​ไปสหรัฐอเมริกา : ๓. ดูงาน CIGH, Stanford School of Medicine


          บ่ายวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรานั่งรถเช่า ที่ อ. บุ๋ม ทำหน้าที่สารถี และ ดร. วิศิษฐ์ ทำหน้าที่ พนักงานนำร่อง คอยดู GPS และเนื่องจากในรถมีเครื่อง mobile Wifi ที่ อ. บุ๋มซื้อมาจากเมืองไทย ผมจึงช่วยเปิดแผนที่เส้นทางใน iPad ช่วยบอกเส้นทางระยะยาวด้วย เพราะ อ. บุ๋มบ่นว่าเครื่อง GPS มันบอกข้อมูลระยะสั้นเท่านั้น หลายครั้งขับเลยไป เลี้ยวตามที่เครื่อง GPS บอกไม่ทัน

          เราใช้เวลาเพียงประมาณ ๑ ชั่วโมงก็ไปถึงหน้าโรงพยบาลของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด โดยไปรถ ๒ คัน คันแรกไปถึงก่อนเป็นรถเก๋งของลูกสาวคุณหมอสุวิทย์ ที่กำลังเรียนปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สแตนฟอร์ด จึงไปถึงก่อน เพราะรู้เส้นทาง

          บรรยากาศของโรงพยาบาลต่างจากโรงพยาบาลศิริราชหรือรามาธิบดีอย่างฟ้ากับดิน คือของเขาไม่มี คนมากจอแจ บรรยากาศสบายๆ

          เมื่อไปถึงตามเวลานัด ก็มีเจ้าหน้าที่มารับ พาเดินไปที่ห้องประชุมของสำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์ พบกับรองคณบดีฝ่าย Global Health ชื่อศาสตราจารย์ Michele Barry ศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์และ โรคเขตร้อน ท่านบอกว่าท่านรู้จัก ศ. Nick White แห่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลดี

          ผมสรุปกับตนเองว่า สแตนฟอร์ด เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการทำงานข้ามสาขา ข้ามแบบสุดเหวี่ยง ทั้งด้านหลักสูตรการเรียนการสอน และการวิจัย อย่างหนู ชาร์ล็อต ที่เป็นมัคคุเทศก์พาเราชมแคมปัส เป็น นศ. ชั้นปีที่ ๓ สาขา Human Biology (ไม่ใช่ Biology) ซึ่งเรียนเกี่ยวกับมนุษย์ ทั้งด้านชีววิทยา มานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

          เขาจัดให้อาจารย์ผู้ใหญ่ (เป็น full professor ทั้งนั้น) อีกถึง ๕ คน มาเล่าให้เราฟัง ที่น่าสนใจคือคนหนึ่ง มาจาก Business School ผมจับประเด็นได้ว่า โมเดลการทำงาน GH ของที่ สแตนฟอร์ด มีคณะแพทยศาสตร์เป็น แม่ข่าย มีรองคณบดีฝ่าย GH เป็นผู้จัดการเครือข่าย โดยมีการทำงานด้าน GH แบบหาโอกาสร่วมมือกันทั่ว ทั้งมหาวิทยาลัย คล้ายๆ ใช้ GH เป็นเครื่องมือ หรือโอกาสในการทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน เขาจึงเรียกชื่อ ศูนย์สุขภาพโลกของเขาว่า CIGH (Center for Innovation in Global Health) ท่าทีดังกล่าว ทำให้คณะและ หน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยอยากทำงานด้วย เพราะเป็น opportunity ไม่ใช่เป็น burden ยุทธศาสตร์ข้อนี้ มหาวิทยาลัยไทย น่าจะนำมาใช้

          CIGH ทำหน้าที่ออกแบบ และจัดการพื้นที่ สำหรับให้คนในสาขาวิชาการต่างๆ มาทำงานสร้างสรรค์ และมีผลงานร่วมกัน

          นอกจากนั้น สแตนฟอร์ด ยังมีสถาบันที่เป็นสหสาขาวิชา (Interdisciplinary Institute) ถึง ๑๘ สถาบัน เป็นผู้ลงมือทำงานจริงๆ โดยแต่ละสถาบัน ไม่มีตำแหน่งอาจารย์ของตนเอง ตำแหน่งอยู่ตามคณะต่างๆ (มี ๗ คณะ) จึงกล่าวได้ว่าสถาบัน ของ สแตนฟอร์ด เป็น virtual institute

          ผมตีความว่า สแตนฟอร์ด เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการทำงานข้ามสาขา เป็นวัฒนธรรม หรือ ดีเอ็นเอ ของมหาวิทยาลัย เป็นพื้นฐานที่นำสู่ความเข้มแข็งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก เขาใช้ความเข้มแข็ง ในการทำงานข้ามสาขา มาปรุงส่วนผสมของงาน GH เกิดเป็นนวัตกรรม

          ที่น่าประทับใจอย่างหนึ่งคือ ศาสตราจารย์จาก School of Business เล่าว่า มีหน่วยงาน GDP (Global Development on Poverty) ริเริ่มที่ School of Business แต่ทำงานร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัย มีเป้าหมายเพื่อขจัด ความยากจนในโลก เขาบอกว่า มีการศึกษาว่า นศ. มาเรียนที่ School of Business เพราะมีอะไรดึงดูด พบว่าร้อยละ ๕๐ มาเพราะมีโครงการ GDP ไม่ทราบว่าผมฟังผิดหรือเปล่า

          วิธีทำงานของ GDP น่าสนใจมาก เขาได้ grant มาทำงานในประเทศยากจน ที่เล่าคือ อาจารย์ ๑๒ คนไปทำงานภาคสนามที่ประเทศ กานา แล้วกลับมาออกแบบหลักสูตร เพื่อสนองสภาพความยากจน ตามที่ได้ความรู้จากภาคสนาม

          ผมคิดว่า ยุทธศาสตร์การทำงานวิชาการ โดยเริ่มจากการลงพื้นที่ ไปเรียนรู้เก็บข้อมูลในสภาพจริง เอามาตีความผสมผสานกับความรู้ทฤษฎี ได้เป็นโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนา และได้หลักสูตรการเรียนการสอน น่าจะเอามาใช้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย

          เราต้องเลิกสอนตามตำราได้แล้ว ต้องฉีกตำราเอามาคลุกกับข้อมูลภาคสนามเสียก่อน แล้วจึงนำมา ใช้ออกแบบหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่ นศ. เข้าไปเรียนรู้จากสภาพจริง

          หลังการประชุม ศ. มิเชล แบรี่ นัดให้ Charlotte นศ. ปี ๓ ที่เป็นลูกครึ่งแม่ไทยพ่ออเมริกัน มาเป็นมัคคุเทศก์ นำชมแคมปัสที่กว้างใหญ่และน่าอยู่มาก

          ศ. มิเชล แบรี่ บอกว่า เครื่องมือในการบริหารให้เกิดความร่วมมือข้ามสาขาวิชาตัวสำคัญคือ Seed Grants ขนาด $ 50,000 ที่มีเงื่อนไขว่า ต้องทำงานร่วมกันอย่างน้อย ๓ สาขาวิชา อาจารย์ในทีมอาศัย Seed Grant สร้างโจทย์วิจัย (และพัฒนา) ขนาดใหญ่ ที่มีเสน่ห์ต่อแหล่งทุน ก็จะได้รับทุนสนับสนุนจากภายนอก ซึ่งบางโครงการขนาดเป็นล้านเหรียญ เกิดผลงานของศูยน์ CIGH และของมหาวิทยาลัย

          เครื่องมือในการบริหารตัวที่ ๒ ชื่อ Speed Dialing คือจัดเวทีให้คนมาพบกัน แต่ละคนเตรียมมาพูด ไม่เกิน ๕ นาที ว่าตนต้องการทำอะไรในเรื่อง GH ก็จะเกิดการจับคู่ หรือจับทีม คิดโครงการขอทุนร่วมกัน

          เครื่องมือตัวที่ ๓ คือไป Retreat ร่วมกัน ๑ วัน ไปร่วมกันคิดว่า ประเด็นด้าน GH ใน ๕ ปีข้างหน้าควรเป็นเรื่องอะไรบ้าง ควรเข้าไปดำเนินการอย่างไร

          เครื่องมือตัวที่ ๔ คือ การสนับสนุนให้อาจารย์รุ่นเยาว์ ไปทำงานร่วมกับภาคีในต่างประเทศ ๘ เดือน โดยได้เงินเดือนเต็ม หวังให้เกิดความร่วมมือที่แน่นแฟ้นจริงจังและต่อเนื่องระยะยาว

          ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์มาเล่าว่า การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารฯ มี ๖ สาขา หนึ่งในนั้นคือสาขา GH น่าสนใจว่า ในสหรัฐอเมริกา การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ไม่เน้นเฉพาะด้านวิชาชีพ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาระบบด้วย ผมลืมถามไปว่าสาขาแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ มีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขา GH หรือไม่

วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ค. ๕๗

บนเครื่องบิน UA จาก ซาน ฟรานซิสโก ไป วอชิงตัน ดีซี


หน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด คนไม่คับคั่งเลย


บรรยากาศในห้องประชุม


ซ้ายมือ Prof. Michele Barry


อาคาร Biomedical Engineering ที่ออกแบบให้มี open space
เพื่อกระตุ้นการพูดคุยข้ามสาขาวิชา


ศิษย์เก่าบริจาคเงินสร้างตึก William E. Hewlett Teaching Center


ต้องมีคู่แฝด David Packard Electrical Engineering Building


โบสถ์ของมหาวิทยาลัย


คณะผู้ไปดูงาน


สนามในมหาวิทยาลัย


Hoover Tower และหอสมุดกลาง


Charlotte มัคคุเทสก์กิตติมศักดิ์


มีต้นปาล์มสวยงาม


บริเวณอันร่มรื่น


ดอกไม้งามหน้าโรงพยาบาล

หมายเลขบันทึก: 570270เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2014 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2014 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจความคิดนี้ครับ

น่าจะเกิดกับบ้านเรา


ผมคิดว่า ยุทธศาสตร์การทำงานวิชาการ โดยเริ่มจากการลงพื้นที่ ไปเรียนรู้เก็บข้อมูลในสภาพจริง เอามาตีความผสมผสานกับความรู้ทฤษฎี ได้เป็นโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนา และได้หลักสูตรการเรียนการสอน น่าจะเอามาใช้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท