ความชุกและปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคฟันผุในผู้ป่วยเด็กคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความชุกและปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคฟันผุในผู้ป่วยเด็กคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ณัฐวุธ แก้วสุทธา, ธนานัฐ บุญอินทร์, คงวุฒิ เหลืองเรืองรอง, ชวรชต์ มาไพศาลสิน ,จริญญา  ฉายวิริยะ

 

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกและศึกษาปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคฟันผุในผู้ป่วยเด็กอายุ 5-7 ปี ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยเก็บข้อมูลจากแฟ้มประวัติผู้ป่วยเด็กภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระหว่างปี พ.ศ.2548–2555 จำนวน 300 คน ที่สุ่มโดยวิธี สุ่มอย่างง่าย และวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติไคสแควร์ และ การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ 2 กลุ่มผลการศึกษาพบว่า ความชุกของโรคฟันผุเป็นร้อยละ 87.67 ค่าเฉลี่ยดัชนีผุ ถอน อุด เป็น 9.53 ซี่ต่อคน

และจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุโดยการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ 2 กลุ่มพบว่า ปัจจัยด้านเพศ ปัจจัยด้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และปัจจัยด้านลักษณะการสบฟันนั้นไม่มีผลความสัมพันธ์ต่อการเกิดฟันผุในเด็ก (p-value > 0.05) แต่ปัจจัยด้านน้ำหนักและส่วนสูงจะมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดฟันผุได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (p-value = 0.001) และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่สูงกว่าเกณฑ์นั้น มีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ 4 เท่า (OR = 4.00, 95% CI = 1.3-9.18) จากการศึกษานี้สรุปได้ว่า ปัจจัยด้านน้ำหนักและส่วนสูงมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดฟันผุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตาม โรคฟันผุเป็นโรคที่เกิดจากพหุปัจจัย จึงควรมีการศึกษาลักษณะอื่นๆ เช่น การศึกษาสหสัมพันธ์เปรียบเทียบ และการศึกษาเชิงทดลองเพื่อให้สามารถเห็นความสัมพันธ์ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

 

คำสำคัญ :ความชุก ปัจจัยทางกายภาพ ฟันผุ ผู้ป่วยเด็ก

 

บทนำ

โรคฟันผุเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมากของประเทศ โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มเด็ก ซึ่งพบว่ามีอัตราการเกิดฟันผุที่สูงมากอย่างต่อเนื่อง จากรายงานเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพช่องปากที่สำรวจทุก 5 ปี จะพบว่าในช่วงอายุ 5-6 ปี จะมีสถานการณ์ของโรคอยู่ในระดับที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มของจำนวนค่าเฉลี่ยของเด็กที่มีฟันผุเพิ่มขึ้นตามปีที่สำรวจ โดยข้อมูลจากรายงานการสำรวจในปี พ.ศ.2532, 2537,2544 และ 2550 พบว่า เด็กในวัยดังกล่าวมีความชุกในการเกิดฟันผุเป็นร้อยละ 82.8, 85.3, 87.5 และ 80.6 ตามลำดับ และในครั้งล่าสุด พ.ศ.2551 – 2555 พบว่า ในช่วงอายุ 5 ปี เด็กมีโรคฟันผุสูงถึงร้อยละ 78.5 และมีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด เท่ากับ 4.4 ซี่/คน [1] แสดงให้เห็นว่า ปัญหาฟันผุในกลุ่มเด็กมีปัญหาสูงอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งผลกระทบจากการเกิดฟันผุนอกจากส่งผลทำให้เกิดกลิ่นปาก อาการเสียวและปวดฟัน ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ และปัญหาทางโภชนาการตามมา [2]  ทั้งนี้ โรคฟันผุในเด็กนั้นมีความสำคัญต่อต่อการเรียงตัวในชุดฟันแท้ด้วย ซึ่งจะส่งผลไปถึงด้านการใช้งาน การทำความสะอาด และความสวยงามของคนนั้นได้ [3] นอกจากนี้แล้ว การเกิดฟันผุปริมาณมากในชุดฟันน้ำนมนั้นยังเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญที่จะทำนายการเกิดฟันผุในชุดฟันแท้ในอนาคตได้อีกด้วย [4] ดังนั้น การทราบสาเหตุของโรคฟันผุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาและให้ความสำคัญ โดยจากองค์ความรู้ในปัจจุบันทราบว่า โรคฟันผุนั้นเป็นโรคที่เกิดจากพหุปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ 1)เชื้อแบททีเรียที่ทำให้เกิดกรด (cariogenic bacteria) 2) อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (fermentable carbohydrate) และ 3) ปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ ฟันและสภาพในช่องปากต่างๆ [5] สำหรับปัจจัยด้านเชื้อแบททีเรียที่ทำให้เกิดกรด และอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต  มีงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุมากมาย แต่สำหรับปัจจัยด้านกายภาพที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุ ยังมีการศึกษาไม่มากนัก และมีหลายปัจจัยที่คงมีข้อถกเถียงอยู่ในความสัมพันธ์ เช่น ปัจจัยด้านน้ำหนักตัวของเด็ก ปัจจัยด้านเพศ ปัจจัยการสบฟันที่ผิดปกติ และปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก

ปัจจัยด้านน้ำหนักนั้น มีหลายการศึกษาที่สรุปว่า น้ำหนักตัวของเด็กมีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุในเด็ก เช่น การศึกษาของ วิลเลอร์ฮอว์เซน ในปี ค.ศ. 2004 ที่ประเทศเยอรมัน ที่พบว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มน้ำหนักมากกว่าปกติจะมีค่าเฉลี่ยของฟันผุมากกว่าเด็กในกลุ่มน้ำหนักปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) และแนวโน้มของค่าเฉลี่ยของฟันผุนั้นจะมีแนวโน้มแปรผันตามปริมาณน้ำหนักตัวของเด็กอีกด้วย [6] ซึ่งสอดคล้องกับหลายการศึกษา [7-9] แต่ก็พบว่ามีการศึกษาที่ให้ผลตรงกันข้ามอีกด้วย นั่นคือการศึกษาของ โคกซอลและคณะ ในปี ค.ศ. 2011 ที่ศึกษาในเด็กชาย-หญิงอายุ 5-9 ปี ในประเทศตุรกี ที่พบว่าในกลุ่มของเด็กน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มีค่าอุบัติการณ์ในการเกิดฟันผุและมีค่าเฉลี่ย ผุ ถอน อุด ต่ำกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์และต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [10] หรือ การศึกษาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2550 ที่พบว่าเด็กที่อยู่ในกลุ่มผอมมากนั้นจะมีค่าเฉลี่ย ผุ ถอน อุดมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น และเด็กที่อยู่ในกลุ่มโภชนาการเกินจะมีค่าเฉลี่ย ผุ ถอน อุด ที่น้อยที่สุด [11] นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายการศึกษาที่พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันของน้ำหนักตัวของเด็กกับการเกิดฟันผุ [12-14]

ปัจจัยความสัมพันธ์เรื่องเพศกับการเกิดโรคฟันผุในเด็กก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ในบางการศึกษาสรุปว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน เช่น การศึกษาของ ชาวลา ที่พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดฟันผุในเด็กนั้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างทั้งสองเพศ [15]สอดคล้องการศึกษาอื่นๆ [16-17] แต่ในบางการศึกษา กลับพบว่าเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการที่การพัฒนาการในการขึ้นของฟันเด็กผู้หญิงขึ้นเร็วกว่าเด็กผู้ชาย [18]

สำหรับปัจจัยด้านการสบฟันที่ผิดปกติกับการเกิดฟันผุ  มีหลายการศึกษา พบว่า เด็กที่มีลักษณะการสบฟันที่ผิดปกติจะพบอุบัติการณ์ของการเกิดฟันผุได้มากกว่าเด็กที่มีการสบฟันปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [19]  สอดคล้องกับการศึกษาของ บรุคเกอร์และคณะ พบว่า เด็กที่ปราศจากฟันผุ (Caries free) ร้อยละ 97.8 จะมีลักษณะการสบฟันใกล้เคียงลักษณะการสบฟันที่ปกติ [20]  นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่มีการเบี่ยงเบนในแนวกลาง (Midline shift) จะมีค่าผุ ถอน อุด มากกว่าเด็กที่มีการเบี่ยงเบนในแนวกลางปกติ 1.7 เท่า และเด็กที่มีภาวะสบเปิด (Open bite) จะมีค่าผุ ถอน อุด มากกว่าเด็กที่มีการสบฟันปกติ 2.1 เท่า [21]  ทั้งนี้ การเกิดความผิดปกติของลักษณะการสบฟันนั้น บางครั้งก็เป็นสาเหตุมาจากการเกิดฟันผุด้วย โดยการเกิดฟันผุที่ลุกลามรุนแรงจนจำเป็นต้องถอนฟันน้ำนมก่อนวัยอันควร อาจเป็นสาเหตุผิดปกติของลักษณะการสบฟัน [22] 

สำหรับปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปากที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุนั้น มีหลายการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมหายใจทางปากจะมีคราบสีดำทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุทุกคน นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 61 ของเด็กที่มีพฤติกรรมกัดเล็บและดูดนิ้ว พบคราบสีดำบนตัวฟัน ซึ่งเป็นลักษณะของการเกิดฟันผุในเด็ก [23] ทั้งนี้ ปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปากอาจทำให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติ และส่งผลต่อการทำความสะอาดช่องปาก ทำให้เกิดฟันผุในเด็กได้

            จากการทบทวนวรรณกรรมที่พบข้อถกเถียงถึงปัจจัยทางกายภาพที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคฟันผุในเด็กดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของการเกิดโรคฟันผุในผู้ป่วยเด็กและหาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อค้นพบที่ได้จะสามารถไปใช้ในเป็นองค์ความรู้ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและผู้ปกครองหรือประชาชนทั่วไป หรือเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาสาเหตุการเกิดฟันผุในเด็ก ในการศึกษาอื่นๆต่อไป

วัสดุอุปกรณ์และวิธีการ

            การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกและศึกษาปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคฟันผุในผู้ป่วยเด็กอายุ 5-7 ปี ที่มารับบริการที่ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2554 โดยได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมในการทำวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ (เลขที่ 6 / 2555)

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรที่ใช้ในการศึกษา

ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยเด็กที่มีอายุในช่วง 5 – 7 ปีบริบูรณ์รายใหม่ที่เข้ารับบริการทางทันตกรรมของคลินิกการเรียนการสอนภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายในช่วงปี พ.ศ.2548-2554

กลุ่มตัวอย่าง

ใช้การสุ่มอย่างง่าย โดยกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการของกลุ่มตัวอย่าง (Inclusion criteria) และคุณลักษณะที่คัดออก (Exclusion criteria) โดยคุณลักษณะที่ต้องการของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เป็นผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับบริการทางทันตกรรมของคลินิกการเรียนการสอน ที่มีอายุในช่วง 5 ปีบริบูรณ์ถึงอายุ 7 ปี 11 เดือน 30 วัน ณ วันที่เริ่มบันทึกประวัติ มีอาจารย์ผู้ควบคุมการตรวจเป็นอาจารย์ประจำ ประกอบกับได้มีการวางแผนการรักษา (treatment plan) สมบูรณ์ และผู้ปกครองได้ลงชื่อรับทราบในช่องคำรับรองของผู้ปกครองให้อนุญาตนำข้อมูลมาใช้ในเชิงวิชาการและวิจัยได้แล้ว สำหรับคุณลักษณะที่คัดออกจากการเป็นตัวอย่าง คือ กรอกข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือลายมือของผู้ตรวจเขียนไม่ชัดเจนยากแก่การแปลความหมาย

การเก็บรวบรวมข้อมูล

รวบรวมข้อมูล โดยนำแบบเก็บข้อมูลไปคัดลอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแฟ้มประวัติของผู้ป่วยเด็กใน หน้าบันทึกประวัติและการตรวจช่องปาก ซึ่งแฟ้มประวัติที่นำมาใช้ทั้งหมดจะต้องเป็นการบันทึกแฟ้มประวัติของผู้ป่วยครั้งแรก (First chart) ภายในระยะเวลาช่วง 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 48 ถึง วันที่ 30 ก.ย.54 ข้อมูลที่จัดเก็บประกอบด้วย ข้อมูลดัชนีผุ ถอน อุด ตัวแปรปัจจัยด้านน้ำหนักและส่วนสูง ปัจจัยด้านเพศ ปัจจัยการสบฟันที่ผิดปกติ และ ปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก โดยเกณฑ์การให้ความหมายของตัวแปรต่างๆ ประกอบด้วย

น้ำหนักตัวของเด็ก (Weight) หมายถึง น้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็กที่ได้วัดก่อนทำการตรวจภายในช่องปากและได้รับการกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนภายในแบบฟอร์มส่วนข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย การแบ่งกลุ่มใช้เกณฑ์อ้างอิงจากกราฟแสดงการเจริญเติบโตของเพศชาย/หญิง อายุ 2-7 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2543 โดยดูจากพื้นที่ใต้กราฟ [24] แบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ น้ำหนักตามเกณฑ์ และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

เพศ (Gender) หมายถึง เพศของผู้ป่วยที่ได้จากบันทึกของแฟ้มประวัติในช่องที่ระบุเพศภายในแฟ้มประวัติของผู้ป่วย ประกอบไปด้วย เพศชาย และเพศหญิง

นิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก (Abnormal oral habits) หมายถึง พฤติกรรมที่กระทำเป็นนิสัยซึ่งทำให้เกิดแรงกระทำที่ผิดปกติต่อตัวฟัน ประกอบไปด้วย การดูดนิ้ว การกัดริมฝีปาก การกัดเล็บ การกลืนที่ผิดปกติ การนอนกัดฟัน การหายใจทางปาก และอื่นๆ ที่ตรวจพบได้ทางคลินิกและได้บันทึกลงไปในช่อง นิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก ของแฟ้มประวัติผู้ป่วย จำแนกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ จะต้องมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อย่างน้อยหนึ่งอย่าง และกลุ่มที่ปกติ คือ ไม่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์

ลักษณะของการสบฟัน (Occlusion) หมายถึง ลักษณะการสบฟันของเด็ก ณ วันที่ลงบันทึกแฟ้มประวัติซึ่งดูจากการบันทึกลงในแฟ้มประวัติของผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหัวข้อที่เกี่ยวกับการสบฟันในหัวข้อ ความสัมพันธ์ของฟันกรามในแนวดิ่ง (Molar relationship) การเหลื่อมแนวราบ (Overjet) การเหลื่อมแนวดิ่ง (Overbite) การสบไขว้ในฟันหน้า เบี่ยงเบนของแนวกลาง โดยจะพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้คือ 1) กลุ่มที่มีการสบฟันปกติคือ มีความสัมพันธ์ของฟันกรามในแนวดิ่ง หากเป็นชุดฟันน้ำนมจะให้เป็น Flush terminal plane โดยพิจารณาจากฟันกรามน้ำนมซี่สุดท้าย และหากเป็นชุดฟันผสมจะให้เป็นการสบฟันแบบแองเกิลประเภท I  (Angle’s classification I) และ 2) กลุ่มที่มีการสบฟันผิดปกติ คือ กลุ่มที่มีการสบฟันประเภทอื่น

สถิติที่ใช้ในการวิจัย

          วิเคราะห์ทางสถิติโดยโปรแกรมสถิติสำเร็จรูปด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยสถิติไค-สแควร์ ของเพียร์สัน (Pearson’s Chi-square) และสมการถดถอยโลจิสติก (Binary Logistic Regression)   

ผลการวิจัย

ข้อมูลจากผู้ป่วยเด็กในภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่มีอายุในช่วง 5-7 ปี ทั้งหมดในช่วงเวลา 1 ม.ค. 48 ถึง วันที่ 30 ก.ย.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 314 คน และเมื่อใช้เกณฑ์ในการคัดออก ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่มีข้อมูลในเวชระเบียนและข้อมูลในการตรวจที่ไม่สมบูรณ์ออก 14 ราย จึงเหลือข้อมูลที่มาทำการวิเคราะห์ 300 คน พบว่า ค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด ของการเกิดฟันผุในกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้ เท่ากับ 9.53 ซี่/คน และมีความชุกร้อยละ 87.67 ข้อมูลแสดงดังตารางที่ 1

 

ตาราง 1 แสดงค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด และความชุกของการเกิดฟันผุ (N=300)

 

ตัวแปร

จำนวน

(%)

d

(ซี่)

m

(ซี่)

f

(ซี่)

dmf

(ซี่)

Prevalence

(%)

กลุ่มตัวอย่างแบ่งตามช่วงอายุ

 

 

 

 

 

 

   อายุ 5 ปีบริบูรณ์ ถึง 5 ปี 11 เดือน

115 (34.3)

9.48

0.55

0.32

10.43

90.43

   อายุ 6 ปีบริบูรณ์ ถึง 6 ปี 11 เดือน

94 (31.3)

8.55

0.55

0.54

9.60

85.10

   อายุ 7 ปีบริบูรณ์ ถึง 7 ปี 11 เดือน

91 (30.4)

6.77

0.71

0.86

8.30

86.81

รวม

300 (100)

8.12

0.60

0.56

9.53

87.67

 

เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามปัจจัยที่ต้องการศึกษาในครั้งนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย 153 คน (ร้อยละ 51) และเป็นเพศหญิง 147 คน (ร้อยละ 49) มีเด็กที่น้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์จำนวน 39 (ร้อยละ 13) ตามเกณฑ์ 221 คน (ร้อยละ 73.7) และสูงกว่าเกณฑ์ 40 คน (ร้อยละ 13.3) มีเด็กที่มีนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก อย่างน้อย 1 อย่าง จำนวน 119 คน (ร้อยละ 39.7) และเด็กที่มีการสบฟันที่ผิดปกติมีจำนวน 241 คน (ร้อยละ 80.3) ข้อมูลดังตารางที่ 2

 

ตาราง 2 แสดงจำนวนและร้อยละของผู้ป่วย จำแนกตามปัจจัยที่ต้องการศึกษา (N=300)

ตัวแปร

จำนวน (คน)

ร้อยละ

            เกณฑ์น้ำหนักและส่วนสูง

                 ต่ำกว่าเกณฑ์

                 ตามเกณฑ์

             สูงกว่าเกณฑ์

                เพศ

                 ชาย

                 หญิง

            ปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก

                 ปกติ

 

39

221

40

 

153

147

 

181

 

13

73.7

13.3

 

51

49

 

60.3

                 มีนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก

            ลักษณะการสบฟัน

                 ปกติ

                 ผิดปกติ

119

 

59

241

39.7

 

19.7

80.3

รวม

300

100

 

 

 

ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางกายภาพ กับ การเกิดฟันผุในเด็ก

การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรปัจจัยทางกายภาพที่ต้องการศึกษาต่างๆกับการเกิดฟันผุในเด็ก โดยสามารถแบ่งกลุ่มเด็กตามความรุนแรงของการเกิดฟันผุออกได้เป็น 2 กลุ่ม โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด (dmft) ของเด็กอายุ 5 ปีของจังหวัดกรุงเทพมหานคร จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7ประเทศไทย พ.ศ. 2555 [1] ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ซี่ต่อคน ดังนั้น กลุ่มที่มีฟันผุสูง คือ กลุ่มที่มีค่าผุ ถอน อุด มากกว่า 4.9 ซี่ และกลุ่มที่มีฟันผุน้อย คือ กลุ่มที่มีค่าผุ ถอน อุด น้อยกว่า 4.9 ซี่ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยด้านน้ำหนัก มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดฟันผุได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (p-value < 0.05) โดยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีน้ำหนักและส่วนสูงมากกว่าเกณฑ์นั้น มีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ตามเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) สำหรับตัวแปรอื่นๆคือ ได้แก่ เพศ ปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก และ ลักษณะการสบฟัน ไม่พบความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุ ข้อมูลดังตารางที่ 3

ตาราง 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดฟันผุกับปัจจัยต่างๆโดยใช้สถิติไค-สแควร์

ปัจจัย

ฟันผุน้อย

จำนวน (%)

ฟันผุมาก

จำนวน (%)

 2

P-value

น้ำหนัก และส่วนสูง

ต่ำกว่าเกณฑ์

22 (7.7%)

199 (92.3%)

0.195

0.659

ตามเกณฑ์

12 (10%)

28 (90%)

ตามเกณฑ์

22 (10%)

199 (90%)

12.012

0.001*

สูงกว่าเกณฑ์

12 (30%)

28 (70%)

เพศ

ชาย

หญิง

17 (11.1%)

20 (13.6%)

136 (88.9%)

127 (86.4%)

0.431

0.511

ปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก

ปกติ

22 (12.2%)

159 (87.8%)

0.013

0.908

ผิดปกติ

15 (12.6%)

104 (87.4%)

ลักษณะการสบฟัน

ปกติ

11 (18.6%)

48 (81.4%)

2.705

0.100

ผิดปกติ

26 (10.8%)

215 (89.2%)

*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05

เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ โดยการวิเคราะห์สถิติถดถอยแบบโลจิสติก พบว่า

เด็กที่มีน้ำหนักและส่วนสูงมากกว่าเกณฑ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุมากกว่ากลุ่มที่มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ 4 เท่า (OR = 4.00, 95% CI = 1.3-9.18) ข้อมูลดังตารางที่ 4

ตาราง 4 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดฟันผุกับปัจจัยต่างๆโดยใช้สถิติวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก

ปัจจัย

ฟันผุต่ำ

จำนวน (%)

ฟันผุสูง

จำนวน (%)

Unadjusted Odd Ratio (95% C.I.)

p-value

Adjusted Odd Ratio (95% C.I.)

p-Value

น้ำหนัก และส่วนสูง

ตามเกณฑ์

22 (10.0%)

199 (90.0%)

1

0.659

1

0.624

ต่ำกว่าเกณฑ์

3 (7.7%)

36 (92.3%)

0.75 (0.21, 2.65)

0.73 (0.20, 2.59)

เพศ

ชาย

10 (7.6%)

122 (92.4%)

1

0.257

1

0.292

หญิง

15 (11.7%)

106 (88.3%)

1.62 (0.70, 3.75)

1.58 (0.68, 2.70)

ปัจจัยด้านนิสัยที่ผิดปกติทางช่องปาก

ปกติ

11 (7.4%)

138 (92.6%)

1

0.157

1

0.135

ผิดปกติ

14 (12.6%)

97 (87.4%)

1.81 (0.79, 4.15)

1.90 (0.82, 4.43)

ลักษณะการสบฟัน

ปกติ

7 (13.7%)

44 (86.3%)

1

0.267

1

0.244

ผิดปกติ

18 (8.6%)

191 (91.4%)

0.59 (0.23, 1.51)

0.57 (0.22, 1.47)

 

บทวิจารณ์

ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเด็กมีค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด เท่ากับ 9.53 ซี่/คน และมีความชุกร้อยละ 87.67 มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด และความชุก ของประเทศและกรุงเทพมหานครโดยค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด ของประเทศเท่ากับ 4.4 ซี่/คน และมีความชุกร้อยละ 78.5 ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มีค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด คือ 3.0 ซี่/คน ความชุกของการเกิดฟันผุอยู่ที่ร้อยละ 49.5 [1] ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกมาทำการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มาเข้ารับบริการในคลินิกทันตกรรม ซึ่งผู้ปกครองมักจะนำบุตรหลานมาเข้ารับบริการก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการหรือความผิดปกติที่เกี่ยวกับฟันแล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่จะเข้ามาเพื่อรับการตรวจเช็คสภาพช่องปากโดยทั่วไป นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากการตรวจในคลินิกทันตกรรมเด็ก มีการใช้ภาพถ่ายรังสีร่วมด้วย ซึ่งมีความแตกต่างจากเกณฑ์การตรวจฟันผุที่ใช้ในดัชนีผุ ถอน อุดในการสำรวจของประเทศ จึงอาจจะมีผลที่ทำให้ค่า ดัชนีผุ ถอน อุด ต่างกับการสำรวจของประเทศ เป็นผลให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะ มีค่าเฉลี่ยผุ ถอน อุด หรือมีความชุกที่สูงกว่าประชากรโดยทั่วไป สอดคล้องกับการศึกษาที่เคยทำมาในอดีตที่เก็บข้อมูลในโรงพยาบาลจะพบความชุกของโรคฟันผุในระดับที่สูงเช่นกัน [25]

สำหรับผลการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางกายภาพต่างๆที่มีต่อการเกิดโรคฟันผุในเด็กซึ่งพบว่า ปัจจัยน้ำหนักและส่วนสูงเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุในเด็ก โดยพบว่า เด็กที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์นั้นจะมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ 4 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) ส่วนปัจจัยด้าน เพศ พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และลักษณะการสบฟันนั้น พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับหลายการศึกษาในอดีต เช่น การศึกษาในประเทศอเมริกาในปี ค.ศ.1999–2002 ที่พบว่า เด็กที่ภาวะทางโภชนาการสูงกว่าเกณฑ์มีอัตราการเกิดฟันผุที่สูงและมีค่าเฉลี่ยการเกิดฟันผุที่สูงกว่าเด็กที่มีภาวะทางโภชนาการปกติ [26] หรือ การศึกษาของ วิลเลอร์ฮอว์เซน ในปี ค.ศ. 2004 ในประเทศเยอรมันที่พบว่าการเกิดฟันผุแปรผันตามกับน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กนักเรียน [6]  สอดคล้องกับการศึกษาของ แคนเทกิน ในปี ค.ศ.2012 ในประเทศตุรกีที่ พบว่า ค่าเฉลี่ยการเกิดฟันผุแปรผันตามกับค่าดัชนีมวลของร่างกาย [7]  และการศึกษาของโมจารัดในปี ค.ศ.2009 ที่พบว่า เด็กที่มีภาวะโภชนาการสูงกว่าเกณฑ์จะมีค่าดัชนีผุ ถอน อุด สูงกว่าเด็กที่มีภาวะโภชนาการปกติและต่ำว่าเกณฑ์ [27]  โดยสาเหตุที่ผลการศึกษามีความสัมพันธ์ดังกล่าว อาจเป็นเพราะเด็กที่มีภาวะทางโภชนาการที่ดีหรือมีน้ำหนักเกินนั้นมีแนวโน้มในการบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตมากกว่าจึงมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่า

            อย่างไรก็ตาม โรคฟันผุนั้นเป็นโรคที่มีสาเหตุจากพหุปัจจัย ดังนั้นการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฟันผุนั้นจำเป็นที่จะต้องกำจัดปัจจัยรบกวนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยอาจทำการตั้งคุณสมบัติเพื่อคัดแยกกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรงตามจุดประสงค์ของการศึกษา และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยรูปแบบการศึกษาวิธีอื่นๆ เพื่อสามารถนำผลการศึกษามาเปรียบเทียบหรือใช้อธิบายความสัมพันธ์ได้ในวงกว้างต่อไป

 

สรุป

          ปัจจัยด้านน้ำหนักและส่วนสูงมีผลความสัมพันธ์ต่อการเกิดฟันผุในเด็กช่วงอายุ 5-7 ปี โดยในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์นั้นมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ 4 เท่า ส่วนปัจจัยด้านเพศ พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ และลักษณะการสบฟัน ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดฟันผุ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. รายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2551-2555 ประเทศไทย.กรุงเทพมหานคร. เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม.
  2. Woodward, M., and Walker, A.R.P. Sugar consumption and dental caries: Evidence from 90 countries. Br Dent J.1994; 176:297-302.
  3. Miller J, Vaughan-Williams E, Furlong R, AND Harrison L. Dental caries and children's weights. Journal of Epidemiology and Community Health 1982;36:49-52.
  4. Beltrán-Valladares P, Cocom-Tum H, Casanova-Rosado JF, Vallejos-Sánchez AA, Medina-Solís CE, Maupomé G. Caries prevalence and some associated factors in 6-9-year-old schoolchildren in Campeche, Mexico. Rev Bioméd 2006;17:25-33.
  5. ประทีป พันธุมวนิช, จันทนา อึ้งชูศักดิ์. Cariology และระบาดวิทยาม รายงานการประชุม Preventive Dentistry in Community Care ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2539 .กรุงเทพ.
  6. Willershausen B, Haas G, Krummenauer F, Hohenfellner K. Relationship between high weight and caries frequency in German elementary school children. Eur J Med Res 2004;9:400-4.
  7. Cantekin K, Gurbuz T, Demirbuga S, Demirci T, Duruk G.Dental caries and body mass index in a sample of 12-year-old eastern Turkish children. Journal of dental sciences 2012;7:77-80.
  8. Tripathi S, Kiran K. Relationship between obesity and dental caries in children - A preliminary study. J. Int oral health 2010;2:65-72.
  9. Prashanth S.T, Venkatesh B, Amitha H.A. Comparison of Association of Dental Caries in Relation with Body Mass Index (BMI) in Government and Private School Children. Journal of Dental Sciences and Research 2011;2:22-6.
  10. Koksal E, Tekcicek M. Association between anthropometric measurements and dental caries in Turkish school children. Cent Eur J Public Health 2011;19(3):147-51.
  11. สุเนตร จินตฤทธิ์. ภาวะโรคฟันผุในเด็กนักเรียนที่มีสภาวะโภชนาการแตกต่างกันของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง. Vajira Medical Journal 2005; 49:11-8.
  12. Bruce A, Cynthia L. The Relationship Between Birth Weight and Growth with Caries Development in YoungChildren Remains Uncertain. Community Dent Oral Epidemiol 2010;38:408-14.
  13. Tripathi S, Kiran K. Relationship between obesity and dental caries in children - A preliminary study. J. Int oral health 2010;2:65-72.
  14. Prashanth S.T, Venkatesh B, Amitha H.A. Comparison of Association of Dental Caries in Relation with Body Mass Index (BMI) in Government and Private School Children. Journal of Dental Sciences and Research 2011;2:22-6.
  15. Chawla H.S., Gauba K., Goyal A. Trend of dental caries in children of Chandigarh over the last sixteen years. J Indian Soc Pedo Prev Dent 2000;3:41-5.
  16. Goel P, Sequeira P, Peter S. Prevalence of dental disease amongst 5-6 and 12-13 year old school children of Puttur municipality, Karnataka State-India. J Indian Soc Pedod Prev Dent 2000;18:11-7.
หมายเลขบันทึก: 562812เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท