ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ที่มา : http://www.parttimemarket.com/network-marketing.ht...

     ในปัจจุบันสังคมได้มีการพัฒนาจากในอดีตไปมาก กล่าวคือในสมัยก่อนบุคคลอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน หากมีความจำเป็นหรือต้องการสิ่งของเครื่องใช้ใดก็จะใช้การเเลกเปลี่ยนสิ่งของต่อกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น อีกทั้งกระเเสโลกาภิวัฒน์ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกๆด้าน ทั้งทางเทคโนโลยี ด้านเศรษฐกิจ และความต้องการของแต่ละคนก็เริ่มมากขึ้นตามมา จึงก่อให้เกิดการแสวงหาผลกำไรหรือผลประโยชน์เกิดขึ้น จนกลายมาเป็นสังคมธุรกิจ สังคมลักษณะนี้จะยึดถือผู้บริโภคว่ามีความต้องการสินค้าหรือบริการแบบใด โดยผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตก็จะผลิตสินค้าออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และในการค้าจึงจำเป็นจะต้องมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการหลายราย เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้บริโภคหันมาสนใจในสินค้าของตน ซึ่งการที่จะทำให้สินค้าเป็นที่สนใจได้นั้นต้องอาศัยการโฆษณาแก่ผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการโฆษณาที่อาจมีการนำเรื่องสีผิว เพศ และชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนบางกลุ่มได้ โดยผู้ซึ่งจัดทำโฆษณาอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์ไปในทางนั้น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาเนื่องจากการมองข้ามในจุดเล็กๆ อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความไม่พอใจในสังคมได้ [1]

ที่มา : http://popcornfor2.com/content/-news-42750

     ตัวอย่างการโฆษณาที่มีคนบางกลุ่มมองว่ามีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น โฆษณาของ DUNKIN DONUT หากถามในความคิดเห็นของข้าพเจ้าว่าเมื่อมองภาพโฆษณาดังกล่าวเเล้วรู้สึกว่าเป็นการเหยียดสีผิวหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นว่ารูปภาพที่ใช้คนผิดดำมาถือโดนัทจะเป็นการเหยียดสีผิวแต่อย่างใด และข้อความที่ใช้ก็เป็นไปในทางการโฆษณาแต่เพียงเท่านั้น ทั้งภาพเเละข้อความไม่ได้มีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนต่างสีผิวแต่อย่างใด ไม่ได้สื่อให้เห็นว่าสีใดสูงส่งหรือมีเกียรติมากกว่าสีใด แต่ในทางกลับกันชาวอเมริการส่วนใหญ่เห็นภาพดังกล่าวเเล้วมีความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดสีผิว ทั้งนี้อาจะมีเหตุผลเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ของประเทศแถบตะวันตกในอดีตมีความขัดแย้ง และความรุนแรงเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเหยียดสีผิว จึงทำให้คนอเมริกันมีความคิดที่ฝังในจิตใจอยู่เเล้ว และเมื่อมีอะไรมากระตุ้นเพียงน้อยนิดจึงเกิดความรู้สึกร่วม หรือมีความอ่อนไหวมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีประวัติศาสตร์่นนั้นหรือไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องการเหยียดสีผิวมาก่อน

ที่มา : http://www.unigang.com/Article/16138

     นอกจากโฆษณาโดนัทเเล้วยังมีอีกหลายโฆษณาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่อาจมองเป็นการเหยียดสีผิวได้ เช่น โฆษณาโลชั่น Citra ที่มีการจัดแคมเปญใหญ่ที่ชื่อว่า "ขาว-ใส-วิ้ง คว้าทุนการศึกษา" จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นการเหยียดสีผิว และเกิดคำถามที่ว่า แค่ขาวใสแต่ไม่ต้องมีสมองก็สามารถคว้าทุนการศึกษาได้เเล้วหรือ? ซึ่งในกรณีนี้ข้าพเจ้าคิดว่าการโฆษณาแบบนี้เป็นการสร้างค่านิยมในสังคมไทยที่ผิด ทำให้เกิดค่านิยมที่ว่าคนขาวต้องดูดีกว่าคนดำ ต้องฉลาดกว่า มีความรู้มีการศึกษามากกว่า ดูดีมีชาติตระกูลมากกว่า รวมไปถึงในอดีตมีความเชื่อของคนไทยที่สะท้อนออกมาผ่านทางวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่างๆ ที่มักมองว่าสีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสัญลักษณ์ของความดี แตกต่างจากที่ดำที่ดูเลวร้ายเป็นเป็นสัญลักษณ์ของความชั่ว เมื่อประกอบกันเเล้วจึงทำให้กระแสนิยมของผิวขาวชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการใช้โฆษณาต่างๆจูงใจและเป็นการเหยียดสีผิวตามมา ซึ่งจากกรณีของแคมเปญดังกล่าวนี้ข้าพเจ้าคิดว่าควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากการที่ให้ทุนการศึกษาแก่คนผิวขาวสวย ไปเน้นในเรื่องของการเป็นคนดีในสังคมมากกว่า เน้นที่ความสามารถมากกว่า และในส่วนของการโฆษณาเพื่อขายสินค้านั้นสามารถทำได้อีกหลายรูปแบบที่ไม่ทำให้เกิดการมองว่ามีการเหยียดสีผิวเกิดขึ้น [2]

     ซึ่งในสังคม ณ ปัจจุบันกระแสเรื่องสีผิวค่อนข้างมีความสำคัญมาก สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์ในการปรับสีผิวที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ การฉีดผิดให้ขาว การกินสารกลูต้าไธโอนและอาหารเสริมต่างๆ เป็นต้น

     จากปัญหาที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้ประกอบธุรกิจข้างต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้นได้ออกมาเรียกร้องให้ธุรกิจทั่วโลกแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก (goodglobalcitizenship) รวมทั้งประกาศ “TheUNGlobalCompact” เพื่อใช้เป็นกรอบดำเนินการการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับองค์กรธุรกิจต่อไปและในปีถัดมา OECD (องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ก็ได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ (TheOECD Guidelines for Multinational Enterprises) เสนอแนะให้บรรษัทข้ามชาติของประเทศสมาชิก OECD มี CSR และติดต่อค้าขายเฉพาะกับคู่ค้าที่มี CSR เท่านั้น ทั้งนี้หลักการ CSR สามารถสรุปได้สั้นๆด้วยคำกล่าวของ BjornStigson ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Councilfor Sustainable Development หรือ WBCSD) ที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว” (Business cannot succeed in a society that fails.) [3]

     การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อันมีส่วนสัมพันธ์กับธุรกิจในลักษณะการเพิ่มคุณค่า และทรัพยากรบุคคลนับเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจในการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มผลผลิต ดังนั้นธุรกิจควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการทำงาน ให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ ตลอดจนได้รับโอกาสในการฝึกฝนและเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน ทั้งนี้จะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

     ซึ่งแนวทางการปฏิบัติของ CSR มีการกล่าวถึงเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย ดังนี้

     สิทธิมนุษยชน
หลักประการที่ 1 - สนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากล ตามขอบเขตอำนาจที่เอื้ออำนวย

หลักประการที่ 2 – หมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน [4]

     ดังนั้นจึงส่งผลให้ในปัจจุบันแนวทางปฏิบัติหรือจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจแทบทุกบริษัทมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในเรื่องของการเคารพเเละไม่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นในการที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเสมอในกระประกอบธุรกิจของตน


นางสาวชนากานต์ เฉยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 22 เมษายน 2557


อ้างอิง

[1] Charcoal Donut : ทำไมโฆษณา DUNKIN ไทยเหยียดสีผิว?. แหล่งที่มา : http://www.cookiecoffee.com/food/58147/dunkin-charcoal-why-donut-black-racist/ 22 เมษายน 2557.

[2] ขาวเน็ตรุมโห่แคมเปญเหยียดผิว “ขาว-ใส-วิ้ง คว้าทุนการศึกษา”. แหล่งที่มา : http://www.unigang.com/Article/16138 22 เมษายน 2557.

[3] เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม. แหล่งที่มา : http://www.sec.or.th/TH/Documents/Information/Publications/2-CSR.pdf 22 เมษายน 2557.

[4] CRS กับข้อตกลง 10 ประการ. แหล่งที่มา : http://www.thaicsr.com/2006/05/10.html?m=0 22 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 566542เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท