เรียนรู้จากกิจกรรมการเปิดชั้นเรียน ที่ มข. (๒) : ความสวยงามของชั้นเรียนคณิตศาสตร์


แค่เริ่มต้นก็รู้สึกว่าครูไม่ได้สร้างแค่ความคุ้นเคย แต่กำลังพยายามสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนคณิตศาสตร์ที่ดีมากด้วย

                     ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนรู้จากกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ที่จัดขึ้นที่ มข.  ทีมมีการประชุมเพื่อการเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความคิด ไปหาประเด็นเรียนรู้ร่วมกันด้วยการให้แต่ละคนพูดถึงสิ่งที่คาดหวัง  ฉันอยากจะเห็นวิธีการจัดการชั้นเรียนของครูญี่ปุ่น ในวินาทีที่ต้องมีการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง  ฉันอยากไปอยู่ในวินาทีนั้น  เพื่อสัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้น   เป้าหมายส่วนตัวในการเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ตนเองจึงเป็นการไปสัมผัสกับบรรยากาศของห้องเรียน Open Approach และไปเรียนรู้การจัดการชั้นเรียนของครูญี่ปุ่น  และห้องเรียนที่ฉันประทับใจมากที่สุดก็คือ ห้องเรียนของ Mr. Yasuhiro  Hosomizu  ที่สอนเรื่อง “สนุกกับการคำนวณ” 



                       ครูเริ่มต้นบอกสิ่งที่ครูต้องการให้นักเรียนทำอย่างเป็นลำดับขั้นตอนดีมาก ครูบอกให้นักเรียนลงจากเวทีไปทักทายคนในที่ประชุม 1 คน ให้สวัสดีแล้วเป่ายิ้งฉุบ มีเงื่อนไขว่าใช้เวลาในการลงไปเพียง 2 นาที และเป่าให้ชนะ เมื่อนักเรียนกลับมาจนครบ ครูชื่นชมนักเรียนทันทีที่สามารถกลับมาได้ภายในเวลาที่กำหนด มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ครูให้นักเรียนคนที่เป่าชนะยกมือ ปรากฏว่ามีคนชนะไม่ถึงครึ่งห้อง ครูจึงให้ไปอีกรอบ แต่กำหนดเวลา 1 นาที30 วินาที ครูแนะนำนักเรียนว่าให้ไปลองหาคนที่ดูไม่เก่งแล้วเป่าใหม่ เมื่อนักเรียนกลับขึ้นมาอีกครั้ง ครูบอกว่ารอบนี้มีข่าวดี คือ ทุกคนกลับมาตรงเวลา คนที่กลับมาคนแรกๆ ชนะและคนสุดท้ายก็ชนะ เราแพ้ไม่เป็นไร เพื่อนชนะแทนได้ ก็เหมือนกับการเรียนคณิตศาสตร์ ขอให้เรียนให้สนุก แค่เริ่มต้นก็รู้สึกว่าครูไม่ได้สร้างแค่ความคุ้นเคยแต่กำลังพยายามสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนคณิตศาสตร์ที่ดีมากด้วย จากนั้น ก่อนครูติดโจทย์บนกระดาน ครูให้นักเรียนนำกระดาษออกมาจากลิ้นชัก สำหรับใช้ในการเรียน และบอกว่าวันนี้เตรียมโจทย์มา 4 ข้อแต่ไม่รู้ว่าจะทำทันไหม ครูค่อยๆ เปิดโจทย์ออกข้อแรกออกอย่างน่าสนใจ

 
                    1 + 2 + 3 + 4 + 5 + 6 + 7 + 8 + 9

                       ครูถามว่าได้เท่าไรนะ ให้นักเรียนทำในกระดาษ ครูเดินสังเกตนักเรียน นักเรียนตอบว่าได้ 45 ครูถามกลับว่า “ใช่เหรอ” “จริงเหรอ” “แน่ใจนะ” มีนักเรียนคนหนึ่งบอกครูว่า แน่ใจ ครูจึงถามว่าทำไมถึงแน่ใจ นักเรียนบอกว่าเพราะคิดทบทวนหลายครั้ง ครูจึงให้อธิบายวิธีคิด นักเรียนคนแรกก็พูดอธิบายไป แล้วจากนั้นครูถามนักเรียนคนอื่นว่าเข้าใจที่เพื่อนพูดไหม ขอให้คนอื่นออกมาช่วยอธิบาย ซึ่งอาจจะอธิบายเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนก็ได้ เมื่อนักเรียนออกมาอธิบายวิธีคิดเพื่อน ครูชื่นชมว่าเก่งที่สามารถอธิบายวิธีให้เข้าใจง่าย ซึ่งวิธีที่นักเรียนคนแรกตอบนั้นเป็นวิธีการจับคู่บวกให้ได้ 10 ซึ่งมี 4 คู่ แล้วนำมาบวกกับ 5

                      ครูถามนักเรียนต่อว่า เพื่อนเขาคิดแบบไหนจึงอธิบายว่าคิดคำตอบจาก 9×5 = 45 ครูใช้คำถามฝึกให้เด็กเรียนรู้จากวิธีคิดของคนอื่นและในขณะเดียวกันเป็นการใส่พื้นฐานวิธีคิดที่จะนำไปสู่ขั้นต่อไปของแผนการสอนด้วย และทุกครั้งที่นักเรียนตอบ ครูก็ยังคงชื่นชมนักเรียนเสมอ

                       และครูยังให้นักเรียนเดาว่าเขาคิดอย่างไรอีก ถ้าเขาเขียนแบบนี้

                       0 + 1 + 2 + 3 + 4 + 5 + 6 + 7 + 8 + 9

                       และยังให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าแต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร

                       จากนั้นครูติดโจทย์ข้อสอง   11 + 22 + 33 + 44 + 55 + 66 + 77 + 88 + 99

                       และครูเขียนวิธีคิดขึ้นบนกระดาน 3 วิธี บอกนักเรียนว่าเขามีวิธีคิดแบบนี้

                       วิธีที่ 1 :  110 × 4 + 55 ตอนที่ครูเขียนวิธีนี้ขึ้นกระดาน ครูค่อยๆ เขียนทีละจำนวนแล้วให้นักเรียนช่วยกันบอกต่อ แสดงว่าครูมั่นใจแล้วว่านักเรียนเข้าใจวิธีการนี้จากโจทย์ข้อแรก

                       วิธีที่ 2 :  99×5

                       วิธีที่ 3 :  00 + 11 + 22 + 33 + 44 + 55 + 66 + 77 + 88 + 99

                        ครูถามนักเรียนว่าคุ้นๆ กับวิธีที่ผ่านมาไหม ครูมีการเชื่อมโยงวิธีการเดิมและครูยังบอกกับนักเรียนอีกว่าการเรียนคณิตศาสตร์หากเราเอาความรู้เดิมมาใช้มันจะดีกับเรามาก

                        ครูเขียนวิธีการที่ 4 ที่เป็นวิธีที่นักเรียนยังไม่เคยเจอ

                        วิธีที่ 4 :  450 + 45

                        ครูถามว่าเขาคิดอย่างไร นักเรียนบอกว่า 450 มาจากการบวกหลักสิบ และ 45 มาจากการบวกหลักหน่วย ซึ่งคิดว่านักเรียนได้จากการ   สังเกตจากโจทย์ข้อแรก และครูยังคงถามย้ำว่า “ใช่เหรอ” “จริงเหรอ” “แน่ใจนะ” พร้อมทั้งย้ำกับนักเรียนเสมอว่า การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่หาคำตอบแต่ต้องรู้ด้วยว่าได้มาอย่างไร

                          ครูติดโจทย์ข้อ 3 :  111 + 222 + 333 + 444 + 555 + 666 + 777 + 888 + 999

                          ปรากฏว่านักเรียนตอบได้อย่างรวดเร็ว แสดงว่านักเรียนนำสิ่งที่เรียนมาใช้หาคำตอบข้อนี้จึงตอบได้ทันที

                          ขณะนั้นเวลาใกล้หมดแล้ว ครูบอกว่าคงทำอีกข้อไม่ทัน แต่นักเรียนยังอยากทำต่อ ครูจึงติดโจทย์ข้อสุดท้ายและนักเรียนก็สามารถคิดคำตอบได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จบชั้นเรียนได้อย่างสวยงามน่าประทับใจ โจทย์ข้อ 3 และ 4 นี้ นักเรียนจะไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วหากไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เรียนมา ทำให้เห็นลักษณะแผนการสอนที่มีความเชื่อมโยงความรู้และนำมาต่อยอดใช้ต่อ ซึ่งเกิดขึ้นเวลาเดียวกันในคาบเรียนนี้ทันที รวมทั้งการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นกันเอง การชื่นชม ให้กำลังใจและการใช้คำพูดเชิงบวกตลอดการเรียนรู้ รวมทั้งความพยายามหยั่งการเรียนรู้ ความเข้าใจของนักเรียนของครู ทำให้เห็นการจัดการชั้นเรียนที่คู่ขนานไปกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ไปด้วยกันได้อย่างสวยงาม

                         ครูชาวญี่ปุ่นที่ฟังภาษาไทยไม่ได้ อาศัยเพียงการแปลจากผู้แปลคนไทย แต่สามารถเข้าถึงศักยภาพของนักเรียนไทยได้ถึงเพียงนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากทั้งการปฏิบัติด้วยตนเองหรือผู้รู้ทั้งหลายบอกเราว่าเราควรทำอย่างไรกับชั้นเรียนของเรา  ชั้นเรียนวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นกับตาและใจตนเองแล้วว่าสามารถทำได้จริง  และเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้ทั้งหมด


ครูนุ่น - พรพิมล เกษมโอภาส    เรียบเรียง




หมายเลขบันทึก: 569779เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2014 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท