กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
โทษประหารชีวิต
ปัจจุบันเกิดอาชญากรรมขึ้นในสังคมมากมาย และอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งระดับความรุนแรงของการลงโทษนั้นก็จะขึ้นกับความร้ายแรงของความผิดที่กระทำ โทษที่หนักที่สุดก็คือโทษประหารชีวิต

หลายคนเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดกระทำความผิดซ้ำได้100เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลับมี141 ประเทศทั่วโลกหรือกว่าสองในสามของทุกประเทศได้ยกเลิกโทษประหารทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว[1] นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนปี 1945 มีเพียง 8 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางกฎหมาย ต่อมาปี 1977 เพิ่มเป็น 16 ประเทศ และในปี 2013 เพิ่มเป็น 97 ประเทศ[2] แต่ระบบยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยยังคงใช้อยู่

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ3บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย และข้อ5บุคคลใดจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือหยามเกียรติมิได้ ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลใดจะกระทำความผิดหรือไม่ก็ย่อมมีสิทธิที่จะมีชีวิตต่อไป และการลงโทษโดยการประหารชีวิตย่อมเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม[3]

จากที่ข้าพเจ้าได้ดูเรื่องThe Green Mile ในการดำเนินการประหารชีวิตนั้น มีโอกาสมากที่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตจะโดนแกล้งให้ได้รับความทรมาน และผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งย่อมมิอาจเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆได้เลย ซึ่งในเรื่องเป็นการประหารชีวิตโดยใช้เก้าอี้ไฟฟ้า โดยจะต้องใช้ฟองน้ำเปียกวางไว้บนหัวก่อนที่จะสับสวิตช์เปิดกระแสไฟฟ้าเพื่อให้กระแสไฟฟ้าวิ่งสู่สมองและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วโดยให้ได้รับความทรมานน้อยที่สุด การที่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตถูกกลั่นแกล้งโดยเอาฟองน้ำแห้งวางไว้บนหัวแทนที่จะเป็นฟองน้ำเปียก ทำให้เกิดไฟลุกเมื่อสับสวิตช์เปิดไฟฟ้าแล้ว ทำให้เห็นว่าผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนนั้นต้องได้รับความทรมานอย่างแสนสาหัสอย่างแน่นอน และผู้ที่กลั่นแกล้งผู้ต้องโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด

อีกทั้ง ในภาพยนตร์เรื่องThe Green Mileมีการจับผู้กระทำความผิดมาผิดคนด้วย ซึ่งในความเป็นจริง มีหลายกรณีมากที่ผู้บริสุทธิ์ต้องโทษประหารชีวิต (หรือถูกประหารชีวิตไปแล้ว) แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกานับแต่ปี ๒๕๑๙ มีผู้ต้องโทษประหารชีวิตที่ได้รับการปล่อยตัวไม่น้อยกว่า ๑๑๓ คนหลังจากศาลพบว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ (ยังไม่นับอีกหลายร้อยคนที่ต้องโทษเบากว่าแต่ได้รับอิสรภาพด้วยเหตุผลเดียวกัน)[4]
จากที่กล่าวไปข้างต้น ย่อมเห็นได้ชัดว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้น ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้นไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป มนุษย์ย่อมมีความสามารถในการปรับปรุงตัว โดยเราสามารถช่วยผู้กระทำความผิดในการปรับปรุงตัวได้ โดยการให้คำแนะนำ และให้โอกาส หรือหากผู้กระทำความผิดคนนั้นไม่สามารถกลับตัวได้จริงๆ การคุมตัวไว้เพื่อไม่ให้กลับเข้าไปกระทำความผิดในสังคมอีกก็เพียงพอแล้ว

นอกจากนั้น ในแง่ของการป้องกันการกระทำความผิด เราก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลทุกคนกลัวโทษประหารชีวิตที่สุด เพราะแต่ละคนย่อมมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน อาจจะมีบางคนที่กลัวโทษจำคุกมากกว่าโทษประหารชีวิต เพราะคิดว่าต้องทนทุกทรมานอยู่ในคุก และอาจถูกนักโทษคนอื่นๆกลั่นแกล้งได้ ต่างจากโทษประหารชีวิตที่ไม่ต้องอยู่ในคุกเป็นเวลานาน และสำหรับบางคนการตายอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจำคุกก็เป็นได้

[1]ประเทศไทยเป็นประเทศส่วนน้อยที่ยังใช้โทษประหาร: ยกเลิกโทษประหาร. แหล่งที่มา :http://www.amnesty.or.th/th/component/k2/item/206-... ... 18 เมษายน 2557

[2]โทษประหารชีวิต: แนวโน้มกระแสสังคมโลกต่อการยุติโทษประหารชีวิต. แหล่งที่มา :http://www.amnesty.or.th/th/component/k2/item/307-... ... 18เมษายน 2557

[3]ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo... ...18 เมษายน 2557

[4]ทำไมเมืองไทยจึงควรยกเลิกโทษประหารชีวิต. ตุลาคม 2554. แหล่งที่มา :http://www.visalo.org/article/peace5410keepPromise... ... 18 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566223เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2014 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท