ความล้า - จัดการที่ความคิด


ขอขอบพระคุณพญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ (พี่หมอนุ้ย) ที่เล่าเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการจัดการสุขภาวะ

บันทึกนี้ได้รับความตั้งใจในการเผยแพร่ประสบการณ์ชีวิตของ "พี่หมอนุ้ย" ผู้ซึ่งมีพระคุณในการช่วยเหลือชีวิตของดร.ป๊อปครั้งที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ และด้วยความมุ่งมั่นในการจัดการความคิดของพี่สาวที่รักของผม...ทำให้ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและมีสุขภาวะได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโปรแกรมจัดการความล้าที่ผมออกแบบให้นี้จะผสมผสานกิจกรรมบำบัดจิตสังคมและสรีรวิทยาการออกกำลังกาย แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นผมจึงขอแก้ไขคำของพี่นุ้ยจากคำว่า "กายภาพ" เป็น "กิจกรรมบำบัด" เพราะกัลยาณมิตรหลายท่านเข้าใจว่า ผมมาจากคณะกายภาพบำบัด แต่ต้องคุยกันบ่อยๆให้เข้าใจว่า ผมเป็นนักกิจกรรมบำบัด ครับผม

28 มีนาคม 2557 วันรู้ตัวประมาณตัว

เช้าวันนี้ไปออกกำลังกายตามปกติแต่เช้า โดยการเดินรอบหมู่บ้านเนื่องจากเมื่อวานตอนเย็นกลับบ้านก่อนฟ้ามืดแล้วออกไปวิ่งพบว่าตัวเองวิ่งไม่ค่อยไหว..ไม่ได้เหนื่อยเพียงแค่รู้สึกล้า เสร็จแล้วขับรถไปทำงานตามปกติ นึกดีใจเล็กๆว่าดีแล้วที่เปลี่ยนรถมาเป็นเกียร์ออโต้ได้ 2 ปี ทั้งๆที่โดยปกติชอบขับรถเกียร์ธรรมดามากเพราะเราควบคุมมันได้ด้วยตัวเราเอง แต่วันนี้เมื่อเราควบคุมกล้ามเนื้อซีกซ้ายไม่ได้ เกียร์ออโต้จึงเป็นคำตอบให้สามารถขับรถมาทำงานได้ตามปกติโดยไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  เช้านี้ตั้งใจจะทำงานสองที่เริ่มด้วยเซ็นชื่อทำงานที่บำราศทักทายผู้คนก่อน แล้วขออนุญาตไปเปิดงานอบรมผู้ใช้งานโครงการ THIP ที่มุ่งหวังให้รพ.ใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัดเพื่อการพัฒนา บ่ายจะกลับมาตรวจคนไข้ให้ฉ่ำปอด งานช่วงเช้าผ่านไปได้ด้วยดี เรายังพูดได้เรายังสื่อสารได้ ยังทำให้คนมีความสุขยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ รู้สึกว่าเรายังทำประโยชน์ได้ แม้ว่าเราจะอ่อนแรงร่างกาย ช่วงบ่ายกลับมาตรวจคนไข้ตั้งใจจะตรวจเจ้าหน้าที่แบบไม่จำกัดแต่เรากลับพบว่าเราต่างหากที่มีข้อจำกัด ตอนแรกรู้สึกดีใจมากที่จะได้ตรวจคนไข้อีกครั้ง นั่งซักประวัติ เขียนประวัติ พูดคุยซักถามอย่างมีความสุข  ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่นแต่เมื่อถึงเวลาตรวจภายใน เราเริ่มพบว่าเรามีปัญหา เราใส่ถุงมือข้างซ้ายลำบากต้องประคองและสั่น  เราใช้มือขวาเป็นหลักในการตรวจแต่มือซ้ายต้องช่วย พบว่าช่วยได้น้อยมากความตั้งใจที่จะตรวจจำนวนคนไข้มากมายเริ่มลดลง แต่ก็ฝืนตรวจจนครบที่มานั่งรอก่อน แต่ไม่ให้เรียกเพิ่มและไม่ต้องตามที่ลงคิวไว้ แล้วนั่งสนทนาแทนพร้อมกับประเมินตนเองว่าเราเริ่มมีข้อจำกัดกับการทำหัตถการ แต่ยังไม่คิดอะไรมาก คุยกับเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆอย่างเพลิดเพลิน จนถึงเวลาเย็น ดร.ป๊อบ กัลยาณมิตรจากโครงการ คศน. นักกิจกรรมบำบัดหนุ่มมาถึงเพื่อประเมินและจัดท่าเพื่อตรวจเราและเตรียมฝึกกิจกรรมบำบัดให้ น้องบอกว่าต้องไปหาห้องตรวจที่นอนได้ จึงชวนกันไปที่ห้องรอคลอด น้องป๊อบเคยมีประวัติอ่อนแรงข้างขวาอย่างทันที วินิจฉัยว่าเป็น Moya Moya ซึ่งเราอยู่ในเหตุการณ์เจ็บป่วยของน้องตอนนั้น ได้ช่วยดูแลได้ช่วยเหลือกันมาแต่วันนี้ วงจรแห่งไมตรีหมุนกลับน้องมาหาเราถึงที่เพื่อช่วยเหลือเรา น้องเริ่มจากการประเมิน reflex พบว่าเรามี hyper reflex ข้างซ้าย และขอประเมินกล้ามเนื้อแยกมัดสำคัญ ให้นอนคว่ำ และให้เรายกขาซ้ายขึ้น (abduct) ไม่น่าเชื่อเราทำไม่ได้ น้องบอกเราต้องพยายามทำท่านี้นะเอาแค่วันละ 5 ครั้งอาจต้องให้คนช่วยก่อน ท่าถัดมา ให้กางขาออกไปตามแนวราบ (extend) เราทำได้นิดเดียว น้องต้องใช้มือประคองช่วย ท่านี้อีก 5 ครั้ง ยังไม่คิดอะไรเพราะ เป็นท่าที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นไปได้ที่อาจทำไม่ค่อยได้ ต่อมาให้นอนหงายและให้ชันขาซ้ายขึ้นและให้ยกขาซ้ายมาไขว่ขาขวา เป็นครั้งแรกที่รู้สึกได้อย่างแท้จริงว่าเราอ่อนแรงไม่ธรรมดา เรายกไม่ได้เราต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เมื่อเปรียบกับข้างขาวเรายกสบาย น้องให้พยายามทำแค่ 3 ครั้งแต่ทำให้เราประเมินตนเองได้ว่า เราอ่อนแรงจริงน้องบอกว่า ช่วงล่างผมประเมินพี่ grade 3 + นะครับ ส่วนช่วงบน น้องประเมินได้ 4 เรามีปัญหาที่มือ และการยกแขนรวมถึงการคว่ำหงายโดยกล้ามเนื้อแขน น้องเขียนโปรแกรมให้ฝึก 8 ท่า โดยต้องมีคนช่วยพร้อมคุยกับพี่เอกคนข้างเคียงให้ช่วยเหลือการทำกิจกรรมบำบัดของเรา

 

ขอบคุณน้องป๊อบมากๆที่ทำให้ได้ประเมินตัวเองรู้ตัวเอง ถ้าดูจากภายนอก คนอื่นประเมินจะไม่พบความผิดปกติเลยเพราะเราเดินได้ พูดได้ ขับรถได้ บรรยายได้ เพราะเราใช้กล้ามเนื้อมัดอื่น กล้ามเนื้อด้านอื่นช่วยมาโดยตลอด แต่พอแยกมัดลงลึกเราจึงรู้ เหมือนคำที่กล่าวไว้ว่าใครจะรู้จักตัวเราเท่าตัวเราเอง เทียบตามงานคุณภาพตอนนี้เราเห็นโอกาสพัฒนา (เข้าเรื่องคุณภาพซักหน่อย) และจะพัฒนาได้เราต้องลงมือทำด้วยตัวเราเอง และต้องทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ

เมื่อกลับไปบ้าน ตอนเย็นเราลงมือทำ พบว่าเราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ต้องมีคนช่วย พี่เอกคือคนคนนั้น เราต้องทำเป็นทีม ต้องช่วยกันทั้งร่างกายและจิตใจ วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราเสียน้ำตาตั้งแต่พบว่าตัวเองผิดปกติมากว่า 2 อาทิตย์ เสียน้ำตาตอนที่เราทำกายภาพกับพี่เอก แล้วพบว่าเราไม่สามารถยกขาเองได้ เราต้องให้พี่เอกช่วยประคอง มันไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเกร็งกล้ามเนื้อขาเพื่อยกข้าม มันเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงว่าจะมากมายขนาดนี้ ในที่สุดเราก็พบว่าคนที่อยู่เคียงข้างคนที่ช่วยเราได้ ก็คือเขา คนอื่นใดก็ไม่สามารถมาอยู่ช่วยเราได้ตลอดไป เราต้องพยายามร่วมกันค่ะ เหมือนงานคุณภาพอีกละ ถ้าเราพบว่าเราทำคนเดียวไม่ได้เราก็ต้องทำเป็นทีมและต้องเป็นทีมที่เข้าใจกันช่วยกันอย่างตั้งใจ อาจมองเลยข้ามงานคุณภาพไปถึงประเทศไทย เราวินิจฉัยรอยโรคที่แท้จริงของประเทศไทยหรือยังว่าเราอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อประเทศมัดไหน เป็นตรงไหนก็แก้ตรงนั้นทำเองไม่ได้ก็ต้องช่วยกันนะคะ

การเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้เรียนรู้หลายเรื่องมากสำหรับชีวิต เรียนรู้ความลำบาก เรียนรู้คน เรียนรู้ตน และควบคุมใจ มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบวกเพื่อเติมพลังให้กับชีวิต เราพบว่าเรามีกัลยาณมิตรมากมายที่พร้อมช่วยเหลือแต่เหนื่อสิ่งอื่นใดต้องเริ่มและช่วยด้วยตัวเราเองก่อน เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต ให้เราหมั่นทบทวนร่างกายและจิตใจตนเอง ฝันมากมายที่เราอยากทำมันจะทำได้อย่างไรถ้าเรายังไม่ใส่ใจและเตรียมกายใจของเราให้พร้อม บนเส้นทางของความลำบากมักมีเรื่องดีเติมเข้ามา มีคนที่ดีเติมเข้ามา ขอแค่เราอย่าล้ากับชีวิต ใจยังพร้อมเดินต่อ เพื่อก้าวไปในวันพรุ่งนี้ด้วยพลังใจอันเข็มแข้งเพื่อสร้างพลังกายให้แข็งแกร่งต่อไป                                                                                          จากคนมีกำลังใจที่ไร้แรงค่ะ

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2557

ถึงน้องป๊อบที่รัก
 
เมื่อพี่กลับมาทำงานสรพ.วงจรชีวิตพี่เริ่มเหมือนเดิมคือเวลาน้อยลง แต่พี่ยังจัดลำดับความสำคัญสำหรับการออกกำลังกายและกิจกรรมบำบัดเป็นอันดับต้นๆ ทำทั้งเช้าและเย็น พี่ไม่สามารถนอนกลางวันได้ แต่ตอนนี้พี่มาหลับตอนเย็นแทน พอถึงตอนเย็น เพลีย จนหลับทั้งอาทิตย์เลย พี่อยากจะแจ้งข่าวดีเล็กน้อยว่าตอนนี้กล้ามเนื้อพี่ใกล้ปกติแล้วพี่ทำได้ทุกท่าที่ป๊อบบอกไว้แบบไม่ติดขัดค่ะ และจะนำสามแผ่นใหม่พี่ป๊อบให้มาทำอย่างครบถ้วนอีกนับแต่วันนี้ค่ะ
 
ด้วยความยินดีค่ะ หลังจากทบทวนแล้วเผยแพร่ได้ครับมิสงวนนามค่ะ หากเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นทั่วไป
 
ขอบคุณน้องชายคนดีมากนะคะ
 
พี่นุ้ยค่ะ
 
ปล. ผมได้ประเมินความก้าวหน้าของการสงวนพลังงานในการจัดการความล้าผ่านกระบวนการรู้คิดในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่เกิดความสมดุลระหว่างการดูแลตนเอง การทำงาน การใช้เวลาว่าง และการพักผ่อน ดังนี้:-
 
จันทร์-ศุกร์ (สัปดาห์ที่ผานมา) พี่นุ้ยได้ใช้พลังงานในการทำงานระหว่าง 60-100% โดยเฉพาะงานที่ต้องยืน-เดินเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการมากถึง 9 ชม. ในวันพุธ และเป็นประธานในที่ประชุมมากถึง 3 ชม. ในวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ แต่พี่นุ้ยเพิ่มเวลาการพักผ่อนด้วยการนอนหลับ 1-2 ชม.ในช่วงเย็นแล้วตื่นมา (ด้วยการได้พลังงานกลับคืนถึง 100%) แล้วทำงานคอมพิวเตอร์มากถึง 2-3 ชม.ตอนดึก (ใช้พลังงานถึง 60%) และบังคับตัวเองนอนให้เพียงพอ 6 ชม. เพื่อให้ได้พลังงานกลับคืนมาใช้ในวันถัดไปอีก 100% รวมทั้งใช้พลังงานเล็กน้อยในการออกกำลังกาย 2 รอบๆ ละ 30 นาที (เช้ากับเย็น) ทุกวัน และพักผ่อนเต็มที่ในการดูรายการทีวี + อ่านหนังสือที่ชอบ + นอนพักผ่อนในวันเสาร์-อาทิตย์อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีทำงานคอมพิวเตอร์บ้าง 2 ชม.
 
ผมจึงขอแนะนำเพิ่มเติมถึงการผ่อนคลายร่างกายทุกครั้งหลังการออกกำลังกาย เช่น การทำท่าโยคะเบาๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อตามลำดับส่วน เป็นต้น และการทำสมาธิแบบลืมตา การยืดกล้ามเนื้อ และการฝึก Brain Gym เพื่อการปล่อยวางและการกระตุ้นพลังงานในร่างกายนาน 5 นาทีก่อนออกกำลังกายและการทำงานข้างต้น   [ขอขอบคุณ Youtube.com]
 

 

หมายเลขบันทึก: 565464เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2014 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2014 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กัลยาณมิตรเป็นพลังที่มีค่ามากๆ นะครับ สำหรับการเจ็บป่วย....ขอบคุณครับ

...การทำกิจกรรมบำบัด...สามารถพบ และรักษาความผิดปกติของกล้ามเนื้อแต่ละมัด ก่อนที่จะเป็นมากจนเรื้อรังและเกิดอันตรายนะคะ

ขอบคุณมากๆครับคุณทิมดาบ พี่ดร.พจนา คุณอักขณิช และคุณ kanchana

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ สำหรับบันทึกดี ๆ

มีประโยชน์

ขอบพระคุณอีกครั้ง นะครับ

พี่พยายามแยกกายภาพบำบัด กับกิจกรรมบำบัดค่ะ เพราะเราจะคุ้นกับกายภาพบำบัดมากกว่า

ถ้าพี่จะอธิบายตามความเข้าใจตัวเองได้มั๊ยคะว่า

กายภาพบำบัด หมายถึงการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เรียกความแข็งแรงของสรีระคืนมา

กิจกรรมบำบัด คือการฟื้นฟูสมรรถนะในการใช้งานอวัยวะที่จำเป็นในชีวิตประวัน เช่น การใช้มือหยิบจับ

เวลาชีวิตเราวิกฤติหนัก เราจะรู้จักมิตรแท้ และ จำแนกว่าใครไม่ใช่มิตรแท้ก็ได้ค่ะ พี่ผ่านมาแล้ว

ขอบคุณมากๆครับคุณแสงแห่งความดี พี่โอ๋ และอ.นุ

ขอบคุณมากๆครับพี่ nui สำหรับความหมายที่พี่ให้มาก็ถูกเพียงบางส่วนครับ

สำหรับกิจกรรมบำบัด สามารถคลิกอ่านความหมายที่ถูกต้องได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/กิจกรรมบำบัด

ในสากล นักกิจกรรมบำบัด คือ ผู้เชี่ยวชาญประเมินและเพิ่มทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตในบุคคลทุกเพศวัยที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ และการพัฒนามนุษย์ ได้แก่ การดูแลตนเอง การเรียนรู้ การทำงาน การใช้เวลาว่าง การนอนหลับ การพักผ่อน และการเข้าสังคม ด้วยสื่อการรักษา คือ ตัวผู้บำบัด กระบวนการสอนและการเรียนรู้ การวิเคราะห์สังเคราะห์กิจกรรม การปรับสิ่งแวดล้อม และการสร้างสัมพันธภาพ รวมทั้งสร้างเสริมสุขภาวะในคนทั่วไป

ส่วนนักกายภาพบำบัด คือ ผู้เชี่ยวชาญประเมินและเพิ่มทักษะการเคลื่อนไหวในบุคคลทุกเพศวัยที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ด้วยสื่อการรักษา คือ การออกกำลังกาย การใช้มือนวดดัดดึง การฟื้นฟูระบบหัวใจ-หลอดเลือด-ปอด กายภาพบำบัดทางการกีฬา การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด (เช่น ความร้อนลึก ความเย็น ฯลฯ) รวมทั้งสร้างเสริมสุขภาวะในคนทั่วไป

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท