​การเรียนรู้ตลอดชีวิตต่างมุมมอง


          ผมเดาว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความหมายแตกต่างกัน ต่อคนที่ให้ความหมายคำว่า “การเรียนรู้” แตกต่างกัน

          ผมเดาว่า สำหรับคนทั่วไป การเรียนรู้ หมายถึงการรับเอาความรู้จากภายนอกเข้าสู่ตัว ซึ่งหากการเดานี้จริง ก็นับว่าอันตรายมากสำหรับสังคมไทย เพราะจะทำให้เรามีคนที่เชื่อง่ายเต็มแผ่นดิน

          การเรียนรู้ ในยุคปัจจุบัน ต้องเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และกระบวนทัศน์ ขึ้นภายในตนเอง จากความรู้ภายนอก และประสบการณ์ที่หลากหลายของตนเอง รวมทั้งจากการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับกัลยาณมิตร ตรงกับที่คุณหมอประเสริฐบอกว่า “อย่าเรียนคนเดียว” ที่ลงบันทึกไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗

          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านวิจารณญาณ (critical thinking) ไม่ใช่เรียนรู้แบบเชื่อง่าย ซึ่งหมายถึงยึดถือ กาลามสูตร ในทางพุทธ

          ต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีดุลยภาพระหว่าง ศรัทธานำ กับ ปัญญานำ โดยที่ต้องตีความ ศรัทธา ให้ถูกต้อง ว่าไม่ใช่หมายถึงเชื่อแบบงมงาย แต่หมายถึงเชื่อในความดี คนดี ที่มีหลักฐานพิสูจน์ และเฉพาะด้านที่มี หลักฐานพิสูจน์เท่านั้น

          การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงต้องมีหลายมิติ ในทุกมิติ มีทั้ง เชื่อ และ ไม่เชื่อ (skeptical) ปนกันไป สำหรับใช้เรียนรู้โดยการตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัย (IBL – Inquiry-Based Learning)

          ฐานคติ (assumption) ในการเรียนรู้แห่งยุคสมัยก็คือ สาระ (content) ของความรู้ที่สื่อสารออกมา มากมายนั้น เจือปนมายาคติมากบ้างน้อยบ้าง บางกรณีก็เพื่อหลอกเอาดื้อๆ เช่นตัวอย่างโฆษณาขายสินค้า ในวิทยุชุมชนหลายสถานี คนที่รับสารแบบไม่ไตร่ตรอง ก็จะโดนหลอกได้ง่าย

          ฐานคติของการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือ ความเป็นจริงที่เลื่อนไหล หรือเป็นพลวัต (dynamic) ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เทคนิคหรือวิธีการที่ถือว่าดีในยุคก่อน มาถึงยุคนี้ต้องนับว่าด้อย เพราะมีวิธีการที่ดีกว่า หากเรามีข้อจำกัด เรียนรู้วิธีการใหม่ไม่ได้ ชีวิตของเราก็ล้าหลัง

          ทักษะการเรียนรู้ (learning skills) พัฒนาได้น้อยหรือไม่ได้ โดยการเรียนการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ หรือโดยการสอนวิชา จะฝึกได้โดยการเรียนรู้แบบปฏิบัติหรือลงมือทำ (Learning by Doing หรือ Active Learning) ตามด้วยการคิดทบทวนไต่ตรอง (reflection) ที่เรียกว่า การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ วิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า Open Approach ซึ่งได้ลงบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗

          นักเรียนในชั้นประถม ที่ครูจัดการเรียนรู้แบบ Open Approach จึงเท่ากับได้รับการปลูกฝัง ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่รู้ตัว

          แต่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้ดี ผู้นั้นต้องมีฐานความรู้เดิมที่แน่นหนา คือบรรลุ mastery learning มาก่อน ในทักษะที่ซับซ้อนชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คนที่เรียนในระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (ประถมและมัธยม) มาอย่างกระท่อนกระแท่น จะเรียนรู้ตลอดชีวิตยากหรือเรียนได้ไม่ลึกและ เชื่อมโยง คุณภาพของการศึกษาระดับพื้นฐานจึงสำคัญยิ่งสำหรับบ้านเมืองที่เข้มแข็ง

          การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดีต้องทำให้ ผู้คน “รู้” ตามที่ตนเองไตร่ตรองอย่างรอบคอบหรือรู้ผ่านวิจารณญาณของตนเอง ไม่ใช่ “รู้” ตามที่เขาบอกหรือผ่านการเชื่อผู้อื่น

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๕๗

570526, การเรียนรู้, การเรียนรู้ตลอดชีวิต, Open_Approach, วิจารณญาณ 

หมายเลขบันทึก: 569132เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2014 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท