เพลินกับกิจกรรม "เปิดชั้นเรียนระดับชาติ" ครั้งที่ ๘ ที่ มข. (๑)


ภาพของครูที่ดี ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด และทรงพลังมหาศาล ที่แม้เราเป็นหนึ่งในพันกว่าคนที่อยู่ ณ ที่ประชุม ยังสามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความเป็นครูที่สามารถที่จะเชื่อมโยงผู้เรียน (นักเรียน) ที่ปฏิสัมพันธ์อยู่ต่อหน้าครูและผู้เรียนรู้ (ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์) เข้าหาครู และเชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่องค์ความรู้อย่างเกาะติดตั้งแต่เริ่มต้นชั้นเรียนกระทั่งปิดชั้นเรียน

                         เช้าวันที่ ๑ เมษายน ๕๗ ในขณะที่คุณครูประถมกลุ่มใหญ่กำลังเบิกบานอยู่กับงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๕ ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อนครู ๒๒ คนก็ไปเข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เริ่มเปิดงานไปตั้งแต่เมื่อวาน

                         กิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ ๘  (The 8th National Open Class)  เป็นกิจกรรมในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ในโครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุมชนแห่งการพัฒนาวิชาชีพครู (PLC) และเผยแพร่นวัตกรรมการศึกษา (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ส่วนกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงานคือการสาธิตการสอนโดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในรายวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

                        ตอนเปิดงาน Assoc.Prof.Dr. Masami Isoda แห่งมหาวิทยาลัย Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึง ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผอ.ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษาและคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไว้ว่า“อ.ไมตรี นี่เป็นคนแปลกมากที่กล้าพานักศึกษา ๓๐-๔๐ คนไปร่วมประชุมคณิตศาสตร์ถึงในต่างประเทศ”เช่นเดียวกันกับโรงเรียนเพลินพัฒนาที่เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกล้าพาคุณครูที่ใฝ่เรียนรู้ทั้งหมด ๒๒ คน ไปเข้าร่วมประชุมที่ขอนแก่นเพราะมีความเชื่อมั่นว่า  การได้เข้าร่วมงานกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งนี้ จะช่วยให้ครูได้มองเห็นภาพของการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ได้อย่างชัดเจน จากการได้ชมการสาธิตการสอนที่น่าตื่นตาตื่นใจของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

                         แล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปดังคาด.......

                         ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณครูกลุ่มใหญ่พากันรอนแรมออกมาหาความรู้ในเรื่อง Lesson Study จากงานประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติ ที่ทางผศ.ดร.ไมตรี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เพราะติดใจในรสชาติของการเรียนรู้


............................................................

                          เมื่อครั้งที่ อ.ไมตรีจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการแก้ปัญหา (Problem Solving) ตามแนวการสอน วิธีการแบบเปิด (Open Approach)” เมื่อวันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖  คุณครูนุ่น - พรพิมล เกษมโอภาส  ได้บันทึกเอาไว้ว่าการเรียนรู้สำคัญของทีมครูคณิตศาสตร์ที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรม  คือ


การสร้างสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด


แนวคิดและข้อสังเกตที่สำคัญ

-ครูและนักเรียนเห็นปัญหาไม่เหมือนกัน

-ควรนำเนื้อหาสาระไปซ่อนในสถานการณ์ปัญหา แล้วนำพานักเรียนให้ไปเผชิญ

-โจทย์ต้องมีความเปิดกว้าง เพื่อรองรับความหลากหลายของแต่ละคน

-ลักษณะของปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน คือ มีการเพิ่มมุมมองใหม่เข้าไปก็ถือว่าไม่เคยเจอมาก่อน


แนวทางการพัฒนาปัญหาเปิด

๑.กระบวนการเปิด เน้นความหลากหลายในการแก้ปัญหา ถ้ามุ่งไปสู่คำตอบเลยจะไม่มีอะไรน่าสนใจ

๒.ผลลัพธ์เปิด คำตอบใดก็เป็นไปได้ มีคำตอบที่ถูกต้องได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับเหตุผลว่าอันไหนจะดีที่สุด คำตอบเกิดจากความรู้ได้หลายระดับ ประถม มัธยม แสดงว่าผลลัพธ์เปิดจริง ก็จะช่วยลดปัญหาด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล

๓.แนวทางการพัฒนาแบบเปิด เห็นปัญหาหนึ่งก็ไปสู่ปัญหาใหม่ เหมือนได้วิธีใหม่จากวิธีเดิม การต่อยอดแนวความคิดเดิม


สิ่งที่ต้องการเน้น

คำถามปลายเปิดควรนำเสนอในรูปคำสั่ง ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย หรืออยู่กับปัญหาได้ตลอด ถ้าใช้เวลาทำนานปัญหาก็จะเปิดมาก ซึ่งต้องมาร่วมกันคิด ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในคณิตศาสตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งวิธีการ ก็คือ การอ่านหนังสือ เพื่อดูแนวคิดและกิจกรรมในหนังสือแล้วจึงมาหาว่าโจทย์ควรเป็นอย่างไร

.........................................................

                           ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม คุณครูจะได้รับ met before เพิ่มขึ้น และเมื่อกลับมาลุยงานภาคปฏิบัติกันต่อที่โรงเรียน แล้วกลับไปร่วมประชุมอีกครั้ง ความเข้าใจก็จะยิ่งเพิ่มพูน และเกิดขึ้นอย่างเชื่อมโยง

                           ในครั้งนี้ คุณครูหนึ่ง – ศรัณธร แก้วคูณ  ได้เขียนสะท้อนการเรียนรู้เอาไว้ว่า...

การได้ไปสังเกตการณ์ห้องเรียนสาธิตในครั้งนี้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมในสิ่งที่ พาร์เกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Courage to Teach ที่แปลเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อว่า “กล้าที่จะสอน” ซึ่งได้พูดถึงองค์ประกอบ ๓ ประการในการเป็นครูที่ดี คือ

                         หนึ่ง คือ เข้าถึงตัวความรู้

                         สอง คือ รู้วิธีการสอน

                         สาม คือ หยั่งถึงตัวตนที่เป็นโลกภายในของครู หรือ “ภูมิทัศน์แห่งโลกภายในของครู”

                         ภาพของครูที่ดี ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด และทรงพลังมหาศาล ที่แม้เราเป็นหนึ่งในพันกว่าคนที่อยู่ ณ ที่ประชุม ยังสามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความเป็นครูที่สามารถที่จะเชื่อมโยงผู้เรียน (นักเรียน) ที่ปฏิสัมพันธ์อยู่ต่อหน้าครูและผู้เรียนรู้ (ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์) เข้าหาครู และเชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่องค์ความรู้อย่างเกาะติดตั้งแต่เริ่มต้นชั้นเรียนกระทั่งปิดชั้นเรียน และในระหว่างการเรียนการสอนยังทำให้เห็นชัดแจ้งกับตาถึงห้องเรียนที่มี “ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้”



                          ที่น่าทึ่งคือภาษาญี่ปุ่นของครู ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างความเข้าใจระหว่างครูกับนักเรียนคนไทยที่เพิ่งเคยพบกันเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด ชั้นเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าจะต้องฟังกันผ่านล่าม

                          เหตุที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะครูจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ครูใช้คำถามกระตุ้นการคิดของผู้เรียนตลอดเวลา ด้วยคำถามที่ว่า ต้องทำอะไรต่อไป ? ใช่เหรอ ? จริงเหรอ ? แน่ใจนะ? ซึ่งเมื่อคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ อยู่ในความคิดของผู้เรียนแล้วก็จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดคำถามกับตัวเองในทุกเรื่องของชีวิต

                           และจะเป็นคำถามที่ผู้เรียนจะมีไว้ใช้ในการตรวจสอบวิธีคิด ความรู้และความเข้าใจของตนเองได้ในทุกเรื่องทั้งที่เกี่ยวพันกับชีวิตและเกี่ยวพันกับการเรียนในห้องเรียน คำถามเหล่านี้จะเกิดขึ้นในชีวิตผู้เรียนได้ ตัวครูเองต้องใช้คำถามเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมากระทั่งคำถามเหล่านี้เข้าไปอยู่ในตัวผู้เรียน และเมื่อครูให้ได้คิดแล้วในห้องเรียนคณิตศาสตร์ก็จะให้ผู้เรียนได้อธิบายโดยใช้เครื่องมือคือ คำพูด รูปภาพ และภาษาสัญลักษณ์ เพื่ออธิบายความคิดของตนเองให้กับเพื่อนในชั้นเรียนได้เรียนรู้วิธีคิดของกันและกันในหลากหลายลักษณะ ซึ่งการถ่ายทอดในหลากหลายลักษณะนี้ยังเอื้อสู่การทำความเข้าใจของผู้เรียนแต่ละคนที่จะมีการเรียนรู้ที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย

                           ประเด็นที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่ง คือ ตัวตนของครูผู้สอนซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ครูญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และเชื่อมโยงศิษย์เข้าสู่องค์ความรู้หรือวิชาที่จะสอนได้อย่างทรงพลัง โดยเริ่มต้นจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ด้วยเกม ความสนุกสนานที่ครูและผู้เรียนมีร่วมกัน จากนั้นเชื่อมโยงเนื้อหาจากเรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัว ดังเช่นห้องเรียนในชั้น ป. ๔ ที่ Prof. Yushi Takigahira (ยูชิ ทากิกะฮิระ) เริ่มต้นคำถามจากสิ่งที่ใกล้ตัวให้นักเรียนได้สังเกตภายในห้องประชุมและให้ประเด็นคำถามว่า นักเรียนลองประมาณผู้เข้าร่วมในห้องประชุมนี้ซิว่ามีประมาณเท่าไหร่ และครูถามค่าประมาณที่เพิ่มขึ้นทีละ ๑๐๐ ถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ แล้วจึงนำเข้าสู่บทเรียนในเรื่องของการประมาณค่า และเมื่อครูพบเด็กที่ท้อสิ่งที่ครูทำคือ รีบเข้าไปช้อนเด็กทันที เพราะสิ่งที่สำคัญในกระบวนการเรียนรู้ คือ ความมั่นใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งครูผู้เปิดชั้นเรียนทุกคนได้แสดงให้เห็นในจุดนี้อย่างเด่นชัด

                            จากการได้เข้าร่วมการเปิดชั้นเรียนในครั้งนี้ทำให้เห็นภาพห้องเรียน ภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ ภาพของผู้เรียนซึ่งเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และภาพครูที่สะท้อนโลกภายในของครูอย่างเด่นชัด ทำให้พอที่จะมองเห็นภาพแห่งการพัฒนาการศึกษาไทยที่จะแจ่มชัดต่อไป หากห้องเรียนเปลี่ยนการศึกษาเปลี่ยน นั่นหมายความว่าการอยู่รอดของทั้งบุคคลและสังคมโดยรวม และต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยย่อมเปลี่ยนไปด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท