สบายๆกับการทำงานในสังคมชาวมุสลิมอินโดนีเซีย


ที่มา: vanzdesign.deviantart.com

“gotong royong” อ่านว่า...โกตอง โรยอง... หมายถึงการลงแขกทำงานของคนอินโดฯ แต่เดี๋ยวนี้หาไม่ค่อยมีเหมือนๆบ้านเรา....ต้องมีปัจจัยงานถึงเดิน

ใครจะไปทำงานที่อินโดฯแนะนำให้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในสังคมมุสลิมไว้บ้าง....ไม่ต้องกลัวเสียหน้า โดยคำสอนชาวมุสลิมเขาจะทำละหมาดโซลัด “solat” กันวันละห้าครั้ง ในชั่วโมงทำงานต้องได้เห็นสองครั้งคือตอนเที่ยงถึงบ่ายเรียก “zuhar” และตอนบ่ายแก่สามสี่โมงเรียก “asar” ใช้เวลาสวดครั้งละประมาณสิบห้าถึงยี่สิบนาทีรวมล้างมือล้างเท้าให้สะอาดก่อนทำละหมาด ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ถ้าเห็นบางคนโดยเฉพาะผู้ชายเอาเท้าขึ้นพาดแหย่นิ้วลงไปล้างในอ่างสำหรับล้างหน้าล้างมือให้ถือเป็นเรื่องธรรมดาอย่าไปคิดอะไรมาก....กลัวลื่นหัวฟาดพื้นเท่านั้น และเวลาฉี่เสร็จแล้วเขาทั้งหลายจะต้องรองน้ำล้างของเขากันทุกรายก่อนเก็บเข้าที่เข้าทาง อันนี้เป็นธรรมเนียมจริงๆ....เห็นมาเต็มตา

ตามสำนักงานส่วนใหญ่จะสร้างห้องเล็กๆไว้สำหรับละหมาดโดยเฉพาะ เวลาทำละหมาดจะหันหน้าไปทางทิศที่เมืองมักกะฮ์ “Mecca” ตั้งอยู่เท่านั้น ก่อนทำพิธีจะมีผ้าที่ใช้เฉพาะปูรองพื้นของใครของมัน ผู้ชายสวมหมวกมุสลิมตาคีญะห์ “taqiyah” และนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงสวมฮิญาบ “hijab” ผ้าคลุมหัว เพราะฉะนั้นถ้าเห็นเพื่อนร่วมงานเขาหายไปไหนจะได้ไม่ต้องไปนั่งจับผิด การละหมาดที่สำคัญที่สุดของวันคือ “maghrib” ช่วงหกโมงเย็นถึงหัวค่ำพระอาทิตย์พึ่งตกดิน

และจะมีละหมาดใหญ่ประจำอาทิตย์คือในบ่ายวันศุกร์กินเวลาน่าจะเป็นชั่วโมง ทำละหมาดก่อนกินข้าวเที่ยงที่มัสยิดใกล้ๆสำนักงาน ไม่ค่อยเห็นผู้หญิงไปทำละหมาดใหญ่วันศุกร์กับพวกผู้ชายที่มัสยิด เข้าใจว่ามีระเบียบปฏิบัติเคร่งครัดกว่าของผู้ชายเลยพากันทำที่สำนักงานแทน

เมื่อได้ทำงานหรือพักค้างในย่านที่มีบ้านเรือนชาวมุสลิมอยู่อาศัย สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ย้ำเตือนถึงความเป็นสังคมมุสลิมคือ เสียงสวดมนต์จากลำโพงของมัสยิดในย่านนั้นหรือมัสยิดประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะติดตั้งให้กระจายเสียงได้รอบทิศทาง เราจะได้ยินกันวันละหายเวลาจนซึมซับไปโดยอัตโนมัติ เป็นเสียงแรกของทุกวันที่จะได้ยินก่อนนาฬิกาปลุกตอนเช้าประมาณตีสี่กว่าถึงตีห้า

เมื่อถึงเดือนถือศีลอดซึ่งไม่เท่ากันในทุกปี อย่างเช่นตอนนี้ที่อินโดฯกำลังอยู่ในช่วงถือศีลอดถือบวช พัวซ่า “puasa” ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดินจะไม่แตะอาหารและน้ำดื่มเลย แม้แต่น้ำลายก็ห้ามกลืน ในช่วงถือศีลอดตอนบ่ายๆปากคอของคนที่อดอาหารมักจะแห้งผากรวมถึงเรี่ยวแรงและแววตา ขณะที่งานในหน้าที่ก็จำเป็นต้องทำไม่ได้หยุด.....เวลาพวกต่างชาติกินข้าวเที่ยงดื่มน้ำซดกาแฟจึงต้องสำรวมเป็นพิเศษ

ดังนั้นโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วในช่วงเดือนถือศีลอดการวางแผนลุยงานหนักจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง จากปกติที่เคยทำได้แปดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ในช่วงนี้ต้องผ่อนเหลือแค่ห้าหรือหกสิบเปอร์เซ็นต์....ได้เท่านั้นก็เก่งแล้ว พอหมดเดือนถือศีลอดจะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง อิดูรฟิตรี “Idul Fitri” ซึ่งเป็นเทศกาลหยุดยาวเป็นอาทิตย์แบบเดียวกับสงกรานต์ คนทำงานต่างถิ่นจะเดินทางกลับบ้านเกิดไปเยี่ยมพ่อแม่ครอบครัวญาติพี่น้องกันทั้งประเทศ

ยังมีวันหยุดทางศาสนาอีกหลายวันแต่เทศกาลนี้ใหญ่ที่สุด มีวันหยุดระดับชาติสำหรับศาสนาอื่นๆด้วยเช่น วันหยุดคริสต์มาส วันหยุดวันวิสาขบูชาซึ่งช้ากว่าของไทยหนึ่งวัน วันหยุดตรุษจีนด้วยมั้งถ้าจำไม่ผิดพึ่งจะประกาศในตอนปีหลังๆนี่เอง นอกนั้นเป็นวันหยุดสำหรับวันประกาศอิสรภาพซึ่งเมืองไทยไม่เคยมี วันสิ้นปีและขึ้นปีใหม่สากล รวมแล้วปีนึงจะหยุดประมาณสิบสี่สิบห้าวัน

ระบบเงินเดือนของอินโดฯจะมีเงินเดือนเดือนที่สิบสามประกาศเป็นกฎหมายชัดเจน....ไม่เกี่ยวกับโบนัส มีระบบประกันสังคมที่เรียกว่าจัมโซสเต็ก “jamsostek” มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยซูฮาร์โต้มีมาก่อนเมืองไทยด้วยซ้ำ

ที่อินโดฯตลาดงานโดยเฉพาะระดับลูกจ้างรายวันหรือแม้แต่รายเดือนมีจำนวนน้อยกว่าผู้ต้องการทำงานมาก คนมีรถใช้รายได้ปานกลางมีครอบครัวจึงมักมีคนขับรถกันเป็นธรรมดา ที่บ้านอย่างน้อยๆต้องมีแม่ประจำบ้านประจำครัวถึงสองคนรวมถึงดูแลความสะอาดบ้านซักเสื้อรีดผ้าหรือตัดหญ้า ถ้ามีลูกเล็กก็จ้างเบบี้ซิสเธ่อร์เพิ่มอีกแบบต่อต่อตัวหรือสองรุมหนึ่งก็มี

ไปไหนมาไหนเวลากินข้าวนอกบ้านก็หอบหิ้วพี่เลี้ยงของลูกไปด้วย แต่ไม่ได้ร่วมวงกินข้าวให้ไปช่วยอุ้มลูกกะเตงๆเดินไปเดินมาแถวโต๊ะโน้นบ้าง แถวหน้าร้านบ้างตอนพ่อแม่กำลังกินข้าวเฮฮากับเพื่อนฝูง ส่วนคนขับรถก็นั่งหลับหรือสูบเกรเต็กพูดคุยกับชมรมคนขับด้วยกันหรือวินมอร์ไซค์ตูกังออเจ้ก “ojek” รอพนักงานประกาศเรียกให้ไปรับเจ้านายที่หน้าประตูร้าน เจอเจ้านายต่างชาติขี้เมาหนุ่มโสดเที่ยวดึกดื่นแบบออรังบางก๊อกก็คงเหนื่อยหน่อย....ยกเว้นแจกทีปไม่อั้นตอนพากลับถึงบ้าน

จันทบุรี 16 กรกฎาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 572621เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2014 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2014 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท