กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


เบื้องต้นพิจารณาตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 9 ฉบับได้แก่ [1]

(1)กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

(2)กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

(3)อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)

(5)อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)

(6)อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

(7)อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ(Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

(8) อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)

(9) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families MWC)

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศหลักเหล่านี้แล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ รวมทั้งเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CEDAW ว่าด้วยการรับข้อร้องเรียนและอนุสัญญาสิทธิเด็กอีก 2 ฉบับคือ พิธีสารเลือกรับเรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก(Optional Protocol to the Convention on Rights of the Child on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography) และพิธีสารเลือกเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on Rights of the Childon the Involvement of Children in Armed Conflict ) ส่วนอนุสัญญาอีกสองฉบับที่ไทยยังไม่ได้เป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW สาระสำคัญวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฉบับนี้คือการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบรวมทั้งการประกันว่าสตรีและบุรุษมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติและดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคกันได้แก่ 


1. กล่าวถึงคำจำกัดความของคำว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี(discriminationa gainst women) พันธกรณีของรัฐภาคีมาตรการที่รัฐภาคีต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของสตรีมาตรการเร่งด่วนชั่วคราวเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีอย่างแท้จริงซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศการปรับรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เอื้อต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและการปราบปรามการลักลอบค้าและแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากสตรี
2. กล่าวถึงความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีในด้านการเมืองและการดำรงชีวิต (public life) ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศเช่นสิทธิในการเลือกตั้งการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญความเท่าเทียมกันในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและการศึกษา
3. กล่าวถึงการที่สตรีจะได้รับการดูแลทางเศรษฐกิจโดยได้รับความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานและสิทธิด้านแรงงานรวมถึงการป้องกันความรุนแรงต่อสตรีในสถานที่ทำงานความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และหลังคลอดบุตรการที่รัฐภาคีจะประกันความเป็นอิสระของสตรีด้านการเงินและความมั่นคงด้านสังคมและการให้ความสำคัญแก่สตรีในชนบททั้งในด้านแรงงานและความเป็นอยู่
4. กล่าวถึงความเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีในด้านกฎหมายโดยเฉพาะในด้านกฎหมายแพ่งและกฎหมายครอบครัวซึ่งเป็นการประกันความเท่าเทียมกันในชีวิตส่วนบุคคล
5. กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบพันธกรณีในการจัดทำรายงานของรัฐภาคีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและการมีส่วนร่วมของทบวงชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง
6. กล่าวถึงการมิให้ตีความข้อบทของอนุสัญญาที่จะขัดต่อกฎหมายภายในที่ดำเนินการมากกว่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่การนำพันธกรณีไปปฏิบัติในระดับประเทศการเปิดให้ลงนามและกระบวนการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาการแก้ไขอนุสัญญาเงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญาการตั้งข้อสงวนการขัดแย้งในการตีความระหว่างรัฐภาคี

กรณีศึกษา คือ การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบในการห้ามสตรีเข้าไปในพื้นที่ชั้นในของพุทธศาสนสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ[2] ข้อเท็จจริงคือจะเห็นได้ว่าการที่คนในชุมชนล้านนาเชียงใหม ห้ามสตรีเข้าไปสักการะถึงพระธาตุนั้น เป็นการขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบในข้อ 1 ของ อนุสัญญาเพราะการห้ามสตรีแต่ไม่ห้ามบุรุษเป็นการแบ่งแยกกีดกันโดยมุ่งทําให้เสื่อมเสียการ ใช้สิทธิของสตรีในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรี เพราะ สตรีได้ถูกเลือกปฏิบัติคือถูกห้ามขึ้นไปไหว้พระธาตุในพื้นที่ชั้นใน โดยไม่เป็นธรรมเพราะความ แตกต่างทางเพศ ไม่เหมือนกับบุรุษที่สามารถเข้าไปสักการะได้ ซึ่งเมื่อไทยเป็นภาคของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบแล้ว การกระทำตามข้อเท็จจริงก็ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรี เพราะเพียงแต่ความแตกต่างด้านเพศจะนำมาห้ามอีกฝ่ายไม่ให้เข้าไปสักการะเช่นนี้ ย่อมละเมิดต่ออนุสัญญาดังกล่าว เพราะโดยหลักแล้วศาสนสถาน บุคคลทุกคนก็สามารถมีสิทธิที่จะเข้าไปสักการะได้ ไม่สามารถมากีดกันได้ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องตระหนักถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษ ซึ่งไม่ว่าเพศไหนๆก็ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ เหมือนกัน ไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติภายใต้สถานการณ์ที่เหมือนกันได้


[1] ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี เข้าถึงได้จาก, http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions

[2] การศึกษาพันธกรณีในทางระหว่างประเทศของไทยในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบในการห้ามสตรีเข้าไปในพื้นที่ชั้นในของพุทธศาสนสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุhttp://digi.library.tu.ac.th/thesis/la/1030/10CHAPTER_4.pdf

หมายเลขบันทึก: 568055เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท