ร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ


ร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ

บันทึกโดย นางสาววิกานดา พัติบูรณ์ นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิก

เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗

---------------------------------------------------------------------------------------------

                         เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข คุณบงกช คุณศิวนุช และผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุม สมัชชาสุขภาพ ในฐานะผู้ช่วยวิจัยโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า ตามคำเชิญของ คุณหมออุกฤษณ์ มิลินทางกูร

                         เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการสัมมนานำเสนอผลการศึกษาศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า ในงานคณะผู้วิจัยฯและคณะผู้ช่วยวิจัยฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัย ในเรื่องของสถานการณ์เด่นด้านแนวคิดและการจัดการสิทธิของเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส โดย คุณหมออุกฤษณ์ มิลินทางกูร ได้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ด้วยและเห็นว่างานวิจัยฯนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ จึงได้เชิญให้คณะผู้วิจัยฯเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ในครั้งที่ ๓/๒๕๕๗

                        ระเบียบวาระการประชุมในครั้งนี้มีเรื่องพิจารณาเกี่ยวกับ “สิทธิด้านสุขภาพของผู้ด้อยโอกาส”และส่วนที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา ๖[๑] แห่ง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๐จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยฯของเราด้วย

                        ในที่ประชุม เราได้อธิบายถึงโครงการวิจัยในภาพรวม ว่าเราทำการโครงการศึกษาวิจัยในพื้นแถบชายแดนไทย-พม่าเป็นหลัก และขยายมาถึงพื้นที่ภาคกลางและในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีกรณีศึกษาภายใต้งานวิจัยปรากฏตัวอยู่ด้วย โดยคณะวิจัยจะทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาสใน ๔ ประเด็น (๑) ปัญหาความด้อยโอกาสในพื้นที่ที่สุขภาวะ ได้แก่ โรงพยาบาล,โรงเรียน,ครอบครัว โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (๒) ปัญหาความด้อยโอกาสในพื้นที่ทุกข์ภาวะ ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน,สถานพินิจ,คุก,ห้องกัก ตม.,ที่พักพิงชั่วคราว,ค่ายผู้ลี้ภัย โดย อาจารย์.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน (๓) ปัญหาความด้อยโอกาสที่ในพื้นที่เศรษฐกิจ โดย อาจารย์.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา (๔) ปัญหาความด้อยโอกาสอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของพื้นที่อาศัยอยู่ อาทิ การอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ,ป่าสงวนแห่งชาติ,พื้นที่สลัม โดย ผศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์โดยมี การบูรณาการองค์ความรู้ดังกล่าวสู่สังคมใน ๓ รูปแบบ กล่าวคือ (๑) การบูรณาการองค์ความรู้ “เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม” (๒) การบูรณาการองค์ความรู้ “เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” (๓) การบูรณาการองค์ความรู้ “เพื่อสร้างหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน”

                          นอกจากนี้เรายังได้เล่าถึงสิ่งที่ค้นพบจากงานวิจัย คือสถานการณ์ด้านสาธารณะสุขในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก ภาระของโรงพยาบาลแถบชายแดนในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ทั้งผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งประเทศไทยและผู้ป่วยที่ข้ามมาจากประเทศพม่า และความด้อยโอกาสของกรณีศึกษาภายใต้โครงการวิจัยฯที่เป็นผู้ป่วย ผู้พิการ คนไข้ติดเตียง โดยเล่าถึงอาการป่วยและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของกรณีศึกษา เราได้ยกกรณีศึกษาที่มีปัญหาด้านสุขภาพขึ้นมาเพื่อเล่าถึงรายละเอียด อันได้แก่ กรณีศึกษาน้องผักกาดเด็กไร้รัฐถูกทอดทิ้งป่วยเป็นโรคสมองบวมน้ำ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลพบพระ กรณีศึกษาน้องจอหนุแฮเด็กไร้รัฐที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลท่าสองยาง กรณีศึกษาน้องมะไข่ไข่ เด็กไร้สัญชาติป่วยเป็นโรคหัวใจ อาศัยอยู่ฝั่งพม่าและต้องข้ามเข้ามารักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลอุ้มผาง กรณีศึกษาน้องบิวตี้ น้องชินจังและน้องนาแฮ เด็กป่วยมีขาบิดผิดรูปแต่กำเนิด

                          หลังจบการประชุมเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณหมออุกฤษณ์ มิลินทางกูร โดยคุณหมอได้ขอให้เราเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องตามมาตรา ๘[๒] มาตรา ๙[๓] มาตรา๑๐[๔] และมาตรา ๑๒[๕] แห่ง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เรารับปากคุณหมอว่าเราสามารถช่วยได้เฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายที่เราทำงานอยู่ คือกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องสถานะบุคคล แต่หากเป็นประเด็นกฎหมายในเรื่องอื่น เราคงทำได้เพียงแนะนำคุณหมอว่าใครคือผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายสาขานั้น

                           ผู้เขียนรู้สึกดีใจที่ข้อค้นพบจากงานวิจัยฯเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ และรู้สึกยินดีหากคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ จะนำข้อมูลจากงานวิจัยฯที่เราได้นำเสนอในที่ประชุม ไปใช้ในการทำงานและผลักดันให้เกิดการดูแลสิทธิด้านสุขภาพของผู้ด้อยโอกาสต่อไป


[๑] มาตรา ๖ สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริม และคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม

สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสมด้วย

[๒] มาตรา ๘ ในการบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุขต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้

ในกรณีที่เกิดความเสียหายหรืออันตรายแก่ผู้รับบริการเพราะเหตุที่ผู้รับบริการปกปิด ข้อเท็จจริงที่ตนรู้และควรบอกให้แจ้ง หรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรืออันตรายนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ให้บริการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ผู้รับบริการอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตและมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นการรีบด่วน

(๒) ผู้รับบริการไม่อยู่ในฐานะที่จะรับทราบข้อมูลได้ และไม่อาจแจ้งให้บุคคลซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ปกครอง ผู้ปกครองดูแล ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลของผู้รับบริการ แล้วแต่กรณี รับทราบข้อมูลแทนในขณะนั้นได้

[๓] มาตรา ๙ ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขประสงค์จะใช้ผู้รับบริการเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองในงานวิจัย ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขต้องแจ้งให้ผู้รับบริการทราบล่วงหน้า และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้รับบริการก่อนจึงจะดำเนินการได้ ความยินยอมงกล่าว ผู้รับบริการจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้

[๔] เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว

การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

[๕] มาตรา ๑๒ บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

                                 

หมายเลขบันทึก: 567049เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2014 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2014 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท