ผู้ชายพึ่งระวังสุขภาพ 5 ปัญหา หมั่นสังเกตสัญญาณเตือน


ผู้ชายควรใส่ใจมากๆเพื่อไม่เกิด

ผู้ชายเมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป มักมีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น จนทำให้บางครั้งอาจหลงลืมดูแลสุขภาพของตัวเองไป ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเตือนต่างๆ ที่ถูกมองข้าม จนกลายเป็นภัยเงียบก่อให้เกิด 5 โรคท็อปฮิตซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของเพศชาย อันได้แก่ โรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และโรคความดันโลหิตสูง หากถูกทั้ง 5 โรครุมเร้าคงไม่ดีแน่ จึงควรหันมาใส่ใจและเตรียมรับมือกับทุกปัญหาสุขภาพก่อนสายเกินแก้

นพ.ดำรงค์พันธ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการโรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ชายวัย 40 ปี ขึ้นไปเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกายที่เริ่มลดระดับลง เรียกว่า แอนโดรพอส  (Andropause) คล้ายเพศหญิงเวลาหมดประจำเดือน ส่งผลทางอารมณ์ จิตใจและสมรรถภาพทางเพศ มีความเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เรื่องของ มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นโรคฮิตติดอันดับหนึ่งของชาวอเมริกันและกลุ่มชาวยุโรป สแกนดิเนเวีย ผู้ชายในอเมริกาเหนือ (โดยเฉพาะกลุ่มผิวดำ) ในขณะที่ประเทศทางเอเชียเดิมทีพบไม่มาก ซึ่งในประเทศไทยมีตัวเลข 4.4 : 100,000 คน แต่ปัจจุบันตรวจพบผู้ป่วยมากขึ้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 รายต่อปี


ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายมีลักษณะคล้ายเกาลัด

อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะด้านหน้าทวารหนัก โรคที่พบบ่อยในต่อมลูกหมาก มี 3 โรคได้แก่ 

1 .โรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งต่อมลูกหมากที่โตขึ้นนี้จะกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง 

ทำให้มีอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

 ปัสสาวะขัด ใช้เวลาปัสสาวะนาน ไม่พุ่งหรือออกเป็นหยดๆ 

2. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนใหญ่ระยะแรกๆ ไม่แสดงอาการหรือมีอาการคล้ายต่อมลูกหมากโต

 รวมทั้งปัสสาวะหรืออสุจิมีเลือดปน

3. ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นภาวะที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียและจากเชื้อหนองในเทียม

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมาก แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการเพื่อแยกทั้ง 3 โรคนี้พร้อมๆ กับการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด โดยเฉพาะ พีเอสเอ (PSA) ส่วนต่อมลูกหมากแพทย์จะตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก เรียกว่า ดีอาร์อี (Digital Rectal Examination)  และนำผลตรวจมาวางแผนการรักษา ซึ่งการรักษาสามารถรักษาได้ด้วยยาคลายกล้ามเนื้อที่บีบเกร็งของต่อมลูกหมาก (ยาต้านฤทธิ์อัลฟา) หรือยาลดการสร้างฮอร์โมน ดีเอชที (ยาต้านเอนไซม์ 5 อัลฟารีดักเทส)  จะช่วยบรรเทาการบีบรัดหรือลดขนาดของต่อมลูกหมากลง หรืออาจจะต้องมีการเพิ่มการรักษาด้านศัลยกรรมหรือกึ่งศัลยกรรม ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของแพทย์

ศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ คลินิกสุขภาพเพศชาย กล่าวเสริมว่า นอกจากโรคต่อมลูกหมากแล้วยังมีอีกหนึ่งอาการที่ผู้ชายควรระวัง คือ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือที่เรานิยมเรียกว่า

โรคอีดี มีสาเหตุหลักๆ มาจากเส้นเลือดตีบเส้นประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจาก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ยาบางชนิด ภาวะฮอร์โมนบกพร่อง ฯลฯ และจากการศึกษาพบว่าคนที่มีอาการต่อมลูกหมากโตรุนแรงจะยิ่งพบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้มากขึ้นด้วย การตรวจวินิจฉัยจึงทำเป็นขั้นตอน คือตรวจร่างกายในห้องปฏิบัติการ ในรายที่ความต้องการทางเพศลดลงหรือพบลูกอัณฑะเล็ก จำเป็นต้องตรวจฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย จากนั้นเริ่มรักษาจากวิธีง่ายๆ เช่น กินยา การใช้ปั๊มสุญญากาศ ในรายที่ไม่ได้ผลจากวิธีรักษาง่ายๆ ก็จะมีการฉีดยาหรือผ่าตัดใส่แกนองคชาติเทียม

นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคที่ผู้ชายสูงวัยไม่ควรละเลย คือ ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะไม่สามารถกลั้น หรือรอนานได้ อาจมีปัสสาวะบ่อยหรือบางรายปัสสาวะเล็ดราดก่อนถึงห้องน้ำ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่เชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อผนังกระเพาะบีบตัวบ่อยกว่าปกติ ทำให้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรักษาจึงต้องทำควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและการใช้ยาเพื่อให้ได้ผลสูงสุด ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษานี้อาจต้องใช้ยาฉีดเข้าผนังกระเพาะปัสสาวะเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทำให้มีปริมาณปัสสาวะมากขึ้นและคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวขึ้น

 นพ.สุรชัย รุ่งธนาภิรมย์ ผู้อำนวยการคลินิกอายุรกรรม ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ยังมี

โรคความดันโลหิตสูง อีกโรคหนึ่งที่คุณผู้ชายควรระวัง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการจนกว่าจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวายและอัมพาต การตรวจวัดความดันสม่ำเสมอจะช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงระยะแรกเริ่มและควบคุมความดันโลหิตให้ได้ถึงเกณฑ์ปกติ เพื่อช่วยไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในระดับที่ยังไม่สูงมากจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะนอกจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างกรรมพันธุ์แล้ว เราสามารถปรับพฤติกรรมได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ หากหลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การรักษาด้วยยาถือเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันสม่ำเสมอหลังจากที่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่สำคัญทั้ง 5 โรคซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของเพศชายเราสามารถรับมือได้หากหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการดูแสสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงห่างไกลโรคร้ายได้อย่างทันท่วงที


( ขอบคุณ 5 ปัญหาสุขภาพชายจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

คุณผู้ชายรักษาสุขภาพกันไว้ไม่ควรประมาทหรือไม่สนใจ และไม่ควรต้องรอให้อายุถึง 40 ปี ป้องกันไว้ไม่ให้เกิด ดีกว่าเกิดแล้วมารักษานะคะ ความสุขที่ร่างกายแข็งแรงหากป่วยแล้วไม่ได้ทุกข์ใจกับผู้เป็นเท่านั้น ทุกคนในครอบครัวก็จะไม่มีความสุขไปด้วยเมื่อคนใดคนหนึ่งป่วย  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้หากมีความพยายามและตั้งใจนะคะ

(ขอบคุณภาพต่อมลูกหมากจากอินเทอร์เน็ต)

ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี

วันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 570333เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท