ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย / คนหนีภัยความตาย


     หากเรากล่าวถึงปัญหาของสิทธิมนุษยชนนั้น ปัญหาที่เห็นได้ชัด และมีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆทั่วโลกก็คือ ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย ในซีเรีย ซึ่งการที่เราจะศึกษาปัญหาเหล่านี้ได้นั้น เราจะต้องทราบถึงนิยามของคำว่าสิทธิมนุษยชน และความแตกต่างของผู้ลี้ภัย กับ คนหนีความตาย

     สิทธิมนุษยชน (Human Right) (1)หมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

     ผู้ลี้ภัย(2) หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

     สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (3) หรือที่เรารู้จักกันในนาม UNHCR เป็นองค์การที่รับภารกิจหน้าที่จาก UNRRA : United Nations Relief and Rehabilitation Administrationทำหน้าที่ช่วยเหลือการกลับถิ่นฐานเดิมของผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 8 ล้านคน ซึ่งเกิดจากการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีภารกิจหลักคือ เป็นผู้นำและประสานงานในการรวบรวมความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เพื่อปกป้องและแก้ปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลก และการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะสิทธิที่จะอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในรัฐอื่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทางออกที่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่การเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมโดยสมัครใจ (Voluntary Reptriation) การตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับ (Local Integration) หรือการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม (Third-Country Resettlement)

     และภารกิจที่ตามมาคือ การปกป้องและให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแก่บุคคลในความห่วงใย Persons of Concern (POCs) กลุ่มอื่นๆ ซึ่งได้แก่ ผู้แสวงหาที่พักพิง (Asylum Seekers) ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons) บุคคลไร้รัฐ (Stateless Persons) และผู้ที่เดินทางกลับประเทศต้นทาง (Returnees)

      การที่จะเรียกผู้ที่อพยพมาในประเทศว่าเป็น ผู้ลี้ภัย ประเทศผู้รับนั้นจะต้องได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ส่วนประเทศที่ไม่ได้ลงนามนอนุสัญญาดังกล่าว ผู้ที่อพยพมาในประเทศตนก็จะถูกเรียกว่า ผู้หนีภัยความตาย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด

     ผู้หนีภัยความตาย(4)คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ ส่วนภัยความตาย ส่วนภัยโดยอ้อม แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้จึง หนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด ภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น

     พิจารณาแล้วประเทศไทยนั้น ผู้ที่อพยพมายังประเทศเรา ผู้อพยพนั้นจะถูกเรียกว่าเป็นผู้หนีความตาย เนื่องจากประเทศไทยนั้นไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494

     ในประเทศไทยนั้นปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หนีความตายก็มีอยู่ไม่น้อย จึงขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาในเรื่องของชาวพม่าที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือชาวโรฮิงญาที่เรารู้จักกัน ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมิได้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยเพราะประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 และไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ดังนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นผู้หนีภัยความตาย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเพียงเล็กน้อย ดังนี้การอพยพเข้ามาในประเทศของกลุ่มคนเหล่านี้จึงได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยจะขอแบ่งเป็นหัวข้อได้ดังนี้

     การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เนื่องจากบุคคลผู้หนีความตายเหล่านี้ต้องอยู่ภายในค่ายที่ประเทศได้จัดไว้เพื่อรองรับ ซึ่งก็ไม่อาจมีมากพอต่อจำนวนผู้อพยพมา ส่งผลให้มีการใช้ชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรและนอกจากนี้การกระทำต่อผู้อพยพจากเจ้าหน้าที่ที่ผิดกฎหมายนั้นก็ไม่รับการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม

     การละเมิดสิทธิในการศึกษา เนื่องจากบุคคลผู้อพยพเหล่านี้จะถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในที่ที่รัฐจัดให้ หากออกนอกพื้นที่จะโดนปรับ หรือกลายเป็นต่างด้าวเข้าเมือง และอาจถูกเนรเทศกลับประเทศไป ทำให้เด็กเด็กที่อพยพไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร เพราะบางทีในบริเวณที่จำกัดไว้นั้นอาจจะไม่มีโรงเรียน หรือมีแต่ไม่เพียงพอที่จะดูและและให้ความรู้ที่เพียงพอแก่เด็ก ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติในการได้รับการศึกษา

     การละเมิดสิทธิในเรื่องสุขภาพ บุคคลเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศเขาไม่ได้รับสัญชาติไทย จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ดังนั้นสิทธิในการได้รับสุขภาพที่ดีของเขาก็ถูกละเมิดเพราะหากได้รรับสิทธิตามพรบ ดังกล่าวแล้วก็จะได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมือนกับเป็นคนสัญชาติไทย ซึ่งมีความคุ้มครองมาก

     สุดท้ายคือการละเมิดสิทธิในการทำงาน เนื่องจากนโยบายของประเทศไทยที่จำกัดไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ และห้ามไม่ให้พวกเขาทำงานอันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลมีสิทธิเลือกประกอบอาชีพได้เองอย่างอิสระ นอกจากนั้นยังไม่รับการฝึกอาชีพ ซึ่งส่งผลให้พวกเขาไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ เมื่อพวกเขาไม่มีความสามารถใดใด แต่ก็ต้องการหาเลี้ยงปากท้องจึงเกิดปัญหาว่าพวกเขาพยายามหลบหนีไปตามเมืองที่เจริญเพื่อทำงานที่ใช้ร่างกายที่เขาสามารถทำได้ เช่นไปเป็นแม่บ้าน ไปเป็นเด็กเสริฟ ซึ่งเท่ากับว่าเขาหลบหนีมาจากที่ที่รัฐจัดไว้ให้เขากลายเป็นคนต่างด้าว และหากถูกจับก็ต้องถูกส่งกลับไปประเทศที่เขาหนีมา

     การละเมิดสิทธิของบุคคลเหล่านี้ในประเทศไทยนั้น แม้พวกเขาจะไม่ใช่คนสัญชาติไทย และหลบหนีเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย แต่นั่นก็เป็นเราะเขาได้รับความลำบากจากสถานที่ที่เขาเกิด เมื่อเขาไม่สามารถอยู่ได้เขาจึงต้องดิ้นรนมาหาชีวิตที่ดีที่อื่น ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสงสาร และมนุษย์ด้วยกันควรช่วยเหลือและหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จริงอยู่ที่เราควรแก้ไขจากประเทศต้นตอ แต่นั่นอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก และอาจต้องใช้เวลานาน ดังนี้สิ่งที่เราควรทำให้พวกเขาคือให้สิทธิในความเป็นมนุษย์แก่พวกเขาเท่าที่เราจะทำได้ให้ดีที่สุด อาจจะมีการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญไปสอนการประกอบอาชีพ สอนการใช้ชีวิตแบบพอเพียง สอนหนังสือเด็กๆ และให้โอกาสในการได้รับสุขภาพที่ดีแก่พวกเขา เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

 


ณัฐณิชา วัฒนสุข


อ้างอิง 

(1) นิยามสิทธิมนุษยชน เข้าถึงได้จาก : http://kittayaporn28.wordpress.com/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2-2/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2-5/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99-human-right/

(วันที่ค้นข้อมูล : 14 เมษายน 2557)

(2) นิยามผู้ลี้ภัย เข้าถึงได้จาก :

https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee (วันที่ค้นข้อมูล : 14 เมษายน 2557)

(3) สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัย เข้าถึงได้จาก :

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4

(วันที่ค้นข้อมูล : 14 เมษายน 2557)

(4) นิยามผู้ลี้ภัย เข้าถึงได้จาก :

http://salweennews.org/home/?p=986 (วันที่ค้นข้อมูล : 14 เมษายน 2557)

หมายเลขบันทึก: 568286เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท