ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก : ว่าด้วยเณรพี่เลี้ยงและเด็กวัด


ผมเชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มิได้บัญญัติให้มีการบรรพชาหรืออุปสมบท “พระเณร” จำนวนเยอะๆ เพื่อไปทำหน้าที่ “ระดมทุน” ให้ได้เงินได้ทอง หรือข้าวของเยอะๆ ไปสร้างศาลาหลังใหญ่ๆ

ปีเทอมใหม่ครานี้ – วิถีชีวิตของลูกๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
ถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่มี “แม่ย่า”  เหมือนเก่าก่อน  แต่ลูกๆ ยังคงไม่ลังเลที่จะเดินทางกลับไป “เรียนพิเศษที่บ้านนอก” เหมือนเช่นทุกปี

 

 


ครับ- น้องดิน ไม่ลังเลที่จะ “บวชเณร” อีกครั้ง และต่อเนื่องเป็นปีที่สองสำหรับการบวชเพื่อทำหน้าที่เป็น “เณรพี่เลี้ยง”
     โดยส่วนตัวผมมองว่า  การเป็นเณรพี่เลี้ยง ถือเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับน้องดิน  เพราะการเป็นเณรพี่เลี้ยงต้องแบกรับอะไรๆ หลากรูปรส  ไหนต้องปลุกบรรดา “เณรน้อย”  ทั้งหลายให้รีบตื่นมาล้างหน้าล้างตา –ห่มจีวร-ทำวัตร - ออกบิณฑบาตตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งหมู่บ้านในละแวกตำบล หรือกระทั่งข้ามฟากไปสู่ตำบลอื่นๆ

      และที่ดูเหมือนจะท้าทายกับ “ลูกเณร”  เป็นพิเศษ  ก็คือการต้องดูแลเณรน้อยทั้งหลายให้อยู่ในระบบระเบียบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครายิ่งกว่าจับปูใส่กระด้ง  บ้างงอแงอยากลาสึก บ้างบ่นหิว เหนื่อย เบื่อท้อ  และจิปาถะ  ซึ่งภารกิจทั้งปวงนั้น  ล้วนต้องตื่นกันตั้งแต่ตีสามเลยทีเดียว

 

 

ครับ- การงานอันหนักหน่วงเช่นนี้  ไม่น่าจะใช่ปัญหาหลักของลูกเณร  เพราะตราบใดที่ลูกเณรยังมีความสุขกับวิถีแห่งการงานเช่นนั้น  การงานที่กล่าวมาทั้งหมด  ย่อมหมายถึงความรื่นรมย์ดีๆ ของลูกเณรนั่นเอง

ปีนี้- ผมแทบไม่มีโอกาสได้ไปตักบาตรลูกเณรมากเหมือนเช่นทุกปี  แต่ทั้งปวงก็มิได้ก่อเกิดเป็นกำแพงกั้นความผูกพันของผมกับลูกเณร  หรือแม้แต่น้องแดน-เจ้าจุกเลยซักนิด

แน่นอนครับ- มีบางคืนที่ผมคิดถึง “แม่” อย่างมากมายจนร้องไห้อย่างเงียบๆ  ซ้ำร้ายในบางค่ำคืนยังฝันว่าลูกเณรตายจากไปอีกคน  ตายไปโดยความฝันที่ว่านั้นมี “แม่” เป็นตัวละครอยู่ในนั้นด้วย

ครับ-  สำหรับผมแล้ว  ผมไม่เคยกังขาต่อความคิดถึง เชื่อและเคารพว่า “ความคิดถึงทรงอานุภาพ”  เสมอ  และอานุภาพที่ว่านั้นก็ส่งผลให้ผมฟุ้งฝันและเพ้อพกไปอย่างไร้อาณาเขต  ครั้นสะดุ้งตื่นและมีสติ  จึงได้แต่ปลอบประโลมตัวเองอย่างเงียบๆ ว่า “ฝันร้าย-กลายเป็นดี”

 

 

 

 

ปีนี้-  ลูกเณรทำหน้าที่เณรพี่เลี้ยงอย่างชัดแจ้ง  เป็นเสมือนหัวหน้าทีมคอยนำเณรน้อยออกบิณฑบาต และรับหน้าที่เป็นผู้ให้พรต่อญาติโยมที่มาทำบุญตักบาตรอย่างเสร็จสรรพ

       ผมมองและมองอย่างเป็นสุขกับภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยชีวิตเช่นนั้น และยิ่งมาเห็น “เจ้าจุก” (เด็กชายไท)  กุลีกกุจอแหกตาตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่ออาบน้ำอาบท่า จากนั้นจึงตรงดิ่งเข้าวัดเพื่อทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยพี่เณร”  หรือ “เด็กวัด”  อย่างไม่อิดออด ยิ่งพลอยให้ผมปลื้มปีติ อิ่มสุขและมีพลังอย่างบอกไม่ถูก พร้อมๆ กับการพร่ำคิดไปเองว่า การงานแห่งลูกทั้งสอง จะหนุนส่งให้  “แม่” ผู้ “ล่วงลับ” ได้รับผลบุญเหล่านี้อย่างมหาศาล

และปีนี้ก็ถือว่า เป็นปีแรกที่น้องดินและน้องแดน ได้ใช้ชีวิตในวิถีเช่นนี้อย่างกลมกลืนร่วมกัน  - 

 

 

 

ครับ- ก่อนการบวชเณรนั้น  ผมพูดคุยกับลูกทั้งสองชัดเจนเกี่ยวกับวิถีการบรรพชาภาคฤดูร้อน  เพราะในบางมิติคนในชุมชนก็บ่นพร่ำว่าการบรรพชาภาคฤดูร้อนเป็นการกิจกรรมที่อุปโลกน์ขึ้นมารองรับการ “หาเงินหาทองเข้าวัด”  ล้วนๆ  
        โดยทั้งปวงนั้น  ผมพยายามสื่อสารให้ลูกได้เข้าใจในทำนองว่า ตัวเองได้บวชเณรในช่วงปิดเรียนมายาวนานถึง ๖ ครั้งแล้ว  เป็นการข้ามพ้นในเรื่องเหล่านั้นมาแล้วในระดับหนึ่ง ไม่ใช่บวชตามกระแส หรือบวชให้เท่ห์  หรือบวชเพราะถูกบังคับกะเกณฑ์

        ครับ- ผมยืนยันว่า  การบวชทุกครั้ง  น้องดินจะรู้ตัวเองว่าบวชเณรเพราะอะไร (บวชแล้วได้อะไร)  และยิ่งการบวชก่อนใครอื่นนั้น  ก็ชัดเจนว่า “น้องดิน”  ได้ข้ามพ้นธรรมเนียมนิยมของการบรรพชาภาคฤดูร้อนของชุมชนมาแล้วในระดับหนึ่ง   มิใช่บวชไปตามกระแสเพื่อให้ได้ทุนรอนเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นค่าขนมนมเนย 
         และมิใช่บวชเพียงเพราะไม่มีอะไรทำที่บ้านเกิด  
         ไม่ใช่บวชเพราะดื้อรั้นจนต้องส่งมาเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านกระบวนการทางศาสนา 
         หรือกระทั่งจำเป็นต้องบวช เพราะพ่อแม่ ปู่ย่า เครือญาติไม่มีเวลาที่จะดูแลเลี้ยงดู ฯลฯ

         สิ่งเหล่านี้ ระหว่างผมกับลูกๆ ทั้งสอง  หรือแม้แต่ระหว่างผมกับเครือญาตินั้น  เราพูดคุยกันชัดเจนแล้ว-
         เป็นความชัดเจนก่อนที่น้องดินจะตัดสินใจบวชด้วยซ้ำไป

 

 

 

ครับ- ปัจจุบันวิถีแห่งการบรรพชาภาคฤดูร้อนในชุมชนต่างๆ ล้วนก่อร่างสร้างตนบนฐานคิดที่ดีด้วยกันทั้งนั้น  ถึงแม้รูปแบบในบางเรื่องจะเปลี่ยนผันไปบ้างก็เถอะ  แต่โดยส่วนตัวผมก็ยังเชื่อมั่นว่ากระบวนการบ่มเพาะชีวิตของเด็กและเยาวชนผ่านวิถีทางศาสนายังสำคัญอย่างยิ่งยวด  เพียงแต่เราต้องชัดเจนว่า  เราให้ลูกหลานบวชไปเพื่ออะไร (เพื่ออะไรกันแน่) 
       และในอีกทำนองหนึ่งก็คือ ลูกหลานของเราต้องตอบตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่า "... บวชไปเพื่ออะไร  หรือแม้แต่บวชแล้วได้อะไร..."

      ส่วนกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงบิดเบี้ยวไปบ้างตามกระแสบางอย่างนั้น  ผมว่าถ้าเราชัดเจนตั้งแต่แรก  ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงในการที่จะจัดการ หรือประคองตนให้ข้ามพ้นสิ่งเหล่านั้นได้  
      เพราะในเนื้อแท้ ผมเชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ก็มิได้บัญญัติให้มีการบรรพชาหรืออุปสมบท “พระเณร” จำนวนเยอะๆ เพื่อไปทำหน้าที่ “ระดมทุน” ให้ได้เงินได้ทอง หรือข้าวของเยอะๆ ไปสร้างศาลาหลังใหญ่ๆ หรือเปลี่ยนหลังคาวัดจากไม้ หรือไม่ก็สังกะสีให้เป็นกระเบื้องวับวาวเหมือนที่พบเห็นดารดาษในปัจจุบัน

 

 

 

เหนือสิ่งอื่นใด  สำหรับปีนี้  โดยส่วนตัวแล้ว  ผมมองว่า  ทั้งน้องดินและน้องแดน  ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างน่าชื่นชม  เพราะถือเป็นปีแรกที่สองหนุ่มได้ใช้ชีวิตในมิติของประเพณี หรือกิจกรรมของชุมชนและศาสนาอย่างกลมกลืนร่วมกันในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ...

      ซึ่ง (มัน) ดีกว่าการวิ่งเล่นอย่างเปล่าเปลืองในแต่ละวัน  
      และดีกว่าการจ่อมจมอยู่กับละครทีวี และเกมนานาชนิดในมือถือที่นับวันยิ่งทรงอานุภาพอย่างมหาศาลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆ และเยาวชนให้ห่างไกลไปจากครัวเรือน-บ้าน-วัด และโรงเรียน ขึ้นทุกวัน และทุกวัน
      ครับ- ถึงตรงนี้ก็ยังอยากจะยืนยันว่า การบรรพชาภาคฤดูร้อน ยังคงเป็นบทเรียนพิเศษสำหรับลูกๆ ของผม เพราะผมเชื่อมั่นว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาตนเอง และเป็นกระบวนการอันสำคัญในการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะ หรือจิตสำนึกรักษ์บานเกิดในอีกมิติหนึ่ง (ที่เราควรให้ความสำคัญ และจริงจัง จริงใจต่อการสร้างสรรค์ มิใช่ทำขึ้นเพื่อกระแสหลักในบางเรื่องเท่านั้น)


หมายเลขบันทึก: 566129เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2014 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2014 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

แม่ย่าไปดีมีความสุข ลูกและหลานสืบสานวิถีดีงามต่อไป .... อย่างค่อย ๆ เข้าใจและชัดเจนในแบบของตน

"ผู้ช่วยพี่เณร" เท่มากค่ะ ดูตัวยาวขึ้นมากนะคะ ^_,^

...ชื่นชม "เรียนพิเศษที่บ้านนอก" ...สองหนุ่มได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากๆนะคะ...

อนุโมทนาสาธุกับพี่เณรพี่เลี้ยงด้วยค่ะ
และชื่นชมผู้ช่วยพี่เณรพี่เลี้ยง

  • ขอชื่นชมและขออนุโมทนาด้วยครับ

ดูแล้วมีความสุข

เด็กน้อยทั้งสองคน

โตมากๆเลย

ครับ พี่หมอ ทพญ.ธิรัมภา

ตอนนี้น้องดิน ยืด-ผอม-บอบบางมากครับ
ปีนี้จะขึ้น ม. 1 แล้ว..
คงเรียนหนักขึ้น ปรับฐานความรู้ยกใหญ่
เวลาที่จะกลับไปเรียนพิเศษที่บ้านนอกอาจน้อยลงไปตามสัดส่วน...

ขอบพระคุณครับ

ครับ พี่ ดร. พจนา แย้มนัยนา

เรื่องราวของพวกเขา กลายเป็นแรงบันดาลใจของการเขียนหนังสือเล่มที่ยังไม่จบครับ (ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก)

ขอบคุณพี่ใหญ่  นงนาท สนธิสุวรรณ  ที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

ครับ พี่ noktalay

พยายามอย่างมากมาย  ให้เด็กสองคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันภายใต้บริบทเดียวกัน ครับ

ขอบคุณครับ พี่ สามสัก(samsuk)

... เป็นการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน, พี่ช่วยน้อง, และน้องช่วยพี่ ครับ

55

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท