HR-LLB-TU-2556-TPC-การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ


การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ : การละเมิดสิทธิในชีวิตของชาวอุยกูร์และชาวโรฮิงญา




(ที่มารูปภาพ : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/55700000303...
http://news.mthai.com/wp-content/uploads/2013/11/0...
)



          สิทธิในชีวิตนับได้ว่าเป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดสิทธิหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ ถ้ามนุษย์คนใดไม่มีชีวิตแล้ว ความเป็นมนุษย์ของคนคนนั้นก็ได้หมดลงไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าเราไม่คุ้มครองสิทธิในชีวิตของมนุษย์แล้ว เราก็ไม่สามารถรักษาความเป็นมนุษย์ของเขาได้ ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงสิทธิในชีวิตในรูปแบบสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยขอยกตัวอย่างของกลุ่มบุคคลที่มีถูกละเมิดสิทธิในชีวิต คือ กลุ่มชาวอุยกูร์ และ กลุ่มชาวโรฮิงญา

          ชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองของมณฑลซินเจียง ประเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมที่มีลักษณะชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม เป็นพวกเติร์ก อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชาวฮั่นที่เป็นผู้ปกครองและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่ครอบครองดินแดนส่วนที่เหลือของจีน ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ในซินเจียงก็ยังรู้สึกว่าพวกเขามีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวเติร์กทางด้านตะวันตก หรือประเทศตุรกี มากกว่ารัฐบาลกลางที่ปักกิ่งทางด้านตะวันออก1

          จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสงขลานำชาวอุยกูร์ออกจากสวนยางพารา 200 คน ซึ่งเป็นเด็กถึง 110 คน สันนิษฐานว่าเข้าเมืองผิดกฎหมายจากการเดินทางเข้ามาทางเรือ ชาวอุยกูร์นี้ มาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หนีภัยจากทางการจีนเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สาม สาเหตุที่ต่างด้าวเหล่านี้ต้องลี้ภัย เนื่องจากชาวอุยกูร์ มีปัญหากับทางการจีนมาเป็นเวลานานโดยทางการจีนมองว่าชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมที่มีลักษณะชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม เป็นพวกเติร์ก อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชาวจีน จึงทำให้ทางการจีนมองว่าชาวอุยกูร์เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน จึงมีการส่งกำลังทหารเข้าไปกวาดล้างประหัดประหารกันมาตลอด ทำให้ชาวอุยกูร์บางส่วนพยายามลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม เพื่อหนีภัยสงคราม

          แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ หากทางการไทยส่งตัวกลับประเทศจีน เชื่อว่าจะต้องถูกทำร้ายทารุณอย่างแน่นอน เพราะว่าจากที่กล่าวมาในข้างต้น ในประเทศจีน ชาวอุยกูร์นี้ ถูกกล่าวหาว่ากลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีโทษประหารชีวิต ถ้าพิสูจน์ได้ว่า มีภัยดังกล่าวเกิดขึ้นจริง กลุ่มชาวอุยกูร์ที่หลบหนีมายังประเทศไทยนี้อาจเป็นผู้หนีภัยความตายได้

          ทั้งนี้ หากประเทศไทยตัดสินใจส่งกลับไป โดยไม่สนใจว่าเขาจะถูกทรมานหรือไม่ ถือได้ว่าประเทศไทย ได้ละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามม.322 บัญญัติว่า

          "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

          การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฏหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้"

          กล่าวคือ แม้ว่าสิทธิและเสรีภาพนี้จะถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น แต่สิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายเป็นสิทธิในชีวิต เป็นสิทธิมนุษยชน คือมนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิในชีวิตร่างกาย ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิในชีวิตร่างกายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ ดังนั้น แม้ว่าชาวอุยกูร์จะไม่ใช่ชาวไทย ก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยเช่นกัน

          นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่การละเมิดสิทธิ การส่งชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายในแง่การละเมิดการห้ามการทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม กล่าวคือ หากส่งชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน เขาอาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน จากการที่เขามีความผูกพันทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษากับชาวตุรกีมากกว่าชาวฮั่นทางจีนแผ่นดินใหญ่ เขาอาจถูกทรมานนานัปการ ไม่ว่าจากทางชาวบ้านหรือจากทางการของจีน หรือที่เลวร้ายที่สุดคือชาวอุยกูร์อาจเสียชีวิตจากการทำสงครามกวาดล้างผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก็เป็นได้ ดังนั้น การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศไปเผชิญปัญหาด้วยตนเองนั้น เกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายของชาวอุยกูร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ดังนั้นในเบื้องต้นทางองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ได้ประสานไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ เพื่อดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนเหล่านี้ว่าจะอยู่ในความคุ้มครองของสหประชาชาติหรือไม่ หากอยู่ในความคุ้มครองก็ไม่สามารถส่งกลุ่มต่างด้าวเหล่านี้กลับประเทศได้ เพราะถือเป็นการลี้ภัยสงคราม

          นอกจากเรื่องของชาวอุรกูรย์ที่หลบหนีเข้าเมืองแล้ว ชาวโรฮิงญาได้ประสบพบเจอกับความเลวร้ายที่ยิ่งไปกว่าชาวอุยกูร์ คือ ชาวโรฮิงญาที่กลายเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์

          ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มต้นจากการรับจ้างนำออกจากประเทศพม่าเข้ามายังฝั่งไทย คิดค่าหัวตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท แล้วแต่ข้อตกลง เมื่อส่งข้ามแดนประเทศไทยมาแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ แต่ปัจจุบันขบวนการรับจ้างนำชาวโรฮิงญา ไปยังประเทศที่ 3 มีความแยบยลมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้วิธีการ “เข้าฮอส” แบบกินสองต่อ คือการรับจ้างนำชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากประเทศพม่าแล้ว ยังทำการกักขังควบคุมตัวเอาไว้ในสถานที่ตามแนวชายแดน เพื่อขายชาวโรฮิงญาให้กับผู้ต้องการแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาหัวละ 30,000–50,000 บาท ซึ่งมีนายทุนทั้งภาคการเกษตรและการประมง ที่ต้องการแรงงานเหล่านี้ไว้ใช้งาน เพราะค่าแรงถูก นายทุนสามารถกดขี่ได้ตามชอบใจ ดังนั้นชาวโรฮิงญาเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพหนีเสือปะจระเข้ ถูกทารุณกรรมสารพัด3

          ถ้าทางการปล่อยให้ชาวโรฮิงญาถูกกดขี่ เป็นวัตถุในการค้ามนุษย์ต่อไป หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 บัญญัติว่า

          "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง"4

          เช่นเดียวกับชาวอุยกูร์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้เป็นสิทธิในชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน คือมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมีเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ใด ก็จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเสียทั้งสิ้น ดังนั้น แม้ว่าชาวอุยกูร์จะไม่ใช่ชาวไทย ก็ได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยเช่นกัน

          อีกทั้ง หากพิจารณาถึงขบวนการค้าชาวโรฮิงญา การค้ามนุษย์เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รูปแบบหนึ่ง คือ การค้าเป็นการกระทำกับสิ่งของ การค้ามนุษย์จึงเป็นการกระทำกับมนุษย์ดังเช่นว่าเขาเป็นสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป นอกจากการค้ามนุษย์แล้ว ในระหว่างการเดินทางยังมีการทารุณโหดร้าย นายจ้างกดขี่ตามใจชอบ ถูกใช้งานหนัก การกระทำเช่นนี้ก็เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน คือ เอาเขาลงเป็นทาส ทั้งๆที่มนุษย์ทุกคนมีชีวิตจิตใจ มีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันทุกคน ดังนั้น ขบวนการค้าชาวโรฮิงญานี้ เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตอย่างหนึ่ง คือการลดทอนศักดิ์ศรความเป็มนูษย์ทั้งในเรื่องการค้ามนุษย์และการเอาคนลงเป็นทาส

          จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ก็ยังมีคนหลายกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิในชีวิตนี้ เช่น ชาวอุยกูร์หรือชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ทางการไทยควรจะให้ความช่วยเหลือ ให้เขามีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการคุ้มครองสิทธิในชีวิต ให้เขาอยู่ได้โดยปกติสุข และถ้าสถานการณ์ในประเทศต้นทางของเขาสงบ เขาก็จะได้ถูกส่งกลับอย่างปลอดภัยในที่สุด



จิดาภา รัตนนาคินทร์

5 พฤษภาคม 2557



1สุนัย ผาสุข. เผยตม.จับชาว'อุยกูร์'จากจีนแผ่นดินใหญ่. 2557. แหล่งที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics...เผยตม.จับชาวอุยกูร์จากจีนแผ่นดินใหญ่.html. 5 พฤษภาคม 2557

2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. 2550. แหล่งที่มา : http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Consti... 5 พฤษภาคม 2557

3ไชยยงค์ มณีพิลึก. เจาะลึก"โรฮิงญา"เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ตายทั้งเป็น!!ถูกขูดรีด กักขัง กดขี่เยี่ยงทาส. 2556.http://www.dailynews.co.th/Content/regional/174579...เจาะลึก"โรฮิงญา"เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ตายทั้งเป็น!!ถูกขูดรีด-กักขัง-กดขี่เยี่ยงทาส. 5 พฤษภาคม 2557

4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. 2550. แหล่งที่มา : http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Consti... 5 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567442เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท