คนต่างด้าวในประเทศไทย


สำหรับคนต่างด้าวนั้นตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในงานเขียนคราวก่อน กล่าวคือความต่างด้าวนั้นหมายความว่า ความมีสถานะที่แตกต่างจากสถานะของบุคคลโดยทั่วไปในประเทศที่ตนอยู่ โดยเป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งที่ตามมานั้นคือ เรื่องของสิทธิที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวจะได้รับซึ่งมีความแตกต่างจากบุคคลโดยทั่วไป กล่าวคือการถูกจำกัดซึ่งสิทธิต่างๆซึ่งบางครั้งสิทธิที่ถูกจำกัดนั้นก็เป็นไปเพื่อเหตุผลจำเป็นบางประการเพื่อปกป้องรัฐในทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโดยส่วนใหญ่นั้นการอ้างเหตุดังกล่าวก็ทำให้บุคคลต่างด้าวซึ่งเข้ามา อาจโดยเหตุผลเพื่อต้องการให้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านั้นไม่ได้รับหรือถูกริดรอนความยุติธรรมในความเป็นมนุษย์

โดยในงานเขียนต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะขอนำเสนอตัวอย่างของครอบครัวต่างด้าวซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้ได้แก่ ครอบครัวหม่องภา ทั้งนี้ข้าพเจ้าจะขอนำเสนอประวัติโดยคร่าวๆดังต่อไปนี้ ครอบครัวหม่องภานั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คนได้แก่ พ่อหม่อง เป็นบุคคลจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนม่าร์ แม่ภา เป็นชาวไทยใหญ่ จากรัฐฉานประเทศเมียนม่าร์ และยังมีน้องดวงตาและน้องจุลจักร ซึ่งทั้งครอบครัวนั้นเกิดในประเทศเมียนม่าร์และอพยพเข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลที่ว่าในสมัยที่ได้มีการย้ายมานั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลพม่านั้นไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยทั้งนี้ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำซึ่งสืบเนื่องมาจากการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกล่าวคือชาวไทยใหญ่กับรัฐบาลพม่าจึงทำให้ครอบครัวหม่องภานับเป็นครอบครัวที่หนีภัยความตายเข้ามาและจากการอพยพเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้ครอบครัวกลุ่มดังกล่าวนั้นกลายเป็นครอบครัวข้ามชาติกล่าวการข้ามจากประเทศเมียนม่าร์เข้ามาประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงที่ว่าการเข้ามาของครอบครัวหม่องภานั้นไม่มีเอกสารรับรองการเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นจาก พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 จึงทำให้บุคคลทั้งหมดนั้นเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย และย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าเมื่อมีการเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่มีเอกสารแสดงสถานะบุคคลก็ย่อมกล่าวได้ว่าครอบครัวหม่องภาก็ย่อมไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรเพื่อรับรองสถานะบุคคลจึงทำให้ปรากฎความได้ว่าทั้งครอบครัวหม่องภานั้นเป็นครอบครัวที่ไร้รัฐ อีกทั้งปัญหาไร้สัญชาติของบุคคลทั้งหมดก็ยังคงต้องเผชิญ กล่าวคือจากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาว่าเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐเมียนม่าร์และชนกลุ่มน้อยในประเทศเกิดขึ้นย่อมเป็นที่ทราบได้อย่างดีว่าเมื่อไม่มีความต้องการให้ชนกลุ่มน้อยอยู่ในประเทศของตนความดูแลในเรื่องสถานะย่อมเป็นไปไม่ได้เลยมี่ประเทศเมียนม่าร์นั้นจะให้ความสนใจในเรื่องสถานะของบุคคลกลุ่มดังกล่าว ดังนั้นแม้จะปรากฎว่าพ่อหม่องและแม่ภาจะมีสูติบัตรซึ่งเคยออกตามกฎหมายเมียนม่าร์ แต่การขาดไร้ซึ่งความเอาใจของรัฐบาลทำให้ทั้ง 2 ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนทำให้กลายเป็นทั้งบุคคลไร้รัฐและไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง อีกทั้งเมื่อมีบุตรทั้ง 2 เกิดขึ้นก็เลยส่งผลให้เป็นบุคคลผู้มีสถานะเช่นเดียวกับบิดาและมารดา โดยเมื่อเวลาผ่านไปการที่ครอบครัวหม่องภาได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และเกิดความกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ความกลมกลืนดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดจุดเกาะเกี่ยวระหว่างครอบครัวหม่องภาและประเทศไทย ดังนั้นเมื่อมีการเกิดขึ้นซึ่งจุดเกาะเกี่ยวก็ย่อมส่งผลให้รัฐไทยมีหน้าที่ในการจัดการทางด้านสถานะของกลุ่มบุคคลดังกล่าวและทำให้สุดท้ายครอบครัวหม่องภานั้นได้เข้าชื่อในทะเบียนราษฏรในสถานะคนมีรุฐแต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นราษฏรที่ไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยการเข้าชื่อดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่ามีเหตุผลประกอบอีกประการหนึ่งกล่าวคือในกรณีของพ่อหม่องและแม่ภานั้นเนื่องด้วยความตกลงขจัดความไร้รัฐระหว่างรัฐไทยและเมียนม่าร์เนื่องด้วยความต้องการแรงงานของรัฐไทย และในกรณีของน้องดวงตาและน้องจุลจักรก็คือด้วยนโยบายขจัดความไร้รัฐของเด็กในโรงเรียนซึ่งรัฐไทยนั้นเป็นผู้คิดกำหนดขึ้นมา

ทั้งนี้เมื่อมีการเกิดขึ้นซึ่งข้อกำหนดอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐไทยและประเทศเมียนม่าร์จากความต้องการแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทำให้ทางรัฐบาลของประเทศเมียนม่าร์เข้ามาจัดการรับรองสิทธิในสัญชาติของแรงงานเมียนม่าร์โดยในที่นี้ได้แก่พ่อหม่องและแม่ภาเท่านั้น แต่ทั้งนี้ย่อมเห็นได้ว่าเมื่อพ่อหม่องและแม่ภามีสิทธิในสัญชาติเมียนม่าร์แล้วนั้นการที่จะทำให้น้องดวงตาและน้องจุลจักรจึงไม่ใช่เรื่องที่ยาก เนื่องด้วยหลักการสืบสัญชาติจากการสืบสายเลือดนั่นเอง กล่าวคือเมื่อเห็นว่าพ่อหม่องและแม่ภาได้รับอนุญาติให้สามารถประกอบอาชีพแรงงานได้แล้วดังนั้นจึงย่อมมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามที่รัฐไทยได้กำหนดเอาไว้ในกรณีเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรกรณีแรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวหรือ ทร.13 โดยจะเห็นว่ารสิทธิอาศัยดังกล่าวสามารถส่งต่อให้แก่บุตรได้กล่าวคือน้องดวงตาและน้องจุลจุกรย่อมได้สิทธิอาศัยชั่วคราวเช่นกัน

สำหรับปัญหาเกิดขึ้นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนนั้นโดยหลักแล้วข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีในส่วนของสิทธิในการเดินทาง และสิทธิในการประกอบอาชีพ ในด้านของสิทธิในการเดินทางนั้น เห็นจากข้อเท็จจริงได้ว่าอาชีพแรงงานที่พ่อหม่องและแม่ภาได้ทำนั้นได้มีการรับรองจากประเทศเมียนม่าร์โดยการออกเพียงหนังสือเดินทางระหว่างประเทศเมียนม่าร์และประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเดินทางของทั้ง 2 นั้นเป็นไปในทางจำกัดซึ่งนับได้ว่าเป็นการขัดซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานในการเดินทางตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)[1]ในข้อ 12 กล่าวคือ1. บุคคลทุกคนที่อยู่ในดินแดนของรัฐใดโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้าย และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในดินแดนของรัฐนั้น ดังนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าเนื่องด้วยสิทธิในการเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนนั้นมีและจะต้องได้รับการคุ้มครอง จากที่กล่าวมานี้ก็มิใช่จะกล่าวว่าการจำกัดการเดินทางของแต่ละรัฐเพื่อป้องกันหรือคุมครองความเป็นเสถียรภาพภายในรัฐของตนนั้นจะเป็นสิ่งที่ผิดแต่จากกรณีที่เกิดขึ้นย่อมเห็นได้ว่าการเดินทางเพียงแค่ระหว่าง 2 ประเทศเท่านั้นมิใช่สิ่งที่ควรจะจำกัดไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ทั้งนี้จากข้อบัญญัติที่กล่าวมานั้นย่อมสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[2]ซึ่งเป็นฐานในการเกิดขึ้นซึ่งกติการะหว่างประเทศที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นด้วยในข้อ 13.กล่าวคือ ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทางและย้ายที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ และมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดๆรวมทั้งประเทศตนและกลับยังประเทศของตน โดยจากที่กล่าวมานี้มิได้หมายความเพียงแค่พ่อหม่องและแม่ภาเท่านั้น สิทธิในการเดินทางจะต้องครอบคลุมไปถึงทุกคนในครอบครัวหม่องภาด้วย มิใช่ว่าเป็นเรื่องของปัญหาในการออกหนังสือเดินทางหรือการร้องขอให้ทางประเทศเมียนม่าร์เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดแต่อย่างใด

ส่วนในปัญหาการประกอบอาชีพนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยให้การรับรองแก่คนต่างด้าวในการประกอบอาชีพตามที่พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งเมื่อพิจารณาเจตจำนงในการจำกัดการประกอบอาชีพเพื่อความมั่นคงของรัฐประกอบไปด้วยแล้วนั้นล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้นที่สามารถทำได้ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่จะเป็นไปในลักษณะการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพแต่ยังเป็นการสร้างสภาพเศรษฐกิจภายในรัฐให้เป็นไปในทางที่ไม่มีการพัฒนาอีกด้วย กล่าวคือคนต่างด้าวมิใช่เป็นบุคคลผู้ไม่มีศักยภาพเสมอไป คนต่างด้าวหลายคนมีศักยภาพในการทำงานสูงและมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศได้ เพราะรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้นั้นข้าพเจ้าเห็นว่าก็ต้องมีการจ่ายคืนแก่รัฐไทยไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อกลับมามองสถานการณ์ปัจจุบันในประเด็นปัญหาการริดรอนสิทธิมนุษยชนจะเห็นได้ว่าจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(ICCSCR)[3] ในข้อ 6 ข้อย่อยที่ 1 กล่าวคือ รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิในการทำซึ่งรวมทั้งสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี และจะดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องสิทธินี้ ประกอบกับฐานการรองรับในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อที่ 23 กล่าวคือบุคคลมีสิทธิที่จะทำงานและเลือกงานอย่างเสรี ได้รับการคุ้มครองจากการว่างงาน มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการกำหนดเปิดโอกาศในการทำงานให้แก่บุคคลทุกคนรวมไปถึงครอบครัวหม่องภา จึงชัดเจนว่าการทำงานของครอบครัวหม่องภานั้นสมควรที่จะไม่ถูกจำกัด แต่เนื่องด้วยเงื่อนไขกำหนดที่รัฐไทยได้จำกัดการทำงานของบุคคลต่างด้าวโดยเป็นการป้องกันรัฐไทยให้มีความสงบเรียบร้อยในสังคม หรือแม้แต่การจำกัดเป็นบางอาชีพด้วยเหตุผลที่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะรู้ได้อาทิเช่น อาชีพคนขับรถแท๊กซี่ หรืออาชีพช่างตัดผมเป็นต้น ทั้งนี้ก็มิใช่เรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวในการจำกัดการประกอบอาชีพดังกล่าวโดยข้าพเจ้าเห็นว่าด้วยเหตุผลด้านความสงบเรียบร้อยนับเป็นเหตุผลที่เหมาะสม แต่ถ้าในภาคปฏิบัตินั้นข้าพเจ้าเห็นว่าควรมีการจำกัดให้น้อยที่สุดอาทิเช่น อาชีพด้านการบริหารประเทศเป็นต้นเนื่องด้วยเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้สภาพสังคมนั้นเสียหายได้อย่างรวดเร็วอีกทั้งยังมีต้องอาศัยความไว้วางใจในงานที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ด้วย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการจำกัดสิทธิควรเป็นไปเพื่อยังคงรักษาเจตจำนงในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยต่อไป

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557


[1] “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” .[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มาhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf (7 พฤษภาคม 2557).

[2] คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights).” 2491.[ระบบออนไลน์].

แหล่งที่มาhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf (7 พฤษภาคม 2557).

[3]“กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” .[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มาhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/icescrt.pdf (7 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568041เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท