ยามา อุรเคนทรางกูร
นางสาว ยามา อุรเคนทรางกูร อุรเคนทรางกูร

HR-LLB-TU-2556-TPC-ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


                                                                  

                                                                      ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


              สิทธิในการมีสุขภาพดีนั้น เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ถ้ามนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีได้แล้ว เขาก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ปกติได้ แต่สิทธิในการมีสุขภาพดีนี้ กลับถูกละเมิดมากมาย โดยเฉพาะจากภาครัฐ ทำให้บุคคลหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการมีสุขภาพดีได้ในประเทศไทย

หากพิจารณาถึงคำว่าสิทธิในการมีสุขภาพดีนั้น พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

มาตรา 3 บัญญัติว่า "บริการสาธารณสุข หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ"

มาตรา 5 วรรค 1 บัญญัติว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้"

            ผู้ทรงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานหรือสิทธิในการมีสุขภาพดีตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ บัญญัติขึ้นเพื่อขยายความของสิทธิในสุขภาพอนามัยตามมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 เมื่อมาตรา 51 ต้องอาศัยการตีความโดยพิจารณา มาตรา 4 แห่ง รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" ประกอบ ทำให้ได้ความว่า ผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 51 ควรจะเป็น "มนุษย์ทุกคน" มากกว่า "ชนชาวไทย" ดังนั้น พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพฯ 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ จึงต้องตีความผู้ทรงสิทธิโดยพิจารณาจากมาตรา 4 แห่ง รัฐธรรมนูญประกอบด้วย ดังนั้นผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดีตามพระราชบัญญัตินี้จึงเป็น "มนุษย์ทุกคน" เช่นเดียวกัน

                                                

                                                      



              ตัวอย่างการละเมิดสิทธิในการมีสุขภาพดี กรณีของน้องผักกาด หรือเด็กหญิงผักกาด เกิดที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก สันนิษฐานว่าบุพการีเป็นคนเมียนมาร์ น้องพิการตั้งแต่กำเนิด คือเป็นโรคสมองบวมน้ำ อาการหนักมาก ไม่สามารถลุกไปไหนได้ เป็นคนไข้ติดเตียง คิดว่าน้องจะไม่สามารถมีชีวิตรอดเกิน1เดือน จึงไม่ได้มีการแจ้งเกิด แต่น้องสามารถมีชีวิตอยู่รอดมาได้ ปัจจุบัน น้องมีอายุราว8ปี

เนื่องจากน้องไม่ได้ถูกแจ้งเกิดแต่อย่างใด น้องจึงยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย น้องจึงเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมีปัญหาในเรื่องสถานะบุคคล ประเทศไทยก็มีกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติของคณะรัฐมนตรี แต่สำหรับกรณีของน้องผักกาดนั้น น้องก็มีปัญหาในเรื่องสถานะบุคคลเช่นเดียวกัน แต่น้องไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลได้ เนื่องจากมีปัญหาในการตีความคำว่าปัญหาสถานะบุคคลไม่ตรงกัน ทั้งๆที่น้องจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิในการมีสุขภาพดีที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับ แทนที่น้องจะได้รับการดูแลแบบคนพิการตามสิทธิคนพิการที่รัฐมีหน้าที่ดูแล ได้ใช้เครื่องมือฟื้นฟูร่างกายของน้อง แต่น้องกลับไม่ได้การช่วยเหลืออะไรจากรัฐเลย

แต่น้องผักกาดยังโชคดี ที่มีภาคประชาสังคมให้การสนับสนุน ซื้อหลักประกันสุขภาพตามมติของคณะรัฐมนตรี ให้น้องผักกาดได้รับการดูแลและเลี้ยงดูโดยโรงพยาบาลพบพระ จังหวัดตากต่อไป

หมายเลขบันทึก: 568036เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท