โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม


โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557

ลักษณีย์ บุญขาวจิราภรณ์ หลาบคำ นิตยา จิตบรรเทิง และสมเจตน์ ทองดำ

วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

E-mail: [email protected]

บทคัดย่อ

โครงการบริการวิชาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางในการยกระดับความสามารถในการจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จนเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะรับผิดชอบดำเนินกิจกรรมต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้านต่างกัน ประกอบด้วย ด้านสนามเด็กเล่นปลอดภัย ด้านการจัดการขยะ ด้านห้องเรียนปลอดภัย ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านการสุขาภิบาลอาหารโดยการกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการดำเนินโครงการประกอบด้วยกิจกรรมอบรมให้ความรู้กิจกรรมการจัดการความรู้ (Knowledge Management:KM)การมอบหมายคณะทำงานที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นที่ปรึกษาและ กิจกรรมตรวจเยี่ยมขณะดำเนินโครงการ จากการเข้าตรวจประเมินผลการดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ของโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีคณะกรรมการตรวจประเมิน ประกอบด้วย คณะทำงานจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 4 คน และผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้แทนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนละ 1 คน รวมผู้ประเมินทั้งสิ้น 9 คน โดยแบบประเมินโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้านนั้น คณะทำงานได้ร่วมกันจัดทำ และรวมทั้งดัดแปลงจากเกณฑ์การประเมินจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการดำเนินโครงการ พบว่าทุกโรงเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ในด้านที่โรงเรียนรับผิดชอบ คิดเป็นร้อยละ 100.0โดยกระบวนการที่ทุกโรงเรียนทำจนประสบความสำเร็จในการดำเนินงานประกอบด้วยการกำหนดคณะทำงานผู้รับผิดชอบที่มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งนักเรียนและครูในโรงเรียน มีแผนการดำเนินงาน และมีการติดตามดูแล การนิเทศการทำงานโดยผู้บริหารโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และรวมถึงมีการประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ </p><ul> <p>การดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ช่วยให้ได้แนวทางในการดำเนินโครงการต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้านของโรงเรียนซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนอื่นๆสามารถนำตัวอย่างหรือรูปแบบที่เป็นต้นแบบนี้ไปปรับใช้ในโรงเรียนให้เกิดความปลอดภัย อนามัยสิ่งแวดล้อมดี เพื่อความสุขทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียนและศักยภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและโรงเรียนอื่นๆต่อไป

คำสำคัญ: โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Safety and Environmental Role Model in the Primary School Network of UbonRatchathani University UbonRatchathani University Academic Project 2014

LaksaneeBoonkhao, ChirapornLapcham, NittayaJitbantoeng, and SomjateThaongdam

College of Medicine and Public Health, UbonRatchathani University

E-mail: [email protected]

Abstract

The objective of this project was to develop guidelines for a safety and environmental role model in five primary schools in the network of UbonRatchathani University. The schools wished to become role models of good practice by the establishment of activities in safety management in the playground, waste management, safety management in the classroom, environmental management, and food sanitation management. The activities included training, knowledge management, consultation with professional, and auditing. The auditing team consisted of four persons from the College of Medicine and Public Health,UbonRatchathani University and one representative from each of the five participating schools. The audit checklist was adapted from audit forms of relevant government departments. The results showed that all the schools achieved their goals by the processes of establishing committees responsible for the project, planning, and frequent auditing by management, and all passed the audit with marks of 100%. It is anticipated that other schools may adopt some of the lessons learned from the project to improve the safety and environment of their schools and the mental and physical health of their students

Keywords: Safety and environmentalrole model: Primary school network of UbonRatchathani University

บทนำ

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในท้องถิ่น การให้บริการวิชาการแก่สังคมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการต่างๆของชุมชนซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนกลยุทธ์การบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในเขตอีสานใต้และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาขั้นพื้นฐานส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและบริการสุขภาพและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนทุกภาคส่วน ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีโรงเรียนในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 24 โรงเรียน[1]การพัฒนาการเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษาให้เกิดความมั่นคงในโรงเรียนเครือข่าย เป็นอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะการบริหารจัดการพื้นฐานในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน</p><p>จากการทำโครงการบริการวิชาการ “โครงการโรงเรียนปลอดภัยอนามัยสิ่งแวดล้อมดี” ของคณะทำงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 โดยรูปแบบของโครงการบริการวิชาการดังกล่าวคณะทำงานได้จัดอบรมการประเมินความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้กับครูอนามัยโรงเรียนตรวจประเมินความเข้มของแสงสว่าง เสียง และฝุ่นตรวจประเมินโรงอาหาร ผู้สัมผัสอาหาร ตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหาร มือผู้สัมผัสอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ตรวจประเมินคุณภาพน้ำอุปโภค บริโภค และตรวจประเมินการจัดการขยะภายในโรงเรียน ควบคู่กับการศึกษาวิจัยเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งพบว่าโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 11 โรงเรียน มีความเสี่ยงภายในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณห้องเรียน อาคารเรียนเก่า ชำรุด ระบบไฟฟ้าและการเดินสายไฟที่เก่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้และบริเวณสนามเด็กเล่น เครื่องเล่น ที่ชำรุด เป็นสนิม มีการติดตั้งที่ไม่มั่นคง พื้นที่ของสนามเด็กเล่นในบางโรงเรียนมีวัชพืชขึ้นหรือบางครั้งไม่สามารถเข้าไปใช้สนามเด็กเล่นได้เนื่องจากช่วงฤดูฝน พื้นจะเฉอะแฉะและดินไม่คงตัว เป็นต้น การจัดการขยะพบว่า ถังขยะมีสภาพชำรุด ไม่มีฝาปิด ไม่แยกถังขยะตามประเภทของขยะและไม่มีป้ายระบุบอกประเภทที่ชัดเจน ไม่มีถังขยะสำหรับแยกขยะรีไซเคิล ขยะอันตรายและไม่มีที่เก็บอย่างเป็นสัดส่วน ไม่มีการจัดตั้งและดำเนินโครงการธนาคารขยะในโรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 90.0 และไม่มีการลดใช้วัสดุย่อยสลายยากเช่นพลาสติกและโฟมและไม่มีถังขยะสำหรับใส่ขยะย่อยสลายได้เช่นพวกเศษอาหาร ร้อยละ 72.7 สำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโรงอาหารโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 11 โรงเรียน ตามแบบสำรวจโรงอาหาร ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข[2] จำนวน 30 ข้อ พบว่า ข้อที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด คือเขียงต้องมีสภาพดีไม่แตกร้าวหรือเป็นช่องมีเขียงใช้เฉพาะอาหารสุกและอาหารดิบแยกจากกันมีฝาชีครอบ (ยกเว้นครัวที่มีการป้องกันแมลงวันแล้ว) รองลงมาคือถังขยะที่ไม่รั่วซึมและมีฝาปิด,ช้อน ส้อม ตะเกียบ วางตั้งเอาด้ามขึ้นในภาชนะโปร่งสะอาดหรือวางเป็นระเบียบในภาชนะที่สะอาดและมีการปกปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร และผู้สัมผัสอาหารจะต้องสวมผ้ากันเปื้อนสีขาวหรือมีเครื่องแบบผู้ปรุงจะต้องสวมหมวกหรือตาข่ายคลุมผมด้วยคิดเป็นร้อยละ 100.0, 90.9, 81.8 และ 72.7 ตามลำดับ สำหรับการประเมินด้านชีวภาพโดยตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จำนวน 84 ตัวอย่าง จำแนกประเภทตัวอย่างที่ตรวจออกเป็น 3 ชนิด คือ อาหาร ภาชนะสัมผัสอาหาร และมือผู้สัมผัสอาหาร ตรวจประเมินโดยใช้ชุดทดสอบ SI-2 พบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียใน ภาชนะสัมผัสอาหาร อาหาร และมือผู้สัมผัสอาหารคิดเป็นร้อยละ 38.1, 35.7 และ31.2 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์หาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำดื่มในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 11 โรงเรียน ด้วยวิธีมาตรฐาน MPN Technique พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจำนวน 6 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 54.5 ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการป้องกันด้านสาธารณสุขและการป้องกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2551ซึ่งกำหนดให้พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียน้อยกว่า 2.20 MPN /100 มล.[3] และจากผลการตรวจประเมินฝุ่นละออง ความดังเสียง และความเข้มแสงสว่าง พบว่าปริมาณฝุ่นละอองและระดับความดังเสียงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 8 ชั่วโมงทำงาน ในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีค่าระดับความดังเสียงเฉลี่ย 8 ชั่วโมง (Leq 8 ชั่วโมง) และระดับความดังเสียงสูงสุด (Lmax) ในโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด[4] ในขณะที่ความเข้มแสงสว่างในโรงเรียนเครือข่ายส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยในจุดตรวจลักษณะงานอ่านและเขียนมีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 41.3 ของจุดตรวจทั้งหมด ส่วนงานหน้าคอมพิวเตอร์มีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 24.6 ของจุดตรวจทั้งหมด และงานในพื้นที่ทั่วไปมีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 30.0 ของจุดตรวจทั้งหมด ในขณะที่งานในจุดพักผ่อนห้องพยาบาลมีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100.0 ของจุดตรวจทั้งหมด[5]

จากข้อมูลการทำโครงการบริการวิชาการดังกล่าวจะพบว่า ปัญหาในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมยังเป็นปัญหาที่กระทบต่อนักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอย่างมากการดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางในการยกระดับความสามารถในการจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจนเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์ของการทำโครงการ

เพื่อยกระดับความสามารถในการจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจนเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วิธีดำเนินการ

 รูปแบบการดำเนินโครงการเป็นลักษณะการดำเนินโครงการเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action)

กลุ่มเป้าหมาย

โรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนปลอดภัย อนามัยสิ่งแวดล้อมดี ตามโครงการบริการวิชาการ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “โครงการโรงเรียนปลอดภัย อนามัยสิ่งแวดล้อมดี”ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ทั้งหมด 5 โรงเรียน คือ 

1.โรงเรียนบ้านกุดระงุม ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านสนามเด็กเล่นปลอดภัย

2.โรงเรียนบ้านค้อหวาง ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการขยะ

3.โรงเรียนบ้านธาตุ ดำเนินโครงการ โรงเรียนต้นแบบด้านห้องเรียนปลอดภัย

4.โรงเรียนบ้านหนองสองห้อง ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

5.โรงเรียนบ้านแฮหนามแท่ง ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านการสุขาภิบาลอาหาร

ขั้นตอนการดำเนินโครงการดังแสดงในตาราง

ตารางที่ 1 แสดงขั้นตอนการดำเนินโครงการ

กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการดำเนินโครงการประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้

กิจกรรมอบรมให้ความรู้ กิจกรรมการจัดการความรู้ (KM) การดำเนินโครงการ การมอบหมาย คณะทำงานที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นที่ปรึกษา กิจกรรมตรวจเยี่ยมขณะดำเนินโครงการ 

ผลการดำเนินโครงการ/สิ่งที่ตามมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว

จากการเข้าตรวจประเมินผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการตรวจประเมิน ประกอบด้วย คณะทำงานจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 4 คน และผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้แทนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนละ 1 คน รวมผู้ประเมินทั้งสิ้น 9 คน โดยแบบประเมินโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้านนั้น คณะทำงานได้ร่วมกันจัดทำ และรวมทั้งดัดแปลงจากเกณฑ์การประเมินจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินโครงการ พบว่าทุกโรงเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ในด้านที่โรงเรียนรับผิดชอบ คิดเป็นร้อยละ 100.0โดยกระบวนการที่ทุกโรงเรียนทำจนประสบความสำเร็จในการดำเนินงานประกอบด้วยการกำหนดคณะทำงานผู้รับผิดชอบที่มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งนักเรียนและครูในโรงเรียน มีแผนการดำเนินงาน และมีการติดตามดูแล การนิเทศการทำงานโดยผู้บริหารโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และรวมถึงมีการประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ โดยการเข้าตรวจประเมินการดำเนินโครงการโดยคณะทำงาน และคณะผู้บริหารโรงเรียนในครั้งนี้ ทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเกิดการเตรียมการ และเตรียมความพร้อมของโรงเรียนอย่างดี และสิ่งที่ได้จากการตรวจประเมินในครั้งนี้นอกจากจะได้ผลการดำเนินโครงการของแต่ละโรงเรียนแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนที่เข้าร่วมตรวจประเมินโรงเรียน ยังได้เห็นภาพการพัฒนาโรงเรียน ในด้านต่างๆที่เข้าไปตรวจประเมิน ซึ่งผู้บริหารแต่ละโรงเรียนสามารถนำไปพัฒนาโรงเรียนของตนได้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณค่ายิ่ง หลังจากตรวจประเมินคณะทำงานได้จัดกิจกรรมประชุมสรุปโครงการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการ โดยตัวแทนแต่ละโรงเรียนเป็นผู้รายงานผลการดำเนินโครงการ และมีคณะครู และนักเรียนของแต่ละโรงเรียนเข้ามาเรียนรู้การดำเนินโครงการ และจัดนิทรรศการการดำเนินโครงการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการให้กับโรงเรียนที่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ ซึ่งโรงเรียนอื่นๆสามารถศึกษา เรียนรู้ ซักถามแล้วนำรูปแบบกิจกรรมการดำเนินโครงการไปปรับใช้ในโรงเรียนต่อไป 

สรุปและอภิปรายผล

โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถดำเนินกิจกรรมโครงการจนผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทุกโรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 100.0 โดยกระบวนการที่ทุกโรงเรียนทำจนประสบความสำเร็จในการดำเนินงานประกอบด้วยการกำหนดคณะทำงานผู้รับผิดชอบที่มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งนักเรียนและครูในโรงเรียน มีแผนการดำเนินงาน และมีการติดตามดูแล การนิเทศการทำงานโดยผู้บริหารโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และรวมถึงมีการประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับการศึกษาของ พัลลภา จันทร์กอง(2553) ศึกษาแนวทางบริหารโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงราย พบว่า โรงเรียนที่ได้รับการรับรองจากสำนักเขตพื้นที่การศึกษาเชียงรายทั้ง 4 เขต ว่าเป็นโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง โดยโรงเรียนมีแนวทางการพัฒนาการบริหารโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การมีเป้าหมายที่เน้นคุณภาพของผู้เรียน การมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากทุกฝ่าย มีแผนการดำเนินงาน มีคณะกรรมการดำเนินงาน มีการวิเคราะห์จุดเด่น-จุดด้อย มีการทำงานเป็นทีม กำกับนิเทศติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ[6] การดำเนินงานของโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การพัฒนาจนเป็นต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนได้ โดยการดำเนินโครงการแบบมีส่วนร่วม กำหนดให้มีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อคอยให้คำแนะนำการดำเนินโครงการ ประกอบกับการให้ความรู้ในส่วนที่โรงเรียนยังขาดและการเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้แสดงศักยภาพในการออกแบบรูปแบบกิจกรรมเองออกมาในรูปแบบการเขียนโครงการ ทำให้โรงเรียนได้คิดและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานเบื้องต้นตามบริบทที่เหมาะสมกับโรงเรียน ซึ่งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังจากเขียนโครงการ เป็นส่วนช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนโอกาส ประสบการณ์ที่ ผู้บริหารโรงเรียนครู นักเรียน ที่มีประสบการณ์ต่างกัน เช่น จากการศึกษาดูงาน การอบรม หรือการพบเจอข้อมูลในแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรับปรุงโครงการให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะทำโครงการให้ประสบความสำเร็จ และสำคัญที่สุดคือการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยให้ผู้บริหารโรงเรียนได้มีส่วนในการเข้าร่วมตรวจประเมินโรงเรียน ทำให้ ผู้บริหารโรงเรียนได้เห็นภาพการพัฒนาโรงเรียน ในด้านต่างๆที่เข้าไปตรวจประเมิน ซึ่งผู้บริหารแต่ละโรงเรียนสามารถนำไปพัฒนาโรงเรียนของตนได้เป็นอย่างดีซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมตามคำกล่าวของ โยธิน แสวงดี (ม.ป.ป.) ที่กล่าวว่า การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม คือ ทุกคนในชุมชน มาร่วมคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันทำ ร่วมกันดำเนินงาน โดยวิธีที่ดีที่สุด คือวิธีที่ทุกคนพอใจ โดยมีนักวิชาการเป็นผู้สนับสนุน(บ้าง) ทางวิชาการ อุปกรณ์ การเงิน หรือเทคนิควิธี ฯลฯซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของ หวงแหน ภูมิใจ ดีใจที่ได้ทำจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจกรรมที่เป็นกระบวนการการพัฒนานั้นๆ[7]

ข้อเสนอแนะ 

การดำเนินโครงการที่ให้โรงเรียนเครือข่ายได้มีส่วนร่วมทุกกระบวนการไม่ว่าจะเป็นการเขียนโครงการ การดำเนินโครงการ ตลอดจนการประเมินโครงการทำให้โรงเรียนเครือข่ายมีความสนใจ และกระตือรือร้นในการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

กิตติกรรมประกาศ

 โครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โครงการบริการวิชาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คณะทำงานใคร่ขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ให้ทุนในการจัดทำโครงการ ขอขอบคุณ คณะผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการในทุกกระบวนการการทำงานจนสำเร็จ และให้การต้อนรับคณะทำงานด้วยความอบอุ่นทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง

[1]สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม. กลยุทธ์การบริการวิชาการ.อุบลราชธานี:มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,2557

[2]กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับ ร้านอาหาร.[สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2556]URL; http://foodsan.anamai.moph.go.th/main.php?filename…

[3]ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการป้องกันด้านสาธารณสุขและการป้องกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2551

[4]กระทรวงแรงงาน. แนวปฏิบัติตามกฎกระทรวง การกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง...2549.

[5]ลักษณีย์ บุญขาวและคณะ.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2556.

[6]พัลลภา จันทร์กอง.แนวทางบริหารโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จังหวัดชียงราย.วิทยานิพนธ์ คุรุศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย,2553

[7]โยธิน แสวงดี.การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล,ม.ป.ป.

ตัวอย่างรูปกิจกรรมประชุมชี้แจงโครงการ พร้อมทำ Focus group การดำเนินโครงการ

ตัวอย่างรูป กิจกรรมการนำเสนอโครงการ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการ โดยโรงเรียนที่รับผิดชอบดำเนินโครงการต้นแบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้าน

ตัวอย่างรูปกิจกรรม การอบรมให้ความรู้แก่โรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ

การอบรมการจัดการขยะ

การอบรมการสุขาภิบาลอาหารและการเลี่ยงไก่พันธุ์ไข่

ตัวอย่างรูปกิจกรรมการเข้าตรวจประเมินโครงการ

โรงเรียนบ้านกุดระงุม (ดำเนินโครงการสนามเด็กเล่นปลอดภัย)

โรงเรียนบ้านค้อหวาง (ดำเนินโครงการการจัดการขยะ)

โรงเรียนบ้านธาตุ (ดำเนินโครงการห้องเรียนปลอดภัย)

โรงเรียนบ้านหนองสองห้อง (ดำเนินโครงการการจัดการสิ่งแวดล้อม)

โรงเรียนบ้านแฮหนามแท่ง (ดำเนินโครงการสุขาภิบาลอาหาร)

ตัวอย่างรูปกิจกรรมการประชุมสรุปโครงการ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ

หมายเลขบันทึก: 567440เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยินดีกับโครงการที่ดีแบบนี้ด้วยนะค่ะ ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท