เก็บมาฝากจากกิจกรรม “ตื่นรู้ 3”   ตอนจบ


ทิ้งช่วงไปหลายวัน กับบทสุดท้าย ต้องขออภัยด้วยลูกชายปิดเทอม ปิดตั้งแต่วันที่

28 ก.พ.ที่ผ่านมา ดังนั้นเวลาก็เลยหมดไปกับการใช้ชีวิตภายในครอบครัวตัวเอง  ตั้งใจว่าจะพิมพ์ตอนลูกหลับ ผลคือหลับไปพร้อมลูกฮ่าๆๆ ใช้พลังเยอะในแต่ละวัน มาต่อกันให้จบดีกว่าจ้า 

ช่วงบ่ายกิจกรรมแรกคือ workshop “เท่าทัน”  เลี้ยงลูกอย่างไรให้เท่าทันสื่อ ก็จะมีคำถาม ส่วนตัวคิดว่าเป็นคำถาม ให้ทบทวนตัวเอง เช่น ใครคิดว่าตัวเองติดสื่อบ้าง ใครคิดว่าลูกตัวเองติดบ้าง ใครมั่นใจว่าตัวเองสามารถเลี้ยงลูกได้เท่าทันสื่อบ้าง ฯลฯ ประมาณนี้นะคะ คือตอนที่เข้าร่วมกิจกรรม ไม่มีสมุดปากกาให้จด มีเพียง ตัว กับ หัวใจ   การตอบคำถามคือให้ลุกยืนขึ้นสำหรับใครที่ตอบว่าใช่ บางคำถามตัวเองฟังแล้วก็คิดสักพัก คือ บางครั้งก็เกิดอาการลังเลไม่แน่ใจตัวเองว่า เอ...เราใช่ไหมนะ หรือลูกเราใช่หรือไม่นะ  เป็นการเตือนตนได้ดีทีเดียวทำให้ตัวเองให้หยุดคิด กับการตอบคำถามที่บางทีก็แค่ผ่าน ๆ ไม่ได้มานั่งคิดทบทวนจริง ๆ จัง ๆ

 

จากนั้นก็มีเปิดสื่อให้ดู  เป็นสื่อที่ทำการสำรวจมาว่าลูก ๆ หลาน ๆ ของเราชื่นชอบในการดูสื่อเหล่านี้ แต่สื่อเหล่านี้ ล้วนเป็นสื่อที่ไม่ควรปล่อยให้ลูกดูลำพัง คือไม่เหมาะสมให้ลูกดูเนาะ  เช่นการ์ตูน ละคร มิวสิควีดีโอ เอาเป็นว่าไม่ขอระบุนะคะว่าเป็นเรื่องอะไร เพลงไหนบ้าง ส่วนตัวมีการ์ตูนเรื่องหนึ่งในนั้นที่ลูกก็เคยชอบดูสมัยติดยูบีซี ตอนนี้ยกเลิกไปหมดแล้วค่ะ นานแล้วเหมือนกัน เพราะเห็นว่าจะได้ประโยชน์ น้อยกว่าโทษที่จะได้  ก่อนยกเลิกก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งกับลูกเองและสามี   โชคดีที่ลูกเองก็เข้าใจ  เขายอมให้ยกเลิกแบบไม่อิดออด  แรก ๆ ก็มีอาการเรียกร้องอยากจะดูบ้าง  มีพี่ห้องตรงข้ามกันเขาติดอยู่ ก็มีแวะไปขอดูบ้าง นาน ๆ เข้าก็เฉย ๆ  คือไม่เห็นก็ไม่อยาก แต่ถ้าเห็น หรืออาจมีเพื่อนพูดถึงก็มีพูด ๆ อยากจะดูบ้าง 

 

เรื่องเพลง  มิวสิควีดีโอทั้งหลาย ปัจจุบันตระหนกและตระหนักว่ามีหลายเพลง หลายภาพเคลื่อนไหวเหลือเกินที่มันไม่เหมาะสมกับเด็ก ๆ ดูเลยสักนิด ทั้งยั่วยุ เร้ากิเลส เป็นต้นแบบที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ก็ยังเห็นหลายท่านปล่อยให้ลูกได้ดู ได้ร้อง ได้เสพกัน  อาจมองแค่ความ “สนุก”  บางเพลงเป็นเพลงฮิต ลูกเราไม่ได้ฟังอาจตกกระแส  ลูกร้องได้ เต้นได้ ชอบใจ มองว่า ก็เป็นเรื่องความสนุกสนานบันเทิง ลองมาสำรวจตรวจสอบเพลงที่ลูกเราฟังและดูกันว่าเป็นเพลงที่ดี หรือเหมาะสมกับลูกเราไหม ฟังแล้วนอกจากความสนุก ลูกเราได้อะไร  มันเป็นปกติของคนส่วนมากนะคะ  ที่จะมองถึงความสนุกสนานเพลินเพลินไว้ก่อน  ส่วนประโยชน์มีไหม พิจารณาไหมอีกเรื่อง  หากมีลูกหลานกันแล้วอยากให้เอาประโยชน์เป็นที่ตั้ง  ฝึกคิดแล้วจะได้คิด แล้วจะคิดได้  ส่วนตัวแม่ดาวแต่ก่อนก็แบบนั้น เรียกว่ามาฝึกเอาตอนมีลูกนี่แหละค่ะ    

 

มีคำถามหนึ่งที่จำได้แม่น คือ ใครที่คิดว่าตัวเองใกล้ชิดกับลูกมากรู้เรื่องของลูกทุกเรื่อง คือหากใครมั่นใจให้ยืนขึ้นแบบเดิม ข้อนี้แม่ดาวก็ยืนอย่างมั่นใจ หลังจากนั้นมีให้ทำกิจกรรมหนึ่ง คือ แจกกระดาษมาให้ 1 แผ่น ในแผ่นนั้นจะมี สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกับลุก เป็นข้อความไว้  ดังนี้  ทีวี  คอมพิวเตอร์ สิ่งพิมพ์ เพื่อน  จากนั้นให้เราเขียนแบบ mind map แยกออกมาแต่ละหัวข้อว่าลูกเราดูอะไร อ่านอะไร คบกับใครบ้าง จากนั้นให้บรรยายต่อด้วยว่า เนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวกับอะไร หรือเพื่อนแต่ละคนที่ลูกเราสนิทด้วยกันมีนิสัยใจคอย่างไร  พอต้องลงมือเขียนจริง ๆ ข้ออื่น ๆ ยังได้ มาติดตรงคอมพิวเตอร์(รวมสมาร์ทโฟน) ด้วย  เอาเข้าจริง ด้วยตัวเราเองไม่ชอบให้ลูกเล่นเกมส์ จึงปล่อยหน้าที่ตรงนี้ให้พ่อเขาทำหน้าที่นี้แทนเรา เขามักเล่นเกมส์กับพ่อโดยส่วนใหญ่ และมักชอบดูแนะนำวิธีการเล่นเกมส์จาก youtube ด้วย  ส่วนมากก็ดูคนเดียวระหว่างแม่ดาวทำงานบ้านอื่น ๆ  บางครั้งก็ดูกับพ่อ   น้อยครั้งมากที่จะมาเล่นและดูกับแม่ดาว  แต่ก็ไม่ได้ไม่สนใจเลยนะคะ แต่ดูห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ พอเข้าร่วมกิจกรรมนี้  ทำให้อยากมีส่วนร่วมกับลูกมากขึ้น อยากเป็นคนแรกที่ลูกคิดถึง ไม่ว่าเขาจะทุกข์หรือสุข  อยากให้เขาคิดถึงเราเป็นคนแรก   อยากให้เขาสามารถพูดคุยกับเราได้ทุกเรื่อง ดังนั้นจุดนี้คือช่องโหว่ ที่มองเห็นชัด ณ ตอนนี้ กลับมาจึงต้องมาอุดช่องโหว่ รูโบ๋นี้ด้วยตนเอง ต้องขอบคุณกิจกรรมนี้เนาะที่ทำให้ได้เห็นตัวเองชัดขึ้น เห็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข    

 

ระหว่างที่ทำกิจกรรม ก็มีเสียงลอยลม บ่น ๆ ออกมา ประมาณว่า พ่อแม่เองยังไม่รู้เท่าทันสื่อเลย จะเลี้ยงลูกให้รู้เท่าทันสื่อได้อย่างไร  ประโยคนี้แม่ดาวว่าจริงเลยนะคะ  ส่วนตัวก็คิดแบบนั้น พิจารณาที่ตัวเองนี่แหละ  หลายอย่างตัวเราเองก็ยังหลงผิด หลงกิเลส ดังนั้นคิดว่าต้องเริ่มที่สอนตัวเองไปด้วย ฝึกตัวเองไปด้วย  คุณครูที่เป็นวิทยากรเล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า ตัวเองไปเลือกซื้อหนังสือกับลูก ก็พิจารณาคร่าว ๆ ว่า เล่มที่เลือกนั้น ดี ผ่าน ให้ลูกอ่านได้  ก็ซื้อให้ลูกอ่าน ปรากฎว่ามีคนที่เคยอ่านหนังสือเล่มนั้น เตือนว่าหนังสือเล่มนั้นไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เนื้อหามีสอดแทรกยั่วยุอารมณ์ทางเพศเด็กด้วย  ด้วยความที่ไม่ได้พลิกเข้าไปอ่านเนื้อในอย่างละเอียด  จึงฝากเตือนมาว่า หากไปเลือกหนังสือ ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าดูแค่ชื่อปก อย่าไว้ใจกับรางวัลการันตีต่าง ๆ  อย่างว่านะคะ  ดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคิดว่าตัวเราเองควรจะพิจาณาให้ละเอียดรอบคอบดี ๆ 

 

ส่วนตัวเคยเจอเหมือนกัน เรื่องหนังสือส่วนตัวก็คิดว่าเลือกยากนะคะ  เอาเข้าจริงส่วนตัวไม่ได้มีเวลามายืนอ่านได้นานขนาด ๆ นั้น ก็พิจารณาจากเปลือกนอกส่วนหนึ่ง อ่านคำนำ  และพลิกสุ่มเนื้อหาส่วนหนึ่ง ยังเคยมีพลาดเป็นหนังสือสำหรับเยาวชน มีตัวเอกของเรื่องเป็นสุนัขยอดนักสืบ แต่มักสูบไปป์ เวลาต้องการใช้ความคิดในการสืบหาคดี  ยังดีที่เป็นแบบมีภาพนิดหน่อย เนื้อหาส่วนมากเป็นตัวหนังสือหมด เป็นการบรรยายด้วยตัวอักษร และแม่ดาวเป็นคนอ่านให้ลูกฟัง ไม่ได้อ่านก่อน ซื้อมาก็อ่านเลยตอนก่อนนอนคืนนั้น พออ่านมาเจอการบรรยายว่าสุดยอดนักสืบสุนัขเทพนี่ต้องสูบไปป์ ก็ข้ามไปเปลี่ยนบท แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป  บางคืนสามีช่วยอ่านให้ลูกฟัง ก็จะต้องบอกสามีล่วงหน้าก่อนว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมอย่างไร  ปกติตัวเราแก้ปัญหาอย่างไร เพราะส่วนมากด้วยปกติของสามีจะอ่านตามตัวอักษรเลย ต้องมีการส่งสัญญาณกันล่วงหน้า  มีภาพเหมือนแล้วลูกเห็น เขาก็ถามว่านี่อะไร ทำแบบนี้ทำไม เราก็ต้องชวนคุยกันไป  หากจำตอนที่แล้วได้ เรื่องคุณโจ้ ประทับใจคุณหนุ่ยมากที่รับบทน้ำพุได้เท่ห์มาก เหล่านี้ก็เช่นกัน  เหล่านี้ต้องช่วยกันระวัง สอนให้เขารู้เท่าทัน ชี้ให้เห็นเรื่องดี หรือไม่ดีอย่างไร โดยสรุปที่ฟัง ก็ได้แนวคิดให้มาคิดต่อยอดกันต่อไป ไม่ได้สรุปว่าต้องทำอย่างไรแน่ชัด ให้นำข้อคิดกลับมานั่งคิด ว่าจะนำมาใช้เป็นข้อปฏิบัติในชีวิตได้อย่างไร

 

กิจกรรมต่อไปเป็นกิจกรรม workshop “ I Love U” กิจกรรมนี้เป็นการสื่อสารแบบใช้หลัก

 “I message”  เป็นการพูดสื่อสารด้วยคำพูดเชิงบวก บอกว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่อีกฝ่ายทำโดยไม่กล่าวตำหนิอีกฝ่าย และอยากให้ผุ้ฟังทำอะไร หรือปฏิบัติอย่างไร  กิจกรรมนี้ก็จะมีการเปิดตัวอย่างเหตุการณ์ในละคร เป็นพ่อสนทนากับลูกเรื่องการเรียน จากสื่อจะเห็นว่าพ่อพูดด้วยเจตนาดี แต่วิธีการสื่อสารออกไปไม่ตรงกับใจที่คิด ขัดแย้งทำให้ลูกตีความไปผิดจากเจตนาที่ดีของพ่อ  จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันคิดและเสนอมาว่า ควรพูดกับลูกอย่างไรแบบสื่อสารตรงใจ I love you  จากนั้นก็มีกิจกรรมกลุ่มเป็นกลุ่มย่อย ๆ ให้จับกลุ่มแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวกัน เลือกเรื่องที่จะเล่า เลือกคนที่จะเล่า 1 คนในกลุ่ม (3 คน) คนที่เหลือคนนึงฟังและเล่าถ่ายทอดต่ออีกครั้งว่าฟังได้ใจความว่าอย่างไร  ส่วนคนที่3 ให้ฟังและบอกว่า คนที่เล่าคนที่ 1 และคนที่ 2 เล่าได้ตรงกันไหม ใครเล่าได้ดี ไม่ดีอย่างไร  เหล่านี้เป็นการฝึกฟังและพูด  โดยเน้นการฟังมากกว่าการพูด อันนี้ตามความเข้าใจนะคะ  และยังมีกิจกรรมกลุ่มอื่น ๆ อีก   ขอรวบรัดเอาที่ใจตัวเองอยากนำเสนอ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือการให้ได้ทดลองทำแบบฝึกหัด การสื่อสาร “ใจถึงใจ” การใช้ I message ในสถานการณ์ต่าง ๆ ฉบับนี้สำหรับผู้ปกครอง อนุบาล-ประถมต้น นะคะ ลูกใครโตกว่านี้จะลองทำเล่นฝึกฝนตัวเองดูก็น่าจะดีเนาะ   โดยสถานการณ์มีดังนี้

1. ลูกร้องอาละวาดไม่ยอมหยุดเล่น เมื่อถึงเวลาต้องไปทำกิจกรรมอื่น

ข้อนี้ตอนแรกคิดนานมาก เพราะผ่านมานานมาก ส่วนมากตัวเองใช้วิธีให้ทางเลือกเชิงบวกก่อนที่เขาจะเล่น จึงไม่เกิดเหตุร้องอาละวาด  แต่ก็พยายามจินตนาการว่า หากเกิดเหตุนี้ขึ้นต่อหน้า ตอนนี้ จะต้องทำอย่างไร โดยต้องรื้อความคิดเก่าออกก่อน เห็นตัวเองเลยว่ามีการต่อต้านความคิดตัวเอง เกิดความขัดแย้งภายในฮ่าๆๆ คือใจหนึ่งก็แบบขัดใจ เอ๊ะ ก็ลูกเราไม่ร้องนี่ ก็ป้องกันไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือไง ทำไมต้องให้ลูกร้องก่อน ฟุ้งนะคะ ฮ่าๆๆๆ  นี่เขาเรียกความคิดฟุ้งซ่าน ไม่อยู่กับปัจจุบัน ทะเลาะกับตัวเองสักพักก็นิ่งขึ้น อยุ่กับกิจกรรมในปัจจุบันได้

2. ลูกร้องไห้ไม่ยอมจากพ่อแม่เมื่อต้องมาโรงเรียน

3. ลูกต่อว่าพ่อแม่ด้วยความโกรธว่า “ไม่รักพ่อ/แม่แล้ว ใจร้าย”

4. ลูกร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน บอกว่าเพื่อนแกล้งไม่เล่นด้วยหรือไม่ชอบเพื่อน

5. ลูกอ่านหนังสือการ์ตูน/นิยายจนดึก ทำให้ตื่นสายและไปโรงเรียนสาย (ข้อนี้ขำ ลูกยังอ่านหนังสือเองไม่ได้ แต่อยุ่กับปัจจุบันคือ สมมุตนะคะสมุมุต )

6. ลูกล้างจานแล้วทำน้ำหกเลอะเทอะหรือทำจานแตก

7.ลุกไม่ทำการบ้านตามตารางที่ตกลงกัน เพราะเล่นดูทีวี หรือเล่นเกมส์ไม่ยอมเลิก

8. ทราบจากครูว่าลูกไม่ส่งการบ้าน มีงานค้าง

9. ลูกบอกว่าไม่มีการบ้าน แต่พ่อแม่มาพบทีหลังว่ามี

10.ลูกทำหน้าบึ้ง กระแทกเท้าที่พ่อแม่ไม่อนุญาตให้ไปเล่นบ้านเพื่อนหรือซื้อของที่ชอบ

11.ลูกแอบอ่านการ์ตูน หนังสือ หรือเล่นเกมส์ที่พ่อแม่ห้าม

12. ครูแจ้งว่าลูกชกต่อยหรือทะเลาะกับเพื่อนที่โรงเรียน

 

ลองทำกันดูนะคะ จะดีมาก หากท่านทำแล้วส่งแบ่งปันไว้หน้ากระดาน แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น ของท่านปันให้ผู้อื่นได้อ่านกันบ้าง  เหล่านี้เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติทั่วไป ไม่ต้องอาย  แม่ดาวเองก็ผ่านมาแทบจะครบทุกข้อแล้ว เชื่อว่าหากท่านแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันจักมีประโยชน์ต่อพ่อแม่ท่านอื่นมาก  แบ่งปันกันนะคะ สละเวลาคิดและพิมพ์แบ่งปันกัน แม่ดาวเองก็จะมาแบ่งกันเช่นกันค่า

 

และสุดท้ายเป็นช่วงปุจฉา-วิสัชฉนากับพระอาจารย์ขยสาโร

1. คำถามแรกมีคนถามท่านว่า อะไรเป็นจุดสำคัญในการเลี้ยงลูกให้รอดพ้นจากปัญหาทางเพศและยาเสพติด 

คำตอบ ท่านให้ปลูกฝังสัมมาทิฏฐิตั้งแต่เล็ก ท่านว่าปัญหาการสอนศีลธรรมคือมักสอนให้แง่ลบมากเกินไป ขู่เรื่องบาป ห้ามปรามให้เหตุผลแง่ร้าย ท่านว่าสมัยก่อนอาจได้ผล แต่สมัยนี้ ควรชี้ให้เห็นทุกด้านไม่ว่าจากดี หรือร้าย ชี้ให้เห็นรอบด้าน   ท่านให้สอนให้ลูกมี “เป้าหมาย” หรือมีหลักในการดำเนินชีวิต เหมือนให้เขามีเข็มทิศชีวิตของตัวเองว่าจะเดินไปทางไหน ให้เขาเห็นเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน   ในกรณีที่ลูกเกิดการเสพติดบางอย่าง ท่านให้หาสิ่งอื่นที่เป็นความอยากที่เป็นกุศลให้ลูกติดแทน ชี้ให้เห็นและเข้าถึงความสุขที่ดีกว่าทดแทนสิ่งเดิม  ข้อปฏิบัติรวม ๆ ที่คิดได้ ณ ขณะฟัง คือ ชื่นชม ชี้ให้เห็น และเป็นให้ดู  

2.  จริงหรือเรื่องเพศนั้น ทางออกคือสอนให้ลูกป้องกันตัวเองเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นทางออกทางเดียวจริงหรือ

ท่านตอบว่า ก็ไม่ใช่ทางออกเดียว ท่านก็กล่าวย้อนกลับมาเรื่องการปลูกฝังสัมมาทิฏฐิตั้งแต่เล็กก่อนฮอร์โมนวัยรุ่นจะทำงานฮ่าๆๆ   สอนและฝึกให้ลูกยับยั้งชั่งใจตัวเองตั้งแต่เล็ก เหล่านี้คือการป้องกันเนาะ  อย่างที่ใคร ๆ บอก กันไว้ดีกว่าแก้ แน่แท้ทีเดียว  ถ้าเกิดเหตุก็ต้องค่อย ๆ แก้ ไม่ใช่มานั่งกลุ้มกินน้ำตากันจริงไหม

3. หากตั้งใจเลี้ยงมาอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ลูกเกิดไม่ดี จะวางใจอย่างไร

ท่านตอบว่า  ให้เราคิดถึงตัวเราเอง เราเองก็ยังทำผิดพลาดได้ ลูกก็เช่นกัน ไม่ควรตีตราลูกด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ตอกย้ำว่า “ลูกไม่ดี”  หากลูกทำผิด ดีที่สุดคือยอมรับและให้อภัย ค่อย ๆ แก้ไขปัญหากันไป  เมื่อทำผิด ควรแก้ไข ทำใหม่ ตั้งปฏิธานว่า จะไม่ทำผิดอีก

ส่วนตัวคิดว่า ตอบเองว่า หากเป็นจริง จะทบทวนตัวเองแบบไม่เข้าข้างตัวเองดี ๆ ว่าปัญหาที่เกิด เราไม่มีส่วนจริงหรือ  มีหลายครั้งที่เกิดปัญหาทบทวนดี ๆ ตัวเองก็มีส่วนด้วยจริง ๆ แต่บางทีมักเข้าข้างตัวเองไม่ยอมรับผิด  ตรงนี้ที่ยาก การยอมรับผิด การมองเห็นตามความจริง ส่วนตัวสัมมาทิฎฐิสำหรับตัวเองนั้นก็ยังยากอยู่    คิดแบบคุณแม่ของคุณโจ้ ก็น่าจะดี มันเป็นวิบากกรรม ไม่รู้ล่ะจะชาติไหน หรือมันก็อาจจะชาตินี้แหละ แต่เราอาจสำรวจตรวจสอบไม่เห็นตัวเอง  ยอมรับผิดไปเลยแบบ เราก็มีส่วน 50 ลูกก็ 50 ประมาณนี้ ไม่กรรมลูก ก็กรรมเรานี่แหละฮ่าๆๆ  แบ่งรับมาคนละครึ่ง

 

จบไปอีก 1 วัน กับเรื่องราวดี ๆ กิจกรรมนี้ทำให้ได้ข้อคิด และนำกลับมานั่งคิดต่อมาได้ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมในชีวิต  ขอบคุณพ่อเอ  ขอบคุณผู้จัดกิจกรรม ขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรม ขอบคุณตัวเอง ขอบคุณสามีและลูก ที่ทำให้ได้มีโอกาสดี ๆ ในการเข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุก ๆ ความคิดเห็นที่จะร่วมแบ่งปันกันค่ะ  แล้วพบกันอีกทีเมื่อมีเวลาเข้ามาแบ่งปันกันนะคะ

 

    

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 563203เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2014 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2014 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆทั้ง๓ตอนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท