คนต่างด้าวในประเทศไทย


     คนต่างด้าว (aliens) หมายถึง บุคคล ซึ่งพำนักอยู่ในรัฐ ที่ตนมิได้เป็นคนสัญชาตินั้น หรือเป็นพลเมืองของรัฐนั้น พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า "คนต่างด้าว หมายถึง ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย" โดยทั่วไปแล้วประชาชน ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินของรัฐหนึ่งรัฐใด ย่อมประกอบไปด้วยบุคคลสองจำพวก คือ พลเมืองของรัฐนั้นจำพวกหนึ่ง กับอีกพวกหนึ่ง คือพลเมืองของรัฐอื่น ซึ่งเรียกว่า คนต่างด้าว คนต่างด้าว ที่เข้ามาอาศัยในดินแดนของรัฐใด ย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายของรัฐเช่นเดียวกับพลเมืองของรัฐนั้น แต่โดยทั่วไปแล้วคนต่างด้าวจะถูกจำกัดสิทธิ และหน้าที่บางประการ ซึ่งเรื่องนี้ แยกออกพิจารณาได้ 2 ประการ คือ สิทธิตามกฎหมายเอกชน และสิทธิตามกฎหมายมหาชน

     สิทธิตามกฎหมายเอกชนนั้น ถือว่าคนต่างด้าวมีสิทธิเช่นเดียวกับพลเมืองของรัฐ เช่น คนต่างด้าว มีสิทธิสมรส รับมรดก และมีสิทธิมีกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น สิทธิตามกฎหมายเอกชน ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จะมีปัญหาก็เฉพาะ การถือกรรมสิทธิ ในที่ดินของคนต่างด้าวเท่านั้น อย่างไรก็ดีเรื่องการถือกรรมสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าวนี้ มิได้ถือเป็นหลักอย่างเคร่งครัดว่าคนต่างด้าวจะมีกรรมสิทธิในที่ดินมิได้เลย วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ ประเทศต่างๆ มักจะมีสนธิสัญญาต่อกันว่าคนต่างด้าว มีสิทธิที่จะมีกรรมสิทธิในที่ดินได้ เช่น สนธิสัญญาที่ไทยทำกับปอร์ตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน และญี่ปุ่น เป็นต้น พลเมืองของประเทศดังกล่าวนี้ อาจถือกรรมสิทธิในที่ดินในประเทศไทยได้ และพลเมืองของไทย ก็อาจถือกรรมสิทธิในที่ดินของประเทศเหล่านั้น ได้เช่นกัน
     ตามหลัก กฎหมายระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนต่างด้าวนั้น ถือหลักว่าคนต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นในฐานะ นักท่องเที่ยว หรือในฐานะผู้อยู่ประจำก็ตาม ย่อมไม่มีสิทธิเหนือพลเมืองของรัฐ และไม่มีสิทธิทางการเมือง คนต่างด้าว ย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายของรัฐทุกประการ หากเขาถูกละเมิดจะต้องใช้กฎหมายของรัฐนั้นใช้บังคับ และเขาก็มีสิทธิ ที่จะขอรับความยุติธรรมจากรัฐเช่นเดียวกับพลเมืองของรัฐนั้น

     สิทธิในการประกอบอาชีพก็ถือเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ดั้งนั้นมนุษย์ทุกคนจึงได้รับความคุ้มครองโดยไม่เลือกสีผิว สัญชาติ เศรษฐกิจ ศาสนา หรือด้วยเหตุอื่นใด โดยกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการประกอบอาชีพ มีดังนี้

     ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 23 บัญญัติว่า “(1) ทุกคนมีสิทธิในการทํางาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออํานวยต่อการทำงานและในการคุ้มครองต่อการว่างงาน ” 

     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 43 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม 

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

     ปัญหาเด็กไร้สัญชาติยังคงเป็นอีกปัญหาใหญ่สำหรับประเทศ และอาจกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประชาคมอาเซียนในอนาคตด้วย หากไม่มีการเตรียมการแก้ปัญหากันเสียตั้งแต่วันนี้

    ปัญหาเด็กไร้สัญชาติยังคงเป็นอีกปัญหาใหญ่สำหรับประเทศ และอาจกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประชาคมอาเซียนในอนาคตด้วย หากไม่มีการเตรียมการแก้ปัญหากันเสียตั้งแต่วันนี้

    เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา "คนไร้รัฐ กับประชาคมอาเซียน" ขึ้นเพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

"ดวงตา หม่องภา" นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในบุคคลที่ยังตกอยู่ในช่องว่างของกฎหมาย และถือเป็นกรณีตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยที่เราควรทำความเข้าใจ

ขณะนี้ "ดวงตา" นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วัย 22 ปี มีสถานะเป็นบุคคลไม่ไร้รัฐ แต่ยังไร้สัญชาติ เธอถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตของเธอเป็นภาษาไทยที่ชัดเจนทั้งภาษา สำเนียง แถมยังเข้าใจง่ายกว่าคนไทยหลาย ๆ คนเสียอีก....

"ครอบครัวของดิฉันเป็นครอบครัวที่อพยพมาจากพม่า พ่อเป็นคนชาติพันธุ์ยะไข่ที่อยู่ในรัฐยะไข่ ที่ออกจากรัฐตั้งแต่ราว 7 ขวบหลังผู้เป็นพ่อและแม่เสียชีวิต ส่วนแม่เป็นคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่อยู่ในรัฐฉาน พ่อและแม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยาที่รัฐฉานมาโดยตลอด

พ่อ แม่ ดวงตา และน้องชาย ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2543 ด้วยเหตุผลคือเข้ามาหาคุณยายที่เข้ามาก่อนแล้วกว่า 20 ปี และมาหางานทำ ขณะนั้นเธออายุได้ 9 ขวบ

จุดแรกที่เข้ามาในประเทศไทยคือที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

"ตอนที่เข้ามา ฟัง พูด ภาษาไทยไม่ได้เลย ไม่มีเอกสารแสดงตัวใด ๆ ตอนนั้นจึงอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้รัฐก็คือการที่ไม่มีรัฐใด ๆ ในโลกนี้บันทึกข้อมูลว่า มีบุคคลคนนี้อยู่ และไร้สัญชาติก็คือยังไม่มีการยอมรับความเป็นชาติของบุคคลนั้น ๆ"

หลังจากที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว ได้ทำงานรับจ้างต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ในปี 2544 พ่อกับแม่ของดวงตา ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อทำบัตรอนุญาตทำงาน ทันทีที่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ความไร้รัฐของพ่อกับแม่ก็หายไป เพราะรัฐไทยมีการบันทึกข้อมูลไว้แล้ว

ในขณะที่ ดวงตากับตัวน้องชาย ก็ยังมีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เช่นเดิม

กระทั่งในปีนั้นเอง ดวงตาได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แต่ก็มีความโชคดีตรงที่ ครูที่โรงเรียนมีความเข้าใจในสิทธิด้านการศึกษา แม้ว่าเธอจะมีสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติก็ตาม

"ดิฉันได้เรียนเช่นเดียวกันเด็กคนไทยทุกคน เมื่อเรียนชั้น ม. 3 จากเชียงใหม่ ก็ได้มาต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนมูลนิธิวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับมูลนิธิพุทธรักษา ที่เป็นผู้ให้ทุนการศึกษามาจนถึงทุกวันนี้

ในปี 2554 รัฐมีนโยบายขจัดความไร้รัฐในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทำให้ดิฉันได้รับบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่รหัสประจำตัวจะขึ้นต้นด้วยเลข "0" นั่นทำให้สถานะความไร้รัฐของดิฉันหายไป กลายเป็นบุคคลที่มีรัฐแต่ยังไม่มีสัญชาติ

และเมื่อปีที่แล้ว (2555) รัฐบาลมีนโยบายให้มีการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว พ่อ แม่ ได้ไปทำการพิสูจน์สัญชาติ และได้รับสัญชาติพม่าแล้ว ทำให้ "ไม่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ" อีกต่อไป ในขณะที่ดวงตา ยังคงสถานะเป็นคนไร้สัญชาติอยู่ ส่วนน้องชายของดวงตา ก็ยังอยู่ในสถานะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ไม่ได้มีการพูดถึงในเรื่อง "การแก้ปัญหาบุตรแรงงานต่างด้าว"

"หากจะพิสูจน์สัญชาติ ก็จะต้องใช้ทะเบียนประวัติในการทำ จึงอยากจะได้ความชัดเจนในเรื่องการแก้ปัญหาบุตรแรงงานจากรัฐบาลไทยและพม่า จะเห็นว่าครอบครัวของดิฉัน คือ พ่อแม่ ดิฉันและน้องชาย ก็ยังมีสถานะกันไปคนละทาง" ดวงตา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา และเห็นว่า...

สภาพความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ นั้นสร้างปัญหาและอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่อง "การศึกษา" และ "การรักษาพยาบาล"

"ดิฉันไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่ในขณะที่เพื่อน ๆ และเด็ก ๆ อีกหลายคนไม่ได้รับสิทธินี้ ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีเอกสารใด ๆ บวกกับค่ายาราคาสูง รวมทั้งการไม่ได้รับความใส่ใจจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เวลาเจ็บป่วยจึงเป็นการซื้อยามากินเองและหาหมอในหมู่บ้าน

นอกจากนี้เรื่องสิทธิในการเดินทาง เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวของดิฉันถูกบันทึกอยู่ที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนจะควบคุมเขตพื้นที่ด้วยว่า สามารถอยู่ได้เฉพาะในเขต อ.ป่าโมก การที่ดิฉันได้มาเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ก็จะต้องไปทำเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อใช้สิทธิในการศึกษา ก็คือขอสิทธิในการเดินทางเพื่อมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และล่าสุดโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจะมีการไปทัศนศึกษาที่ประเทศกัมพูชา ดิฉันก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตไปต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการทำนั้น ก็ต้องไปยื่นเรื่องตั้งแต่ที่ อ.ป่าโมก ต่อมาต้องไปยื่นเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่และกลับเข้ามายังประเทศไทยต่อกระทรวงมหาดไทย จากนั้นเมื่อได้รับอนุญาตเข้า-ออกประเทศไทยแล้ว ก็จะต้องไปขอทำหนังสือเดินทางสำหรับคนไร้รัฐจากสถานกงสุล ก่อนจะไปขอวีซ่าเข้าประเทศที่สถานทูตกัมพูชา

กระบวนการทั้งหมดนี้มันยุ่งยากซับซ้อน เวลาไปติดต่อราชการ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ค่อยเข้าใจเอกสารหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานะของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเท่าไหร่นัก

สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักจากข้อกฎหมายคือ บุตรที่สืบสายจากบิดามารดา ก็มีสิทธิได้สัญชาตินั้น ดังนั้นตัวดิฉันและน้องชายก็ควรมีสิทธิได้รับสัญชาติพม่าเช่นเดียวกัน แต่ว่าทั้งไทยและพม่ายังไม่มีข้อกฎหมายหรือประกาศใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องบุตรของแรงงานต่างด้าวเลย

เธอจึงอยากเรียกร้องให้ทั้งประเทศไทยในฐานะรัฐเจ้าของตัวบุคคล และประเทศเมียนมาร์มีการเจรจาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป เพราะหากปัญหานี้ได้รับการแก้ไข นั่นแสดงว่า ปัญหาบุตรแรงงานต่างด้าวที่ไม่ใช่แค่ดวงตาและน้อง แต่เป็นเด็กทั่วประเทศจะได้รับการแก้ไข

ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน และเป็นการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือระหว่างสองประเทศด้วย

ฉะนั้น วันนี้ ปัญหาของเด็ก "ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ" รัฐไทยควรจะให้ความสำคัญ เป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกันแก้ปัญหา ด้วยหวังอย่างน้อย กรณีศึกษาเรื่องของ ดวงตา หม่องภา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาสนใจกับปัญหาสิทธิมนุษยชนและนำไปสู่การให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาของกลุ่มประเทศในอาเซียนต่อไป

http://guru.sanook.com/21278/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0...

ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน http://www.l3nr.org/posts/367668

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/page.php?id=16&menu_id=2&groupID=1&subID=14&page=page15-1l

http://www.isranews.org/component/content/article/...

หมายเลขบันทึก: 568279เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท