ห้องเรียนกลับทางสร้างนักเรียนกลับใจ


เคยเขียนถึงแนวคิดของห้องเรียนกลับทางหรือ flipped classroom ไปแล้วนะครับ และถึงวันนี้ ครูอาจารย์หลายๆ ท่านก็คงได้ทดลองใช้เทคนิคการกลับทางห้องเรียนแล้ว และผมเชื่อว่าปัญหาหรือคำถามหลักประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ลองใช้เทคนิควิธีนี้คือ “จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนสนใจและเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน?” ในเมื่อห้องเรียนกลับทางจงใจผลักภาระการเรียนให้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนมากกว่าผู้สอนการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม

flipped

ต้องยอมรับว่าการบอกให้ผู้เรียนไปดูวิดีโอมาก่อนที่จะเข้าห้องเรียนเป็นเรื่องที่ท้าทายขนบธรรมเนียมของบ้านเรามาก หากไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนก็มีแต่นักเรียนต่างชาติและนักเรียนไทยที่ขยัน (ซึ่งมีไม่มาก) เท่านั้นที่จะเตรียมตัวมา

การแก้ปัญหานี้สำหรับในต่างประเทศหรือในสถาบันการศึกษาที่มีทรัพยากรพร้อม ข้อแนะนำคือให้มีมาตรการตักเตือนนักเรียนที่ไม่ได้ดู ไม่ได้เตรียมตัวก่อนมาเรียน คือให้เขาไปดูวิดีโอ ในขณะที่คนอื่นในชั้นทำกิจกรรมกันสนุกสนาน แต่นั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์เพียงพอ (และควรจัดเอาไว้ตรงมุมๆ ห่างจากจุดที่ทำกิจกรรม จะได้รู้สึกเปล่าเปลี่ยว เดียวดาย)

สำหรับตัวผมเอง เท่าที่เคยทดลองนั้น ผมใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยโดยการกำหนดคะแนนให้กับการทำกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องไปเรียนรู้เองนอกห้อง แม้จะเป็นการกำหนดคะแนนเพียง 1 – 2 เปอร์เซ็นของคะแนนทั้งหมด ก็ถือว่าได้ผลดีมาตลอด ช่วยให้กิจกรรมออนไลน์ที่ผู้เรียนต้องจัดการแบ่งสรรเวลาด้วยตัวเองเป็นไปได้ด้วยดี มีความรับผิดชอบกันมากขึ้น

แต่สิ่งที่ผมทำอยู่ไม่ได้เรียกว่าห้องเรียนกลับทาง แต่เป็นการเรียนแบบผสมผสานหรือ Blended Learning

ถ้ายึดกับนิยามของคำว่า “ห้องเรียนกลับทาง” จริงๆ ที่มีแค่การดูวิดีโอ ไม่ได้ทำงานกลุ่มหรือกิจกรรมออนไลน์อย่างอื่น ก็ยังพอมีทางวัดผลหรือตรวจสอบว่าผู้เรียนพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมในห้องเรียนหลังจากดูวิดีโอหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็นการสร้างแบบทดสอบสั้นๆ ระหว่างดูวิดีโอ หรือหลังจากจบวิดีโอ

การสร้างแบบทดสอบขั้นระหว่างดูวิดีโอนั้นดูจะยากไปสักหน่อยครับ มีประเด็นด้านเทคนิคพอสมควร (ใครที่เคยเรียนใน https://www.coursera.org/ อาจจะเคยเห็น คือดูไปสักห้านาทีมันจะหยุดแล้วมีคำถามขึ้นมา ต้องตอบให้ถูกถึงจะผ่านไปดูช่วงถัดไปได้) แต่ถ้าเป็นการทำแบบทดสอบหลังจากดูวิดีโอจบแล้วมาตอบแบบสอบถามสักห้าข้อสิบข้อนี่ไม่ยากครับ สถาบันที่มีการใช้ learning management system อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น moodle หรือ WebCT ก็สามารถแปะวิดีโอไว้หน้าหนึ่งแล้วสร้างทำแบบทดสอบปรนัยไว้ทบทวนก่อนเข้าห้องอีกหน้าหนึ่งได้ แต่ที่ผมยังไม่ค่อยพอใจสำหรับวิธีการนี้คือวิดีโอและการทำแบบทดสอบควรจะอยู่ในหน้าเดียวกัน ซึ่งผมเชื่อว่ามีผลทางจิตวิทยาอยู่พอสมควร

สถาบันไม่มีระบบ LMS หรือมีแต่ยังไม่ค่อยพอใจ (เหมือนผม) หรือไม่มีทรัพยากรนี้ ผมมีข่าวดีมาบอกครับ

เว็บไซต์ Edutopia ได้รวบรวมเอาเครื่องมือออนไลน์หลายตัวที่สามารถทำให้ฝันของครูที่อยากกลับหัวห้องเรียนเป็นจริงไว้ในบทความที่ชื่อ Interactive Video Tools for Engaging Learners

จากข้อมูลในบทความนี้ เขาพูดถึงเว็บแอพพลิเคชั่น 8 ตัวที่มีความสามารถในการดึงเอาคลิปวิดีโอเข้ามาและแทรกคำถามเอาไว้ตอนท้ายได้ ซึ่งจาก 8 เว็บนี้ ผมลองไล่ดูวิดีโอแล้ว ขอเลือกมาเพียง 2 ตัว (ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากครับ ขี้เกียจจะรีวิวทุกตัว ฮา!)

เว็บแอพพลิเคชั่นอันแรกที่จะพูดถึงพัฒนาโดย TED-Ed ซึ่งเป็นผู้ให้บริการและรวบรวมวิดีโอการบรรยายเกี่ยวกับการศึกษาเจ๋งๆ จากทั่วทุกมุมโลก เครื่องมือนี้มีชื่อแบบมักง่ายว่า Lessons ขั้นตอนการทำงานเพียงสามขั้นตอนคือ (1) ค้นหาวิดีโอ (2) เลือกวิดีโอ และ (3) สร้างบทเรียนจากวิดีโอ ไอ้สองข้อแรกมันไม่ยากครับครับ ยิ่งถ้าเรามีวิดีโอในใจหรือวิดีโอของเราเอง ก็แค่ไปก๊อปปี้เอาลิงค์มาแปะได้เลย ไฮไลท์มันอยู่ที่ข้อสุดท้ายมากกว่าเพราะเมื่อผู้เรียนดูจบปุ๊บ ก็จะได้ทำแบบทดสอบปั๊บเลย

เว็บแอพพลิเคชั่นต่อมาที่ผมลองดูแล้วน่าสนใจคือเครื่องมือที่ทาง Youtube เขาพัฒนาขึ้นมาเองครับ ชื่อว่า Video Questions Editor แต่ยังอยู่ในรูปแบบ Beta นะครับ วิธีใช้งานคล้ายของ Ted-Ed มาก ลองดูตามวิดีโอนี้ได้เลยครับ

ส่วนตัวผมเตรียมวิดีโอไว้ใน TED-Ed เรียบร้อยแล้ว จะลองใช้ภายในเร็ววันนี้ครับ ใครลองใช้ ได้ผลอย่างไร มาเล่าสู่กันฟัง

ผมว่าอย่างน้อยเทคนิคนี้เราไม่ต้องลุ้นว่านักเรียนจะเตรียมตัวมาหรือเปล่า เพราะเห็นคะแนนตั้งแต่ก่อนเจอหน้าเลยครับ

 

ภาพประกอบ: http://srhabay.wikispaces.com/15+CLASSROOM+COMMANDS

หมายเลขบันทึก: 563228เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2014 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2014 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท