ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

การประชาสัมพันธ์ทางการตลาด


การประชาสัมพันธ์ทางการตลาด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

การประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานธุรกิจมีความสำคัญมาก หน่วยงานธุรกิจบางแห่งให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์มากกว่าการโฆษณาด้วยซ้ำไป

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เริ่มทำงาน เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายขายของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส์ ประเทศไทย จำกัด ต่อมาได้ย้ายไปอยู่แผนกประชาสัมพันธ์ จนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยกกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ มีความสามารถโดดเด่น เป็นพนักงานจำนวนน้อยมากๆ ที่สามารถข้ามขั้น ข้ามตำแหน่ง ซึ่งบริษัทโตโยต้า(บริหารงานแบบญี่ปุ่น) มักให้ความสำคัญกับระบบเรียงลำดับความอาวุโส ถึงแม้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จะจบนิติศาสตร์บัณฑิต ก็ตาม ฉะนั้น หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องการเก่งทางด้านการตลาด เก่งทางด้านประชาสัมพันธ์ ท่านจะเรียนจบสาขาอะไรก็ได้ ท่านก็สามารถเป็นนักประชาสัมพันธ์ นักการตลาดที่เก่งได้ ขอเพียงแต่ท่าน ศึกษา เรียนรู้และหาประสบการณ์จากมัน ดังคำพูดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ได้กล่าวไว้ “ตอนอยู่การตลาด 10 ปี ผมอ่านหนังสือเยอะมาก แม้จะไม่ได้เรียนการตลาดแต่กลับกลายเป็นว่าผมรู้เรื่องการตลาดมาก กว่าปกติ ”

ด้วยเป็นนักประชาสัมพันธ์ นักการตลาด จึงทำให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ได้รับตำแหน่งต่างๆ เช่น ผอ.อสมท. , อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร , อดีตรองนายกรัฐมนตรี , อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม , อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ด้วยการเป็นนักประชาสัมพันธ์ เขาจึงใช้หลักการประชาสัมพันธ์ ในการช่วยปั้นดารา เช่น วิลลี่ แมคอินทอช , ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ,วรุฒ วรธรรม, จอห์นนี่ แอน โฟเน่ เป็นต้น จนเขาได้รับฉายา “ Image maker” สำหรับการทำการตลาดของบุคคลเขาให้แง่คิดดังนี้

"ในเมื่อผมขายรถยนต์ได้ตั้งเยอะแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะมาขายคน เพราะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ สบู่ ยาสีฟัน หรือคน ก็มีวิธีคิดของการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่แตกต่างกัน เป็นงานอดิเรกที่ทำเงินให้ผมมาก ดารารู้จักเกือบทุกคน ผมเคยนั่งดูโทรทัศน์ กดรีโมตไปดาราที่ผมปั้นขึ้นมา เล่นชนกันเกือบทุกช่อง"

ฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ จึงมีความสำคัญกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชน ไม่เว้นแม้กระทั่ง หน่วยงานรัฐบาล

ทำไมหน่วยงาน องค์กร รัฐบาลถึงต้องทำการประชาสัมพันธ์ คำตอบก็คือ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการหรือลูกค้า ได้ทราบถึงการให้บริการและงานที่ทำ

สำหรับผู้นำประเทศก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำการประชาสัมพันธ์เช่นกัน ดังคำพูดของ ประธานาธิบดี ทรูแมน(Harry S.Truman) ได้กล่าวไว้ว่า “ ท่านคงเคยได้ยินประชาชนพากันกล่าวขวัญถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นผู้ปกครองประเทศ แต่อำนาจของประธานาธิบดี ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะประธานาธิบดีก็ต้องฟังเสียงประชาชน และต้องรู้จักวิธีเข้ากับประชาชนให้ได้”

ประธานาธิบดี จอห์นสัน กล่าวว่า “กระผมทราบดีว่า ปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ก็คือ การติดต่อสื่อสาร ถ้าเราสามารถสื่อสารถึงประชาชนได้แล้ว ประชาชนก็จะเข้าใจดีถึงปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญร่วมกันอยู่”

เหตุผลที่นักการตลาดจำเป็นจะต้องใช้การประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วย มีเหตุผลดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาสูงขึ้นทุกขณะ ส่วนการประชาสัมพันธ์ใช้งบประมาณที่น้อยกว่า แต่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า

2.สื่อต่างๆ มีความทันสมัย และมีจำนวนมาก ทำให้สื่อหลักๆในอดีต เช่น ทีวี หนังสือพิมพ์ มีอานุภาพลดน้อยลง ส่วนสื่อสมัยใหม่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ บล็อก ยูทูบ ฯลฯ มีอานุภาพ มีพลังที่มากขึ้น

3.พฤติกรรม ทัศนคติ ของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทำประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นและทำได้รวดเร็วกว่า

ทั้งนี้ นักการตลาดจะต้องนำแผนการตลาดและแผนการประชาสัมพันธ์ให้มีความสอดคล้องและไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะสั้น แผนระยะกลางและแผนระยะยาว

สำหรับนักการตลาด ที่สามารถนำการประชาสัมพันธ์ไปใช้อย่างได้ผล มักมีคุณสมบัติดังนี้

1.มักจะเป็นนักคิดที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดนอกกรอบ คิดอะไรใหม่ๆ

2.เป็นผู้ที่ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ มีความรอบรู้

3.เป็นนักสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมของประเทศและสังคมโลก ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

4.เป็นนักวิเคราะห์และรับรู้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

5.เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส สะอาด เรียบร้อย สุภาพ อ่อนโยน

6.เป็นผู้ที่มีจริยธรรม คุณธรรม ซื่อสัตย์ อดทน

7.ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ เป็นผู้รักงานด้านการประชาสัมพันธ์และรักงานทางด้านการตลาด

หากว่าท่านมีคุณสมบัติข้างต้น กระผมเชื่อแน่ว่าท่านจะเป็นนักการตลาดที่สามารถนำเอาการประชาสัมพันธ์มาประยุกต์ใช้ได้อย่างดีเยี่ยม

หมายเลขบันทึก: 567507เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท