บันทึกประจำวัน


ห้องพอเพียง..จะมีผลงานการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียง ผลิตภัณฑ์ของโครงการฯและข้อคิด หลักการของปรัชญา และพระบรมราโชวาท เป็นห้องที่เข้ามาดูวันละหลายรอบ เพื่อทบทวนการทำงาน สานต่อโครงการ งานในพระราชดำริ เคยคิดที่จะปรับปรุงห้องนี้ด้วยเงินผ้าป่าการศึกษา แต่ทำไม่ได้ เพราะเงินไม่พอ

อยากจะเขียนอนุทิน แต่เรื่องมันยาว ผู้รู้บอกว่า ถ้าเขียนเยอะและยาว ให้เขียนเป็นบันทึก และบันทึกจะเขียนยาวขนาดไหน มีภาพประกอบมากมายอย่างไรก็ได้ จึงตกลงเขียนบันทึก

บันทึกนี้ เป็นบันทึกประจำวันของวันนี้ คงเป็นวันเดียวนั่นแหละ เพราะแต่ละวันมักมีเรื่องซ้ำๆกัน เป็นงานประจำ ที่ไม่ใช่นานๆทำที ถ้าไม่มีอะไรจะเขียน บางทีต้องหันไปเขียน ประวัติส่วนตัว ..วิตกว่า จะมีคนอ่านหรือไม่ ที่สุดแล้ว คงเขียนไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว ที่คิดว่า คงไม่มีใครอยากรู้ และหรือ เราเองก็ไม่ได้เขียนเพื่อส่งงานใครด้วย

เช้า นักเรียนเข้าแถว เคารพธงชาติ เราต้องเดินดูรอบอาคาร ดูว่านักเรียนปิดน้ำประปาหรือเปล่า ห้องน้ำห้องส้วมสะอาดพร้อมใช้หรือไม่ และนักเรียนนำกระดาษไปทิ้งลงในบ่อใบไม้มากน้อยแค่ไหน บางทีนักเรียนอนุบาลยังไม่เข้าใจ วันนี้ไม่พบสิ่งแปลกปลอมในบ่อใบไม้เลย ก็แสดงว่า นักเรียนเข้าใจและให้ความร่วมมือ

เดินรอบๆสวนสุขภาพ คิดได้ว่า ป้ายอาเซียน ที่ติดตามร่มไม้ ดูไม่น่าสนใจ ควรนำไปติดที่รั้วสมุนไพรจะดีกว่า เสมือนว่าเป็นรั้วอาเซียน แนะนำประเทศต่างๆ งานนี้เอาไว้ปรึกษาหารือครูอีกทีเห็นจะดีเป็นแน่แท้

เข้าไปดูในโรงเห็ดนางฟ้า พบว่าเห็ดดอกใหญ่ ครูเก็บไปต้มยำทำแกงแล้ว ก็เลยเปิดน้ำให้ความชุ่มชื้น รู้สึกว่า ในรอบ ๓ ปีมานี้ เห็ดรุ่นนี้ดูจะดอกใหญ่ให้ผลผลิตต่อเนื่อง จะเป็นที่เชื้อเห็ด หรือว่าเราได้ลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนานแล้วก็ไม่รู้

เดินถึงเล้าไก่..ที่เลี้ยงไก่สาวพันธุ์ไข่ มาได้ราวเดือนเศษ วันนี้ได้ฤกษ์งามยามดี มีไข่ไก่เกิดขึ้นเป็นฟองแรก จากไก่ ทั้งหมด ๒๐ ตัว ประเดิมวันแรก วันต่อไปไข่ฟองที่สองต้องตามมาแน่

ช่วงสายไปสังเกตการทำงานของช่างเหล็ก ที่กำลังเชื่อมเหล็กทำโครงหลังคาเมทัลชีทที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เดิมเป็นอาคารต่อเติมที่เก่ามาก ทำเป็นห้องพยาบาล ห้องสหกรณ์และห้องพอเพียง

ห้องพอเพียง..จะมีผลงานการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียง ผลิตภัณฑ์ของโครงการฯและข้อคิด หลักการของปรัชญา และพระบรมราโชวาท เป็นห้องที่เข้ามาดูวันละหลายรอบ เพื่อทบทวนการทำงาน สานต่อโครงการ งานในพระราชดำริ เคยคิดที่จะปรับปรุงห้องนี้ด้วยเงินผ้าป่าการศึกษา แต่ทำไม่ได้ เพราะเงินไม่พอ

จากนั้น..ก็ตั้งใจทำงาน และขอให้บุญช่วยกุศลส่ง ได้รับเงินงบประมาณส่งเสริมสนับสนุนให้ได้ปรับปรุงห้องนี้ ให้มีความกว้าง สวยงาม เหมาะสมกับปริมาณและคุณภาพของงาน แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ก็มีกิจกรรมหลากหลาย แม้ไม่ได้เป็นศูนย์ที่ทางราชการรับรอง แต่ก็เพียงพอ ที่จะเป็นต้นแบบอย่างยั่งยืน..วันนี้เขตพื้นที่จัดสรรงบประมาณให้ปรับปรุง ๗๐,๐๐๐ บาท

กลับออกมาจากโรงเรียน ไม่ลืมที่จะปิดประตูรั้ว..เย็นมากแล้ว จนรู้สึกวังเวงใจ โรงเรียนเป็นสถานที่มีคุณค่า มีทรัพย์สินของทางราชการมากมาย แต่บุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีความรู้ความสามารถและเงินเดือน จำเป็นต้องทิ้งสถานที่ทำกินสู่ครอบครัว..ทำไม..ไม่มีครูอยู่บ้านในโรงเรียน ทำไมโรงเรียนถึงไม่มีบ้านพักครู งานที่ครูต้องดูแลวิชาการ กลับต้องไปดูแลอาคารสถานที่

เคยมีภารโรง แต่ภารโรงเกษียณอายุราชการไปนานแล้ว รัฐบาลในสมัยหนึ่ง ที่เน้นธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มองว่าไม่คุ้มทุน ตัดตำแหน่ง ไม่ดูแลแม้แต่จะให้ลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นภารโรง ทุกวันนี้..ผมมั่นใจแล้วว่าผู้นำคนนั้นทำผิดจริง..และคิดอะไรผิดๆมาตลอด..จนปัจจุบันพรรคของเขาก็เอาตัวไม่รอด เวรกรรม

                                                                                                ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

                                                                                                   ๑  กรกฎาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 571450เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2014 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2014 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผลความดียังไม่ปรากฏ จงหมั่นรดน้ำ พรวนดินต่อไป การออกดอก ออกผล เป็นหน้าที่ของพืชครับ

...ภารโรงคนเดียวคงไม่สามารถทำโรงเรียนให้สะอาดได้นะคะ บางโรงเรียนยิ่งอยู่นาน ยิ่งสร้างความลำบากใจ...การทำความสะอาดโรงเรียน คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนคือทั้งครู และนักเรียน...เท่าที่เคยมีประสบการณ์ในการนำกิจกรรม 5 ส. ผนวกด้วยกิจกรรมรีไซเคิลขยะ กิจกรรมจัดสวนหย่อม สวนเกษตร สวนสมุนไพร (ใส่กระถาง) และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน มาใช้อย่างถูกต้องตามหลักการก็ได้เกิดผลดี เป็นการสร้างนิสัยที่ดี มีระบบระเบียบให้กับนักเรียน อีกทั้งเกิดความประหยัดเงินของราชการ โดยเริ่มต้นด้วย

1.จัดทำโครงการ กิจกรรม 5 ส.เริ่มต้นด้วยการแบ่งพื้นที่กิจกรรม 5 ส. ให้มีผู้รับผิดเขียนผังพื้นที่ติดรูป ติดชื่อผู้รับผิดชอบ ติดภาพก่อนดำเนินกิจกรรม  (คือแต่ละอาคาร หรืออาจเป็นย่อยเป็นแต่ละชั้นของอาคาร) มีตารางประเมินประจำสัปดาห์

2.จัดทำตารางการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน และผู้รับผิดชอบ ตามเกณฑ์ที่กำหนด (คือเวรประจำวันแต่ละห้องเรียน และห้องสนับสนุนกลุ่มสาระต่างๆ)

3.จัดมุมรักการอ่าน มุมความรู้ ตามอาคารต่างๆ ประเภทหนังสือพิมพ์ วารสาร  การ์ตูน ที่ไม่ลงทะเบียน

4.จัดสถานที่ และภาชนะใส่ขยะรีไซเคิลที่มีในโรงเรียน

5.จัดสวนหย่อม สวนเกษตรฯลฯ หน้าอาคาร  มุมอาคาร มุมห้องต่างๆ ร่วมทั้งหน้าห้องน้ำ มุมห้องน้ำ

6. ประกาศผลงาน พื้นที่ 5 ส. ที่ทำได้คะแนนความสะอาดสูงสุดในแต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน

มีการมอบเครื่องหมายสัญลักษณ์ความสะอาดที่โรงเรียนจัดทำขึ้นติดหน้าห้อง หน้าอาคาร และบริเวณพื้นที่ ถ้าไม่สะอาดก็มีการเก็บคืนด้วย

7.จัดวันBig Cleaning day ทั้งก่อนปิด และเปิด ภาคเรียน

8.ปิดภาคเรียนสรุปผลโครงการ จากกิจกรรมทั้งหมด พร้อมรูปภาพ ใส่แฟ้ม ...ใส่สมุด

อาจเป็นแนวคิดที่เหมือน และแตกต่าง พอที่จะเป็นประโยชน์ได้บ้างนะคะท่านผอ.

แปลกใจมากที่โรงเรียนไม่มีภารโรงแม้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็ตาม แบบนี้แปลว่าให้ครูทำหน้าที่ภารโรงด้วยซึ่งไม่แฟร์ แต่ถึงแม้จะมีภารโรง ทุกคนทั้งครูและนักเรียนก็ต้องมีส่วนช่วย กิจกรรม 5 ส ที่เคยโปรโมตกันอยู่ยุคหนึ่งสามารถนำมาใช้ได้ตลอดไป แต่ครูที่ต้องทำหน้าที่ดูแลปัดกวาดห้องเรียนของตนไม่ใช่มีแต่ที่เมืองไทยหรอก ครูญี่ปุ่นบางแห่งก็ต้องทำเองเหมือนกัน คงเป็นที่ระบบการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรที่ประเทศนั้น ๆใช้อยู่ ที่มีจุดอ่อนแฝงอยู่นะคะ เราก็คงต้องมีหน้าที่บอก ๆ ๆ ความต้องการปีแล้วปีเล่า และความที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลก็ต้องมีหน่วยเหนือกว่าเป็นคนจัดสรรค์ ถ้าหลุดตั้งแต่ขั้นแรกแล้วก็จบ นี่ก็เป็นการกระจายอำนาจไม่รู้ว่าดีหรือเสียกันแน่นะคะ

..... อ่านแล้ว ... เป็นกำลังใจ ..ให้ท่าน นะคะ

มาให้กำลังใจ สถานที่ใหญ่โตแต่ไม่มีตำแหน่งภารโรง ลำบากใจไปด้วยค่ะ


<p>ทำต่อไป …… ด้วยหัวใจที่ไม่ท้อ</p><p>
</p><p>
</p>

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท