สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

เนคเทคจับมือมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดค่ายเสริมศักยภาพเด็กเก่ง ICT "ต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2" ผลักดัน 13 ผลงานเยาวชนสู่ภาคการค้า – รับใช้สังคม


“ในค่ายครั้งนี้ พวกเราจะได้มาเรียนรู้เรื่องความต้องการของผู้ใช้ว่าเขาอยากเห็นผลงานของเราเป็นอย่างไร เราอาจภูมิใจในผลงานของเราว่าผ่านการแข่งขันมามากมาย หรือเคยได้รางวัลชนะเลิศมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจไม่มีใครใช้งานผลงานของเราเลย เพราะเราไม่รู้จักผู้ใช้ แม้แต่หน่วยวิจัยอย่างเนคเทคเอง นักวิจัยก็จำเป็นต้องไปสำรวจความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องทำให้ผู้ใช้พอใจในผลงานของเรา” ดร.กว้านกล่าว

เนคเทคจับมือมูลนิธิสยามกัมมาจลเปิดตัว 13 ผลงานของเยาวชนคนเก่ง ICT ในโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 2 หวังต่อยอดผลงานจากการประกวดสู่แนวคิด “จากหิ้งสู่ห้าง” พร้อมจัดค่ายเสริมศักยภาพรอบด้าน ทั้งการบริหารจัดการ การวางแผนธุรกิจ และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนนำผลงานไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นแล้วกลับมาพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น

เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนคนเก่ง ICT จำนวน 13 ทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนใน โครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปี 2 โครงการในความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มีเป้าหมายหนุนเสริมให้เยาวชนคนเก่ง ICT ได้ใช้ความรู้ความสามารถต่อยอดพัฒนาผลงานจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) และโครงการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ให้เกิดผลสำเร็จสามารถใช้งานได้จริงทั้งในด้านการค้าและการรับใช้สังคม ด้วยเหตุนี้ "ค่ายพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโครงการสู่การนำไปใช้งานจริง" จึงเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากเนคเทคอบรมให้ความรู้ต่อยอดผลงานสู่การใช้จริง ...

ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ในปีที่ 2 ของโครงการ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2557 คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงาน 13 โครงการจากผลงานที่ส่งสมัครทั้งหมด 67 โครงการให้ได้รับทุนสนับสนุนการต่อยอด พร้อมจัดค่ายเสริมศักยภาพเยาวชนขึ้น โดยหวังว่าตลอด 3 วันของการอบรมเยาวชนทุกทีมจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และคำแนะนำจากทีมวิทยากร ทั้งในด้านการบริหารจัดการโครงการ การวางแผนทางธุรกิจสำหรับผู้เริ่มต้น และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับโครงการไอที ไปปรับใช้กับการทำงานจริงในระยะต่อไปซึ่งเยาวชนจะต้องนำผลงานไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลกลับมาพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่หาได้ยากยิ่งในห้องเรียน

“ในค่ายครั้งนี้ พวกเราจะได้มาเรียนรู้เรื่องความต้องการของผู้ใช้ว่าเขาอยากเห็นผลงานของเราเป็นอย่างไร เราอาจภูมิใจในผลงานของเราว่าผ่านการแข่งขันมามากมาย หรือเคยได้รางวัลชนะเลิศมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจไม่มีใครใช้งานผลงานของเราเลย เพราะเราไม่รู้จักผู้ใช้ แม้แต่หน่วยวิจัยอย่างเนคเทคเอง นักวิจัยก็จำเป็นต้องไปสำรวจความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องทำให้ผู้ใช้พอใจในผลงานของเรา” ดร.กว้านกล่าว

สำหรับกระบวนการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษและการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาโครงการในด้านที่จำเป็นแก่น้องๆ ได้ขอเข้ารับคำปรึกษา เริ่มตั้งแต่คลินิกด้านการบริหารจัดการโครงการ โดยคุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ, คลินิกด้านการวางแผนทางธุรกิจสำหรับผู้เริ่มต้นโครงการด้านไอทีโดยคุณณัฐพล นุตคำแหง และคุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ, และคลินิกด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับโครงการไอที โดยคุณชัชวาล สังคีตตระการ ผู้ช่วยวิจัยหน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ

ด้านทีมวิทยากรการอบรม คุณณัฐพล นุตคำแหง และ คุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ จากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ กล่าวว่า ในค่ายครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้และเสริมมุมมองใหม่แก่น้องๆ เยาวชนถึงกระบวนการการพัฒนาผลงานจากไอเดียถึงผลิตภัณฑ์ว่าควรเป็นอย่างไร ควรจัดสรรทรัพยากรเวลา เงินทุน และกำลังคนอย่างไร และควรมีระบบการทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งด้านการวางแผนธุรกิจซึ่งน้องๆ ต้องปรับมุมมองต่อผลงานที่พัฒนาขึ้นว่าเป็น “นวัตกรรม” ที่นอกจากจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เราคิดค้นขึ้นแล้วยังต้องใช้งานได้จริงและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ การหาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนการทำงานจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องกำหนดให้ชัดว่าเป็นใคร ต้องการฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างไร ไม่ใช่เพียงผู้พัฒนาต้องการพัฒนาอะไร รวมทั้งรู้ด้วยว่ากลุ่มผู้ใช้มีจำนวนเท่าไร ในเชิงธุรกิจจะมีความคุ้มทุนและทำกำไรได้หรือไม่ ขณะที่บางทีมเน้นพัฒนาผลงานเพื่อรับใช้สังคมจะต้องไม่ลืมว่าผลิตภัณฑ์ต้องเลี้ยงตัวเองและตอบโจทย์ความยั่งยืนได้ การหาข้อมูลอย่างเพียงพออาจช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนเพื่อการทำความดีได้ต่อเนื่องยาวนาน

“เราเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของน้องๆ ที่มาร่วมโครงการเพราะเขาตระหนักถึงคุณค่าที่โครงการได้มอบให้แล้วเขาอยากทำให้เต็มที่ที่สุด การสนับสนุนให้มีโครงการลักษณะนี้จึงควรมีต่อไปเพราะเป็นกระบวนการที่ดี ไปหนุนเสริมเขาในส่วนที่เขายังไม่เคยได้เรียนรู้ เพราะหากเด็กทำโครงการแล้วไม่มีคนแนะนำ เขาก็จะคิดแบบเด็ก และอาจเน้นไปในเรื่องเทคนิคว่ามีความยากง่ายแค่ไหนเพื่อพิสูจน์ความสามารถในเชิงวิชาการ แต่ตอนนี้เรากำลังผลักดันให้เขามีความสามารถทำผลงานออกไปใช้เพื่อทำประโยชน์จริงๆ เรื่องความสามารถทางวิชาการจึงกลายเรื่องรอง” วิทยากรกล่าว

ทางด้านน้องๆ คนเก่ง ICT ที่เข้าร่วมรู้ในค่ายครั้งนี้ น้องว่าน “น.ส.ธัญจิรา สุกกรี” น้องเนย “น.ส.นุชดี เหล่าสุรสุนทร” และน้องนัท “ด.ญ.ณัฐณิชา เดชะเอื้ออารีย์” โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เจ้าของผลงาน Zombio นายซอมบี้กับเคมีที่รัก โปรแกรมสื่อการเรียนรู้วิชาเคมีเรื่องชีวโมเลกุลในรูปแบบ 2 มิติด้วยภาพแอนิเมชั่น สะท้อนว่ามาค่ายครั้งนี้แล้วได้รับความรู้หลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะด้านการตลาดว่าถึงเราจะมีความสามารถด้านด้านไอทีและพัฒนาผลงานออกมาได้ดีมากมายเพียงใด แต่หากไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดหรือของผู้ใช้ได้จริงๆ อย่างไรแล้วผลงานของเราก็ขายไม่ได้ โดยจะนำความรู้นี้ไปปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่จากแต่เดิมทำงานตามใจตัวเอง อยากเติมหรืออยากใส่อะไรลงไปในโปรแกรมก็ใส่เข้าไปจนรกรุงรังทั้งที่ไม่มีความจำเป็นไปเป็นการมองว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์สูงสุดและเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังได้รับรู้เรื่องการบริหารจัดการโครงการ การจัดสรรเวลาเรียนและเวลาทำงาน การแบ่งหน้าที่ และการวางแผน การวางกรอบเวลาว่างานชิ้นไหนควรใช้เวลาเท่าไร เพราะยิ่งเราวางแผนไว้ละเอียดมากเท่าไหร่การทำงานของเราก็จะมีความชัดเจนและปัญหาน้อยลงมากเท่านั้น

ส่วน น้องอั้ม "นายเกียรติ์อธีติ อนุสรณ์ภักดี" นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เจ้าของผลงาน Personal Health Assistant โปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลบนอุปกรณ์ Smart Phone ระบบ Android กล่าวว่ารู้สึกประทับใจที่ได้มารับความรู้เรื่องของการวางแผนธุรกิจ เพราะสอนให้เราสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้เอง ซึ่งมีน้อยหรือไม่มีเลยในการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มุ่งสอนให้นักศึกษาจบไปเป็นวิศวกรหรือเป็นแรงงานมากกว่า

“การได้มารับความรู้เรื่อง Business Model ทำให้ผมรู้ว่าคนที่เรียนจบทางด้านวิศวกรรมก็สามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการได้ ไม่ใช่การมองแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เราจะต้องทำให้เสร็จ แต่มองด้วยว่าเราจะบุกตลาดอย่างไรและใครเป็นกลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์ของเรา หากเด็กไทยได้รับความรู้ตรงนี้ด้วยจะทำให้กำลังคนของเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน” เยาวชนคนเก่ง ICT ปิดท้าย โดยหลังจากนี้ น้องๆ ทั้ง 13 ทีมจะได้นำผลงานของตนไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มผู้ใช้งาน และปรับปรุงพัฒนาผลงาน จากนั้นกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการอีกครั้งเพื่อให้เกิดการใช้จริงได้ในอนาคต

จึงถือเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่น่าสนใจและน่าจับตามองพร้อมร่วมกันส่งใจเชียร์ให้กับเหล่าคนรุ่นใหม่ทั้ง 13 ทีมได้พัฒนาต่อยอดผลงานจากการประกวด ไม่ให้เป็นแค่ผลงานประกวดที่ทำเสร็จแล้วก็จบไป แต่ยังสามารถต่อยอดสู่การใช้งานจริง และมีผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งในด้านธุรกิจและสังคม ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com/project/ต่อกล้าให้เติบใหญ่

- 13 โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2 -

1. Monster Land เกมบนอุปกรณ์ Smart Phone วิทยาลัยสื่อศิลปะและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. บุญอิ่มริมรั้ว เกมจำลองการทำอาหารบนอุปกรณ์ Smart Phone โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

3. Personal Health Assistant โปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลบนอุปกรณ์ Smart Phone ระบบ Android มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา

4. เครื่องย้อมเส้นไหมด้วยเซลล์ไฟฟ้าเคมี เครื่องจักรย้อมเส้นไหมสำหรับอุตสาหกรรมชุมชน โรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์

5. AIR BOAT การพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของแบบจำลอง AIR BOAT ด้วยตัวตรวจวัดค่าความเร็วเชิงมุม โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

6. Scavenger Hero เกมปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนอุปกรณ์ Smart Phone โรงเรียนระยองวิทยาคม

7. ระบบห้องเรียนอัจฉริยะ Magic Classroom ระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเทคโนโลยีการศึกษาในห้องเรียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

8. Media Beamer โปรมแกรมสร้างเครือข่ายส่วนตัวโดยไม่ต้องใช้เสาบริการสัญญาณหรือจุดเชื่อมต่อ Wi-Fi บนอุปกรณ์ Smart Phone ระบบ Android มหาวิทยาลัยมหิดล

9. Easy Phone for Blind โปรแกรมช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาใช้สมาร์ทโฟนด้วยคำสั่งเสียงบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

10. Monmon Dash เกมจำลองการละเล่นไทยบนอุปกรณ์ Smart Phone และ Tablet โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่

11. Zombio นายซอมบี้กับเคมีที่รัก โปรแกรมสื่อการเรียนรู้วิชาเคมีเรื่องชีวโมเลกุลในรูปแบบ 2 มิติด้วยภาพแอนิเมชั่น โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

12. Jack find the treasure โปรแกรมสื่อการเรียนรู้เรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษบนอุปกรณ์ Smart Phone โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

13. Scan to Buy แอพพลิเคชั่นซื้อของที่สามารถตรวจสอบโมเดลสินค้าผ่านการ scan AR Code โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 572672เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยค่ะ...ติดตามเรื่องนี้มาตลอด...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท