เมื่อเด็กเห็นความเชื่อมโยง...ภัยพิบัติธรรมชาติ


            นานมากเลยที่เดียวที่ผมไม่ได้เขียน Blog แต่เมื่อหวนกลับไปอ่านบันทึกเก่าๆ ทำให้เสียดายที่ตนเองไม่ได้เขียนต่อ  ซึ่งตอนนี้พอมีเวลาเพิ่มขึ้น  จึงเป็นโอกาสของการกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอีกครั้งหนึ่ง

            หายไปนานเพราะ...ผมไปทำวิจัยและพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ตอนนี้สำเร็จแล้ว วิจัยเสร็จ      แต่องค์ความรู้ สาระประโยชน์จากงานวิจัยต้องขยายต่อ  ขับเคลื่อนเรื่องการจัดกิจกรรมภัยพิบัติศึกษาในโรงเรียน       การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยใช้โรงเรียน ชุมชนเป็นฐาน ผมหวังว่าประเทศชาติเราจะให้ความสำคัญของเรื่องนี้  เพิ่มขึ้น 

             อดไม่ได้ที่จะนำเรื่องราวดี ๆ ระหว่างทดลองใช้หลักสูตรภัยพิบัติกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา มาแบ่งปัน   วันนี้จะขอแบ่งปันเรื่องที่ประทับจากการเขียนสะท้อนการเรียนรู้  ที่ทำให้ผมยิ้มอย่างมีความสุขว่า...เด็ก ๆ เขามีมุมมองหรือโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเกี่ยวกับสาเหตุและแก้ปัญหาภัยพิบัติ หรือพูดตรง ๆว่าเขามีจิตสำนึก ก็ว่าได้ สำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยพิบัติและควรมีส่วนร่วมในการลดปัญหาภัยพิบัติโดยควรเริ่มต้นที่ตนเอง เช่น ลดพฤติกรรมบริโภคนิยม วัตถุนิยม  มาดูข้อความเท่ ที่คาดไม่ถึงจากเด็กที่สะท้อนกันนะครับ


                            


ทำไมต้องเกิดภัยพิบัติ  สาเหตุเกิดจากอะไร  ใครเป็นคนทำ  แล้วทำไมฉันต้องรับผิดชอบด้วย...แต่พอได้เรียนรู้ภัยพิบัติเกิดจากความไม่สมดุลของธรรมชาติ  คนทุกคนล้วนแต่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยพิบัติ  และทำให้ฉันรู้ว่าฉันต้องมีส่วนรับผิดชอบฉันต้องช่วยทำให้มันดีขึ้น

                                                                                                        (นักเรียนคนที่ 1, แบบประเมิน AAR, 3 ตุลาคม 2556)

                                  

…รู้สึกว่ามนุษย์ไม่น่าทำให้โลกที่เคยสวยงามน่าอยู่ใบนี้พังทลายไปในพริบตา...มนุษย์เราอยากได้ อยากมี อยากรวยแต่ไม่คิดถึงธรรมชาติทำลายธรรมชาติมาตลอด พอธรรมชาติลงโทษหรือว่าง่ายๆ คือล้างโลกโดยเกิดภัยพิบัติก็หาว่าธรรมชาติเป็นตัวการ         ...แต่จริงๆ แล้วมนุษย์นี่แหละที่เป็นตัวปัญหา

                                                                                                        (นักเรียนคนที่ 9, แบบประเมิน AAR, 3 ตุลาคม 2556)

                                 

      

      จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เขามีพลัง (การกระทำ  ความคิด) อยู่ในตัวเยอะ  หากครูเราให้โอกาสเขา  รับฟังเขา  เกื้อหนุนเขา  แล้วเราจะพบว่า....เด็ก ๆ นี่แหละครับจะเป็นพลังสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ

      เหตุผลหนึ่งที่สามารถทำให้นักเรียนของผมมีโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปเป็นเพราะผมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา  เอาไว้บันทึกหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไรนะครับ


หมายเลขบันทึก: 572671เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจที่กลับมา

สบายดีนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท