เจดีย์โพธินิมิต โรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม จ.นนทบุรี


บทความนี้เป็นข้อสันนิฐานของผู้เขียนเท่านั้น




ผมศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๙ สิ่งที่ได้จากการเรียนที่นี่มากมายกว่าวุฒิการศึกษาและเกินกว่าจะสาธยายได้หมด

โรงเรียนถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จากที่ดินของวัดโพธิ์ทองบน ประมาณ 30 ไร่ พระอธิการทองดี ฐานธมโม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์บ้านอ้อยเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน ซึ่งเป็นบริเวณของป่าช้า เมื่อทำการปรับผืนดินขุดเจอโครงกระดูกมากมาย เป็นที่มาของเรื่องราววิญาณ ความหลอนมีให้เล่าโดยอาจารย์หลาย ๆ ท่านไม่รู้จบ โรงเรียนนี้มีสิ่งศักดิ์มากมาย เช่นวิหารหลวงพ่อขาว ต้นโพธิ์ที่ได้กิ่งมาจากอินเดีย (ครั้งหนึ่งมีแนวคิดจากผู้บริหารให้โค่น แต่ก็เกิดอาเพศจนไม่มีใครกล้าโค่น แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว) เจดีย์ ๒ องค์ เป็นต้น วันนี้ผมจะพูดเรื่องเจดีย์ที่ทำการบูรณะและสร้างขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วถูกตั้งชื่อว่า “เจดีย์โพธินิมิต”

เมื่อเดินเข้าประตูโรงเรียน ซ้ายมือจะเป็นวิหารหลวงปูขาวที่ชาวบ้านแถวนั้นนิยมเข้ามากราบไหว้ ความศักดิ์ที่ลำลือกันคือ สมัยหนึ่งวิหารหลังนี้สร้างด้วยไม้และเกิดไฟไหม แต่จะด้วยปาฏิหาริย์หรืออะไรมิทราบได้ ไฟไหม้ตัววิหารเกือบหมด แต่เมื่อมาถึงหน้าพระประธานคือหลวงพ่อขาวไฟกลับไม่ไหม้ ต่อมาจึงสร้างใหม่เป็นวิหารทรงไทยสวยงาม หน้าวิหารจะมีมูลดินขนาดย่อมมีอิฐมอญให้เห็น แต่สมัยนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นอะไร ปัจจุบันได้สร้างศาลเล็กครอบไว้แล้ว

ทางขวาหรือฝั่งตรงกันข้ามกับวิหารจะเห็นมูลดินกองใหญ่มีซากอิฐเหมือนกัน สมัยนั้นนักเรียนก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร บางคนปีนป่ายวิ่งเล่นและกระโดดลงมาอย่างสนุกสนาน อาจารย์บางท่านว่ามูลดินนี้คืออะไรก็จะห้ามปราม ที่ไม่ทราบก็เตือนเพียงแค่ระวังอันตราย อาจารย์ที่เคารพรักยิ่งท่านหนึ่งของผมได้เล่าให้ฟังว่า มูลดินนี้คือเจดีย์องค์ใหญ่ที่พังทลายลง อายุร้อยกว่าปี ครั้งหนึ่งมีเด็กนักเรียนขึ้นปีนป่ายแล้วเกิดอาการชักเกรงราวถูกผีเข้า กว่าจะแก้ไขก็ใช้เวลานานพอสมควร สมัยผมเรียนราวปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นั้นมีการปรับภูมิทัศน์ให้กับมูลดินนี้ ทำเป็นผาน้ำตก สร้างความสะดวกให้กับเด็กนักเรียนในการปีนป่ายสนุกสนานยิ่งนัก

การบูรณะ

เมื่อผมจบการศึกษาแล้วได้แวะเวียนเยี่ยมเยียนอาจารย์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้เห็นการขุดค้นซากเจดีย์เพื่อทำการบูรณะพอดี ในการปรับพื้นที่บริเวณกองอิฐโบราณและฐานเจดีย์องค์เดิมเพื่อตอกเสาเข็ม ได้พบว่าใต้ฐานเจดีย์นั้น บรรจุพระธาตุ พระเก่า เช่น พระโคนสมอ พระยอดธง พระคงลำพูนและพระสัมฤทธิ์ทรงเครื่องอื่น ๆ และวัตถุโบราณมากมาย มีการนำมารียนไว้บนโต๊ะ ชาวบ้านพากันมามุงดู บางคนหมายจับจองเป็นเจ้าของ บางคนถามว่าจะเอาไปเก็ยไว้ที่ไหน แต่ อาจารย์ที่รักย่ิงอีกท่านหนึ่ง บอกกับผมว่า “เจอพระที่ไหนก็ให้ฝังคืนที่นั่น” ซึ่งก็จริงอย่างที่อาจารย์ว่า เพราะการฝังสิ่งของมีค่า พระพุทธรูปในเจดีย์หรือใต้เจดีย์ของคนโบราณนั้น เพราะชื่อกันว่าใช้เป็นพุทธบูชา หรืออุทิศเป็นกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หากจะนำมาเป็นสมบัตรส่วนตัว ก็ไม่ต่างอะไรกับการไปขโมยของของผู้อื่น

ภายหลังผมได้ค้นข้อมูลการบูรณะเพิ่มเติมกล่าวคือ คณะกรรมการ ๔ องค์กรหลักของโรงเรียนประกอบด้วยคณะกรรมการสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครองและครู ชมรมศิษย์เก่า และคณะกรรมการผู้ปกครองเครือข่าย มีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการบูรณะเสียใหม่ ซึ่งรูปแบบในการบูรณะเจดีย์ครั้งแรก ตั้งใจจะสร้างเจดีย์แบบมอญครอบฐานเจดีย์องค์เดิม ที่มีฐานกว้าง ๕ เมตรในวงเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท จึงมีการจัดงาน "บูรณะเจดีย์ ๒๕ ปี โพธินิมิต" เพื่อหารายได้ในการจัดการบูรณะองค์เจดีย์ หลังจากทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อบูรณะเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ได้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๖๕๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการได้อนุมัติให้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเจดีย์ครอบฐานเจดีย์องค์เดิมจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท การนี้ นายชลัง เปิดชั้น ผู้บริจาคเงินสูงสุด (จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท) ได้เสนอความคิด รูปแบบเจดีย์ที่จะสร้างใหม่ว่า ควรให้มีรูปทรงคล้ายคลึงกับเจดีย์องค์แรก

ระหว่างการกำหนดแบบเจดีย์ใหม่อยู่นั้น นายสุรัฐชัย หอมหวาน และคณะ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ มอบให้โรงเรียนเพื่อนำไปบรรจุในเจดีย์ที่สร้างใหม่ เพื่อให้เป็นที่สักการะของครู นักเรียน ผู้ปกครองและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทำให้แนวคิดรูปแบบของการสร้างเจดีย์ใหม่ปรับเปลี่ยนจากแบบเจดีย์มอญเดิมเป็นเจดีย์รูปแบบที่จะเหมาะสำหรับการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ คณะกรรมการสถานศึกษาจึงพิจารณาอนุมัติให้สร้างเจดีย์องค์ใหม่โดยใช้ต้นแบบคือ “พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช” แล้วตั่งชื่อใหม่ว่า “เจดีย์โพธินิมิต”

จากต้นแบบนี้เองทำให้ผู้ออกแบบได้ใส่ส่วนประดับที่เป็นที่นิยมในสมัยการปฏิสังขรณ์นั้นและเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเค้าความเชื่อมาจากวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชไว้กับองค์เจดีย์ด้วยคือ “จุคามรามเทพ”




รูปแบบของเจดีย์โพธินิมิตนั้น สูงเด่นเป็นสง่าหน้าโรงเรียน เป็นที่น่ากราบไหว้ยิ่งนัก เพราะเป็นเจดีย์องค์ทองเหลืองอร่ามตัดกับสีขาวของส่วนฐานและลานประทักษิณ ที่แต่ละมุมมีเจดีย์สีทองขนาดเล็กอยู่ที่มุม อีกทั้งยังประกอบไปด้วยความมงคลต่าง ๆ เช่น จตุคามรามเทพ องค์ราหู พระพุทธรูปบริเวณก้านฉัตร และความมงคลต่าง ๆ ที่อยู่ในองค์เจดีย์

แต่ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ศิลปะและการรักษาความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นนับว่าเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง เพราะลักษณะเจดีย์เดิมนั้นสัณนิฐานว่าเป็นแบบมอญ (อาจจะเหมือนเจดีย์มอญที่วัดปรมัยยิกาวาสที่รับรูปแบบมาเจดีย์ชเวมอดอร์หรือพระธาตุมุเตาเมืองหงสาวดีประเทศพม่าอีกต่อหนึ่ง) แต่กลับสร้างเจดีย์ในรูปแบบที่ไม่ค่อยจะสอดคล้องตามภูมิวัฒนธรรม

ถึงอย่างไร งานสถาปัตยกรรมในแต่ละท้องถิ่นนั้นเป็นภาพสะท้อนถึงวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต แนวคิดของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ในสมัยนั้น ๆ ได้อย่างดี ถึงจะมีการรับแนวคิด รูปแบบทางศิลปกรรมจากถิ่นอื่น ท้องถิ่นนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นแนวทางของตนเองได้ เหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วกับงานสถาปัตยกรรมในทุกมุมของโลก เจดีย์โพธินิมิตวิทยาคมได้ทำหน้าที่สะท้อนความคิดของผู้คนในท้องถิ่นของโรงเรียนอย่างสมบูรณ์ รูปแบบใหม่ ๆ ของเจดีย์เจดีย์โพธินิมิตเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับผู้คนในอนาคตทราบว่า คนในสมัยที่สร้างเจดีย์นี้มีความเชื่อ ความนิยมอะไรบ้าง และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป หากเจดีย์องค์นี้พังทลายลงมาไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง คนในยุคสมัยนั้น ๆ ก็จะทำการบูรณะปรับปรุง ปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์เจดีย์ให้สอดคล้องกับคติ ความเชื่อ ความนิยม และวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

เพราะงานสถาปัตยกรรมมีหน้าที่รับใช้ชุมชนอย่างแท้จริง

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒๓ มกราคม ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 567441เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2016 01:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายจิรวัฒน์ ครองยุติ

ครูโรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท