ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น


บทความนี้เป็นการประมวลงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเชิงสาเหตุทางสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น ผลการประมวลงานวิจัยปรากฏข้อค้นพบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลทางบวกต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น

ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น 1

ณัฐวุธ แก้วสุทธา 2อังสินันท์ อินทรกำแหง 3พัชรี ดวงจันทร์ 4

บทคัดย่อ 

ปัญหาโรคฟันผุและเหงือกอักเสบในวัยรุ่นตอนต้นยังคงเป็นปัญหาทางทันตสุขภาพที่มีความสำคัญ ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการบริการทางทันตสาธารณสุข การขยายระบบบริการทั้งในภาครัฐและเอกชน หรือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางทันตกรรมในการบำบัดและรักษาฟื้นฟูสภาพในช่องปาก ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาทันตสุขภาพดังกล่าวลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องจากศาสตร์การดูแลทันตสุขภาพเท่าที่ผ่านมามักจะเน้นเฉพาะศาสตร์ทางชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้สนใจศึกษาทำความเข้าใจปัจจัยทางสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งที่ปัจจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากมาก ซึ่งบทความนี้เป็นการประมวลงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเชิงสาเหตุทางสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น ผลการประมวลงานวิจัยปรากฏข้อค้นพบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลทางบวกต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น ดังนั้น การจะแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพดังกล่าว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดอิทธิผลของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ขัดขวางพฤติกรรม และเพิ่มความเข้มแข็งให้ปัจจัยทางจิตบางประการ โดยควรมีการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นที่มีประสิทธิภาพต่อไป

คำสำคัญ  ปัจจัยเชิงสาเหตุ พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก วัยรุ่นตอนต้น

 

บทนำ

ปัญหาทางสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและทำลายสุขภาพของประชาชน โดยโรคในช่องปากที่พบมากและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในวัยรุ่นตอนต้น ได้แก่ โรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ  จากรายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญทางระบาดวิทยา เนื่องจากเป็นอายุที่มีฟันแท้ขึ้นครบ 28 ซี่ในช่องปาก ซึ่งอัตราการเกิดโรคฟันผุในวัยนี้ จะใช้เพื่อทำนายแนวโน้มการเกิดโรคฟันผุในวัยผู้ใหญ่  จากการสำรวจสภาวะโรคฟันผุในฟันแท้ในกลุ่มอายุ 12 ปี พบว่า ร้อยละ 56.9 ของเด็กมีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุ ค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด (DMFT) เท่ากับ 1.64 ซี่/คน ทั้งนี้ฟันที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะยังไม่ได้รับการรักษาคิดเป็น ร้อยละ 54.2 สำหรับสถานการณ์ปัญหาสภาวะเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ในวัยรุ่นตอนต้น พบว่า มีเด็กอายุ 12 ปีเพียงร้อยละ 18 ที่มีเหงือกปรกติ ในขณะที่ร้อยละ 58.9 ของเด็กอายุ 12 ปีมีเหงือกอักเสบ เฉลี่ย 2.94 ส่วนจาก 6 ส่วน (Sextant) ทั้งนี้ร้อยละ 35.7 จะมีหินน้ำลายร่วมด้วย ทั้งนี้ยังคงมีเด็กอีกร้อยละ 22.4 ที่มีหินน้ำลายในช่องปากโดยไม่มีการอักเสบของเหงือก ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการขูดหินปูนด้วยเนื่องจากเด็กเหล่านี้มีโอกาสที่จะพัฒนาเกิดเป็นเหงือกอักเสบได้ (กองทันตสาธารณสุข, 2550) ซึ่งโรคในช่องปากดังกล่าว นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว ยังยากที่จะบำบัดรักษาฟื้นฟูให้ดีดังเดิม นอกจากนี้ปัญหาทางทันตสุขภาพยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในระดับส่วนตัวและระดับส่วนรวม กล่าวคือ จะต้องรักษาเสียเงินเสียเวลา และรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อใช้จ่ายในการบรรเทาและแก้ปัญหาทันตสาธารณสุข

เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่า การป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบที่มีประสิทธิภาพนั้น คือ การดูแลอนามัยช่องปากของตนเอง แต่ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นตอนต้นไทยยังคงมีพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดีนัก การนำเสนอในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น และปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ทั้งที่เป็นแนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้สนใจที่จะศึกษาพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวต่อไป

 

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

          พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก หมายถึง การปฏิบัติหรือการกระทำในสภาวะปกติที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคในช่องปากและส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ซึ่งบุคคลได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเอง (พวงเพชร เดชะปทุมวัน, 2527) ทั้งนี้ องค์ประกอบของพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากอาจประกอบด้วยพฤติกรรมย่อยๆ ได้แก่ การหาความรู้เรื่องโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ การเลือกใช้แปรงสีฟันและยาสีฟัน การตรวจสภาวะช่องปากด้วยตนเอง การปฏิบัติตนในด้านการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การใช้ฟลูออไรด์ และการไปพบทันตบุคลากร (นฤมล   สีประโค, 2550) ทั้งนี้ พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากจะมีความจำเพาะลงไปในส่วนกิจกรรมการดูแลทันตสุขภาพในระดับบุคคลที่ไม่ครอบคลุมในส่วนการไปพบทันตบุคลากรหรือการรักษาเฉพาะอย่างเพื่อป้องกันโรคในช่องปาก (เมธินี คุปพิทยานันท์, 2546)

 

สถานการณ์พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้นไทยในปัจจุบัน พบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดีนัก จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากวัยรุ่นไทยระหว่างปี พ.ศ 2543-2544 ได้รวบรวมผลสัมภาษณ์เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปาก พบว่า ส่วนใหญ่จะแปรงฟันเพียงวันละ 2 ครั้ง เคยรับประทานอาหารแล้วนอนโดยลืมแปรงฟันมากถึงร้อยละ 72.3 ทั้งนี้ มีพฤติกรรมการแปรงฟันที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 7.7และพบว่านักเรียนแปรงฟันที่โรงเรียนลดลงจากร้อยละ 83.7 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 26.3 ในปี 2544 และแปรงฟันสม่ำเสมอลดลงจากร้อยละ 70.6 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 56.1 ในปี 2544 นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เอื้อต่อทันตสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าเด็กวัยรุ่นตอนต้นมีแนวโน้มกินขนมมากขึ้นแต่กินอาหารมีเส้นใยลดลง และพบว่ามีแนวโน้มใช้เงินเพื่อซื้อขนมกรุบกรอบมากยิ่งขึ้นโดยพบว่า ใช้เงินค่าขนมเฉลี่ยวันละ 13 บาท  ในการซื้อขนมกินเฉลี่ยวันละ 3-5 ครั้ง (กองทันตสาธารณสุข, 2550) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการมีพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่เหมาะสมในเด็กกลุ่มดังกล่าว แม้ว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัยล้วนแต่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

สาเหตุสำคัญของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นมีปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย โดยจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ (KAP)ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) ของเบกเกอร์ (Becker, 1975) และแนวคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social Cognitive Learning Theory) ของแบนดูรา(Bandura, 1977) และงานวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีปัจจัยเชิงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน โดยอาจเกิดจากกลุ่มตัวแปรทางด้านจิตลักษณะที่ทำให้เกิดพฤติกรรม หรือ กลุ่มตัวแปรทางสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ทั้งนี้ ผลการประมวลงานวิจัยปรากฏข้อค้นพบว่ามีปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก 5 กลุ่มปัจจัย คือ 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และ 5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

1. ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก

ความรู้เกี่ยวกับโรคและอนามัยช่องปาก เป็นลักษณะพื้นฐานแต่ละบุคคลที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น หมายถึง ความรู้ความเข้าใจและการนำไปใช้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง การป้องกันและการรักษาโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ และการดูแลอนามัยช่องปากที่เกี่ยวข้อง จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นอยู่ในหลายๆการศึกษา เช่น การศึกษา ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง (2536) ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา  ปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี หรือการศึกษาของ พรทิพย์ วงศ์พิทักษ์ (2541) ที่ศึกษาในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในเขตตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และ การศึกษาของเย็นจิต ไชยฤกษ์ (2542) ที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียน

 

มัธยมศึกษา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทุกการศึกษา พบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อการปฏิบัติด้านการดูแลอนามัยช่องปากของนักเรียน

2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก

เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก เป็นปัจจัยทางจิตลักษณะที่แสดงถึงความรู้สึกเชิงประเมินค่าเชิงบวกต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าและเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ตลอดจนความรู้สึกพอใจต่อการทำพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก และมีความพร้อมที่จะกระทำพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก จากการประมวลผลงานวิจัยเกี่ยวข้อง พบว่า เจตคติที่ดีต่อพฤติกรรมมีความสัมพันธ์สูงกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น เช่น การศึกษาของมาซาลูและแอสตรอม (Masalu and Astrom, 2001) พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการรับประทานของว่างและเครื่องดื่มที่มี

 

น้ำตาลเป็นส่วนประกอบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β=0.25) สอดคล้องกับงานของคาสเซมและคณะ (Kassem et al., 2003) พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีโซดาเป็นส่วนประกอบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลายการศึกษาในประเทศไทย เช่น การศึกษาของ ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง (2536)พรทิพย์   วงศ์พิทักษ์ (2541)  เย็นจิต ไชยฤกษ์ (2542) และ เตือนใจ เทียนทอง (2546)ที่พบว่าเจตคติมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค

การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค เป็นปัจจัยที่ส่งผลสำคัญในทฤษฏีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Becker , 1975) โดยการที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมสุขภาพต่างๆ บุคคลนั้น ต้องมีความเชื่อหรือรับรู้ว่าเขามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปาก และโรคนั้นมีความรุนแรงและมีอิทธิพลผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรคมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ดังการศึกษาของ เยาวลักษณ์ ศุภกรรม (2540) และ กฤษณา วุฒิสินธ์ (2546) ที่พบว่า พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความรุนแรงของโรคในระดับสูง การรับรู้ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติในระดับสูง และ การรับรู้ด้านสุขภาพและลักษณะทางชีวสังคม ซึ่งสามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในภาพรวมได้ ทั้งนี้ การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค สามารถทำนายพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากได้ดีที่สุด

4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ

สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนหรือขัดขวางและส่งผลให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การได้รับข้อมูลกระตุ้นทางทันตสุขภาพจากสื่อมวลชน การสนับสนุนทางสังคม และแบบอย่างจากเพื่อน ซึ่งทั้งสามปัจจัยดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและเชื่อโดยทั่วไปว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของเยาวชนตามทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ที่เชื่อว่าสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ(Cues to Actions) นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ชักจูงสู่การปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (Becker,1975) โดยพบว่าสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากไว้หลายการศึกษา เช่น การศึกษาของเตือนใจ เทียนทอง (2546) ที่พบว่า วัยรุ่นที่มีการรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพจากสื่อมวลชนสูงจะมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพสูงกว่าวัยรุ่นที่มีการรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพต่ำกว่า สอดคล้องกับการศึกษาของ วิธี แจ่มกระทึก (2541) พบว่า อิทธิพลของตัวแปรสื่อโฆษณาเป็นตัวแปรพยากรณ์ที่สำคัญในการบริโภคอาหารจานด่วนเป็นอันดับแรกและสามารถร่วมอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนได้ถึงร้อยละ 30.80 สำหรับการสนับสนุนทางสังคมก็มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมอนามัยช่องปาก ดังเห็นได้จากการศึกษาของ สุดารัตน์ สุขเจริญ (2539) ที่ศึกษาประสิทธิผลการให้การศึกษาและการใช้แรงสนับสนุนจากพ่อแม่ในการให้ทันตสุขศึกษาพบว่า การใช้แรงสนับสนุนทางสังคมจากพ่อแม่ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางด้านทันตสุขภาพของนักเรียน ซึ่งคล้ายกับการศึกษาของ สดุดี ภูห้องไสย (2541) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พบว่า แบบอย่างจากเพื่อนมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นปัจจัยตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory) ของแบนดูรา (Bandura, 2000) ซึ่งถือเป็นทฤษฎีแนวคิดการปรับพฤติกรรมที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน โดยหลักสำคัญของทฤษฎีนี้เชื่อว่าการจะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ บุคคลนั้นต้องเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำพฤติกรรมที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงนั้นๆได้ และสามารถควบคุมตนเองให้ทำพฤติกรรมดังกล่าวได้อย่างสม่ำเสมอบุคคลผู้นั้นจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้ ซึ่งจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรกลุ่มปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในหลายการศึกษา เช่น การศึกษาของ รำพึง ษรบัณฑิต (2536) ที่พบว่า นักเรียนที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองสูงจะมีพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากดีกว่านักเรียนที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำกว่า สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ธงชัย ปรีชา (2540) ที่พบว่าการใช้โปรแกรมทันตสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเอง จะทำให้พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของนักเรียนดีขึ้นและมีปริมาณคราบจุลินทรีย์ลดลงซึ่งคล้ายกับการศึกษาของ เยาวลักษณ์ ตรีธัญญาทรัพย์ (2535) ที่พบว่า การรับรู้ในความสามารถของตนเองในการป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากเพื่อป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

สำหรับปัจจัยการควบคุมตนเองที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นนั้น พบความสัมพันธ์ได้ในหลายการศึกษา เช่น การศึกษาคอนเนอร์และคณะ (Conner et al., 2002) ที่พบว่า การควบคุมพฤติกรรมสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ณ เวลา 6 เดือน และ 6 ปี หลังจากรับบริการในคลินิกครั้งแรกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าสัมประสิทธ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ .47และ .28 ตามลำดับ สอดคล้องกับการศึกษาของ แบคแมนและคณะ (Backman et al., 2002) ที่พบว่า การควบคุมพฤติกรรมสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β=.28) และการศึกษาของ โบเกอร์และคณะ (Bogers et al.,2004) ที่พบว่า การรับรู้การควบคุมพฤติกรรมสามารถทำนายทั้งพฤติกรรมการบริโภคผลไม้และผักได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีค่าสัมประสิทธ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ .56 และ .71 ตามลำดับ

บทสรุป

จากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น 6กลุ่มปัจจัย ประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ 5) ความสามารถของตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก และ 6) การควบคุมตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก ซึ่งพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอันได้แก่ โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ ดังนั้น การจะแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพดังกล่าว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดอิทธิผลของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ขัดขวางพฤติกรรม และเพิ่มความเข้มแข็งให้ปัจจัยทางจิตบางประการ ดังเช่น การให้ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากสอดแทรกไปในรายวิชาปกติในชั้นเรียน การปรับเปลี่ยนเจตคติของนักเรียนให้มีความรู้สึกชอบเห็นคุณค่าของการดูแลอนามัยช่องปาก การทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบและภัยคุกคามต่อสุขภาพช่องปากอันเกิดจากการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การส่งเสริมให้ครอบครัว-เพื่อนและครูให้มีบทบาทที่สำคัญในการชักจูงให้วัยรุ่นตอนต้นสนใจการดูแลอนามัยช่องปาก รวมถึงการจัดกิจกรรมเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองและควบคุมตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก ทั้งนี้ ควรมีการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นที่มีประสิทธิผล และอาจมีการวิจัยเชิงทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิผลของวิธีการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้และนำไปใช้ในโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆในวงกว้างต่อไป.

 

เอกสารอ้างอิง

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย.(2551). รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 6 ประเทศไทย พ.ศ.2549-2550. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักกิจกรรมองค์การทหารผ่านศึก.

กฤษณา วุฒิสินธ์. (2546). ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตนเองด้านทันตสุขภาพของครอบครัวและการเกิดสภาวะโรคฟันน้ำนมผุในเด็กก่อนวัยเรียน จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต. (ประชากรศึกษา). กรุงเทพฯ:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

เตือนใจ เทียนทอง. (2546). ปัจจัยทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของเยาวชนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เขตการศึกษา 1 . ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (การวิจัยและพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ธงชัย ปรีชา. (2540). การเปรียบเทียบประสิทธิผลของโปรแกรมทันตสุขศึกษา 3 รูปแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ วท.ม. (สุขศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

นฤมล สีประโค (2550). ความสัมพันธ์ของความรู้ความเชื่อในประสิทธิภาพแห่งตน การบริโภคอาหารเพื่ออนามัยช่องปากกับการป้องกันการเกิดโรคในช่องปากของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น        โรงเรียนศรีวิชัยวิทยาอำเภอเมือง   จังหวัดนครปฐม.ปริญญานิพนธ์ วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน). นครปฐม : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

พรทิพย์ วงศ์พิทักษ์. (2541) .ความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในเขตตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. ภาคนิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

พวงเพชร เดชะปทุมวัน. (2527).สารต้านฟันผุและสารลดคราบจุลินทรีย์.กรุงเทพฯ : ภาควิชาเภสัชวิทยา  คณะทันตแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง. (2536). การศึกษาพฤติกรรมสุขภาพเกี่ยวกับทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เมธินี คุปพิทยานันท์.(2546).ประสิทธิผลของโปรแกรมฝึกอบรมทางจิตพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อปลูกฝังและพัฒนาพฤติกรรมทันตสุขภาพ เด็กนักเรียนประถมศึกษา.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย.สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.กรุงเทพฯ.

เย็นจิต ไชยฤกษ์.(2542).พฤติกรรมทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดปทุมธานี.ปริญญานิพนธ์ กศ.ม.(สุขศึกษา) .กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เยาวลักษณ์ ตรีธัญญาทรัพย์.(2538). การประยุกต์ทฤษฎีความสามารถตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี.วิทยานิพนธ์ วท.ม (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

เยาวลักษณ์ ศุภกรรม.(2540).ความสัมพันธ์การรับรู้ด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.วิทยานิพนธ์ วท.ม (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

 รำพึง ษรบัณฑิต.(2537). ประสิทธิผลของโปรแกรมสุขศึกษาในการป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก.วิทยานิพนธ์ วท.ม (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

วิธี แจ่มกระทึก. (2541). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. จิตวิทยาการแนะแนว). กรุงเทพฯ :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สดุดี ภูห้องไสย. (2541). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์. วท.ม. (อนามัยครอบครัว). กรงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุดารัตน์ สุขเจริญ.(2540). ความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับทันตสุขภาพของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต.กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Bandura, A. (1977). Social Learning Theory.Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Bandura. A. (2000). Self efficacy: Exercise of Control. 4th ed. New York: W.H. Freeman & Co

Becker,MH.&Maiman,L.(1975,January).Sociobehavioral Determinants of Compliance with HealthMedical Care Recommendation. Medical Care,13(1),12.

Backman, Desiree R.; et al. (2002).Psychosocial Predictors of Healthful Dietary Behavioron Adolescents. J Nutr Educ Behav. 34: 184-93.

Bogers, R.P.; et al. (2004) Explaining Fruit andVegetable Consumption: the Theory ofPlanned Behaviour and Misconception of Personal Intake Levels. Appetite. 42:157-66.

 Conner, Mark; Norman, Paul; Bell, Russell.(2002). The Theory of Planned

Behavior andHealthy Eating. Health Psychology. 21(2): 194-201.Kassem, Nada O.; et al. (2003).UnderstandingSoftdrinkConsumption among FemaleAdolescents Using the Theory of Planned Behavior. Health Education Research.18(3): 278-91.

Masalu, J.R.; Astrom, A.N. (2001). Predicting Intended and Self-perceived Sugar Restrictionamong Tanzanian Students Using the Theory of Planned Behavior. Journal of Health Psychology. 6(4): 435-45.

หมายเลขบันทึก: 562814เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท