ฉบับที่ ๒๕ เรื่องเล่าจากริมโขง


ผู้เขียนนำเรื่องเล่า ของ พ.จ.อ.อนุชา อุภัยชีวะ เขียนส่งมาที่ ศจย. เมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในการที่ได้ช่วยคนในการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เพื่อส่งต่อเป็นตัวอย่างค่ะ

  เรื่องเล่าจากริมโขง

 พ.จ.อ.อนุชา อุภัยชีวะ เล่าว่า เรื่องเล่าจากริมโขงนี้ เกิดขึ้นเนื่องจาก การตรวจเยี่ยมติดตามงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะออกตรวจเยี่ยมติดตามงบที่เขต 10 อุบลราชธานี โรงพยาบาลเขมราฐ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ สปสช. จะมาเยี่ยม กระผมรับผิดชอบงานยาเสพติดและคลินิกอดบุหรี่ จึงต้องเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะตรวจเยี่ยม จึงมีเรื่องความสำเร็จของการทำงานมาเล่าให้ฟังดังนี้

เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว มีผู้ป่วยรายหนึ่ง ญาติพามาที่คลินิกอดบุหรี่ เป็นผู้ป่วยชาย อายุประมาณ 75 ปี ญาติบอกผมว่า ลุงเป็นความดันโลหิตสูง และหลอดลมอักเสบ แต่ก็ยังไม่หยุดสูบบุหรี่ จะหยุดเฉพาะเวลาป่วยเท่านั้น

ผมได้พูดคุยกับลุง พบว่า “ลุงสูบบุหรี่มาแล้ว 50 ปี และเริ่มสูบตั้งแต่อายุ 20 ปี เพราะอยากลองสูบเพื่อเข้ากลุ่มเพื่อนๆ ทำมาเรื่อยๆ จนติด ปัจจุบันสูบเป็นยาเส้นมวนเองวันละ ไม่ต่ำกว่า 20 มวน โดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย จนกระทั่ง 5 ปีก่อน เริ่มมีอาการเหนื่อย ไอมีเสมหะเหนียว มาตรวจที่รพ.หมอบอกว่าเป็นความดันโลหิตสูง และหลอดลมอักเสบ หมอแนะนำให้เลิกบุหรี่ แต่ลุงยังไม่ได้หยุดสูบนะ จะหยุดเฉพาะเวลามีอาการไอเยอะๆ หรือเจ็บป่วยเท่านั้น ลุงเล่าต่อว่า เดือนที่แล้วเริ่มมีอาการไอมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น จึงพยายามงดบุหรี่ด้วยตนเองมาแล้ว 20 วัน วันนี้มารับยาความดันสูงจึงชวนมาคลินิกอดบุหรี่ด้วย”

จากที่ได้ฟังลุงเล่า ผมจึงได้ประเมินระดับการติดนิโคตินในร่างกายของลุง พบว่าลุงติดนิโคตินในระดับสูง จึงได้ใช้กระบวนการให้คำปรึกษาและสร้างแรงจูงใจ 5A 5R กับคุณลุงและญาติ ชื่นชมคุณลุงที่อยากเลิกบุหรี่และสามารถเลิกมาได้ 20 วัน เพื่อสร้างกำลังใจให้คุณลุงต่อไป และคุณลุงเองก็ยินยอมที่จะเลิกบุหรี่ต่อเพื่อภรรยาและลูก

คุณลุงเข้าสู่โปรแกรมบำบัดโดยกระบวนการให้คำปรึกษา และใช้ยา Bruporpion sr ร่วมด้วย และนัดติดตามอาการ 1 สัปดาห์

1 สัปดาห์ผ่านไป ลุงมาตามนัด และไม่ได้สูบบุหรี่อีกเลย แต่มีปัญหาว่ากินยาแล้วใจสั่นจึงหยุดยาโดยไม่ได้บอกหมอ หลังจากนั้นได้ติดตามอาการผู้ป่วยทุกสัปดาห์ ผู้ป่วยก็ยังไม่ได้สูบบุหรี่อีกเลย หลังจากโทรไปติดตามอาการ ลุงบอกว่า มีวันหนึ่งได้ไปงานบุญมีการดื่มสุรากับเพื่อน เพื่อนจึงชวนสูบบุหรี่จึงได้สูบไป 2 มวน จึงได้ให้คำแนะนำและให้กำลังใจผู้ป่วยผู้ป่วยก็ได้ให้สัญญาว่าจะไม่สูบอีก

“ผู้ป่วยรายนี้ได้ตั้งใจเลิกบุหรี่อย่างเด็ดเดี่ยวจะทำให้เลิกได้แต่หากยังอยู่ในสภาพแวดล้อมและมีสิ่งกระตุ้นอยู่เสมอก็อาจเสพซ้ำได้อีก ฉะนั้น กำลังใจและความใส่ใจของครอบครัว คนรอบข้าง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มากกว่ายาที่ใช้ในการช่วยในการเลิกบุหรี่”

ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างแท้จริง

รติกร เพมบริดจ์ [email protected]

หมายเลขบันทึก: 564833เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2014 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2014 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชื่นชมในความตั้งใจของคุณลุงจนทำได้สำเร็จ และเป็นกำลังให้คนทำงานด้านนี้ครับ

ขอบพระคุณและยินดีด้วยกับคุณรติกรและคณะนะครับ ที่แบ่งปันเรื่องการที่ได้ช่วยคนให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยให้ผู้เสพย์ติดไม่กลับไปสูบอีกนะครับ

เป็นเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจ

ให้คนเลิกบุหรีได้ดีมากครับ

กำลังหาแสงสว่างอยู่เลยครับ

เจอบ่อยเจอเยอะ เจอทุกวัน บางคนก็ปล่อยๆ ไป

บางคนก็ซีเรียส เช่น เป็น COPD หอบเยอะมาบ่อย แต่สูบวันละซอง และไม่มีความตั้งใจหยุด แบบนี้ยาก ส่งไปคลินิกจิตเวชก็ไม่ไป

ไปทำเส้นเลือดหัวใจมาแล้วยังไม่ครบเดือนก็ยังสูบต่อ แบบนี้เราห่วง แต่ถ้าไม่ตั้งใจก็ยาก

แต่สำหรับคนที่ตั้งใจก็มีเยอะค่ะ พอแนะนำเขาหยุดได้ โดยไม่ต้องส่งไปไหน หยุดเอง น่าชื่นใจ

คนไข้มี ๔ ประเภทสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องบัว ๔ เหล่าค่ะ

สมัยเมื่อคุณพ่อมีชีวิตอยู่

ท่านสูบบุหรี่มายาวนานมาก

วันหนึ่งฟังวิทยุบอกว่าวันนี้วันงดสูบบุหรี่โลก

คุณพ่อท่านก็เลิกเลยทันทีไม่กลับไปสูบอีก

นับว่าจิตใจมีผลต่อการตัดสินใจของคนมากนะคะ

ขอบคุณบันทึกดีๆนี้ค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจค่ะ การทำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจจากคนใกล้ชิดค่ะยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานค่ะ ท่านใดมีประสบการณ์ดีๆ เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท