จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

นาซีหะฮฺ กระบวนการสื่อสารในองค์กร


ตั้งใจไว้อย่างยาวนานครับว่าจะต้องกลับมาเขียนบล็อกให้ได้ จริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่ได้เขียนครับ เพียงแต่ช่วงนี้งานเขียนส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่่องของงานบริหารเป็นส่วนใหญ่ มีเรื่องงานวิจัยมาแซมๆ บ้าง ส่วนงานวิชาการอื่นจากนี้ เรียกได้ว่าหายไปเลยครับ บางทีนึกเสียดายเวลาของตัวเองครับที่มันควรจะมีเวลาอยู่กับงานวิชาการมากกว่านี้ แต่เมื่อมันเป็นภารกิจหนึ่งเพื่อให้งานวิชาการขับเคลื่อนไปในลักษณะองค์กร ก็ต้องยอมครับ จะทำแบบเอาตัวเองรอดอย่างเดียวมันคงเป็นวิธีการที่เห็นแก่ตัวมากเกินไปครับ

เมื่อวานเลยมีความตั้งใจไว้หนึ่งอย่างคือ วันศกร์ซึ่งเป็นวันหยุดของผมจะต้องเคลียร์รายงานความก้าวหน้าวิจัยให้เสร็จครับ แต่ใส่ออฟชั่นไว้นิดหนึ่งว่า หากไม่มีไอเดียจะทำก็ให้เอาเวลานั้นมาเขียนบล็อกแล้วกัน เหอะๆ สุดท้ายก็เป็นไปตามออฟชั่นครับ คิดไม่ออก เขียนบล็อกแล้วกัน ฮิฮิ

เรื่องที่จะเขียนเป็นประเด็นที่เกิดจากต่อมความคิดถูกกระตุ้นเมื่อมหาวิทยาลัยฟาฏอนีจัดทำค่ายพัฒนาบุคลากร โดยมุ่งเน้นประเด็น นาซีหะฮ์ซึ่งแปลตามศัพท์ทั่วๆ ไปจะเข้าใจว่า หมายถึงการตักเตือน แต่ถ้าจะให้ครอบคลุมอาจจะต้องมีการนิยามใหม่ได้ว่า การใช้ความบริสุทธิ์ใจในความพยายามใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความดีงามจากการไปตักเตือน ซึ่งในการอบรมเมื่อต้นสัปดาห์ เราพยายามทำความเข้าใจประเด็นในรูปแบบขององค์กร ซึ่งประกอบด้วยผู้นำกับผู้ตาม (เอาองค์ประกอบแบบกว้างๆ นะครับ)

อิสลามให้ความสำคัญกับการมีผู้นำและผู้ตามครับ เมื่อมีองค์กร มีการรวมตัวก็ต้องเกิดสององค์ประกอบนี้ขึ้น แน่นอนว่าผู้นำมีหนึ่งเดียวที่เหลือก็เป็นผู้ตาม และเมื่อเกิดองค์กรมาแล้ว ก็จะเกิดเงื่อนไขการเชื่อฟัง ปฏิบัติตาม ซึ่งหมายถึงกระบวนการออกคำสั่งและการรับคำฟัง นำไปสู่การขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

สาเหตุหนึ่งของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในองค์กรและสังคมก็คือประเด็นจากความเข้าใจในเรื่องนาซีหะฮ์ที่ไม่ถูกต้องและนำไปสู่การปฏิบัติใช้ที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ครับ ด้วยเพราะอาจจะมองได้ว่านาซีหะฮ์เป็นกระบวนการเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการออกคำสั่งและปฏิบัติการคำสั่งภายในองค์กรครับ อันเนื่องจากต้องยอมรับว่า ความผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เมื่อองค์กรวางหลักการด้วยเรื่องของการเชื่อฟัง ตามปฏิบัติตามผู้นำ แล้วเมื่อผู้นำดำเนินการไปอย่างไม่ถูกต้องหรือสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย การนาซีหะฮ์เป็นจะกลายเป็นเครื่องมือจำเป็นเพื่อปรับทิศทางให้ตรงกัน แต่จะพบว่าการใช้นาซีหะฮ์ที่ไม่ถูกต้องจะยิ่งทำให้ปัญหาเล็กๆ แก้ไขได้ง่ายๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ แก้ยากและได้โจทย์เพิ่มเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเครือข่ายสังคมออนไลน์ครับ เราเริ่มใช้เครื่องมือนี้ในการตักเตือนกันจนหลักการแห่งการนาซีหะฮ์หายไป ในขณะที่เรายังเรียกกว่า เราใช้การนาซีหะฮ์ หรือเรากำลังตักเตือนเพื่อนของเรา พี่น้องของเราอยู่ ทั้งที่รูปแบบดังกล่าวไม่ใช่แล้ว อาจจะเข้าข่ายของการประจานความผิดพลาดไปแล้วมากกว่า

ผมมองย้อนไปในสมัยท่านศาสนทูต (ซ.ล) ครับ ซึ่งนั้นเป็นแบบอย่างการก่อร่างสร้างองค์กรจากคนเพียงไม่กี่คนจนกระทั่งสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่โลกได้ แน่นอนครับองค์กรดังกล่าวสร้างด้วยหลักการสำคัญคือ การปฏิบัติตามคำสั่ง (สัมอันวาตออาตัน) และความเป็นผู้นำของท่านรอซูล (ซ.ล) นั่นชัดเจน แต่กระนั้นกระบวนการนาซีหะฮ์ก็ไม่ได้มีความสำคัญน้อยลงไป ยิ่งไปกว่านั้นมันกลับถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ด้วยซ้ำไป และส่วนตัวคิดว่าอันนี้แหละคือกระบวนการสื่อสารที่สำคัญมากสำหรับองค์กร ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตามได้เป็นอย่างดี

โดยหน้าที่แล้ว ผู้นำมีหน้าที่นาซีหะฮ์ มีหน้าที่สั่งการไปยังผู้ตาม ซึ่งกระบวนการสั่งการก็มักจะต้องแฝงไปด้วยเรื่องของการตักเตือน การให้คำแนะนำอยู่แล้วครับ และโดยสถานะโครงสร้างองค์กร ผู้ตามก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านั้น เพียงแต่หากเกิดกรณีที่ไม่เห็นด้วย มองเห็นประเด็นที่แตกต่างกันจะทำอย่างไร ซึ่งภาพขององค์กร สังคมในปัจจุบัน ผมมองว่าผู้ตามทำไม่สอดคล้องกับหลักของการนาซีหะฮ์ครับ เช่น เหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ ที่เกาหลีใต้ เรือโดยสารล้ม ผลคือประขาชนไม่พอใจต่อการตอบสนองของประธานาธิบดี และที่แสดงออกมาคือการประท้วง ล้อมรถของผู้นำเมื่อเขาลงไปในพื้นที่เกิดขึ้นเพื่อเยี่ยมเยียนและติดตามการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกันกับในตุรกี ที่เมื่อเหมืองถล่ม นายกรัฐมนตรีพูดผิดพลาดทำร้ายจิตใจของประชาชน และผลที่ตามมาก็คือการประท้วงนายก การขับไล่นายก

ผมเลยคิดย้อนไปในสมัยท่านรอซูล (ซ.ล)ครับ ว่าเมื่อบรรดาสาวกของท่านไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งของท่านรอซูล พวกเขาทำอย่างไร ก่อนอื่นอยากจะเรียนครับว่า มีหลายเหตุการณ์ที่ยืนยันได้ว่าเคยเกิดความไม่เห็นด้วยของบรรดาสาวกต่อคำสั่งบางคำสั่งของท่านรอซูล (ซ.ล) แต่ด้วยหลักของการปฏิบัติตนในองค์กรและการยึดมั่นกระบวนการนาซีหะฮ์ ทำให้ทุกปัญหาผ่านไปด้วยดีและยังสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรอีกด้วย ครั้งหนึ่งมีข้อคำสั่งออกมาจากท่านรอซูล (ซ.ล) แต่คำสั่งดังกล่าวมีหลายคนไม่เห็นด้วยจึงได้เสนอให้ท่านอาบูบักรไปเจรจากับท่านรอซูล (ซ.ล) ซึ่งท่านอาบูบักรได้ถามกับท่านรอซูล (ซ.ล) ว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นวะห์ยู (ข้อบัญชาจากอัลลออ์) หรือความเห็นของท่านเอง ท่านรอซูล (ซ.ล) ตอบว่า นั่นเป็นวะห์ยู เมื่อทราบเช่นนั้นท่านอาบูบักร์ก็น้อมรับไปปฏิบัติ (ขออภัยหากผมอ้างอิงผิดพลาด หะดีษที่นำเสนอนี้มาจากความจำของผมจากการฟังบรรยายหรืออ่านจากหนังสือใดหนังสือหนึ่ง) 

จะเห็นจากเหตุการณ์ข้างต้นครับ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นแนวทางที่เหมาะสมในการใช้การสื่อสารระหว่างผู้นำกับผู้ตาม นั่นคือ ภายในองค์กรต้องมีช่องทางการสื่อสารระหว่างกัน ขณะเดียวกันฝั่งผู้ตามก็จะต้องใช้วิธีการที่เป็นการให้เกียรติกับผู้นำมากที่สุด ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะพบว่าอิสลามสนับสนุนมากที่สุดคือการสื่อสารแบบเป็นการภายใน ลับๆ หรือตัวต่อตัว โดยหลีกเลี่ยงการกล่างตักเตือนในวงสาธารณะ ซึ่งถ้าจะถามว่าทำไมการทักท้วงผ่านสื่อสาธารณะถึงไม่เหมาะสม คำตอบง่ายๆ ครับคือ วิธีการดังกล่าวสร้างความเคลือบแคลงถึงความบริสุทธิ์ใจทั้งจากผู้นำและผู้ตามได้ครับ ทั้งนี้การตักเตือนที่ดีต้องอยู่บนหลักความบริสุทธิ์ใจ

อีกครั้งหนึ่ง มีหญิงผู้สูงศักดิ์ในสังคมต้องโทษตัดมือ จึงมีตัวแทนของกลุ่มคนลดโทษต่อท่านรอซูล (ซ.ล) ซึ่งท่านก็ตอบกลับด้วยว่า ถึงแม้จะเป็นฟาตีมะห์บุตรสาวของมุฮัมมัด (บุตรีของท่านเอง) ก็ไม่มีข้อยกเว้นดังกล่าว เป็นต้น 

จากสองกรณีที่ผมยกมานำเสนอข้างต้น เพียงเพื่อสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมองค์กรที่องค์กรมุสลิมควรเป็นอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้องค์กรมุสลิมให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติการคำสั่ง กำหนดบทบาทของผู้นำและผู้ตามที่ชัดเจน แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญต่อการตักเตือนระหว่างกัน เพื่อช่วยให้กระบวนการขับเคลื่อนองค์กรมีความมั่นคง เพียงแต่ต้องด้วยกระบวนการที่เหมาะสม แฝงด้วยวิทยปัญญาของการดำเนินการ

ผมมองย้อนมายังสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ผมยิ่งรู้สึกว่า หนังสือ นะศีหะฮ์ หัวใจแห่งอุมมะฮฺวาฮิดะฮฺ ที่แต่งโดย ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นหนังสือที่เหมาะมากทุกคนมาร่วมกันทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้มีความน่าอยู่ สร้างโครงสร้างทางสังคมที่มั่นคง

(ขออนุญาตจบบันทึกครับ)

หมายเลขบันทึก: 568155เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาทักทายและติดตามค่ะ ไม่ได้เจอกันนาน ขออนุญาตนำแนวคิดนี้ไปศึกษาและสอน นศ ของคณะพยาบาลศาสตร์ นะคะ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บ้านเราสงบสุขค่ะ

ไว้เจอกันวันเสวนา 3 มหาวิทยาลัยชายแดนใต้นะคะ

เจอกันวันที่ 26 ครับอาจารย์

อาจารย์หายไปนานมากๆ

วันที่ 26 พค พบกันที่ไหนครับ

ครับ หายไปนานจริงๆ ครับ 26 มีเวที best practice ที่ มนร.ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท