พระหริหระ : การรวมสองมหาเทพไว้ในองค์เดียว


พระหริหระ : การรวมสองมหาเทพไว้ในองค์เดียว


ซ้าย พระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก ราวพุทธศตวรรษที่ 10

ขวาเศียรพระหริหระ ราวพุทธศตวรรษที่ 12


ร่องรอยการนับถืิอศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมานานนับพันปี หลักฐานที่เก่าที่สุดพบในประเทศไทยคือ เทวรูปพระวิษณุ (นารายณ์) สวมหมวกทรงกระบอก (รูปซ้ายมือ) แกะสลักด้วยศิลาแบบลอยองค์ ประทับยืนบนฐานแท่นศิลา ศิลปกรรมก่อนสมัยศรีวิชัย ขนาดความสูง 170 เซนติเมตร พบที่เขาวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดอายุราวก่อน พ.ศ. 1000 เทวรูปดังกล่าวอาจเป็นการนำเข้ามาหรืออาจแกะในประเทศก็ได้ ทำให้ทราบว่าในประเทศไทยมีการนับถือไวษณพนิกายมานานแล้

ในยุคใกล้เคียงกัน บริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศกัมพูชา ปรากาฎร่องรอยการนับถือศาสนาพราหมณ์เช่นกัน และมีการนับถือทั้งสองนิกาย ไศวนิกาย และไวษณพนิกาย หลักฐานที่สำคัญคือ การพบเศียรเทวรูปหริหระ (รูปขวามือ) อายุราว พ.ศ. 1100 กำหนดอยู่ในศิลปะแรกเริ่มของกัมพูชาคือ ศิลปะแบบพนมดา

พระหริหระคือการรวมกันของสองเทพในคติตรีมูรติ คือ พระนารายณ์อันเป็นพระผู้รักษา และ พระศิวะอันเป็นผู้ทำลายเพื่อสร้างใหม่ (การรวมกันของเทพทั้งสามองค์ พรหม ศิวะ นารายณ์ เป็นองค์เดียวจะเรียกตรีมูรติ)

เข้าใจว่าการสร้างเทวรูปแบบแยกนิกายใครนิกายมันนั้นคงไม่สะดวกต่อการเดินทางไปสักการะบูชาของประชาชนคนทั่วไป เพราะต้องแยกสถานเทวลัย คนยุคก่อนจึงนำมหาเทพทั้งสององค์มารวมกันในรูปเคารพเดียว ประดิษฐานในเทวาลัยเดียว ไหว้ครั้งเดียวก็เหมือนกับไหว้เทพสองอค์พร้อมกัน ขอพระทั้งสององค์พร้อมกัน เข้าข่าย "กระสุนนัดเดียวยิงนกได้สองตัว"

รูปแบบของพระหริหระที่พบคือ การแบ่งซีกซ้ายและขวาอย่างชัดเจนคือ ซีกซ้ายมือของภาพ (หรือซีกขาวมือของเทวรูป) จะเป็นพระศิวะดูจากการไว้ผมทรงรวบยกขึ้นสูงแบบนักบวช เรียกว่าชฎามงกุฏ อันแสดงปฏิมานาิทยาของพระศิวะที่เป็นนักบวช ส่วนอีกด้านจะเป็นพระนารายณ์ คือการสวมหมวกทรงกระบอก หมวกที่เป็นสัญลักษณ์ของวรรณะกษัตริย์ ส่วนใบหน้าจะเป็นหน้าเดียว

เอเชียตะวันอกเฉียงใต้มีการนับถือศาสนาพราหมณ์มานานปรากฏหลักฐานทั้งจารึกบูชาเทพเจ้า เทวรูปศาสนาพราหมณ์ บางสมัยกษัตริย์นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ก็อ่อนแรงลง และสลับกันไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ศาสนาใดจะสูญสิ้นไป โดยสรุป คนในภูมิภาคนี้มีการนับถือทั้สองศาสนาควบคู่ไป เพราะความเชื่อในศาสนาของทั้งสองที่จะประทานผลดีให้กับคนที่เคารพนับถือนั่นเอง

วาทิน ศานติ์ สันติ
11 ธันวาคม 2555

คำสำคัญ (Tags): #พระหริหระ
หมายเลขบันทึก: 567439เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ พอดีนกเรียนโยคะ มีบรรพหนึ่งที่เรียกว่า หริหระ

พออ่านบทความนี้จึงเข้าใจที่ท่านอาจารย์สอนไว้ว่าเป็นท่ารวมของการสักการะ 2 เทพค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท