มนุษย์ที่ข้ามชาติ


เมื่อ 7 ปีที่แล้ว(พ.ศ. 2550) มึดาบอกว่า เธอเป็นเด็กชนเผ่ากระเหรี่ยง พ่อแม่ของเธอหนีสงครามแล้วอพยพมาจากรัฐกระเหรี่ยงในประเทศพม่า มาตั้งรกรากอยู่ที่ บ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเธอได้เกิดและเติบโตที่ประเทศไทยเช่นเดียวกับเด็กไทยคนอื่นๆ แต่หมู่บ้านที่เธออยู่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แม้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับสถานะบุคคลต่างๆ โดยให้ไปแจ้งที่อำเภออยู่หลายครั้ง แต่ตัวเธอก็ไม่เคยได้รับการแจ้งสถานะเกิดแต่อย่างใด เพราะสมัยนั้นการแจ้งเกิดทำได้ยาก บ้านอยู่ไกลจากตัวอำเภอ ซึ่งกว่าจะมาอำเภอได้ต้องนั่งเรือข้ามฝั่ง จากนั้นถึงจะนั่งรถอีกทีเพื่อมาถึงตัวอำเภอ

อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนเห็นว่าการมีบัตรประชาชนไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ไม่ได้เป็นคนไทยดั้งเดิม แต่อพยพมาจากรัฐกระเหรี่ยง เลยทำให้ชื่อของเธอตกหล่นมาเรื่อยๆ ทำให้เธอกลายเป็นคนไร้สัญชาติตั้งแต่ตอนนั้นมาโดยเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงคือการที่พ่อแม่ของมึดานั้นมิใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยประกอบกับในเวลาดังกล่าวยังมีการใช้บังคับพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับเดิมอยู่กล่าวคือเป็นฉบับในปี พ.ศ. 2535[1] ซึ่งในมาตรา 7 ทวิ วรรค 1 อนุ 3 กล่าวคือ มาตรา7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็น คนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือ บิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

และเมื่อมีการนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522[2] มาตรา 11 และมาตรา 12 กล่าวคือ มาตรา11บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา12ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

(1)ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศหรือจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ย่อมเห็นได้ว่าในเวลาที่พ่อและแม่ของมึดานั้นได้หนัสงครามจากพม่ามานั้นไม่ปรากฎว่าได้มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้องมาแสดงแต่อย่างใดและกล่าวได้อีกว่าย่อมมิได้มีการอพยพเข้ามาในช่องทางที่ถูกต้องดังนั้นย่อมส่งผลให้พ่อและแม่ของมึดามีสถานะเป็นบุคคลผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจึงส่งผลให้มึดาผู้ที่เกิดจากคนต่างด้าวประกอบกับเมื่อไม่มีเอกสารที่จะแสดงตนว่าเป็นสัญชาติใดได้จึงส่งผลให้มึดากลายเป็นบุคคลผู้ไร้สัญชาติโดยปริยาย

ผลกระทบที่มึดาได้รับเนื่องมาจากการไร้สัญชาตินั้น เช่น กรณีในโรงเรียนคือเรื่องทุนการศึกษา เรื่องวุฒิการศึกษาที่ไม่ได้รับ อีกทั้งยังเป็นในด้านมุมมองทัศนะคติจากคนรอบข้าง คือเพื่อนๆจะเรียกเธอว่าต่างด้าวบ้าง พม่าบ้าง ซึ่งทำให้เกิดคำถามกับตัวเองหลายครั้งว่า เราเป็นต่างด้าว เราเป็นพม่าหรือเปล่า เพราะตัวเธอเองนั้นเกิดและเติบโตในประเทศไทย อีกทั้งเมื่อก่อนมีนาไม่มีนามสกุล โดยเมื่อขี้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีครูบางท่านบอกว่า มึดาไม่มีสิทธิที่จะตั้งนามสกุล เพราะว่าไม่มีสัญชาติ ทั้งนี้ยังมีเรื่องการเดินทางหรือสิทธิในการเดินทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เวลาเดินทางไปไหนมาไหนก็มีความเสี่ยงต่อการโดนจับ เพราะในช่วงนั้นยังไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ถ้าจะเดินออกนอกพื้นที่ก็ต้องมีบัตร แต่เมื่อเป็นนักเรียน ก็จะอ้างเพียงว่าตนนั้นยังมีอายุไม่ถึง 15 ปี ซึ่งขณะนั้นกฎหมายกำหนดให้มีการทำบัตรประชาชนเมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์

อีกทั้งเมื่อปี 2542 ตอนเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษา แทนที่มึดาจะได้วุฒิการศึกษาแต่กลับไม่ได้ โดยเมื่อไปหาครูเพื่อขอวุฒิการศึกษา ครูบอกว่าเธอไร้สัญชาติไม่สามารถขอวุฒิการศึกษาได้ แต่ที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือตอนที่พี่สาวคนหนึ่งของมึดาหายไป ตอนที่ออกไปทำงาน โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นคนไทยหายไปก็สามารถตรวจสอบได้จากชื่อ นามสกุล หรือทะเบียนบ้าน ก็สามารถประกาศหาหรือแจ้งความได้

ซึ่งเธอก็ถามพ่อแม่ว่าทำไมไม่ไปแจ้งความ พ่อแม่กลับบอกเธอว่า ไม่กล้าไปแจ้ง เพราะกลัวว่าจะถูกจับเนื่องจากไม่มีใครในครอบครัวของเธอที่มีบัตรเลย[3]

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่เป็นคนไร้สัญชาติโดยเฉพาะกับเด็กที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยอันควรได้รับความยุติธรรม ความเสมอภาคทั้งในเรื่องเรื่องสิทธิทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง แม้กระทั่งมุมมองและทัศนะคติ ควรจะต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ในกรณีสิทธิในการศึกษานั้นโดยปกติแล้วไม่ว่ามึดานั้นจะมีหรือไม่มีสัญชาติไทยหรือเป็นบุคคลผู้ไร้สัญชาติก็ย่อมมีสิทธิในการศึกษาด้วยกันทั้งนั้นโดยตามหลักสากลจะสามารถพิจารณาได้จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก[4]กล่าวคือ ข้อ 28 1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา และเพื่อที่จะให้สิทธินั้นบังเกิดผลตามลำดับและบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน แต่เนื่องด้วยการที่ประเทศไทยนั้นมีกฎหมายอันเกี่ยวการศึกษากล่าวคือพระราชบัญญัติการศึกษาแหเงชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม[5] จึงจำต้องบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีลักษณะที่เฉพาะมากกว่า แต่ทั้งนี้เนื้อหานั้นก็เป็นไปในทางที่คล้ายคลึงกันกล่าวคือ มาตรา 10 การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อมิได้กำหนดคุณสมบัติในตัวบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการศึกษาดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการศึกษานั้นเปิดรับบุคคลทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติ และจากการพิจารณาในตัวของมึดาจะเห็นว่ามึดานั้นจากสภาพครอบครัว การดำรงชีวิต นับว่าจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กด้อยโอกาส โดยข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรที่จะให้มึดานั้นได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษตามบทบัญญัติวรรคที่ 2

ในด้านสิทธิทางด้านการรักษาพยาบาลข้าพเจ้าเห็นว่าทุกคนนั้นย่อมได้รับสิทธิที่เสมอภาคกันดังปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[6] ข้อ 25 กล่าวคือบุคคลมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตน และครอบครัวรวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และบริการสังคมที่จำเป็น และสิทธิในความมั่นคงในกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นหม้าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามิใช่กล่าวว่าเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ไร้สัญชาติเหนือไปจากผู้มีสัญชาติไทยแต่ประการใด แต่สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนย่อมได้รับด้วยสาเหตุที่ทุกคนบนโลกนั้นเป็นมนุษย์เหมือนกัน การที่เห็นใครเจ็บป่วยก็ย่อมต้องช่วยหรือรักษาตามหลักมนุษยธรรมที่บุคคลทุกคนพึงมี

ในด้านของสิทธิในการเดินทาง เนื่องมาจากการที่พ่อและแม่ของมึดานั้นเป็นบุคคลต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารรับรองจึงทำให้ตกอยู่ในสถานะเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายรวมทั้งมึดาที่เป็นบุคคลตกสำรวจไม่มีเอกสารใดๆที่จะแสดงได้ว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยหรือไม่ ดังนั้นจากข้อเท็จจริงจึงเห็นว่าการเดินทางหรือย้ายถิ่นในแต่ละคราวนั้นจะต้องกระทำด้วยความเสี่ยงที่จะถูกจับตัวไปในฐานะผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเนื่องด้วยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 13กล่าวคือ(1) บุคคลมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และในถิ่นที่อยู่ภายในขอบเขตดินแดนของแต่ละรัฐ(2) บุคคลมีสิทธิที่จะเดินทางออกจากประเทศใด ๆ รวมทั้งของตนเองและที่จะกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน ดังนี้เมื่อปฏิญญาดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้กับบุคคลทุกคนดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่ามึดาและครอบครัวควรได้สิทธิในการเดินทางเคลื่อนย้ายภายในประเทศโดยไม่ถูกจับกุม แต่การพิจารณาให้เสรีภาพดังว่านั้นด้วยความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่าย่อมต้องมีการชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียในการให้เสรีภาพดังกล่าว กล่าวคือหากกำหนดให้ทุกคนสามารถเดินทางไปที่ใดๆโดยเสรีย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาอาทิเช่นเกิดการแย่งทรัพยากรกับบุคคลที่อาศัยในประเทศไทยมาอยู่ก่อน หรือการแออัดของจำนวนประชากรที่อาจก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางด้านสังคม การผิดแปลกทางวัฒนธรรมหรือแม้แต่ระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าด้วยการชั่งผลเสียดังกล่าวจึงควรมีการจำกัดการเดินทางบ้างเพื่อให้เกิดสภาวะทางสังคมที่สมดุล

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเข้าสู่ ปีพ.ศ. 2551 รัฐบาลได้นำพระราชบัญญัติมาแก้ไขจากฉบับเดิมที่ไม่ให้สัญชาติแก่บุคคลผู้ที่เกิดในประเทศแต่บิดาและมารกาเป็นคนต่างด้าว กล่าวคือพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2551[7] มาตรา 23บัญญัติไว้ว่า ”บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2535 ข้อ1 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ2 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2535 ถ้าบุคคลนั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แกสังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน” กล่าวคือ ผู้ที่เคยมีสัญชาติไทยแต่ถูกถอนสัญชาติออกเพราะด้วยความอยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมาย หรือผู้ที่เกิดประเทศไทยแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เนื่องด้วย มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ดังกล่าว และบุตรของบุคคลเหล่านั้น ได้รับสัญชาติไทย หากปราฎว่าบุคคลดังกล่าวได้อยู่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานานติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี ทำประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศชาติ ดังนั้นนับจากปีพ.ศ. 2551 มึดาจึงมีสิทธิในการทำบัตรประชาชนเพื่อเป็นเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยและได้รับสิทธิต่างๆตามที่สมควรจะได้รับมาตั้งแต่ที่ตนนั้นเกิดขึ้นมา

สุดท้ายข้าพเจ้าเห็นว่าทางออกของปัญหานั้นมิได้อยู่เพียงแค่ว่า กฎหมายนั้นได้มีการแก้ไขเพื่อกำหนดให้บุคคลอีกหลายคนซึ่งตกอยู่ในปัญหาเช้าเดียวกับมึดาได้รับสัญชาติไทยและเพื่อให้ได้รับสิทธิต่างๆ โดยย่อมเห็นแล้วว่าสิทธิบางประการนั้นนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสัญชาติไทยมีสิทธิที่จะได้รับ ดังนั้นทางแก้ไขที่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากจึงอยู่ที่บุคคลากรผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่จะต้องนำกฎหมายหรือข้อบัญญัติต่างๆมาบังคับใช้ประกอบกันไป และหลักประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการต้องมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลทุกๆคนมิใช่มองว่าบุคคลผู้นั้นเมื่อมีลักษณะที่ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทยก็ปฏิบัติกับบุคคลเหล่านั้นอีกลักษณะหนึ่ง ดังนั้นเมื่ออยู่ในสถานะที่เป็นบุคคลผ็สามารถกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนได้ก็ย่อมต้องเป็นบุคคลผู้เห็นแก้หลักมนุษยธรรมเป็นหลัก


[1] "พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535" . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.stateless4child.net/sites/stateless4child.net/files/l10.pdf . สืบค้น 25 เมษายน 2557

[2] "พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522" . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.immigration.go.th/nov2004/doc/act_imm_2522.html. สืบค้น 25 เมษายน 2557

[3] "มึดา หนทางสู่ฝันกับเยาวชนไร้สัญชาติ" (2556). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.citizenthaipbs.net/node/3688 สืบค้น 25 เมษายน 2557

[4] "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/crct.pdf . สืบค้น 25 เมษายน 2557

[5] "พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่. 2) พ.ศ. 2545". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.wbtvonline.com/pdf/9-04-201409-25-55.pdf. สืบค้น 25 เมษายน 2557

[6] “คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights).” 2491.[ออนไลน์].

เข้าถึงได้จาก: http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. สืบค้น 25 เมษายน 2557

[7] "พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2551" . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.stateless4child.net/sites/stateless4child.net/files/Law-2.pdf. สืบค้น 25 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 567364เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2014 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท