ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


สิทธิการมีสุขภาพดีตามความเข้าใจของข้าพเจ้านั้นอยู่ในหมวดของสิทธิเรื่องสาธารณสุข โดยตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานมนุษย์ควรได้รับการดูแลเพื่อให้ได้มีสุขภาพที่ดี

สิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุข หมายถึง การที่บุคคลมีสิทธิในการรับบริการทาง สาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยที่ผู้ยากไร้มีสิทธิได้ รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิไว้แล้วตามมาตรา 52 ดังนั้น รัฐจึงต้อง จัดบริการด้านการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมี สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีในระดับสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น สิทธิที่จะได้รับ บริการด้านการสุขภาพ ก็คือ สิทธิของปัจเจกบุคคลที่มีโอกาสเท่าเทียมกันในการที่จะได้ รับบริการเพื่อสุขภาพ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นมีความสามารถจะรับภาระค่าบริการ เหล่านั้นได้หรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น แผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ จึงมีความสำคัญเป็น อย่างยิ่งที่จะผลักดันให้มีการส่งเสริม สนับสนุน แก้ไขปัญหาอันจะนำไปสู่ความสมบูรณ์ ทั้งด้าน สุขภาพกายและจิตของประชาชน ตลอดจนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข[1]

กรณีที่ข้าพเจ้ายกมาเขียนในบทความนี้เป็นกรณีของ น้องอาป่า หรือ นายอาป่า น้องอาป่าเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2539 เกิดที่หมู่บ้านจะแล หมู่ 11 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีบิดามารดาเป็นอาข่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่อพยพมาจากประเทศเมียนม่าร์ แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2542 ครอบครัวของน้องได้รับการสำรวจและจัดทำ “ทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2” ทำให้ได้รับการรับรองสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ได้รับการบันทึกลงใน ทร.13 ให้มีสถานะ “คนที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2543 จึงเห็นได้ว่าน้องอาป่าและครอบครัวไม่มีปัญหาเรื่องการไร้รัฐ เพราะมีรัฐไทยให้อยู่อาศัยภายในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว แต่อย่างไรก็ตามน้องอาป่ายังคงประสบปัญหาเรื่องสัญชาติอยู่ เนื่องจากน้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ซึ่งหมายความว่า เป็นคนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทยทั้งที่ในความเป็นจริงน้องอาป่าเกิดในประเทศไทย จึงเป็นผู้มีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ แต่ในปัจจุบันน้องอาป่าก็ยังไม่อาจยื่นเรื่องขอสิทธิในสัญชาติไทย เพราะการร้องขอทำหนังสือรับรองการเกิดต่ออำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ยังไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

ซึ่งต่อมาเมื่อน้องอาป่าประสบอุบัติเหตุรถชนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เนื่องจากน้องได้รับบาดเจ็บต้องผ่ากะโหลกและขาหักทั้ง 2 ข้างต้องใช้เหล็กดามไว้ ซึ่งยังไม่สามารถเดินได้ตามปกติเเละยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถใช้ขาทำงานตามปกติได้อีกหรือไม่ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ แม้น้องจะเป็นผู้ทรงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2553 เพราะน้องเป็นบุตรของราษฎรไทยที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาก่อน พ.ศ. 2542 ก็ตาม แต่ในทางข้อเท็จจริงเเล้วหากน้องได้รับสัญชาติไทยน้องจะมีสิทธิในการรักษาพยาบาลได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ โดยจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545โดยตรง

ฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

ในหมวดที่ 3 สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทยมาตรา 51

"บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์[2]

จากกรณีศึกษาของน้องอาป่าเห็นได้ว่าผู้ทรงสิทธิเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่ทั้งสองคนกลับถูกละเมิดสิทธิในการมีสุขภาพดีโดยรัฐปัญหาอีกประการหนึ่งของคนที่อาศัยอยู่ตามชายแดนว่าได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมน้อยมากหรือแทบไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เลยทั้งที่สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิที่กฎหมายรัฐธรรมนูญปี2550รับรองไว้ในหมวดที่3 ส่วนที่4 ม.40แต่เพราะปัญหาหลักคือทุนทรัพย์และความรู้ด้านกฎหมายที่ยังเข้าไม่ถึงชาวบ้านทนายความสำหรับคดีเด็กที่มีความเชียวชาญก็ยังมีไม่เยอะแต่การที่เป็นคนยากจนก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐควรเข้ามาดูแลและให้ความคุ้มครองสิทธินี้อย่างชัดเจนจะได้ไม่ต้องมีน้องหรือผู้ทรงสิทธิคนใดทนทุกข์ทรมานจากการถูกละเมิดสิทธิในการมีสุขภาพดีเช่นนี้อีกในอนาคต

ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 สิทธิในสุขภาพจะถูกบัญญัติไว้ในหมวด 3 คือสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทยทำให้มีนักกฎหมายบางท่านตีความคำว่าบุคคลตามมาตรา 51 คือชนชาวไทยหรือคนที่มีสัญชาติไทยตามชื่อหมวดอันนำไปสู่การตีความคำว่าบุคคลในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ2550 ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญฯ 2550 โดยกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิคือชนชาวไทยเช่นเดียวกันด้วย

การตีความตามชื่อหมวดของรัฐธรรมนูญข้างต้นนั้นควรตีความให้ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายข้างต้นคือ “มนุษย์ทุกคน” เพราะว่าหากมีการตีความเช่นข้างต้นอาจส่งผลดังต่อไปนี้

1. รัฐไทยอาจละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศอันก่อให้เกิดความรับผิดของรัฐไทยได้เพราะในมาตรา 25 ของ UDHR และมาตรา 12 ของ ICESCR ใช้คำว่าทุกคน(everyone) ไม่ได้ใช้คำว่าคนชาติหรือnationalsแต่ประการใดดังนั้นสิทธิในการมีความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่คนชาติของรัฐนั้นเท่านั้นแต่ฐานแห่งสิทธิคือความเป็นมนุษย์นั่นเอง

2. สิทธิในสุขภาพดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหากตีความให้มีผู้ทรงสิทธิเพียงแค่คนชาติของรัฐไทยเท่านั้นก็ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มาอาศัยในรัฐไทยซึ่งเป็นเรื่องของศีลธรรมและความมีมนุษยธรรมด้วย

3. การที่รัฐไทยรับรองสิทธิในสุขภาพของมนุษย์ทุกคนที่ปรากฏตัวอยู่ในดินแดนไทยนั้นย่อมส่งผลดีต่อคนชาติของรัฐไทยด้วยเพราะว่าหากคนต่างด้าวที่มาอาศัยในไทยเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและรัฐไทยไม่สนใจให้บริการสาธารณสุขแก่คนเหล่านั้นโรคติดต่อนั้นอาจแพร่กระจายมาสู่คนชาติของรัฐไทยก็เป็นได้ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐไทยต้องรับรองสิทธิในสุขภาพของทั้งคนชาติและคนต่างด้าวที่มาปรากฏตัวอยู่ในดินแดนของรัฐไทยนั่นเอง[3]


[1] http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/human_rights/07.html

[2] .http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf

[3] http://www.gotoknow.org/posts/567043

หมายเลขบันทึก: 568588เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท