่เคร่งครัดในศีลมากนักใช่ไหมคะ

ในกุศลกรรมบถมีการไม่พูดเพ้อเจ้อ แต่ในการทำงาน การติดต่อกับบุคคลอื่นๆ เราก็อาจมีการเผลอพูดตลกเฮฮาบ้างเพื่อความสนุกสนานในหมู่เพื่อน แต่สำหรับผู้ที่มีความถึงพร้อมในศีลนี้ จะเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อโดยเด็ดขาดค่ะ แม้แต่พูดเพื่อความสนุกสนานในหมู่เพื่อนก็ถือว่าผิดศีล เพราะการพูดเล่น อย่างไรเสียก็ต้องมีการปรุงแต่งถ้อยคำตลกคะนอง อันเป็นการปรุงแต่งจิตด้วยโมหะ

สมมติว่าเจ้านายเราไม่ชอบเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเรา พอเจ้านายพูดถึงเขาในแง่ไม่ดี เราก็พลอยพูดสนับสนุน ถ้าในการพูดนั้น เรามีเจตนาให้เจ้านายเชื่อคำเรามากกว่า เอ็นดูเรามากกว่า เราก็ผิดข้อใช้วาจาส่อเสียดโดยมีเจตนาว่า “เราจักเป็นที่รักด้วยอุบายนี้” หรือถ้าเรามีเจตนาให้เจ้านายไม่ชอบเขาเพื่อเราจะได้ประโยชน์ในหน้าที่การงาน เราก็ผิดข้อใช้วาจาส่อเสียดโดยมีเจตนา “เขาจงแตกสามัคคีกัน”

ผู้ที่พยายามบำเพ็ญศีลให้ถึงถึงพร้อม จะทราบว่า การพูดถึงผู้อื่นในทางที่ไม่ดีหรือการนินทานั้น เป็นการเบียดเบียนจิตตนให้พลอยยินดีในโทสะ ดังนั้นแทนที่จะพลอยพูดสนับสนุน ก็จะพยายามหาทางแก้ไขความเข้าใจผิดอันนำไปสู่ความสามัคคีในกลุ่ม หรือหากไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้ เดินหนีก็ไม่ได้ ก็คงเป็นได้เพียงผู้ฟังเท่านั้น

พอพูดถึงเรื่องผิดศีลขึ้นมา เรามักนึกไปถึงการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ อันที่จริง ในชีวิตประจำวันของคนปกติทั่วๆไป เราไม่ผิดศีลด้วยเรื่องอย่างนั้นหรอกค่ะ แต่ที่เราทำผิดกันบ่อยๆ คือการประพฤติผิดเล็กๆน้อยโดยไม่รู้เท่าทันมากกว่าค่ะ เช่นพูดแสดงนัยให้คู่ของคนอื่นรู้ใจเราว่าเราแอบชอบเขา การพูดปด พูดเพ้อเจ้อ พูดให้เขาแตกกัน การดื่มน้ำเมา การคิดเบียดเบียนเขาอยู่ในใจ

ศีลนั้นตั้งอยู่บนบนพื้นฐานของความเมตตา หากเรามีเจตนาไม่พูดส่อเสียดเพราะกลัวเสียชื่อเสียง แม้ว่าเราจะไม่เดือดร้อนเพราะไม่มีการใช้วาจาส่อเสียด แต่เราก็อาจว้าวุ่นอยู่ในใจเพราะคอยคิดตำหนิแต่ไม่กล้าพูดออกมา อย่างนี้ก็คือเราไม่เมตตาตนเอง ปล่อยให้ตนเบียดเบียนตนเองด้วยความคิดฟุ้งซ่าน แต่หากเราไม่พูดส่อเสียดเขาด้วยอยากให้เขามีความสุข ไม่อยากทำให้เขาต้องทุกข์ร้อนใจ อย่างนี้ก็คือเราเมตตาผู้อื่นจึงมีเจตนางดเว้นการกระทำผิด เมื่อมีเจตนาเว้น ก็คือมีศีล

ศีลที่ถึงพร้อม จึงเป็นศีลที่มาจากจิตที่เมตตาและความไม่ประมาทค่ะ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงงดเว้นการกระทำที่ผิดที่ทำจนเป็นปกติวิสัย การเมตตาไม่ละเมิดเขา ก็คือการเมตตาตัวเรา เพราะเราไม่ปล่อยให้จิตไหลลงสู่ที่ต่ำ

และเมตตาก็นำมาสู่ จาคะ หรือการสละอีกเช่นกันค่ะ

จาคะสัมปทา การถึงพร้อมด้วยการสละ การสละสิ่งต่างๆจะเรียกว่าเป็นการถึงพร้อมในการสละได้ก็ต่อเมื่อเป็นการสละด้วยจิตที่ปราศจากความตระหนี่ สละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่สละเพราะต้องการผลตอบแทนเช่นชื่อเสียง สละเพราะกลัวเช่นกลัวถูกนินทาว่าไม่เคยสละเลย เป็นต้น

การสละสิ่งของนั้นจะมาจากใจที่ยินดีในการสละได้ อาศัยการอบรมสันโดษ ความปรารถนาน้อย จึงจะสำเร็จผล เพราะเมื่อสันโดษคือพอใจในสิ่งที่พึงมี พึงได้ แม้เราจะไม่ร่ำรวยมาก ก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองขัดสนหรือจนยากเลยค่ะ ดังที่ตรัสว่า สันโดษเป็นทรัพย์อย่างเลิศเมื่อไม่รู้สึกว่าตนขาดก็ไม่โลภ ไม่อยากได้ไม่รู้จบ และเมื่อปรารถนาเพียงแต่น้อย ของของตนที่มีอยู่ก็เกินกว่าที่ตนจะใช้สอยให้หมดได้โดยลำพัง ก็สามารถแบ่งปันแก่ผู้อื่นได้ คลายตระหนี่ได้

ตระหนี่ คือการที่จิตเจ็บร้อนเพราะการให้ ผู้ตระหนี่นั้นตรัสเรียกว่า “ผู้ตกต่ำ” เมื่อพูดถึงความตระหนี่ เรามักมองที่การตระหนี่ทรัพย์นะคะ แต่ยังมีการตระหนี่อย่างอื่นอีกค่ะที่หากเราตระหนี่ขึ้นมา ก็เป็นคนที่ตรัสเรียกว่า “ผู้ตกต่ำ” ได้เช่นกัน เช่น ตระหนี่ธรรม ตระหนี่ขันธ์  เป็นต้น

ที่เรียกว่า ตระหนี่ธรรมก็เพราะไม่อยากให้การบรรลุธรรมเกิดแก่บุคคลทั่วไป อยากให้เกิดแก่เราคนเดียว จึงไม่ยอมกล่าวธรรม อย่างนี้เรียกธรรมประเภทตระหนี่ปฏิเวธ ส่วนตระหนี่ปริยัตินั้นอาจมีได้ค่ะ หากเราเห็นว่ายังไม่ควรบอกธรรมนี้กับเขาด้วยอาจเป็นอันตรายกับตัวเขาเอง ต่อเมื่อเขาพร้อม จึงบอกปริยัติเพิ่มเติมแก่เขา

หรือเรารู้วิธีการทำงานใดงานหนึ่งแต่หวงไว้ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้ด้วย ก็จัดเป็นตระหนี่ธรรมเช่นกันค่ะ

สำหรับตระหนี่ขันธ์นั้น เป็นเรื่องที่คู่รักควรระวังอย่างมากค่ะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเราที่เป็นผู้หญิง) เพราะธรรมชาติของความรักคือมีการระแวงเป็นพื้น มีการพลัดพรากเป็นที่สุด หากขาดสติก็มักพาเราตกต่ำได้ง่ายๆ เช่น คนรักเราเป็นคนดี มีเมตตา เขาจึงเป็นที่รักที่ชื่นชมของคนทั่วไป เราก็อาจไม่อยากให้เขามีเมตตาต่อบุคคลเพศตรงข้าม เพราะกลัวว่าเขาจะเป็นที่หมายปองของคนอื่น เกรงจะถูกแย่งชิง ในกรณีนี้ก็คือ เราตระหนี่สังขารขันธ์ คืออยากให้เมตตาอันเป็นสังขารขันธ์ของคนรักมีแก่เราเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่อยากให้มีให้คนอื่นๆ

ส่วนจาคะที่เราควรบำเพ็ญอยู่เสมอ คือการสละกิเลส สละความเห็นผิดค่ะ ซึ่งจาคะนี้จะค่อยๆสำเร็จได้ด้วยเมตตาตน ไม่อยากให้ตนตกต่ำจึงหมั่นชำระจิตจากกิเลส

สำหรับ ปัญญาสัมปทา การถึงพร้อมด้วยปัญญา คำว่าปัญญาในที่นี้คือปัญญาที่จะพาให้พ้นไปจากทุกข์นะคะ ไม่ได้หมายถึงปัญญาในการประกอบอาชีพ ปัญญาหาเลี้ยงชีพนั้น ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า สิปปะ ค่ะ ไม่ได้เรียกปัญญา

ในคำตรัสที่ตรัสกับฆราวาส เช่น ทีฆชาณุ ผู้ที่ยังเป็นกามโภคีคือบริโภคกาม ถึง ปัญญาสัมปทา ว่า

“ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร

คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้ เรียกว่าปัญญาสัมปทา”

อง.อฏฐก.(แปล) ๒๓/๕๔/๓๔๔

ดังนั้น ปัญญานี้จึงหมายถึงการเห็นตรงสภาวะ ว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย มีสภาพเกิดดับ เปลี่ยนแปลง ไม่อยู่ใต้อำนาจปรารถนาของใคร รู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดไม่เป็นกุศล รู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ภาวะที่ไม่มีทุกข์ และทางปฏิบัติให้เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ รู้คติหรือทางไปของกุศลและอกุศลธรรม

อยากชวนพิจารณาทีละส่วนของคำตรัสในแนวลึกค่ะ ช่วยกันพิจารณานะคะ

การเห็นความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ คือการพิจารณาธรรมต่างๆเพื่อให้จิตน้อมไปสู่ความเห็นว่าไม่เป็นตน เป็นเพียงสภาวะเกิดดับ เพื่อคลายความยึดถือมั่น ซึ่งการเห็นนี้ต้องเห็นทั้งในแง่คุณ โทษ การสลัดออกจากธรรมเหล่านั้นค่ะ หากเห็นไม่ครบทั้งสามด้าน เช่น เห็นทั้งคุณ ทั้งโทษ แต่หาทางออกไม่ได้ ก็เกิดความงุนงงสงสัย ไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอย่างไรจึงจะพ้นไปได้ ก็เกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นการพิจารณาอย่างเจาะลึกลงไปในธรรม ในจิตว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และเราจะมีวิธีใดที่จะทำให้ทุกข์นั้นไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

เราทราบว่าสติปัฏฐานเป็นทางสายเอก นำไปสู่การสิ้นทุกข์ เราเจริญสติปัฏฐานก็เพื่อให้เห็นการเกิดดับของสภาวะ เพียงแต่บางทีเราปฏิบัติไม่สุดสาย คือเพียงได้เห็น ก็จบเพียงที่การเห็น

เช่น เมื่อความโกรธที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง พอเราเห็นการเกิดของความโกรธ เราก็มักกำหนดได้ว่าความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้เรารู้สึกร้อนรุ่ม ทุกข์เพราะความโกรธตั้งอยู่ บางที เราก็อบรมตนว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ตน ไม่เที่ยงแท้ถาวร จนความโกรธดับ พอเห็นความดับ เราก็อาจจบการพิจารณาเพียงเท่านี้และคิดว่าเท่านี้ก็พอแล้ว การเห็นอย่างนี้แม้จะดับทุกข์ได้ชั่วครั้งคราว ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเห็นการเกิดดับอันเป็นอริยะที่สามารถชำแรกกิเลสจนถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบค่ะ เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดเวทนายังไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาให้เห็นแจ้ง ให้แก้ไข เพื่อที่เห็นเหตุทีละน้อย คลายความยึดมั่น คลายการปรุงแต่งไปต่างๆทีละนิด จนเมื่อประสบเรื่องนั้นเฉพาะหน้าในครั้งต่อๆไป เราจะโกรธเพราะเรื่องนั้นยากขึ้น ระดับความโกรธจะลดน้อยลง จนไม่โกรธได้ในที่สุด

เมื่อแรกนำพุทธศาสนามาสู่ชีวิต เรายังละความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ ยังยึดมั่นในความเป็นตนอยู่ เมื่อยังมีตน ก็ควรทำตนให้เป็นดังคำตรัสคือ อตฺตนา สุทนฺเตน มีตนอันตนรักษาดีแล้ว และเพราะคอยชำระกิเลสและความเห็นว่าเป็นตนเพื่อให้มีตนอันรักษาดีแล้วนี้เองค่ะ จึงทำให้ค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็นตนไปตามลำดับ

กลับมาที่การหาเหตุของความทุกข์ ความโกรธตามเดิมนะคะ การพิจารณาอาจเป็นต่างๆดังเช่น 

-โลภะถูกขัด เราอยากได้ (โลภะ) อะไร แล้วไม่ได้ จึงทำให้เราโกรธ (โทสะ)

-อุปาทาน เรายึดมั่นในอะไร จึงทำให้มีการปรุงแต่งไปในทางที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น ยึดมั่นว่าเราต้องใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมเสมอ  จึงเจียดเงินซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมมาใส่ แต่แล้วกลับต้องทนลดค่าใช้จ่ายอื่นๆทดแทนค่าเสื้อผ้าราคาสูงลิบ พอทนทำนานๆเข้าก็นึกโกรธขึ้นมาได้

-การวางจิตในเรื่องนั้นๆ เรามีทิฏฐิหรือความเห็นในเรื่องนั้นๆอย่างไรและ “กำหนด” ลงไปอย่างไร ก็คอยใส่ใจแต่เรื่องที่กำหนดนั้น เช่น เรากำหนดว่าเขาคอยว่าเรา เราจึงใส่ใจคำพูดเขาอยู่ตลอดเวลา (เพราะถ้าไม่ใส่ใจวิญญาณไม่เกิด) จึงทำให้ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร เราก็คิดน้อมไปในทางที่เรากำหนดไว้แล้วปรุงแต่งไปตามความเคยชินนั้นจนทุกข์ใจร่ำไป

การวางจิตในทางที่ผิดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้โทษยิ่งกว่าโจรเห็นโจรจะพึงทำให้กันเสียอีกค่ะ

-การเห็นกิเลสตนเป็นกิเลสคนอื่น เช่น เราชอบให้ใครๆพูดจากับเราด้วยถ้อยคำหวานหู แต่เขาพูดกับเราด้วยน้ำเสียงห้วน กระด้าง ไม่น่าฟัง เราจึงตำหนิเขาว่าเป็นคนมักโกรธ แต่อันที่จริงก็คือเป็นเพราะเราโลภ อยากได้เสียงที่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี แต่เมื่อได้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็เลยตำหนิเขา

กิเลสของเรา นอกจากจะไม่เห็นแล้ว ยังเห็นว่าเป็นกิเลสของคนอื่นไปได้นะคะ

ขอบพระคุณธรรมเทศนาของสมเด้จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ค่ะ ที่ทำให้เห็นเหตุข้อนี้

-การผูกโกรธ ผูกโกรธคือความโกรธในครั้งหลัง เรื่องที่เคยโกรธแล้ว ผ่านไปแล้ว กลับนำมาคิดถึงซ้ำ จึงทำให้โกรธซ้ำขึ้นมาอีก

-การพิจารณาหาสาเหตุไม่รอบด้าน เช่นเรื่องที่เราเคย “เคลียร์” สาเหตุกันไปแล้ว แต่พอนึกถึงขึ้นมาใหม่ พบเหตุใหม่ ก็โกรธซ้ำขึ้นมาอีกได้

เหล่านี้เป็นต้น

ที่เรามักหลงทางคือ เราเข้าใจว่าปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ แต่บางครั้งเรากลับปฏิบัติให้ทุกข์ดับโดยสร้างทุกข์ใหม่ขึ้นมา การดับทุกข์นั้นต้องดับที่สาเหตุค่ะ ไม่ใช่ดับด้วยกิเลส ไม่ใช่ใช้กิเลสดับกิเลส

เช่น หญิงคนหนึ่งถูกคนรักตัดสัมพันธ์ เธอทุกข์ใจมากจึงคิดปลอบใจตนว่าดีแล้วที่เขาทิ้งเธอไป เธอจะได้มีโอกาสหาคนใหม่ที่ดีกว่าเขา เธอคิดว่าเธอจะปรับปรุงตัวใหม่ให้งดงามไฉไล มีคนรักใหม่ ให้อดีตคนรักนึกเสียดายที่ทิ้งเธอไป เมื่อคิดได้อย่างนี้ เธอก็หายทุกข์ กลับมาเป็นคนใหม่ที่สดใสกว่าเดิม

อย่างนี้เรียกการดับทุกข์ด้วยกิเลสค่ะ เธอใช้โทสะ ใช้การคิดแก้แค้น เอาคืน ดับทุกขเวทนา สาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดการเลิกรา ทำให้ทุกข์ใจ ไม่ได้รับพิจารณาแก้ไขแต่อย่างใด และหากเธอพบรักครั้งใหม่ก็มีโอกาสเกิดทุกข์ซ้ำซ้อน ทุกข์เพราะเรื่องเก่าๆแต่กับสถานการณ์ใหม่ๆขึ้นมาได้

อีกเรื่องค่ะที่เรามักเข้าใจคลาดไป คือเรื่องของการ “ดูจิต” กัน บางท่านบอกว่า การดูจิตก็คือการดูอาการต่างๆ เช่น หากโกรธก็ปล่อยความรู้สึกโกรธออกมา แล้วก็ดูว่าอาการของความโกรธเป็นอย่างไร

อันที่จริง ท่านไม่ได้กำลังดูจิตว่ามีอะไรที่ไม่พึงปรารถนามาปรุงแต่งจิตอยู่ ดูเพื่อให้หาสาเหตุได้ เพื่อประหารกิเลสอยู่หรอกนะคะ แต่ท่านกำลังปล่อยใจไหลไปตามกิเลส เพราะอย่างน้อย การปล่อยความโกรธให้พลุ่งพล่านออกมา ก็แสดงว่าท่านขาดการฝึกตนด้วยขันติ

อัตถะทั้งสองนี้จะเปรียบเป็นแนวทางกว้างๆในการดำเนินชีวิตด้วยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อบรรลุจุดหมายในพุทธศาสนาก็ได้นะคะ ผลที่ได้รับจากการบำเพ็ญอัตถะ คือ มีความเป็นอยู่เป็นปกติ ไม่มีเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจ ยินดีในการสละ เป็นสุข ภาวะเหล่านี้จัดเป็นบุญส่วนผล “บุญ” จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆกับที่ความเห็นว่าเป็นตน ความยึดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ก็ลดลงเรื่อยๆตามไป

สำหรับดิฉันแล้ว ยิ่งพิจารณาอัตถะให้ลึกลงไป ก็ยิ่งเห็นกิเลสตนมากขึ้น พยายามหาทางกำจัดกิเลสตนให้มากยิ่งขึ้น

ท่านผู้อ่านล่ะคะ รู้สึกเหมือนกันไหม

หมายเลขบันทึก: 573567เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2014 05:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2014 05:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท