สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ปรากฏการณ์ "คนรุ่นใหม่" บนวิถีการเกษตร


พูดถึงอาชีพ "การเกษตร" หลายคนคงบอกว่าไม่ใช่อาชีพในฝันของฉัน หรือแม้แต่คิดอยากลองทำดูสักครั้งในชีวิต ยิ่งกับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยิ่งดูจะหนักข้อขึ้นไปอีกในยุคแห่งความสะดวกสบาย ไฉนเลยคนหนุ่มสาวจบการศึกษาสูงจะต้องมาทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน !

       เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากกับสถานการณ์การเกษตรไทยจากปากคำของ กนกพร ดิษฐกระจันทร์ หรือ "โอเล่" วัย 37 ปี หมอดินอาสา และผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สะท้อนว่าสถานการณ์ปัจจุบันของคนหนุ่มสาวในชนบทต่างหันหลังให้กับอาชีพการเกษตร หากไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ เกษตรกรไทยจะมีค่าเฉลี่ยอายุมากกว่า 55 ปี และไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกรหลงเหลืออยู่ ...

       ยังดีที่วันนี้ มีกลุ่มคนหนุ่มสาวที่คิดต่าง และนำความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาต่อยอดเพิ่มคุณค่าให้กับการเกษตร - อาชีพดั้งเดิมของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยมีหนุ่มน้อย 2 คนจากจำนวนนั้นร่วมแลกเปลี่ยนให้เราฟัง

  • ผมรู้ว่าถ้าผมอยู่กับการเกษตรแล้วผมมีความสุข

       เก้า – ธีรพงษ์ สุขสวรรค์ เกษตรกรรุ่นใหม่จาก อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร

       บัณฑิตหนุ่มวัยเบญจเพสจากสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อและแม่เป็นชาวนา แต่ทั้งคู่คาดหวังให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทำงาน “นั่งโต๊ะ” มากกว่าจะมาอาบเหงื่อต่างน้ำ

       เก้าเล่าว่าเขาเคยใช้ชีวิตตามแบบแผน เป็นเด็กขี้กลัวและเชื่อฟังผู้ใหญ่มาก คิดว่าเมื่อเรียนจบก็จะหางานทำในสาขาที่เรียนมาเหมือนกับคนส่วนใหญ่ คิดซื่อๆ ว่าด้วยวิธีการนี้จะทำให้ตนเองมีหน้าที่การงานและความร่ำรวยเป็นผลตอบแทน แต่เมื่อนั่งคิดสาระตะแล้วกลับพบว่าความใฝ่ฝันของคนทำงานเป็นลูกจ้างช่างเป็นความเพ้อฝันเกินจริง ทว่าการทลายกำแพงความคุ้นชินเดิมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มี “จุดเปลี่ยน”

       จุดเปลี่ยนของเก้าเกิดขึ้นขณะที่เขาอยู่บ้านตามลำพัง ค่ำวันนั้นเก้าเกือบถูกงูพิษกัด โชคดีที่แมวของเก้าส่งเสริมขู่ขึ้นมาให้เขาได้สังเกตและหลบทัน “ผมเลยได้คิดว่าชีวิตคนเรามันสั้นเท่านี้เองนะ ถ้าแมวผมไม่ช่วยไว้ ผมอาจตายไปแล้วก็ได้ เลยได้คิดต่อไปว่าถ้าเราอยากจะทำอะไรก็ให้ทำซะเลยก่อนที่จะไม่มีโอกาสทำ สิ่งที่คิดได้ในเวลานั้นคือการเกษตรซึ่งวนเวียนอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่เด็กเพราะเราอยู่กับเขามาตลอด ผมรู้ว่าถ้าผมอยู่กับสิ่งนี้แล้วผมจะมีความสุข”

       ปัจจุบัน เก้าได้พิสูจน์ตัวเองจนพ่อแม่ยอมรับและไว้วางใจให้ดูแลแปลงปลูกข้าวของครอบครัวอย่างครบวงจรรวมพื้นที่ราว 100 ไร่ และปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกจากใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องสุขภาพของคนในครอบครัว ขณะที่การปลูกพืชวิถีนี้ยังช่วยลดต้นทุน และผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด เก้าบอกด้วยว่าเขากำลังมีแผนสร้างเตาอบข้าวเปลือกขนาด 30 ตันไว้รองรับผลผลิตในฤดูเก็บเกี่ยว โดยนำความรู้ที่เรียนมาในสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์มาปรับใช้


  • เกษตรกรรุ่นใหม่ “ปลูกได้และขายเป็น”

       โจ้ – จิรายุทธ ภูวพูนผล อายุ 25 ปี เจ้าของสวนผักและร้านสเต็ก “โอ้กะจู๋” อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

       ด้วยต้นทุนเดิมที่สนใจการปลูกผัก และต้นทุนใหม่คือความรู้ที่เรียนจบมาโดยตรงในด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้โจ้รู้จุดอ่อนของเกษตรกรรุ่นเก่า คือ การหาช่องทางการตลาดและจัดจำหน่าย โจ้และเพื่อนจึงร่วมหุ้นกันเปลี่ยนลานจอดรถขนาด 2 ไร่ให้เป็นสวนผัก และเปิดร้านอาหารติดกันโดยใช้ผักที่ปลูกเองเป็นวัตถุดิบ

      “ผมมีรายได้จากการขายผักสลัดให้กับร้านสเต็ก หักค่าใช้จ่ายแล้วกำไรเดือนละ 2 แสนบาท ในจำนวนนี้ไม่รวมเงินเดือนที่ผมจะกันไว้เป็นค่าตอบแทนให้ตัวเองเดือนละ 2 หมื่นบาท”

      เมื่อผนวกสายตาของคนรุ่นใหม่เข้ากับเรื่องการตลาด โจ้ยังใช้สื่อใหม่อย่างโซเชี่ยลมีเดีย Facebook.com เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักสวนผักและร้านสเต็กโอ้กะจู๋มากยิ่งขึ้น ภาพผักสลัดสดใหม่และภาพอาหารหน้าตาน่ารับประทานที่โพสต์ขึ้นสังคมออนไลน์อยู่ไม่ขาดก็ส่งผลให้มีแฟนเพจแวะเวียนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การตบแต่งหน้าร้านให้มีจุดถ่ายภาพและชมวิวแปลงผักระหว่างรับประทานก็ยิ่งทำให้ร้านมีเอกลักษณ์โดดเด่น การันตี “ปลูกได้และขายเป็น”

      เรื่องของพวกเขาเหล่าคนหนุ่มสาวที่หันหลังให้งานออฟฟิศและมุ่งหน้าสู่อาชีพเดิมของบรรพบุรุษยังมีอีกมากมาย ร่วมติดตามและเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้เดินตามสายเส้นทางที่พวกเขาเลือกด้วยกำลังกายและกำลังใจที่มั่นคงแข็งแรง 

      ผู้สนใจสามารถคลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล : เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่

                                                             

หมายเลขบันทึก: 566509เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2014 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นเครือข่ายที่น่าสนใจมาก

ขอนำไปรวมกับกลุ่มคนปลูกผักกินได้

นะครับ

ขอบคุณครับ

" ปลูกได้ ขายเป็น"...ปลูกจิตสำนึกในการเลี้ยงชีพแบบพอเพียง...


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท