สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


หากกล่าวถึงคนต่างด้าวนั้น เมื่อกล่าวคร่าวๆย่อมถือว่าคนต่างด้าวนับเป็นบุคคลผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย ดังนั้นเมื่อมิได้มีสัญชาติไทยแล้วย่อมนำพามาซึ่งสิทธิหรือเสรีภาพที่มีความแตกต่างจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยอาทิเช่น กรณีสิทธิในการเดินทางซึ่งการจำกัดดังกล่าวแม้ว่าบุคคลบางคนนั้นจะออกมาเรียกร้องโดยการอ้างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยกล่าวว่าการเดินทางนั้นเป็นสิทธิที่ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองเพื่อให้เกิดความเสมอภาค แต่สำหรับข้าพเจ้านั้นคิดว่าการจำกัดสิทธิดังกล่าวของรัฐก็เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและความจำเป็นบางประการของรัฐ ดังนั้นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ควรตระหนักมาในประการแรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจำกัดสิทธิก็ต้องเป็นไปในกรอบที่ไม่ทำให้บุคคลดังกล่าวนั้นตกอยู่ในสถานะขาดไร้ซึ่งอิสรภาพไปเสียทีเดียว จากที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นสิ่งที่ต้องการจะกล่าวก็คือ การเป็นคนต่างด้าวนั้นแม้ว่า ณ ปัจจุบัน จะมีการโต้เถียงถึงการจำกัดสิทธิโดยการอ้างกรอบสาเหตุการจำกัดว่าเป็นไปเพื่อความสงบในประเทศ แต่หากมีการใช้เหตุดังกล่าวอย่างฟุ่มเฟือยประกอบกับความไม่รู้ถึงเหตุที่แท้จริงในการละเมิดก็ย่อมทำให้การละเมิดสิทธิและการลดทอนซึ่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลต่างด้าวนั้นไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขสักที

ทั้งนี้ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างประเด็นในเรื่องสิทธิในเสรีภาพหรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าสิทธิที่จะมีเสรีภาพของคนต่างด้าวของบุคคลหนึ่ง ซึ่งปัญหาของบุคคลที่จะยกตัวอย่างนี้นับเป็นปัญหาซึ่งสื่อมวลชนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นคือนายสาธิต เซกัล สำหรับประวัติโดยย่อของนายสาธิตนั้นกล่าวคือนายสาธิต เซกัล เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย โดย สาธิต เซกัลป์ เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดียจากรัฐปัญจาบ จบการศึกษาจากวิทยาลัย Hansraj มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทุกคนได้สัญชาติไทยทั้งหมด แต่ สาธิต เซกัล นั้น ยังคงถือสัญชาติอินเดียอยู่ ประเด็นปัญหาของนายสาธิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีคำสั่งเนรเทศ สาธิต เซกัล ประธานหอการค้าไทย-อินเดีย และประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลมออกจากประเทศไทยหลังจากที่ สาธิต เซกัล มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีปราศรัย เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคำสั่งของ ศรส. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ได้อ้างว่าเนื่องด้วยความเป็นบุคคลต่างด้าว กล่าวคือการที่นายสาธิตเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติอินเดีย[1] โดยการอ้าง มาตรา 5 พระราชบัญญัติการเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499[2]ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นภัยต่อสังคม หรือมีการก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ จึงมีการแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทยโดยด่วน

ทั้งนี้จำต้องพิจารณาว่าการขับไล่หรือการเนรเทศนายสาธิตนั้นจะเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ดังนี้จำต้องมีการพิจารณาเป็นอันดับแรกว่าการกระทำของนายสาธิตนั้นจะเป็นสาเหตุอันเกี่ยวพันกับข้อกำหนดเพื่อทำให้นายสาธิตนั้นถูกเนรเทศหรือไม่ กล่าวคือการขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการเนรเทศคนต่างด้าวในกรณีการกระทำที่เป็นภัยต่อสังคมหรือไม่ ทั้งนี้จากการพิจารณาเห็นได้ว่าการกระทำของนายสาธิตแม้ว่าจะนับเป็นบุคคลต่างด้าวก็ตาม แต่การปราศรัยดังกล่าวก็นับเป็นสิทธิของนายเซกัลที่สามารถจะกระทำได้ กล่าวคือเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั่นเอง โดยสามารถถึงสิทธิของนายสาธิตได้จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[3]ในข้อ 19 กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ประกอบกับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR [4]ในข้อ 19 ในข้อย่อยที่ 2 กล่าวคือ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก ทั้งนี้ ICCPR นั้นนับเป็นข้อบัญญัติที่เกิดขึ้นโดยมีการอ้างอิงมาจากปฏิญญาสากลประกอบกับการที่ไทยนั้นได้รับเอาข้อบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนั้นมาบังคับใช้โดยมิได้มีข้อสงวนจำกัดการใช้แต่อย่างใด ดังนั้นการบังคับใช้จึงสามารถใช้ข้อบัญญัติในฉบับใดก็ได้ จากที่มีการอ้างมาในข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า ข้อบัญญัติทั้ง 2 นั้นมีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนโดยมิได้มีการจำกัดหรือมีข้อยกเว้นเพื่อไม่ให้สิทธิแก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่าในกรณีของนายสาธิตนั้นเมื่อการปราศรัยเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นนับว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ว่าตนนั้นไม่มีความพอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นการกระทำที่สามารถกระทำได้ เพราะเมื่อเป็นบุคคลในรัฐและเพราะความต้องการของสาธิตที่เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะทำให้สังคมที่ตนอยู่นั้นดียิ่งขึ้น โดยข้าพเจ้ามองว่า การแสดงความคิดเห็นก็มีลักษณะใกล้เคียงกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอันเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับและไม่เห็นว่าจะเป็นการกระทำที่เป็นภัยหรือกระทบความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ดังนั้นด้วยการพิจารณาดังกล่าวข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การปราศรัยของนายสาธิตในเรื่องทางการเมืองในสังคมไทยแม้ว่าตนนั้นจะอยู่ในสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวก็ตาม ก็สามารถที่จะมีสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ และเมื่อเป็นกรณีที่ไม่นับเป็นการกระทบถึงความสงบเรียบร้อยในสังคม ดังนั้นจึงไม่เข้าตามข้อกำหนดในการเนรเทศ บุคคลต่างด้าวในมาตรา 5 ในพระราชบัญญัติการเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499 ทั้งนี้จึงสืบเนื่องให้ไม่มีเหตุประการใดในการที่จะเนรเทศนายสาธิต เซกัลแต่ประการใด

โดยข้อหักล้างเพื่อไม่ให้นายสาธิตนั้นถูกเนรเทศ นายสาธิตสามารถกล่าวอ้างข้อบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 13 กล่าวคือคนต่างด้าวผู้ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้โดยชอบด้วยกฎหมายจะถูกเนรเทศได้ก็โดยคำวินิจฉัยอันเป็นไปตามกฎหมายและย่อมมีสิทธิที่จะชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านคำสั่งเนรเทศ และมีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและมีสิทธิที่จะมีทนาย เว้นแต่ในกรณีมีเหตุผลจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติเป็นประการอื่น ดังนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อนายสาธิตนั้นใช้ข้อบัญญัติดังกล่าวประกอบกับเหตุผลในเรื่องของสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถกระทำได้ และย่อมไม่เป็นเหตุในการสร้างความไม่สงบในสังคม ดังนั้นเมื่อมีการแจกแจงในเรื่องดังกล่าวแล้วย่อมทำให้การกล่าวอ้าวสถานะคนต่างด้าวของนายสาธิตเพื่อให้มีการเนรเทศนั้นไม่สามารถกระทำให้สำเร็จผลขึ้นได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่มีการใช้เรื่องสถานะของบุคคลซึ่งในที่นี้คือคนต่างด้าวนั้นมากล่าวอ้างเพื่อจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลโดยการเอาอคติมาบดบังเพื่อสร้างเจตคติผิดๆในเรื่องคนต่างด้าวนับเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่นายสาธิตเท่านั้นที่ถูกยึดโยงปัญหาต่างๆกับการเป็นคนต่างด้าว ยังคงมีบุคคลอีกมากที่พบกับปัญหาดังกล่าวและไม่ได้รับการแก้ไขอาจเนื่องด้วยการที่มิใช่บุคคลสาธารณะเช่นเดียวกับประเด็นปัญหาที่ได้มีการพิจารณา ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าการสร้างทัศนคติที่ดีย่อมมีความสำคัญเพื่อให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวไม่ถูกกล่าวอ้างในทางที่ผิดๆอีกต่อไป

วันที่ 6 พฤษภาคม 2557


[1] " สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://hilight.kapook.com/view/97452. (6 พฤษภาคม 2557).

[2] พระราชบัญญัติการเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499” .[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มาhttp://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973744&Ntype=19 (6 พฤษภาคม 2557).

[3] คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights).” 2491.[ระบบออนไลน์].

แหล่งที่มาhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf (6 พฤษภาคม 2557).

[4] “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” .[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มาhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf (6 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568039เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท