ศาลสิทธิมนุษยชน


     ทำไมถึงต้องมีศาลสิทธิมนุษยชน? เพราะปัจจุบันแม้จะมีกฏหมายมากมายออกมารับรองสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่ก็ยังเกิดปัญเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ จึงเกิดองค์กรต่างๆ เพื่อมาทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมหรือทำให้มีกระบวนการบังคับที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น ศาลสิทธิมนุษยชนก็เป็นหนึ่งในองค์กรเหล่านั้น

     ที่มาของ ศาลดังกล่าว ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European of Human Rights-ECtHR) ตั้งอยู่ที่เมืองสตราส์บูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส ตามหลักการในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ปี 1950 (The European Convention on Human Rights) เพื่อดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของประเทศสมาชิก ซึ่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่สภายุโรป (The Council of Europe) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสภายุโรป ทั้ง 47 ประเทศได้เข้าเป็นภาคีและรับหลักการของอนุสัญญาฯ

     หลักสำคัญของอนุสัญญาสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • สิทธิในการดำรงชีวิต
  • สิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมทั้งในทางแพ่งและอาญา
  • สิทธิที่จะได้รับการคำนึงถึงชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของบุคคล
  • เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
  • เสรีภาพทางความคิด จิตสำนึกและศาสนา
  • สิทธิในการที่จะได้รับการเยียวยาที่ดี
  • สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินอย่างสุขสงบ
  • สิทธิในการเลือกตั้งและการรับเลือกตั้ง
  •     ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นองค์กรตุลาการขององค์การสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐาน(ECHR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502)ศาลนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส(อนึ่งมักมีผู้เข้าใจสับสนคำว่า “สภาแห่งยุโรป Council of Europe” กับคำว่า “European Council ที่เป็นองค์กรของสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นคนละองค์กร)

         ศาลฯ มีหน้าที่ในการตีความข้อกฎหมายและพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา ECHR โดยอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐภาคีสมาชิก ECHR

        เดิม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Human Rights Commission) มีหน้าที่ในการไต่สวนมูลฟ้องและยื่นคำฟ้องต่อศาลแทนบุคคลต่อมาพิธีสารฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1998(พ.ศ. 2541)ได้ยุบคณะกรรมาธิการฯ ลง และให้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฯ

        ศาลฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาเท่ากับจำนวนรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญา ECHR ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (Parliamentary Assembly) ประเทศละหนึ่งคน ผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ หรือสัญชาติ ในการดำเนินคดีจำนวนผู้พิพากษาขององค์คณะจะขึ้นอยู่กับประเภทของคดี เช่น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีผู้พิพากษาหนึ่งคน ในชั้นพิจารณาคดีจะมีจำนวน

        ผู้พิพากษาในองค์คณะต่างกัน เช่น จำนวนสามคน เจ็ดคน หรือ สิบเจ็ดคน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความสำคัญของคดีคำพิพากษาของศาลฯ ผูกพันรัฐภาคีให้ต้องปฏิบัติตามโดยรัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำพิพากษาจะไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายในรัฐภาคี และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐภาคี

        คณะกรรมการรัฐมนตรี(Committee of Ministers) มีหน้าที่สอดส่องและบังคับให้รัฐปฏิบัติตามคำพิพากษา คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ชัดเจนขึ้น

        การนำคดีขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป จะสามารถทำได้โดยรัฐบาลคู่กรณีหรือบุคคลธรรมดาเพื่อฟ้องร้องรัฐบาลของรัฐภาคีทั้ง 47 ประเทศหากเกิดการละเมิดในสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันต่อรัฐคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล และแนวทางการพิจารณาคดียึดถือตามคำพิพากษาที่ได้พิพากษาไปแล้วเป็นหลัก (Case law)

    กระบวนการพิจารณาคดีในศาล โดยทั่วไป

         รัฐภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาหรือปัจเจกชนใดที่ได้มีการร้องเรียนว่าตนเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดอนุสัญญาอาจจะเสนอคดีขึ้นสู่ศาลได้โดยตรงที่เมืองสตราส์บูร์ก โดยร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐภาคี ในสิทธิใดสิทธิหนึ่งที่ได้รับการประกันในอนุสัญญา

        คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในอนุสัญญาหรือพิธีสารมักจะใช้ถ้อยคำอย่างกว้างๆ และเป็นภาษากฎหมายที่มีความหมายเฉพาะ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเจรจาที่มีเหตุผลทางการเมืองนั่นเอง ดังนั้น การเข้าใจถึงความหมายและขอบเขตของสิทธิต่างๆ ที่ได้รับการประกันตามอนุสัญญาฯ เหล่านั้นจึงไม่เหมือนกัน และอาจทำให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแตกต่างกันได้ รัฐเองก็มักตีความให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในความหมายอย่างแคบและให้น้อยที่สุด ในทางกลับกันเอกชนหรือประชาคมกลับต้องการให้มีการตีความการคุ้มครองสิทธิให้มีความหมายอย่างกว้างให้มากที่สุด

        ดังนั้นศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป จึงมีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาบรรทัดฐานและเกณฑ์ทางกฎหมายร่วมกันระหว่างรัฐภาคีของรัฐสภาแห่งยุโรป คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนจึงอาจถือเป็นบรรทัดฐานในการนิยามและกำหนดขอบเขตการคุ้มครองสิทธิต่างๆให้มีความชัดเจนแน่นอนได้

        แต่ถึงแม้ว่าคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปจะ “ไม่มีผลเหนือศาลภายใน” หรือ “ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายใน” ก็ตาม แต่ผลกระทบของคำพิพากษาที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้ประเทศสมาชิกได้ปรับกฎหมายภายในของตนให้สอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

        ซึ่งคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนั้น ได้เป็นที่ยอมรับว่ามีความชัดเจนแน่นอน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามได้ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN Human Rights Committee) ก็ได้นำแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไปปรับใช้ในการพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติ ในกรณีที่มีการร้องเรียนโดยรัฐหรือเอกชนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยรัฐใดรัฐหนึ่งหรือไม่ด้วย

        เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จแห่งกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนก็ทำงานได้ผลในการบังคับใช้สิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน คำพิพากษาของศาลได้ซึมแทรกเข้าสู่ระบบกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก ก่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ อันยังประโยชน์แก่คนหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบในสังคม รวมทั้งเป็นตัวอย่างบรรทัดฐานในการใช้ตีความสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ขององค์การต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติหรือองค์การในระดับภูมิภาคอื่นๆ

    http://library.nhrc.or.th/Dictionary/search_dic.ph...

    http://digi.library.tu.ac.th/thesis/la/1118/03ABST...

    http://www.l3nr.org/posts/465646

    หมายเลขบันทึก: 568283เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท