ผลต่อการดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันปกติและผิวฟันที่จำลองสภาวะฟันผุภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน


ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับ ที่ผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ ( 1850.11 และ 2801.01 ppm ในด้านที่ทดสอบด้วยโซเดียมฟลูออไรด์เจล ที่ความเข้มข้น 1.1% และ 2% ตามลำดับ) มีค่าสูงกว่าในกลุ่มที่ผิวเคลือบฟันปกติ ( 850.19 and 1206.72 ppm) และค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับที่เกิดจากการใช้โซเดียมฟลูออไรด์เจล ที่ความเข้มข้น 2.0% จะมีค่าสูงกว่าความเข้มข้น 1.1% ทั้งในผิวเคลือบฟันปกติ และมีการจำลองสภาวะฟันผุ อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการทดสอบระหว่างกลุ่มดังกล่าว

ผลต่อการดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันปกติและผิวฟันที่จำลองสภาวะฟันผุภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน

ณัฐวุธ   แก้วสุทธา 1 , สถาพร นิ่มกุลรัตน์2

บทคัดย่อ

            การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการถูกดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟัน ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ที่ความเข้มข้น 1.1% และ 2%  ที่บริเวณผิวเคลือบฟันปกติ และผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ โดยเป็นการศึกษาแบบ in-vitro โดยคัดเลือกฟันกรามแท้ของมนุษย์ที่ไม่มีรอยผุจำนวน 20 ซี่ มาเป็นตัวอย่างในการทดสอบ  แบ่งฟันเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ซี่ (กลุ่มที่บริเวณผิวเคลือบฟันปกติ และกลุ่มผิวเคลือบฟันมีการจำลองสภาวะฟันผุ ) ฟันในแต่ละกลุ่มจะถูกทดสอบด้วยโซเดียมฟลูออไรด์เจล ความเข้มข้น 1.1% และ 2% เป็นเวลา 4 นาที จากนั้นจะนำฟันตัวอย่างมาทดสอบการดูดซับฟลูโอไรด์ ด้วยวิธีเอซิดเอต- ไบออฟซีโดยการใช้ 1 M HClO4 ปริมาณ10 µl กัดผิวเคลือบฟันเป็นเวลา 15 วินาที ทำการวัดปริมาณความเข้มข้นของฟลูโอไรด์และแคลเซี่ยมด้วยเครื่องวิเคราะห์ไอออนในสารละลาย และเครื่องวิเคราะห์เชิงปริมาณธาตุ วิเคราะห์ความแตกต่างของปริมาณฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับที่ผิวเคลือบฟัน โดยใช้สถิติ Independent t-test ,One Way ANOVA และ Scheffe’s ที่ระดับความเชื่อมั่น 95  ผลการศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับ ที่ผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ  ( 1850.11 และ 2801.01 ppm ในด้านที่ทดสอบด้วยโซเดียมฟลูออไรด์เจล ที่ความเข้มข้น 1.1% และ 2% ตามลำดับ) มีค่าสูงกว่าในกลุ่มที่ผิวเคลือบฟันปกติ ( 850.19 and 1206.72 ppm) และค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับที่เกิดจากการใช้โซเดียมฟลูออไรด์เจล ที่ความเข้มข้น 2.0% จะมีค่าสูงกว่าความเข้มข้น 1.1% ทั้งในผิวเคลือบฟันปกติ และมีการจำลองสภาวะฟันผุ อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการทดสอบระหว่างกลุ่มดังกล่าว


คำสำคัญ: โซเดียมฟลูออไรด์,การดูดซับฟลูโอไรด์,การทดสอบเอซิดเอต-ไบออฟซี

 

 

 

Abstract

Objectives of this study was to compare the fluoride uptake in enamel after using of 1.1% and 2.0% Srinakharinwirot University Sodium fluoride (NaF) gel, on sound enamel surface and artificial carious surface.In an vitro study, 20 non-carious molar teeh were randomly divided into 2 groups according to the condition of enamel surface (Intact enamel group and artificial carious group).Each group were treated with the 1.1% NaF SWU gel  and 2.0% NaF SWU gel for 4 minute. The fluoride uptake were measured using an acid etch biopsy technique .All specimen were etched for 15 seconds with a 10 µl solution of 1 M HClO4.Fluoride and calcium concentrations were measured by the Ion analyzer (EA940,Orion®) and atomic absorption spectrophotometer. The collected data were analyzed using the Independent t-test,One-way ANOVA and  Scheffe’s test. Statistic significant associations were those with p<0.05.The results shown that, the mean fluoride uptake  in the Artificial carious lesion group (1850.11 and 2801.01 ppm in 1.1% and 2.0% NaF treated site) were higher than Intact enamel group ( 850.19 and 1206.72 ppm), and 2.0 % SWU NaF site were higher than the 1.1% SWU NaF gel site (P<0.05). No significant difference was observe between 2 group

 

Keywords : Sodium Fluoride Gel , Fluoride Uptake , Acid-Etch biopsy

 

บทนำ/Introduction

โรคฟันผุ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญและมีความรุนแรงในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย  ซึ่งจากรายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่6[1] พบว่า ความชุกของโรคฟันผุในเด็กไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสูงอยู่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวพบว่าความชุกของโรคฟันผุในกลุ่มอายุ 3 ปี และ 12 ปีเป็นร้อยละ 61.37 และ 80.64 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จึงถือว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพช่องปากที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข โดยมาตรการป้องกันฟันผุที่สำคัญ และมีประสิทธิภาพสูงที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันที่แนะนำคือ การใช้ฟลูโอไรด์  ซึ่งได้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในหลายรูปแบบ เช่น เติมในน้ำประปา ผสมลงในนมให้เด็กรับประทาน และในรูปแบบฟลูโอไรด์เจล  หรือฟลูโอไรด์วานิชซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้ทาให้ผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการทางทันตกรรมเพื่อป้องกันโรคฟันผุ [2-3]

            การศึกษาวิจัยในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าการใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ สามารถป้องกัน หรือ ลดสภาวะฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สารผสมของฟลูออไรด์2 เพื่อช่วยในการป้องกัน หรือ ลดสภาวะฟันผุ (prevention of decalcification or cariostatics) หรือเสริมสร้างโครงสร้างของผิวเคลือบฟันที่มีสภาวะฟันให้มีการสร้างแร่ธาตุใหม่  (remineralization)ได้  โดยรูปแบบของฟลูออไรด์เฉพาะที่ที่ทันตแพทย์ใช้ในปัจจุบันนั้นมี 2 รูปแบบ[4-6] คือ ฟลูโอไรด์เจลเป็นชนิดที่มีความเป็นกรด และฟลูโอไรด์เจลที่เป็นชนิดมีความเป็นกลาง โดยฟลูโอไรด์เจลเป็นชนิดที่มีความเป็นกรด ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ 1.23 % acidulate phosphate fluoride ซึ่งจะมีส่วนผสมของฟลูโอไรด์ประมาณ 12,300 ppm และฟลูโอไรด์เจลที่มีฤทธิ์เป็นกลาง คือ 1% Sodium fluoride ซึ่งฟลูโอไรด์เจลเป็นชนิดที่มีความเป็นกรดจะเป็นชนิดที่นิยมแพร่หลายมากกว่า แต่อย่างไรก็ดีข้อเสียของฟลูออไรด์เจลชนิดที่อยู่ในสภาวะที่เป็นกรด   คือมีการเติมกรดไฮโดรฟลูโอริก (Hydrofluoric acid) ลงไปในส่วนผสม ซึ่งมีรายงานการวิจัย [6] ชี้ให้เห็นว่า กรดดังกล่าวมีผลในการทำลายผิววัสดุบูรณะฟันชนิดคอมโพสิต และครอบฟันชนิดกระเบื้องได้ ซึ่งหากโซเดียมฟลูออไรด์เจลมีความสามารถในการป้องกันฟันผุได้ดี เทียบเท่าฟลูออไรด์เจลชนิดที่อยู่ในสภาวะที่เป็นกรด  และจากการที่คุณสมบัติของเจลที่มีความเป็นกลางและไม่มีการทำลายผิวเคลือบฟัน จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำผลิตเพื่อนำไปใช้ป้องกันการเกิดโรคฟันผุในกลุ่มประชากรที่ยังไม่เกิดการทำลายแร่ธาตุในผิวเคลือบฟัน (Demineralization)  เช่น การป้องกันโรค   ฟันผุในกลุ่มคนไข้ที่เริ่มติดเครื่องมือจัดฟัน หรือในกลุ่มเด็ก ได้ดีกว่าฟลูออไรด์เจลชนิดที่อยู่ในสภาวะที่เป็นกรดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ในส่วนของฟันที่มีการสูญเสียแร่ธาตุแล้วหรือมีรอยผุเบื้องต้นแล้ว ยังไม่มีรายงานวิจัยที่แน่ชัดว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ฟลูโอไรด์รูปแบบไหน จึงจะช่วยส่งเสริมการดึงแร่ธาตุคืนกลับสู่ผิวฟัน และสร้างแร่ธาตุขึ้นใหม่ได้(remineralized) ซึ่งในท้องตลาดในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ฟลูโอไรด์เจลที่มีฤทธิ์เป็นกลาง (neutral sodium fluoride gel)  ที่ใช้อยู่ จะเป็นโซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่มีสารผสมโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้นที่สูงไม่มากนัก คือ ส่วนใหญ่จะมีความเข้มข้น1% โดยวิธีการใช้งานจะใช้การเคลือบบนผิวฟัน เพื่อช่วยในการป้องกันหรือลดฟันผุ (cariostatics and prevention of decalcification) [7-8] อย่างไรก็ตาม มีรายงานวิจัยที่ใช้สารโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้นสูง 2% ผสมกับวัสดุฟอกสีฟันเพื่อช่วยให้เกิดการสร้างธาตุใหม่ของผิวเคลือบฟันได้ [9]

            ซึ่งจากเหตุผลดังที่กล่าวมา ประกอบกับสถานการณ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์โซเดียมฟลูโอไรด์ที่ใช้อยู่ในท้องตลาด จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้นซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น คณะทันตแพทยศาสตร์จึงร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการผลิตโซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ใช้โดยทันตแพทย์ขึ้น 2 ความเข้มข้น คือ 1.1% และ 2.0 % เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศและลดต้นทุนในการให้การรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้ผลิตจำเป็นต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพของฟลูออไรด์เจลที่ผลิตขึ้นเองในด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ฟลูโอไรด์ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

            สำหรับการทดสอบการดูดซับฟลูโอไรด์ ถือเป็นการทดสอบคุณสมบัติพื้นฐานของโซเดียมฟลูโอไรด์ที่ผลิตขึ้น ซึ่งต้องทำการทดสอบดังกล่าว เพื่อให้ทราบความสามารถการดูดซับของฟลูโอไรด์บนผิวเคลือบฟัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติในการป้องกัน หรือ ลดสภาวะฟันผุ (prevention of decalcification or cariostatics) หรือเสริมสร้างโครงสร้างของผิวเคลือบฟันที่มีสภาวะฟันให้มีการสร้างแร่ธาตุใหม่  (remineralization) ได้ [10-13] การวิจัยในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อต้องการศึกษาถึงผลของความเข้มข้นของโซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่แตกต่างกัน ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในดูดซับของฟลูโอไรด์บนผิวเคลือบฟัน และศึกษาปัจจัยทางด้านความแตกต่างของสภาพของผิวเคลือบฟันว่า ในระหว่างผิวเคลือบฟันบริเวณฟันที่เริ่มเกิดรอยผุ (decalcification) กับผิวเคลือบฟันปกติ จะมีความแตกต่างกันในความสามารถการดูดซับฟลูโอไรด์ของโซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่ทางคณะฯผลิตขึ้นหรือไม่ ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่จัดชุดโครงการขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และประเมินประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โซเดียมฟลูออไรด์เจลที่คณะทันตแพทยศาสตร์จะผลิตขึ้นต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของงานวิจัย/Aims

เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการถูกดูดกลับของฟลูออไรด์  จากโซเดียมฟลูออไรด์เจล ในสภาวะเป็นกลางที่ความเข้มเข้น 1% และ 2%  ที่บริเวณผิวเคลือบฟันปกติ และผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ โดยวิธีแอซิดเอทช์ ไบออพซี่ (Acid Etch Biopsy)

 

อุปกรณ์และวิธีดำเนินการวิจัย / Materials and methods

              งานวิจัยในครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิ ภาพในการถูกดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟัน ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูออไรด์เจล ในสภาวะเป็นกลางที่ความเข้มข้น 1.1% และ 2.0%  ที่บริเวณผิวเคลือบฟันปกติ และผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ โดยวิธีแอซิดเอทช์ ไบออพซี่ (Acid Etch Biopsy)

ขั้นตอนและวิธีการในการเก็บข้อมูล

การเตรียมและผลิตฟลูโอไรด์

            ทำการผลิตและปรับปรุงคุณลักษณะทางกายภาพ ของผลิตภัณฑ์โซเดียมฟลูออไรด์เจล   ให้เหมาะสม   โดยร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการปรับปรุงตำรับ ฟลูโอไรด์เจลให้มีคุณสมบัติ สี ความหนืด จนเป็นที่เหมาะสม ตามการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน มาตรฐานเลขที่ มอก. 45-2549[14] ทดสอบและปรับปรุงจนได้เป็นผลิตภัณฑ์โซเดียมฟลูโอไรด์ 2 ตำรับความเข้มข้น  คือ  1.1% NaF Gel  และ 2.0% NaF Gel ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพดังต่อไปนี้

1.) 1.1 % NaF gel เป็นเจลใสสีขาว    รสหวาน กลิ่น cherry & salacider

2.)  2.0 % Naf gel เป็นเจลใสสีเหลือง รสหวาน กลิ่น raspberry & cherry

ทั้งสองตำรับ มี pH 6.9 และความหนืด 35,200 cps   จากการวัดที่ 30 rpm

            ซึ่งเมื่อปรับปรุงจนได้ลักษณะทางกายภาพตามที่ต้องการแล้ว จะถูกนำไปทดสอบการแตกตัวเป็นไอออนฟลูโอไรด์ (Fluoride Availability) ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของUSP โดยไอออนที่วัดได้อยู่ในช่วงของร้อยละ 90.0-110.0 ของที่ระบุไว้บนฉลาก ( 5,000  และ 9,040 ppm  ตามลำดับ) เจลทั้งสองตำรับ ที่ผลิตได้จะถูกเก็บรักษาในตู้เย็น ที่มีการควบคุมอุณหภูมิคงที่ 4 องศาเซลเซียสโดยตลอดระยะเวลาที่ทำการทดลอง

การเตรียมฟันตัวอย่าง( Preparation of tooth specimens and Material Application)

การพิจารณาคัดเลือกฟันตัวอย่างที่จะนำมาศึกษาในครั้งนี้  จะเลือกใช้ใช้ฟันกรามแท้ล่างของมนุษย์ ที่ถูกถอนทิ้งและเก็บในภาชนะที่ไม่สามารถระบุเจ้าของได้ และไม่มีรอยผุจำนวน 20 ซี่ มาเป็นตัวอย่างในการทดสอบ 

ฟันที่ถูกรวบรวมทั้งหมด จะทำความสะอาดฟันด้วยหัวขัด pumic rubber cup  และ Scaler   จนผิวฟันโดยทั่วไปมีความสะอาด และเก็บรักษาในภาชนะขวดสีชา ที่บรรจุ 1% Thymol

การศึกษาในครั้งนี้จะศึกษาผลต่อการดูดซับของฟลูโอไรด์ที่ผิวเคลือบฟันปกติและผิวฟันที่จำลอง สภาวะฟันผุหลังจากการใช้ฟลูโอไรด์เจลที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีการเตรียมฟันเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ซี่ โดยมีวิธีในการเตรียมฟันในแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้

การเตรียมฟันกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ผิวเคลือบฟันปกติ(Intacted Enamel)

นำฟันที่ได้คัดเลือก เป่าแห้ง  และตรวจสอบว่าไม่มีรอยผุบนผิวเคลือบฟันทางด้านใกล้แก้มโดยใช้การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ SterioMicroscope ขนาดกำลังขยาย 10 เท่า (x10 Magnification) ต้องไม่พบรอยขาวขุ่นบริเวณผิวเคลือบฟันที่จะทำการทดสอบ

การเตรียมฟันกลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีการจำลองรอยผุบนผิวผิวเคลือบฟันโดย pH Cycling

การเตรียมฟันในกลุ่มที่มีการสร้างรอยผุจำลองกลุ่มนี้ ทำได้โดยแช่ฟันที่เตรียมไว้ในขวดพลาสติกมีฝาปิด ซึ่งมีสารสำหรับการละลายเคลือบฟัน (Demineralizing solution, 2 mM CaCl2,    2 mM NaH2PO4, และเติม 50 mM CH3COOH เพื่อให้มี pH 4.55) ปริมาณ 500 มล. เป็นเวลา   15 วันจากนั้นล้างด้วยน้ำกลั่น (deionized water) และ เป่าให้แห้ง   ทดสอบดูความขุ่นขาวบนผิวเคลือบฟัน  เมื่อสังเกตเห็นว่าผิวเคลือบฟันภายหลังจากการเป่าแห้งมีลักษณะขาวขุ่นแล้ว นำฟันที่เตรียมได้ไปแช่เก็บรักษาในภาชนะขวดสีชา ที่บรรจุ 1% Thymol

เมื่อได้ตัวอย่างฟันครบจำนวน ทั้ง 2 กลุ่มการทดลองแล้ว จะนำฟันทั้งสองกลุ่มมาทำการเคลือบพื้นผิวส่วนนอกด้วยขี้ผึ้งที่ไม่มีส่วนผสมของฟลูโอไรด์ ยกเว้นในบริเวณที่ต้องการจะทดสอบ ซึ่งจะเว้นที่ว่างเป็นรูปหน้าต่างขนาดประมาณ 3 *3 มม2 จำนวน 3 ตำแหน่งบนบริเวณผิวฟันทางด้านข้างแก้ม (buccal surface) โดยกำหนดขนาดของหน้าต่างโดยใช้กระดาษกาวปิดบริเวณผิวเคลือบฟันในบริเวณที่ต้องการ โดยทำการเจาะกระดาษกาวขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มม. ด้วย ACuPunch® ขนาด 3 มม.  แล้วนำกระดาษกาวที่เจาะเป็นวงกลมขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มม. ดังกล่าวมาแปะบนบริเวณผิวฟันทางด้านข้างแก้ม (buccal surface) โดยตำแหน่งของขอบล่างหน้าต่างจะอยู่บนเส้นที่แบ่งระหว่างOcclusal1/3 และ middle1/3 ของฟัน10 จำนวน 3 บริเวณ ได้แก่บริเวณกึ่งกลางของฟัน (Central site)}บริเวณไกลกลางของฟัน (Distal site)และบริเวณใกล้กลางของฟัน (Mesial site)ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1แสดงการเตรียมบริเวณทดสอบโดยการเคลือบขี้ผึ้งในการเตรียมผิวฟัน

ขั้นตอนการทำ FLUORIDE BIOPSY

ก.      การทำ Acid Biopsy ในด้าน Pre- Treatment Surface

  1. เตรียมน้ำกลั่นปราศจากอิออน ( Deionizing Water)  ปริมาณ  1470 µl  บรรจุในหลอดทดลองพลาสติกขนาด  1 ml เป็นภาชนะบรรจุสารละลายที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้
  2. นำฟันที่ต้องการทดสอบ  ออกจากภาชนะเก็บ
  3. ใช้กรดกัดผิวฟันบริเวณกึ่งกลางของฟัน (Central site) ด้วยกรด 1 M HClO4 ปริมาณ  10 µl   เป็นเวลา 15 วินาที      จากนั้นดูดสารละลายทั้งหมดกลับ ใส่หลอดทดลองพลาสติกขนาด         1 ml ที่บรรจุสารละลายในข้อ 1
  4. ล้างผิวฟันในบริเวณกึ่งกลางของฟัน (Central site)  ด้วยสารละลาย 0.5 M NaOH  ปริมาณ  10 µl   เป็นเวลา 15 วินาที   จากนั้นดูดสารละลายทั้งหมดกลับ ใส่หลอดทดลองเดิม
  5. ล้างผิวฟันในบริเวณกึ่งกลางของฟัน (Central site)  ซ้ำอีก 1 รอบ ด้วยสารละลาย 0.5 M NaOH  ปริมาณ  10 µl   เป็นเวลา 15 วินาที   จากนั้นดูดสารละลายทั้งหมดกลับ ใส่หลอดทดลองเดิม
  6. ได้สารละลายทั้งหมด 1500 µl (ซึ่งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของฟลูโอไรด์ในฟันซี่นั้น)

ข.  การทำ Acid Biopsy ในด้าน  Treatment Surface

  1. เตรียมน้ำกลั่นปราศจากไอออน ( Deionizing Water)  ปริมาณ  1470 µl  บรรจุในหลอดทดลองพลาสติกขนาด  1 ml เป็นภาชนะบรรจุสารละลายที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้
  2. นำฟันที่ต้องการทดสอบ  ออกจากภาชนะเก็บ
  3. ทำการ Treatment ผิวฟันที่จะทดสอบ ด้วยการจุ่มฟันในผิวฟันด้านที่จะทดสอบด้วย ลงไปในภาชนะบรรจุโซเดียมฟลูโอไรด์เจล 1.1% และ 2.0 %ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น  ปริมาณ 1 มล. เป็นเวลา 4 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำกลั่นปราศจากไอออน ( Deionizing Water)  ให้ปราศจากฟลูโอไรด์ตกค้างบนผิวฟัน และทำการเป่าแห้ง และตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าไม่มีฟลูโอไรด์ตกค้างบนผิวฟัน
  4. ใช้กรดกัดผิวฟันบริเวณที่จะทดสอบ (บริเวณไกลกลางของฟัน (Distal site) หรือ บริเวณใกล้กลางของฟัน (Mesial site))ด้วยกรด 1 M HClO4 ปริมาณ  10 µl   เป็นเวลา 15 วินาที   จากนั้นดูดสารละลายทั้งหมดกลับ ใส่หลอดทดลองพลาสติกขนาด  1 ml ที่บรรจุสารละลายในข้อ 1
  5. ล้างผิวฟันในบริเวณที่ทำการทดสอบ ด้วยสารละลาย 0.5 M NaOH  ปริมาณ  10 µl   เป็นเวลา 15 วินาที   จากนั้นดูดสารละลายทั้งหมดกลับ ใส่หลอดทดลองเดิม
  6. ล้างผิวฟันในบริเวณที่ทำการทดสอบซ้ำอีก 1 รอบ ด้วยสารละลาย 0.5 M NaOH  ปริมาณ  10 µl   เป็นเวลา 15 วินาที   จากนั้นดูดสารละลายทั้งหมดกลับ ใส่หลอดทดลองเดิม
  7. ได้สารละลายทั้งหมด 1500 µl (ซึ่งเป็นข้อมูลการดูดซับฟลูโอไรด์ภายหลัง การ Treatment ด้วยโซเดียมฟลูโอไรด์เจลของฟันซี่นั้น)

ภาพที่ 2  แสดงวิธีการทำ Acid Biopsy

          หลังจากนั้น นำหลอดทดลองที่มีส่วนของสารที่ได้จากการทำ Acid etched Biopsy แบ่งสารละลายออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ปริมาณ 1000 µl  มาเติมสารละลายบัฟเฟอร์ปรับความแรงไอออน (total ionic strength adjustment buffer, TISAB III) ปริมาณ 100 µl เพื่อวัดปริมาณฟลูโอไรด์ โดยใช้เครื่องวิเคราะห์อิออนในสารละลาย (Expandable ion Analyzer EA940, Analytical technology Inc. Orion®, USA) และฟลูออไรด์อิเลคโทรด (combination electrode)ในการวัดปริมาณมวลฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟัน  ซึ่งจะวัดออกมาในหน่วย ส่วนในล้านส่วน (part per million - ppm)

            จากนั้นนำสารละลายส่วนที่เหลือปริมาณ 500 µl ที่แยกออกมา  ทำการวัดปริมาณ         ธาตุแคลเซี่ยมที่อยู่ในสารละลาย  โดยใช้เครื่อง Atomic absorption spectrophotometer ในการวัดปริมาณมวลแคลเซี่ยม  ซึ่งจะวัดออกมาในหน่วย ส่วนในล้านส่วน (part per million - ppm)

ภาพที่ 3   แสดงเครื่องวิเคราะห์อิออนในสารละลาย(Expandale Ion Analyzer EA940)

จากนั้นนำไปคำนวณปริมาณฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับในผิวเคลือบฟัน(Fluoride uptake) โดยคำนวณได้จากความแตกต่างของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ผิวเคลือบฟันที่วัดได้หลังจากการทาด้วยฟลูโอไรด์เจลทั้ง 2 ชนิดกับค่าความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ผิวเคลือบฟันพื้นฐานในด้านที่ไม่ได้ทาด้วยฟลูโอไรด์เจลชนิดใดๆเลย  ซึ่งผลต่างระหว่างปริมาณความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่วัดได้หลังจากการทาด้วยฟลูโอไรด์เจล กับค่าฟลูโอไรด์พื้นฐาน  จะเท่ากับ ปริมาณฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับ (Fluoride Uptake) ในผิวฟันชั้นนั้นๆ

ตามสูตร    Fluoride uptake (ppm) = F Conc. After Treatment   -  F Conc. Base-line

การวิเคราะห์ทางสถิติ

ทำการวิเคราะห์ ความแตกต่างของปริมาณฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับ (Fluoride uptake) ที่ผิวเคลือบฟัน ของผิวเคลือบฟันตัวอย่างที่บริเวณพื้นผิวเคลือบฟันที่มีความแตกต่างกัน 2 ลักษณะ และปริมาณความเข้มข้นของโซเดียมฟลูโอไรด์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน 2 ชนิด มาทำการวิเคราะห์ความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สถิติ Independent t-test และ One Way ANOVA โดยใช้สถิติ Scheffe’s ในการทดสอบ Multiple Comparison ที่ระดับความเชื่อมั่น 95  โดยโปรแกรม SPSS 11.5

 

ผลการวิจัย/Results

 

ผลการทดสอบ Fluoride Availability

            จากการทดสอบเพื่อวัดความสามารถการแตกตัวเป็นไอออน ของโซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ผลดังตารางที่ 1  ซึ่งพบว่า การแตกตัวเป็นฟลูโอไรด์ไอออนของโซเดียมฟลูโอไรด์เจล ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้นทั้งสองชนิดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของUSP[15-16] ซึ่งมาตรฐานฟลูออไรด์ไอออนที่วัดได้ ควรอยู่ในช่วงของร้อยละ 90.0-110.0 ของที่ระบุไว้บนฉลาก (5,000 และ 9,040 ppm  ตามลำดับ) จากการทดสอบ พบว่าปริมาณความเข้มข้นของฟลูออไรด์ ที่วัดได้จากโซเดียมฟลูโอไรด์เจลความเข้มข้น 1.1%มีค่า 4,915  +19 ส่วนในล้านส่วน (ppm) คิดเป็นร้อยละ 98.3 ของที่ระบุไว้ในฉลาก ส่วนโซเดียมฟลูโอไรด์เจลความเข้มข้น 2.0% มีค่า 8,726  + 78 ppm ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 97.1 ของที่ระบุไว้ในฉลาก ซึ่งทั้งสองชนิดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ USP

ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันปกติ

(Fluoride concentration in Sound enamel)

            จากการวัดความเข้มข้นของปริมาณฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับในผิวเคลือบฟัน ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันทั้ง 2 ชนิดในฟันซี่เดียวกันที่มีผิวเคลือบฟันปกติ ( ข้อมูลดังตารางที่ 2 ) พบว่า ปริมาณความเข้มข้นฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวเคลือบฟันภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลทั้ง 1.1% และ 2.0% มีค่าสูงกว่าปริมาณฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟันเริ่มต้น   แต่อย่างไรก็ตาม จะสังเกตเห็นว่าปริมาณความเข้มข้นฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟันที่สูงขึ้น  ของโซเดียมฟลูโอไรด์เจลทั้งสองชนิดนั้นมีค่าใกล้เคียงกัน (4532.61 และ 4565.49ppm ตามลำดับ )

ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ

(Fluoride concentration in Artificial carious enamel)

            จากการวัดความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟัน ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์   เจลที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันทั้ง 2 ชนิด  ในฟันซี่เดียวกัน ที่มีผิวเคลือบฟันที่ผ่านการจำลองสภาวะฟันผุ พบว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟัน ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น ทั้ง 1.1% และ 2.0% มีค่าสูงกว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟันเริ่มต้น  และพบว่าโซเดียมฟลูโอไรด์เจลความเข้มข้น 2.0%  มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวเคลือบฟันสูงกว่าโซเดียมฟลูโอไรด์เจลความเข้มข้น 1.1% อย่างชัดเจน (7022.32 และ 7707.52ppm ตามลำดับ)

ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับ

(Fluoride Uptake in Sound and Artificial carious enamel)

            เมื่อนำค่าความเข้มข้นฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันก่อนและหลังการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจล ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้นมาหาความแตกต่างก็จะได้ ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับ (Fluoride uptake) ในมวลแคลเซี่ยม 1µg จากการศึกษา เราพบว่า ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับในมวลแคลเซี่ยม 1µg  ที่ผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ  มีค่าสูงกว่าในกลุ่มที่ผิวเคลือบฟันปกติ และค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่ถูกดูดซับที่ผิวเคลือบฟัน ที่เกิดจากการใช้โซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ความเข้มข้น 2.0% จะมีค่าสูงกว่าความเข้มข้น 1.1% ทั้งในผิวเคลือบฟันปกติ  และผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ  แต่อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อมูลดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเฉลี่ย การดูดซับฟลูโอไรด์ในมวลแคลเซี่ยม 1µg ที่ผิวเคลือบฟันปกติและจำลองสภาวะฟันผุของ SWU NaF ความเข้มเข้น 1.1% และ 2%

กลุ่ม

ชนิดของผิวเคลือบฟัน

ชนิดของเจล

ค่าเฉลี่ยของการดูดซับฟลูโอไรด์ในมวลแคลเซี่ยม 1µg  (ppm+SE)

1

ผิวเคลือบฟันปกติ

1.1%SWU NaF gel  

850.19 + 212.89

2

2.0% SWU NaF gel  

1206.72 + 197.99

3

ผิวเคลือบฟันจำลองสภาวะฟันผุ

1.1%SWU NaF gel  

1850.11 + 482.45

4

2.0% SWU NaF gel  

2801.01 + 747.69

เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยการดูดซับฟลูโอไรด์ของโซเดียมฟลูโอไรด์

ที่ความเข้มข้นแตกต่างกันบนผิวเคลือบฟันที่แ ตกต่างกัน

เมื่อทดสอบความแตกต่างของ ค่าเฉลี่ยการดูดซับฟลูโอไรด์ในการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจล ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น 2 ความเข้มข้นบนผิวเคลือบฟัน 2 ลักษณะ โดยใช้สถิติ ANOVA และใช้สถิติ Sheffe’s ในการทำ Multiple comparison ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%   จากการศึกษา เราพบว่า การใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลความเข้มข้น 2.0% จะทำให้การดูดซับฟลูโอไรด์ดีกว่าความเข้มข้น 1.1 %  ทั้งในผิวเคลือบฟันปกติ และผิวเคลือบฟันที่มีการจำลองสภาวะฟันผุ และการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลในผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ  จะมีความสามารถการดูดซับฟลูโอไรด์ได้ดีกว่าในผิวเคลือบฟันปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

            ซึ่งจากการทดสอบทั้ง 4 กลุ่มศึกษา เราพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในค่าการดูดซับฟลูโอไรด์ภายหลังการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์ระหว่าง 2 กลุ่มที่ทำการศึกษา ได้แก่ กลุ่มที่ใช้โซเดียมฟลูโอไรด์ความเข้มข้น 2.0% ในผิวเคลือบฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ กับ กลุ่มที่ใช้โซเดียมฟลูโอไรด์ความเข้มข้น 1.1% ในผิวเคลือบฟันปกติ (ตารางที่ 2,3)

ตารางที่ 2  แสดงการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย การดูดซับฟลูโอไรด์ในมวลแคลเซี่ยม 1µg ของ 4 กลุ่ม 

                ทดลอง โดยใช้สถิติ ANOVA ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95

 

Sum of Squares

df

Mean Square

F

 

Between Groups

21981417.66

3

7327139.222

3.344

.030

Within Groups

78869272.46

36

2190813.124

 

 

Total

100850690.13

39

 

 

 

ตารางที่ 3 แสดงการทดสอบ Multiple Comparisons ของค่าเฉลี่ย การดูดซับฟลูโอไรด์ในมวลแคลเซี่ยม 1µg  

              ของกลุ่ม 4 ทดลอง โดยใช้สถิติ Scheffe ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95

(I) กลุ่มศึกษา

 

(J) กลุ่มศึกษา

 

ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม

Std. Error

 

 

95% CI

Lower

Upper

sound,1.1% NaF

sound,2.0% NaF

-356.53

661.93

.961

-2297.58

1584.51

 

caries,1.1% NaF

-999.91

661.93

.524

-2940.96

941.13

 

caries,2.0% NaF

-1950.82(*)

661.93

.048

-3891.87

-9.77

sound,2.0% NaF

sound,1.1% NaF

356.53

661.93

.961

-1584.51

2297.58

 

caries,1.1% NaF

-643.38

661.93

.814

-2584.43

1297.66

 

caries,2.0% NaF

-1594.28

661.93

.142

-3535.33

346.76

caries,1.1% NaF

sound,1.1% NaF

999.91

661.93

.524

-941.13

2940.96

 

sound,2.0% NaF

643.38

661.93

.814

-1297.66

2584.43

 

caries,2.0% NaF

-950.90

661.93

.565

-2891.95

990.14

caries,2.0% NaF

sound,1.1% NaF

1950.82(*)

661.93

.048

9.77

3891.87

 

sound,2.0% NaF

1594.28

661.93

.142

-346.76

3535.33

 

caries,1.1% NaF

950.90

661.93

.565

-990.14

2891.95

*  The mean difference is significant at the .05 level.

 

สรุปและอภิปรายผล/Conclusion and Discussion

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒผลิตขึ้น ทั้ง ความเข้มข้น 1.1% และ 2.0 %  มีปริมาณฟลูออไรด์ไอออนอยู่ในช่วงที่เหมาะสมคือมี การแตกตัวของฟลูออไรด์ไอออน อยู่ที่ร้อยละ 98.3 และ 97.1 ตามลำดับ ซึ่งไม่ต่ำกว่า 90% และไม่มากกว่า 110% จากปริมาณที่กำหนดไว้คือ 5,000  และ 9,040 ppm  ตามมาตรฐานของ USPและจากผลการทดสอบความเข้มข้นฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟันปกติ เราพบว่า ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลทาบนผิวเคลือบฟันเป็นเวลา 4 นาที แล้วล้างออก เราพบว่า โซเดียมฟลูโอไรด์เจลทั้ง 2 ความเข้มข้น  ทำให้เกิดฟลูโอไรด์สะสมในผิวเคลือบฟันสูงขึ้นกว่าปริมาณฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟันเริ่มต้น   แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวเคลือบฟันที่สูงขึ้นนั้นมีค่าค่อนข้างใกล้เคียงกันในการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์ทั้งสองชนิด   ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเข้มข้นที่สูงขึ้น (จาก 5,000 เป็น 9,040 ppm) ไม่มีผลทำให้การดูดซับฟลูโอไรด์ในฟันที่มีผิวเคลือบฟันปกติดีขึ้น

ซึ่งแตกต่างจากการทดสอบปริมาณความเข้มข้นฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันที่มีการจำลองสภาวะฟันผุ ซึ่งเราพบว่า การใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่มีความเข้มข้น 2.0% นั้น  ทำให้เกิดการสะสมฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันสูงกว่า โซเดียมฟลูโอไรด์เจลความเข้มข้น 1.1% อย่างชัดเจน   ซึ่งเมื่อนำความเข้มข้นของฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟัน  ภายหลังการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจลทั้งสองชนิด ไปทดสอบความแตกต่างกับความเข้มข้นของปริมาณฟลูโอไรด์ที่สะสมในผิวเคลือบฟันเริ่มต้น โดยใช้สถิติ ANOVA  พบว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฟลูโอไรด์ที่อยู่ในผิวฟัน ภายหลังจากการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจล ความเข้มข้น 2.0% มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับปริมาณฟลูโอไรด์ที่สะสมในผิวเคลือบฟันเริ่มต้น  ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเข้มข้นของโซเดียมฟลูโอไรด์ที่สูงขึ้น มีผลทำให้การดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันที่มีการจำลองสภาวะฟันผุเกิดได้มากขึ้น สรุปได้ว่า โซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทั้งที่ความเข้มข้น 1.1% และ 2%  มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดการดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันดีขึ้น  ความเข้มข้นของโซเดียมฟลูโอไรด์ที่สูงขึ้น มีผลทำให้เกิดการดูดซับฟลูโอไรด์ที่ผิวเคลือบฟันสูงขึ้น และโซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ความเข้มข้น 2% จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า 1.1% อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างดังกล่าวไม่เห็นผลที่ชัดเจนในฟันที่มีผิวเคลือบฟันปกติ แต่จะเห็นความแตกต่างชัดเจน ในกรณีใช้ในผิวเคลือบฟันที่มีรอยผุจำลองแล้ว

อภิปรายผล

เมื่อทำการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยการดูดซับฟลูโอไรด์ในผิวเคลือบฟันปกติครั้งนี้ ภายหลังจากการใช้ SWU NaF ทั้ง 2 ความเข้มข้นกับการศึกษาที่ผ่านๆมา พบว่า มีค่าใกล้เคียงกับการศึกษาของ Eronat C , Eronat N , Alpoz AR.[17] ที่ทำการทดสอบการดูดซับของฟลูโอไรด์ภายหลังการใช้สารละลายโซเดียมฟลูโอไรด์เจล ความเข้มข้น 2.0 % พบว่ามีค่าการดูดซับฟลูโอไรด์ 462 ppm แต่มีค่าน้อยกว่าอีกหลายๆการศึกษาที่ผ่านมา ดังเช่น การศึกษาของ Kohli K , Houpt M , Shey Z[18] ที่ทำการทดสอบการดูดซับของฟลูโอไรด์ภายหลังการใช้สารละลายโซเดียมฟลูโอไรด์เจล ความเข้มข้น 2.0 % พบว่ามีค่าการดูดซับฟลูโอไรด์ 587 ppm  และการศึกษาของ Retief DH[19] ที่ทำการทดสอบการดูดซับของฟลูโอไรด์ภายหลังการใช้สารละลายโซเดียมฟลูโอไรด์เจลวานิช ความเข้มข้น 2.0 % พบว่ามีค่าการดูดซับฟลูโอไรด์ 629 ppm และการศึกษาของ Mellberg JR & Loertscher KL [20] ที่ทำการทดสอบการดูดซับของฟลูโอไรด์ภายหลังการใช้โซเดียมฟลูโอไรด์เจล 1.2% และ 2.3% ซึ่งได้ค่าเฉลี่ย 731 และ 821 ppm ตามลำดับ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากระยะเวลาที่ใช้ในการทำ Acid- biopsy ตลอดจนความเข้มข้นของกรดที่ใช้ในการสกัด ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา

จากการศึกษาดังกล่าว เป็นการยืนยันมาตรฐานและประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุของ โซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้เพียงในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นการทดสอบการดูดซับ ฟลูโอไรด์ ซึ่งเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากว่าจะมีการนำโซเดียมฟลูออไรด์เจลที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไปใช้จริงในทางคลินิกให้แก่ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการทดสอบคุณสมบัติอื่นๆเพิ่มเติมทั้งการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น สารปนเปื้อนที่มีอยู่,เสถียรภาพต่อการเก็บโดยวิธีเร่งภาวะ, สี กลิ่น รส และความพอใจของผู้ป่วย เป็นต้นและการทดสอบทางคลินิก เพื่อให้ โซเดียมฟลูโอไรด์เจลที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ มีประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย.

 

กิตติกรรมประกาศ/Acknowledgement

งานวิจัยนี้ได้รับได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจาก  เงินรายได้มหาวิทยาลัย (คณะทันตแพทยศาสตร์)  ประจำปี 2550

 

เอกสารอ้างอิง/References

[1]กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย.  (2551).  รายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.

       2545-2550.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ทหารผ่านศึก จำกัด,

[2] The American Dental Association.  (2006).  Interim Guidance on Fluoride intake for infant and Young

       Children.

[3] The American Dental Association.  (2006).  Professionally Applied Topical Fluoride Executive

       Summary of Evidence-Based Clinical Recommendations.

[4] Whiteford GM.  (1994,June).  Intake and Metaboirsm of Fluoride.  Adv Dent Res.  8(1): 5-14.

[5]Adair, S. M.  (2006,March).  Evidence-based use of fluoride in contemporary pediatric dental practice.

       Pediatric dentistry. 28 :133-142.

[6] Ripa LW.  (1990,November)  .An evaluation of the use of Professional (Operator – applied) topical

       fluorides. J dent Res ;69:786-796

[7] Chadwick BL, Roy J, Knox J , Treasure ET.  (2005,November).  The effect of topical fluorides on

      decalcificationin patients with fixed orthodontic appliances : a systemic review.  Am J Orthod

       Dentofacial Orthop.  128(5):601-6.

[8] O'Reilly MM,  Featherstone JD.  (1987,July).  Demineralization and remineralization around

       orthodontic appliances : an in vivo study.  Am J Orthod Dentofacial Orthop.  92(1):33-40.

[9] Mukai Y, Lagerweij MD, ten Cate JM.  (2001,September–October).  Effect of a solution with high

       fluoride concentration on remineralization of shallow and deep root surface caries in vitro. Caries

        Res.  35:317-324.

[10] Ogaard B , Seppa L, Rolla G.  (1994,July).  Professional Topical Fluoride Applications Clinical

       Efficacy and Mechanism of Action.  Adv Dent Res.  8(2):190-201.

[11] Adrends J, Nelson DGA, Dijkman AG, Jongebloed WL.  (1983,June).  Effect of Various Fluorides on

       Enamel Structure and chemistry.Cariology Today.  Int. Congr. Zurich.  245-258

[12] Boyd RL. (1993,Spring).  Comparison of three self-applied topical fluoride preparations for control

       of decalcification.  Angle Orthod.  63(1):25-30.

[13] O'Reilly MM,  Featherstone JD.  (1987,July).  Demineralization and remineralization around

       orthodontic appliances : an in vivo study.  Am J Orthod Dentofacial Orthop.  92(1):33-40.

[14] กระทรวงอุตสาหกรรม. (2540).มาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมของยาสีฟัน.สำนักงานมาตรฐาน

       ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม.

[15] The United State Pharmacopeia. (2000). Approved drug products and legal requirements. USP DI

       20th ed.  United States: Pharmacopeial Convention, Inc.

[16] The United State Pharmacopeia. (2000).The United State Pharmacopeia and the national

       formulary.USP 24 NF 19.  United States.: Pharmacopeial Convention, Inc.

[17] Eronat C , Eronat N , Alpoz AR. (1993). Fluoride Uptake by enamel in vitro following application of

       various topical fluoride preparations.  J Clinical Pediatr Dent.  17(4):227-230.

[18] Kohli K , Houpt M , Shey Z.  (1997).  Fluoride uptake by proximal surfaces from professionally

       applied fluoride : An in vitro study.  J Dent Child.  64:28-31.

[19] Retief DH, Sorvas PG, Bradley EL, Taylor RE & Walker AR.  (1980,March).  In vitro Fluoride

       Uptake, Distribution and Retention by Human Enamel After 1- and 24- Hour Application of Various

       Topical Fluoride Agents.  J Dent Res.  59(3): 573-582.

[20] Mellberg JR & Chomichi WG.  (1983,May).  Fluoride Uptake by Artificial Caries Lesions from

       Fluoride Dentifrices in vivo.  J Dent Res.  62(5):540-542.

คำสำคัญ (Tags): #ฟลูออไรด์#ฟันผุ
หมายเลขบันทึก: 562806เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท