การส่งสัญญาณ (ทางความรักและความรู้)


ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์นั้น การแสดงความรักความห่วงใย ไม่ได้ทำด้วยใจ แต่มันมีราคาค่างวด ... ความรู้ก็เช่นกัน

ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใดครับ แต่เศรษฐศาสตร์ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจและติดตามอยู่เสมอ จากซีรีย์หนังสือและสื่อที่ชื่อ Freakonomics ครับ มีหนังสือ Freakonomics (เศรษฐพิลึก) เป็นเล่มแรก ตามมาด้วย SuperFrekonomics (เท่าที่ทราบ ยังไม่มีแปลไทย) และยังมีช่องทางอื่นในการติดตามเนื้อหาของ Freakonomics นั่นก็คือบล็อก http://freakonomics.com/blog/ และพอดแคส http://freakonomics.com/radio/

เรื่องหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผมมากๆ คือโมเดลการ “ส่งสัญญาณ” หรือเรียกเป็นทางการภาษาอังกฤษว่า Signaling เป็นโมเดลที่อธิบายว่าคนเราทำอะไรด้วยเหตุผลทางเศรษศาสตร์มากกว่าประสิทธิผล เช่นคนทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา (ซึ่งเป็นฝั่งหัวก้าวหน้า) จะติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ฝั่งถนน มากกว่าติดในฝั่งที่โดนแดด เพราะเป็นการส่งสัญญาณให้เพื่อนบ้านรู้ว่าฉันก็รักธรรมชาตินะ และในขณะเดียวกันก็ขับรถโตโยต้าพรีอุสมากกว่ารถยนต์ไฮบริดรุ่นอื่นๆ เช่น ฟอร์ดเอสเคป หรือฮอนด้าซีวิค ด้วยเหตุผลว่าโตโยต้าพรีอุส เขาออกแบบแตกต่างอย่างชัดเจนกับรุ่นที่ไม่ใช่รถประหยัดพลังงานในขณะที่ฟอร์ดและฮอนด้ามีตัวหนังสือขนาดเล็กติดบนตัวถึงวาไฮบริด ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าเราทุ่มทุนซื้อรถแพงเพราะความรักโลก ต่างกับรถพรีอุสซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้กับคนรอบข้างอย่างชัดเจนว่าฉันรักธรรมชาติขนาดควักเงินซื้อรถไฮบริดมาขับ

beatles

หลังการสำรวจการครอบครองรถยนต์ในอเมริกา เขาสรุปผลว่า “ยิ่งเพื่อนบ้านมีความรักธรรมชาติมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่คนในชุมชนจะเลือกใช้โตโยต้าพรีอุส” [1]

ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชื่อ “Everything I Ever Needed to Know about Economics I Learned from Online Dating” โดย พอล โอเยอร์ (Paul Oyer) ก็มีการกล่าวถึงโมเดลการส่งสัญญาณที่มีผลต่อการหาคู่ออนไลน์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างคือเว็บไซต์หาคู่ทั่วไปอนุญาตให้ผู้ใช้บริการส่งข้อความหาใครก็ได้ที่เขาสนใจหลังจากดูรูปโปรไฟล์และประวัติคร่าวๆ แต่เว็บไซต์ในเกาหลีคิดระบบ “ดอกไม้สองช่อ” เป็นกฎว่าผู้ใช้สามารถส่งข้อความหาคนได้แค่สองคนเท่านั้น เป็นการเพิ่มราคาให้กับข้อความที่ส่ง เป็นการส่งสัญญาณว่าผู้ที่ได้รับดอกไม้เป็นคนพิเศษ เพราะต้องผ่านการกลั่นกรองมาแล้วระดับหนึ่ง

ในบล็อกของ Wired Magazine เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาก็มีการเขียนถึงเรื่องการส่งสัญญาณด้วยเช่นกันครับ (คุณพอล แกมาเขียนโปรโมทหนังสือแกนั่นแหละ) ด้วยการเตือนว่าถ้าอยากจะบอกรักใคร อย่าบอกรักบนเฟสบุ๊ก เพราะมันง่ายจนกลายเป็นของไม่มีราคา ไม่ต่างกับการส่งอีการ์ดอวยพรวันวาเลนไทน์ ที่ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไร เพียงแค่เลือกดีไซน์และใส่ชื่อแค่นั้น ที่เห็นชัดกว่านั้นคือการอวยพรวันเกิดผ่านเฟสบุ๊ก เพราะระบบที่ทำให้การสุขสันต์วันเกิดในเฟสบุ๊กนั้นง่ายจนทำให้มันหมดราคา (ทางเศรษฐศาสตร์) เราใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเพื่ออวยพรวันเกิดให้กับเพื่อนในเฟสบุ๊ก ต่างกับการเลี้ยงอาหาร การซื้อของขวัญที่ต้องลงทุน ลงแรง และเวลามากกว่า

ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์นั้น การแสดงความรักความห่วงใย ไม่ได้ทำด้วยใจ แต่มันมีราคาค่างวด ...

ความรู้ก็เช่นกัน

ไมเคิล สเพน (Michael Spence) นักเศรษฐศาสตร์ผู้คิดค้นโมเดล “การส่งสัญญาณ” นั้น กล่าวไว้ว่า “ราคา” ของสถาบันอุดมศึกษา ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการผลิตคนมีความสามารถเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งระบบนี้จะเป็นไปได้ก็ด้วยสองเงื่อนไขคือ (1) คนมีความสามารถเท่านั้นถึงจะผ่านระบบการศึกษานี้ได้ และ (2) ปริญญาใดที่ได้รับ ต้องมีคุณค่ากับตลาดงาน หากขาดซึ่งสองเงื่อนไขนี้แล้ว ระบบอุดมศึกษาก็พัง (ในที่นี้จะไม่ขอพูดถึงเป้าหมายอื่นๆ ที่สังคมคาดหวังจากอุดมศึกษานะครับ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองคุณภาพหรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เหนือขึ้นไปจากการป้อนคนเข้าตลาดงาน)

ในบ้านเรา หากพูดถึงการศึกษาในระบบ จะเห็นว่าการส่งสัญญาณเกี่ยวกับคุณค่าทางการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรอีกแล้วและดูจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงมากกว่าที่มันควรจะเป็นเสียด้วย ไล่ไปตั้งแต่ระดับประถมที่มีข่าวว่าผู้ปกครองแห่นอนเฝ้าจองคิวให้ลูกหลาน [2] และระดับมัธยมที่ผู้ปกครองและนักเรียนเดินทางไปประท้วงหลังทราบผลว่าบุตรหลานจะไม่ได้เรียนต่อที่โรงเรียนแห่งเดิม แถมยังแจ้งรายชื่อนักเรียนคนอื่น (ที่ไม่ใช่บุตรหลานตัวเอง) ว่าทุจริตการสอบ จี้ให้โรงเรียนสอบสวนเพื่อจะได้ให้บุตรหลานตัวเองเข้าเรียนแทน [3] เรื่องนี้ถูกผิดอย่างไรผมไม่ทราบนะครับ แต่ผมขอออกความเห็นว่าการที่เรายึดติดกับสถาบันเสียจนกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะสัญญาณที่สถาบันเหล่านี้ส่งออกมาสู่สังคม หรือไม่ก็สัญญาณที่ทุกฝ่ายต่างร่วมกันสร้างขึ้นมา

ในระดับอุดมศึกษา มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาณของใบปริญญาบ้างหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าเห็นอยู่ทั่วไปในตลาดงาน หลายบริษัทมีนโยบายให้เงินพิเศษแก่ผู้ที่จบมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศและหรือจบจากต่างประเทศ บางแห่งมีการให้เงินพิเศษสำหรับผู้ที่ได้เกียรตินิยมหรือมีตำแหน่งในงานกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในระหว่างเรียน สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่บอกว่านายจ้างเห็นค่าของความพยายามและตอบแทนความพยายามนั้นด้วยราคาที่สูงกว่า

พอล โอเยอร์ สรุปเกี่ยวกับเรื่อง Signaling ไว้ว่า ในช่วงชีวิตของเราจะมีโอกาสในการลงทุนด้วยเวลา เงิน หรือความพยายาม เพียงเพื่อที่จะส่ง “สัญญาณ” ว่าเรามีคุณค่าหรือมีคุณสมบัติอันเป็นที่ต้องการ และปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนเพื่อการส่งสัญญาณนั้นจะเกิดขึ้นได้ในบริบทที่คนอื่นมีศักยภาพที่จะได้มาซึ่งสัญญาณนั้นเช่นกัน เช่นแม่บ้านลงทุนเรียนถักโครเชต์จนเก่งกาจ แต่เพื่อนเธอชอบทำกับข้าว ก็คงไม่มีประโยชน์มากนัก

สำหรับในประเทศที่ “หน้าตา” และ “ตัวตน” เป็นเรื่องสำคัญอย่างประเทศไทย [4] ราคาของการศึกษากลายเป็นหน้ากากชิ้นแรกที่ผู้ปกครองยินยอมพร้อมใจกันหยิบยื่นให้บุตรหลาน เพียงเพื่อจะส่งสัญญาณให้คนรอบข้างได้รู้ถึง “หน้าตา” โดยไม่หยุดถามความต้องการของเด็ก มองในมุมนี้เราไม่ได้เดินตามโมเดล “การส่งสัญญาณ” ในแนวทางของพอล โอเยอร์ เพราะสัญญาณที่เราต้องการคือประกาศนียบัตรบ่งบอกทักษะอันเป็นที่นิยมในสังคม เช่นเรื่องการเรียนดนตรี หรือศิลปะการแสดงที่อิมพอร์ตมาจากต่างประเทศ จนถึงแบรนด์สถาบันการศึกษา โดยมิได้ถามหาความสามารถในการทำงานจริงๆ และจากหลักฐานที่เล่ามาข้างต้น ก็ดูเหมือนว่าสังคมไทยได้เดินหน้าเต็มกำลังเพื่อไปถึงจุดหมายนั้น กลายเป็นเรื่องที่รู้กันในวงการคัดเลือกนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังๆ ในต่างประเทศที่จ้องจับผิดนักเรียนไทยมาก เนื่องจากชื่อเสียงในการปลอมแปลงใบสมัคร [5][6]

แต่ในโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดในปัจจุบัน สัญญาณที่มีแต่เปลือกของเรากำลังถูกประเทศอื่นกะเทาะออกทีละชั้น ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศเพื่อนบ้านเราเท่านั้น แต่ทั้งโลกกำลังร่วมมือกัน

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร และตั้งความหวังไว้แค่ไหน ได้แต่แอบหวังว่า “สัญญาณ” อันตื้นเขินเหล่านี้จะลดน้อยถอยแรงลงไปได้ในอนาคต

อ้างอิง:

[1] Hey Baby, Is That a Prius You’re Driving? http://freakonomics.com/2011/07/07/hey-baby-is-that-a-prius-you’re-driving/
[2] ผู้ปกครองเด็กสาธิตจุฬาฯ แห่นอนเฝ้า จองคิวสมัครเรียน “บริติช เคานซิล” ให้ลูกหลาน http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000015777
[3] เด็กบดินทรฯฟ้อง ศธ.ถูกลอยแพ ไม่ได้เรียนต่อ ม.4 http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000060439
[4] Thai national character: What science says, Values and behavioral patterns http://studyinthailand.org/study_abroad_thailand_university/Thai_society_values.html
[5] 'But you don't like to read. Why do you want to go to Harvard?' http://money.cnn.com/2014/02/06/leadership/college-applications.pr.fortune/index.html
[6] กลวิธี (โกง) ของเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอเมริกา http://thaipublica.org/2013/05/thailand-cheating-children-into-ivy-league/

ภาพประกอบ: 

http://legendsrevealed.com/entertainment/2013/03/28/did-the-beatles-use-flag-semaphore-to-spell-out-help-on-the-cover-of-their-album-help/

หมายเลขบันทึก: 563171เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2014 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2014 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท