เก็บข่าว "รูดม่านแท็บเล็ต...รอวันเปิดแผล ประชานิยมนี้เพื่อใคร?" ... (เดลินิวส์ออนไลน์)


...

...

รูดม่านแท็บเล็ต...รอวันเปิดแผล ประชานิยมนี้เพื่อใคร?

...

...

ในที่สุดก็ถึงจุดจบของโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย หรือโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา(แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน เมื่อที่ประชุมร่วมระหว่าง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา กับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมใจกันล้มโครงการแจกแท็บเล็ตนักเรียนรายคน ทั้งในส่วนของปีงบประมาณ 2556 ที่การจัดซื้อยังค้างอยู่ในโซน 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)และการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งใช้งบฯ รวมทั้งสิ้นเกือบ 7,000 ล้านบาท หลังนำผลวิจัยและผลการติดตามการใช้แท็บเล็ตมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยให้เหตุผลว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสม

โครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา ต่อ 1 นักเรียน เป็นหนึ่งในโครงการประชานิยมที่สร้างความฮือฮาในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้หาเสียงไว้ว่าจะแจกแท็บเล็ตแก่นักเรียน นี่จึงเป็นที่มาของการนำมากำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนด้านการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนทุกสังกัดรวมกว่า 8 แสนคน ให้สามารถเข้าถึงความรู้ และข้อมูลข่าวสารตามความสนใจได้ รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น และสนุกกับการเรียนรู้แบบไม่จำกัดเวลา และสถานที่

เส้นทางการดำเนินโครงการสายนี้ เริ่มต้นจากการแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้น ป.1 ทุกคนในโรงเรียนทุกสังกัด ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 รวม 8.6 แสนเครื่อง ในวงเงิน 2,178 ล้านบาท ซึ่งราคาเครื่องอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 2,000 กว่าบาท โดยปีแรกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแท็บเล็ตให้แก่ทุกหน่วยงานที่ได้รับงบฯจัดซื้อแท็บเล็ต ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และคำถามจากสังคมมากมายว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 ซึ่งยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ และยังเดินหน้าโครงการต่อไปในปีงบประมาณ 2556 เป็นปีที่ 2

การดำเนินการของปี 2556 ได้เปลี่ยน แปลงการจัดซื้อแท็บเล็ตให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อคชั่น) พ.ศ.2549 โดยให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของงบฯ มอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้ดำเนินการอีอ๊อคชั่น ซึ่งแบ่งการจัดซื้อเป็น 4 โซน ได้แก่ โซน 1 นักเรียน ป.1 (ภาคกลางและใต้) โซน 2 นักเรียน ป.1 (ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ) โซน 3 นักเรียน ม.1 (ภาคกลางและใต้) และโซน 4 นักเรียน ม.1 (ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยการทำสัญญาให้ผู้ขายทำสัญญาโดยตรงกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของงบฯ ซึ่งปีนี้จัดซื้อแท็บเล็ต จำนวน 1.63 ล้านเครื่อง ในวงเงิน 4,611 ล้านบาท เพื่อแจกให้นักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ทุกคนทั่วประเทศ

โครงการแจกแท็บเล็ตนักเรียนปีที่ 2 ดูเหมือนจะราบรื่น เพราะได้บริษัทที่ชนะการประกวดราคาครบ 4 โซน และเซ็นสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงขั้นตอนการจัดส่งแท็บเล็ต กลับพบว่า โซน 1 และ 2 บริษัทไม่จัดส่งแท็บเล็ตตามเวลาที่กำหนดจึงยกเลิกสัญญา และจัดประกวดราคาจนได้บริษัทใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดส่งแท็บเล็ต ส่วนโซน 3 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นว่าอาจมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น จนเกิดการฟ้องร้อง แต่ในที่สุดบริษัทที่ชนะการประกวดราคาก็เป็นผู้ชนะคดี และเดินหน้าจัดซื้อต่อไป โดยขณะนี้โซน 3 จัดส่งแท็บเล็ตถึงมือเด็กครบทุกคนแล้ว ส่วนโซน 4 บริษัทไม่จัดส่งของตามกำหนดเช่นกัน ทำให้ต้องประกวดราคาใหม่ แต่กระบวนการยังไม่ทันเริ่มต้น ก็ต้องมาถูกยุติโครงการลงกลางคัน พร้อมกับการจัดซื้อของปีงบประมาณ 2557 ส่งผลให้งบประมาณ 2556 มีเพียงโซน 4 เท่านั้นที่ไม่ได้รับแท็บเล็ต

จะเห็นได้ว่าตลอดเส้นทางการดำเนินโครงการแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งในระหว่างทางมีอุปสรรคขวากหนามเกิดขึ้นให้ตามแก้ปัญหามากมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดซื้อแท็บเล็ต การส่งมอบเครื่องที่มีความล่าช้า การใช้งานของเครื่องที่มีคุณภาพเป็นไปตามราคาที่ค่อนข้างต่ำ แต่สิ่งตอกย้ำที่ทำให้โครงการนี้เดินมาถึงทางตัน ก็คือผลการวิจัยทั้งในส่วนของสำนักงานผู้ตรวจราชการ ศธ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เห็นไปในทางเดียวกันว่ายังมีจุดบอด อาทิ แท็บเล็ตมีขนาดหน้าจอที่เล็ก ทำให้นักเรียนมีปัญหาด้านสายตา คุณภาพของเครื่องที่มีราคาถูก ทำให้แท็บเล็ตมีสเปกต่ำ อายุการใช้งานสั้น แบตเตอรี่มีปัญหา ชาร์จไฟไม่เข้า เก็บไฟได้ไม่นาน ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนหยุดชะงัก อีกทั้งบางพื้นที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงโรงเรียน ทำให้ต้องใช้โซลาร์เซลล์ส่งผลให้แท็บเล็ตติด ๆ ดับ ๆ ขณะเดียวกันการแจกแท็บเล็ตก็แจกเฉพาะเด็กชั้น ป.1 และ ม.1 เท่านั้น เด็กชั้นอื่น ๆ ไม่ได้ใช้ด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวการันตีได้อย่างดีว่าเม็ดเงินมหาศาลที่ทุ่มลงไปเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

หลังจากนี้คงต้องติดตามดูว่าการเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบฯ และรูปแบบโครงการใหม่แทนโครงการเดิม ซึ่งแว่วว่าจะเป็นลักษณะของห้องเรียนที่จะให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ “สมาร์ทคลาสรูม” โดยเชื่อว่าจะเป็นการใช้งบฯที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน และคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง แต่เหนืออื่นใดสิ่งที่น่าจับตามองเป็นที่สุดเห็นจะเป็นการที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ที่ได้ส่งคณะอนุกรรมการลงพื้นที่ขุดคุ้ยตรวจสอบการดำเนินโครงการประชานิยม 8 โครงการ ซึ่งโครงการซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน ก็เป็น 1 ใน 8 โครงการที่รอวันพิสูจน์ว่า โครงการนี้ทำเพื่อเด็กหรือทำเพื่อใคร.

...

เขียนโดย มณีรัตน์ ศิริปัญจนะ

...

อ้างอิง : http://www.dailynews.co.th/Content/education/24622...

.....................................................................................................................................................................................

...

เรารู้กันอยู่แล้วว่า โครงการนี้เหมาะสมในการส่งเสริมการเรียนรู้กับเด็กเล็ก ๆ 
ที่ควรฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่หรือไม่

โทษมีมากกว่าคุณ แต่ก็ยังพยายามจะสรรหามา
แล้วอ้างว่า เพื่อลูกหลานไทยทุกคน

ศธ.น่าจะต้องพิจารณาตัวเองว่า กำลังทำอะไร
และมีหน้าที่จัดการศึกษาไทยให้กับลูกหลานไทยให้ดีที่สุดหรือเปล่า

จัดไป เก็บไปข่าวที่กำลังจะสิ้นสุดชิ้นนี้

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...

...

.....................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 570954เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

โล่งใจที่เลิกไปได้  เก็บเงินก้อนใหญ่ไปปฏิรูปการศึกษาจริงๆ จังๆ น่าจะดีกว่า

เราควรสนใจสาระใหญ่ๆ เช่น หลักสูตร การแปรหลักสูตรไปใช้จริง และกระบวนการเรียนรู้ที่จัดให้เด็กๆ มากกว่าใส่ฮาร์ดแวร์ที่ได้ประโยชน์น้อยเข้าไปเพราะราคาแพง ได้ไม่คุ้มค่า

ก่อนแจกแทบเล็ต เคยฟัง และอ่าน ความเห็นของนักวิชาการด้านการศึกษา และจิตแพทย์ด้านเด็ก  ไม่เคยได้ยินว่ามีเสียงสนับสนุน แต่รัฐบาลก็เดินหน้าเพราะคิดเร็ว ทำเร็ว ยังไม่ทันฟังความให้รอบด้าน

สัปดาห์ก่อน ผู้บริหารใหญ่ของ ศธ. ออกมาเผยว่าได้ประโยชน์น้อย  น่าเห็นใจจริงๆ ตอนที่รัฐบาลมีอำนาจในมือ ศธ.ไม่มีใครกล้าคัดค้าน  อย่างนี้จะเรียก "ประชาธิปไตย" ได้อย่างไร

งบประมาณของเรามีจำกัด หนี้สินก็เยอะ ลูกหลานของเราต้องทำงานใช้หนี้ที่นักการเมืองก่อ

ขอบคุณอาจารย์ที่เอาเรื่องนี้มาเขียนค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านข่าว...จบแล้ว..โครงการใหญ่..

-เป็นโครงการที่ีมีัปัญหาและแก้ไขยากจริง ๆครับ

-ต่อไปคงต้องรอดูแนวทางการพัฒนาการศึกษาแบบใหม่ ๆ

-รอติดตามตอนต่อไป....อิๆ 

-ตามไปหอมแผ่นดินกันดีกว่า...

-ขอบคุณครับ..

ขอให้ใช้งบประมาณของบ้านเมืองแบบก็ประโยชน์มากที่สุด

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

หลานชายพี่ป.2 ต้องใส่แว่นตาแล้วค่ะ สาเหตุหนึ่งคือจากแท็บเล็ต

นั่นคือ ผลกระทบข้างเคียงที่ชัดเจนครับ พี่นก NU 11 ;)...

อาจารย์วัตค่ะ
โรงเรียนครูนกเพิ่งได้รับแท็บเลตเมื่อตอนกลางมิถุนายน.....ซึ่งนักเรียนได้เลื่อนจากม.๑ มาเป็น ม.๒ แต่การแจกจะนำมาแจกให้นร.รุ่นใหม่ไม่ได้เพราะมีการระบุชื่อนักเรียนมาเรียบร้อย
ปัญหามีมากมาย.......อย่างที่แต่ละท่านกล่าวมา
ครูนกจะดีใจมากถ้าโครงการนี้จะแปลงร่างเป็นสิ่งที่ดีต่อเยาวชนอย่างแท้จริง

คุณครูนก noktalay คือ ผู้สัมผัสกับปัญหาจริง ๆ ครับ ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท