คณะเกษตรฯ มข.อบรมแปรรูปเนื้อสัตว์เชิงการค้า ให้กลุ่มแม่บ้าน จ.อุดรธานี


การฝึกอบรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในครัวเรือนเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปีที่ 2 เพื่อให้แก่กลุ่มแม่บ้าน ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ได้ผลิตสินค้าแปรรูปด้านผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ให้เป็นสินค้า OTOP

           รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพงศ์ อุริยะพงศ์สรรค์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 นำทีมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในครัวเรือนเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์” ปีที่ 2 ให้แก่กลุ่มแม่บ้านในเขตพื้นที่ ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีความประสงค์ในการผลิตสินค้าแปรรูปในด้านผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อจัดทำเป็นสินค้า OTOP อาทิ แหนม และไส้กรอก สำหรับจำหน่ายในเทศกาล “ทะเลบัวแดง” จำนวน 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 ณ ห้องปฏิบัติการเนื้อสัตว์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 30 ราย และรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 ณ ศูนย์พัฒนาชุมชน หมู่บ้านนกขะบา ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีผู้เข้าอบรม จำนวน 46 ราย
           ในการจัดฝึกอบรมทั้ง 2 รุ่น ทางโครงการฯได้รับความร่วมมือจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกร โรจนกร จากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เกียรติร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อเรื่อง “วัตถุดิบและสารปรุงแต่งในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์” และมีคณะทำงานประกอบด้วย บุคลากรสายสนับสนุนจำนวน 10 คน นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา จำนวน 5คน พร้อมด้วยพัฒนาชุมชนตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี 1 คน
           โครงการฝึกอบรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในครัวเรือนเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปีที่ 2 นี้ นอกจากเป็นการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนแล้ว เป็นการบูรณาการการบริการวิชาการกับการเรียนการสอน รายวิชาวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ (127 411)โดยนักศึกษาสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการเข้าร่วมเป็นวิทยากรภาคปฏิบัติการ ในการดูแลผู้เข้าร่วมฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์
           และจากการออกไปฝึกอบรมในพื้นที่ชุมชน ได้ทำให้ค้นพบปัญหาของชุมชนหลายประเด็น ซึ่งคณะทำงานเห็นควรเสนอเป็นหัวข้อวิจัยได้ถึง 3 เรื่อง คือ
           1.กลุ่มอาชีพแม่บ้านขาดเครื่องมือในการแปรรูป เช่น เครื่องบรรจุไส้กรอกแบบมือหมุน ซึ่งในระบบอุตสาหกรรม มีราคาค่อนข้างแพง แนวทางในการพัฒนาโจทก์วิจัยคือ “ผลิตเครื่องมือสำหรับบรรจุไส้กรอก แบบในครัวเรือนที่มีขนาดเล็กและมีราคาถูกลง”
            2.การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ เข้าสู่ OTOP ผลิตภัณฑ์นั้นต้องได้รับ อย.หรือ มผช.(มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการยังขาดข้อมูลในการสนับสนุนให้กับกลุ่มอาชีพแม่บ้าน แนวทางในการพัฒนาเพิ่มเติมคือ จัดเพิ่มเติมหลักสูตรขั้นตอนการขอตรามาตรฐาน อย.หรือ มผช. เพื่อยกระดับให้กับผลิตภัณฑ์ให้สามารถขึ้นสู่ OTOP ได้
            3.ประเด็นอื่น ๆ ที่ได้รับเพิ่มเติม เนื่องจากกลุ่มอาชีพแม่บ้านมีวัสดุเศษเหลือจากเปลือกหอยเชอรี่ ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาไปสู่การจัดทำของที่ระลึก จึงเสนอขอให้ทางมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาแนวคิดดังกล่าว

           กันยา พลแสน ข้อมูลข่าว/ภาพ
           กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 566648เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2014 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2014 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท