​​ครอบครัวข้ามชาติ


                           ครอบครัวข้ามชาติ

 

ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงในสังคมไทย ก็คือ “ปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย” แม้ว่าประเทศไทยจะได้ยอมรับปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้วก็ตาม ซึ่งยอมรับในข้อ ๑๕ ว่า “(๑) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ (๒) การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้

ครอบครัวข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาหางานทำ มาอาศัยและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย หรือกลุ่มผู้ลี้ภัยความตาย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจตกอยู่ในสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและตกเป็นบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ

ดังกรณีศึกษาของครอบครัวเจดีย์ทองซึ่งเป็นตัวอย่างของครอบครัวข้ามชาติที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยและรัฐมาเลเซีย ซึ่งเริ่มต้นมาจากนายอาทิตย์ เจดีย์ทองเป็นคนสัญชาติไทยได้ตกลงอยู่กินฉันสามีภรรยากับนางสาวแพทริเซียชาวมาเลเซีย ณ บ้านห้วยสาน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

นางสาวแพทริเซียมีหลักฐานประจำตัวคือ หนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย และเอกสารนี้ได้รับรองว่า นางสาวแพทริเซียมีสถานะเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย รัฐมาเลเซียจึงมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนางสาวแพทริเซีย อันเนื่องมาจากการได้รับการรับรองสถานะความเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย

ต่อมารัฐไทยได้บันทึกว่านางสาวแพทริเซียเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และถูกบันทึกในทะเบียนประวัติ ประเภท ท.ร.38 ก. ในชื่อของอัญชลี เจดีย์ทอง โดยมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งแสดงว่านางสาวแพทริเซียตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วเธอไม่ได้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้ถือเพื่อแสดงตัว โดยบัตรนี้ระบุว่าเธอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 และได้รับใบอนุญาตทำงานในสถานะคนไร้สัญชาติ

บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็คือ บุคคลที่รัฐไทยรับฟังว่า ยังพิสูจน์สถานะทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไม่ได้ หรือพิสูจน์ได้แล้วว่า เป็นคนต่างด้าวก็ยังส่งกลับประเทศต้นทางไม่ได้ บัตรประเภทนี้จึงถูกออกให้บุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวหลังจากการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้ใช้เป็นเอกสารรับรองตัวบุคคลในระหว่างรอการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายใหม่ หรือรอการส่งกลับออกนอกประเทศไทย

ต่อมานางสาวแพทริเซีย และนายอาทิตย์ได้มีบุตรด้วยกัน 3 คน โดยเด็กทั้งสามคนได้รับการแจ้งเกิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย บุตรทั้งสามคนได้รับสัญชาติไทยตามบิดาและตามหลักดินแดนพิจารณาได้มาตรา๗ (๒)แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งระบุว่า “บุคคลผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด” และมีสิทธิถือสัญชาติมาเลเซียตามมารดาได้อีกด้วยหากเด็กทั้ง 3 คนได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาเป็นบุคคลที่ถือสองสัญชาติสามารถได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนสัญชาติมาเลเซียด้วย เช่นสิทธิในการเข้าเมือง สิทธิในการเดินทาง สิทธิอาศัยและตั้งถิ่นฐาน สิทฺธิในการศึกษา สิทธิในการทำงาน หรือสิทฺธิทางการเมือง เป็นต้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นางสาวแพทริเซียประสบกับปัญหาในเรื่องสัญชาติเพราะเป็นบุคคลที่มีสัญชาติมาเลเซียอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายแต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติส่งผลให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิต่างที่ๆพึงมีตามกฎหมายจากรัฐไทย จึงสมควรที่รัฐไทยจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้อง และใช้เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อแก้ปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยต่อไป

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการให้สัญชาติไทยแก่คนไร้สัญชาติของ

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ควรให้สัญชาติไทยแก่คนไร้สัญชาติที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย ซึ่งก็คือ

(1)คนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานๆ จนเกิดความกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกับประเทศไทย

(2) คนไร้สัญชาติที่แม้เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย แต่มีเชื้อชาติไทย

(3) คนไร้สัญชาติที่แม้เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย แต่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย

(4) คนไร้สัญชาติที่บิดามารดาหรือคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในลักษณะถาวรในประเทศไทย

อ้างอิง

1.รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร,ความเป็นคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย: คืออะไร? และควรจัดการอย่างไร ?, แหล่งที่มา : http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t...

2.รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร,กรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง : รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนางแพทริเซีย คนสัญชาติมาเลเซียที่แสดงตนเป็น "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน"?,แหล่งที่มา: http://www.gotoknow.org/posts/551117

สืบค้นเมื่อ17พฤษภาคม2557

หมายเลขบันทึก: 568593เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท