สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


เสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง ในบางกรณี อาจแยกเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of opinion) อีกประการหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างก็เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิที่มีการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติเรื่องของเสรีภาพ ไว้ในหมวดที่ 3 ที่ได้รับรองการใช้สิทธิและเสรีภาพไว้ใน มาตรา 28 วรรคแรกที่ว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” อีกทั้งในมาตรา 28 วรรคท้าย ได้บัญญัติให้รัฐต้องสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพตามความหมายของสิทธิและเสรีภาพในหมวดที่สามนี้ และ ในมาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ไว้ว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งต้องไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น”

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แล้ว ได้บัญญัติเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยไว้ดังนี้

-เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย(มาตรา 32)

-เสรีภาพในเคหสถาน(มาตรา 33)

-เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่(มาตรา 34)

-เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยชอบด้วยกฎหมาย(มาตรา 36)

-เสรีภาพในการนับถือศาสนา(มาตรา 37)

-เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพ(มาตรา 43)

-เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น(มาตรา 45)

จากกการตีความกฎหมายนั้นคุ้มครองในที่มี่สภาพบุคคลจึงไม่ได้หมายความถึงแต่บุคคลสัญชาติไทยเพียงเท่านั้น แต่ต่อไปนี้เป็นกรณีศึกษาของบุคคลต่่างด้าว คือนาย สาธิต เซกัล

 สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง หมายถึง สิทธิที่เกี่ยวกับการปกครองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น ตลอดทั้งการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งต่างๆของประเทศนั้น ซึ่งสิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง นับเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและพึงได้รับ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง

การปราศรัยบนเวทีเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ตามมาตรา45 วรรค 1“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” ดังนั้นการปราศรัยแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้ และเป็นไปตามมาตรา45วรรค 2 “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน” [1]

จากกรณีศึกษานายสาธิต เซกัล เป็นบุคคลสัญชาติอินเดีย จึงเป็นคนต่างด้าว โดยนายสาธิต เซกัลได้ขึ้นแสดงความคิดเห็นบนเวทีปราศรัยเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อมาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทย

นายสาธิต เซกัลป์ นั้นมีประเด็นปัญหาคือ กรณีของการถูกคำสั่งเนรเทศ ให้ออกนอกประเทศไทย โดยเป็นคำสั่งของ(ศรส.) เหตุเพราะเขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยของ กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. โดยมีการต่อว่ารัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อมานายสาธิตถูกเนรเทศตามกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะถูกตรวจพบว่าเป็นบุคคลต่างด้าว โดยนายสาธิตเกิดที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และปัจจุบันยังคงถือสัญชาติอินเดียอยู่

จากกรณีที่เกิดขึ้น การกระทำของศรส.ที่สั่งเนรเทศนายสาธิต เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มีการระบุรับรองการมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง เสรีภาพนี้สามารถจำกัดได้ แต่การจำกัดเสรีภาพนี้ โดยเฉพาะของคนต่างด้าวนั้น อาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของชาติอย่างเท่าเทียมก่อนที่จะออกคำสั่งใดๆไป อันอาจมีผลกระทบต่อคนต่างด้าวบุคคลนั้นๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เป็นมนุษย์เหมือนคนชาติได้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมถึงการมีสิทธิเสรีภาพประการอื่นๆอีกด้วย และไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า นายสาธิต เซกัล สามารถแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นคนสัญชาติไทย เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี และเมื่อนายสาธิต เซกัล มีเสรีภาพในการกระทำดังกล่าว รัฐจึงไม่สามารถเนรเทศนายสาธิต เซกัล ออกจากประเทศได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิของนายสาธิต เซกัล เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 568595เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท