โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากและสภาวะอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น


ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก คือ ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีค่าอิทธิพล เท่ากับ .79 .01 และ .27ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก คือ ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ โดยมีค่าอิทธิพลเท่ากับ .10 .13 และ -.08 ตามลำดับ ตัวแปรความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก ได้ร้อยละ 83

โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากและสภาวะอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

ณัฐวุธ แก้วสุทธา [1]

อังศินันท์ อินทรกำแหง [2]

พัชรี ดวงจันทร์ [3]

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากตามสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 391 คน โมเดลตามสมมติฐาน ประกอบด้วยตัวแปรแฝง 7 ตัว ที่วัดค่ามาจากตัวแปรสังเกตได้ 15 ตัว ประกอบด้วย ตัวแปรแฝงภายนอก ได้แก่ 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และ 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค และ 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ ตัวแปรแฝงภายใน ได้แก่ 1) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 2) พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก และ 3) สภาวะอนามัยช่องปากเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 6 ระดับ และแบบตรวจอนามัยช่องปาก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐานและลิสเรล ผลการวิจัยพบว่า โมเดลความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุตามสมมติฐานมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่า X2= 220.03, df= 71, p-value = 0.00001, X2/ df = 3.45 ; RMSEA = 0.073 ;RMR = 0.085 ; CFI = 0.87 ; AGFI = 0.88 ; GFI = 0.93 และปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก คือ ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีค่าอิทธิพล เท่ากับ .79 .01 และ .27ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก คือ ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ โดยมีค่าอิทธิพลเท่ากับ .10 .13 และ -.08 ตามลำดับ ตัวแปรความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก ได้ร้อยละ 83

 

คำสำคัญ: พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก ปัจจัยเชิงสาเหตุ วัยรุ่นตอนต้น

บทนำ

ปัญหาทางสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและทำลายสุขภาพของประชาชน โดยโรคในช่องปากที่พบมากและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในวัยรุ่นตอนต้น ได้แก่ โรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ  จากรายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญทางระบาดวิทยา เนื่องจากเป็นอายุที่มีฟันแท้ขึ้นครบ 28 ซี่ในช่องปาก ซึ่งอัตราการเกิดโรคฟันผุในวัยนี้ จะใช้เพื่อทำนายแนวโน้มการเกิดโรคฟันผุในวัยผู้ใหญ่  จากการสำรวจสภาวะโรคฟันผุในฟันแท้ในกลุ่มอายุ 12 ปี พบว่า ร้อยละ 56.9 ของเด็กมีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุ ค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด (DMFT) เท่ากับ 1.64 ซี่/คน ทั้งนี้ฟันที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะยังไม่ได้รับการรักษาคิดเป็น ร้อยละ 54.2 สำหรับสถานการณ์ปัญหาสภาวะเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ในวัยรุ่นตอนต้น พบว่า มีเด็กอายุ 12 ปีเพียงร้อยละ 18 ที่มีเหงือกปรกติ ในขณะที่ร้อยละ 58.9 ของเด็กอายุ 12 ปีมีเหงือกอักเสบ เฉลี่ย 2.94 ส่วนจาก 6 ส่วน (Sextant) ทั้งนี้ร้อยละ 35.7 จะมีหินน้ำลายร่วมด้วย ทั้งนี้ยังคงมีเด็กอีกร้อยละ 22.4 ที่มีหินน้ำลายในช่องปากโดยไม่มีการอักเสบของเหงือก ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการขูดหินปูนด้วยเนื่องจากเด็กเหล่านี้มีโอกาสที่จะพัฒนาเกิดเป็นเหงือกอักเสบได้ (กองทันตสาธารณสุข, 2550) ซึ่งโรคในช่องปากดังกล่าว นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว ยังยากที่จะบำบัดรักษาฟื้นฟูให้ดีดังเดิม นอกจากนี้ปัญหาทางทันตสุขภาพยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในระดับส่วนตัวและระดับส่วนรวม กล่าวคือ จะต้องรักษาเสียเงินเสียเวลา และรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อใช้จ่ายในการบรรเทาและแก้ปัญหาทันตสาธารณสุข

ซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการบริการทางทันตสาธารณสุข และพัฒนาคุณภาพการให้การรักษาโดยการขยายระบบบริการทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ครอบคลุมการบริการและพัฒนาคุณภาพในด้านการบริการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทางทันตกรรมโดยมีการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งทางด้านวิทยาการในการบำบัดและรักษาฟื้นฟูสภาพในช่องปาก ทั้งนี้ศาสตร์การดูแลทันตสุขภาพเท่าที่ผ่านมา มักจะเน้นเฉพาะศาสตร์ทางชีวภาพเป็นส่วนใหญ่เพราะ ผู้รับผิดชอบในการดูแลทันตสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน ถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของทันตบุคลากรซึ่งมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ทางชีวภาพ ทำให้การให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมและพฤติกรรมศาสตร์น้อยมาก ทั้งที่ปัจจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคในช่องปากมาก เพราะปัญหาทันตสุขภาพต่างๆ เกิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของตัวบุคคลเอง เช่น พฤติกรรมการไม่แปรงฟัน การบริโภคอาหารหวานและขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งแม้ทันตบุคลากรจะทุ่มเทความพยายามในการรักษาเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดีแบบยั่งยืนได้ ถ้าไม่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนดูแลอนามัยส่วนบุคคลของตนเองได้ (นฤมล สีประโค.2550)ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากที่มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะโรคทางช่องปากเหล่านี้สามารถดูแลรักษาให้หายเองได้ด้วยตนเอง ถ้าพบในระยะต้นๆ และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก ทั้งนี้ พบว่ามีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ที่ศึกษาการดูแลอนามัยช่องปากในเด็กก่อนวัยเรียนแล้ว แต่การศึกษาในกลุ่มวัยรุ่นในเรื่องดังกล่าวมีน้อยมาก เช่น การศึกษาของ เมธินี คุปพิยานันท์ (2546) เป็นการวิจัยในเชิงทดลองเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของการฝึกอบรมทางจิตพฤติกรรมของเด็กนักเรียน หรือการศึกษาของ วรวรรณ อัศวกุล (2552) ที่ศึกษาอิทธิพลการฝึกจิตและทักษะแก่มารดาที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของบุตร หรือ การศึกษาของ ปิยานุช ดวงกางใต้ (2551) และการศึกษาของ วรวรรณ อัศวกุล (2546) ที่ศึกษาปัจจัยทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมารดาในการบริโภคอาหารเพื่ออนามัยช่องปากของบุตรก่อนวัยเรียน

จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ยังขาดองค์ความรู้ในการศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตอนต้น ทั้งๆที่วัยดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทันตสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูง และสถานการณ์ดังกล่าวจะสามารถสะท้อนและส่งผลกระทบต่อสภาวะโรคฟันผุและเหงือกอักเสบในวัยผู้ใหญ่ได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น โดยนำตัวแปรที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นมาสร้างเป็นโมเดลเพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปร และตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลตามสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้ผลการวิจัยเป็นประโยชน์ในการออกแบบชุดฝึกอบรมหรือโปรแกรมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปากแก่ทันตบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

 สมมติฐานของการวิจัย

ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นมีปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย โดยจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ (KAP)ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) ของเบกเกอร์ (Becker, 1975) และแนวคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social Cognitive Learning Theory) ของแบนดูรา(Bandura, 1977) และงานวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีปัจจัยเชิงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน โดยอาจเกิดจากกลุ่มตัวแปรทางด้านจิตลักษณะที่ทำให้เกิดพฤติกรรม หรือ กลุ่มตัวแปรทางสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ทั้งนี้ ผลการประมวลงานวิจัยปรากฏข้อค้นพบว่ามีปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก 5 กลุ่มปัจจัย คือ 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และ 5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  (ณัฐวุธ, 2556) ดังแสดงในภาพประกอบที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปากต่อไปนี้

 

กรอบแนวคิดการวิจัย

จากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ (KAP)ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) ของเบกเกอร์ (Becker, 1975) และแนวคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social Cognitive Learning Theory) ของแบนดูรา(Bandura, 1986) แนวคิดการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Bandura, 1977; Allen, 2004) แนวคิดเรื่ององค์ประกอบของเจตคติและการเปลี่ยนแปลงเจตคติ (Triandis, 1971) และ ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มาใช้เพื่อเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยคาดว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรคจะมีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ส่วนสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติจะมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น และการรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรคจะมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านเจตคติที่ดีต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น และความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากจะมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านเจตคติที่ดีต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น 

วิธีดำเนินการวิจัย

การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุเพื่อตรวจสอบโมเดลความ สัมพันธ์เชิงสาเหตุของตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในเขตพื้นที่การศึกษาเขต 7 จังหวัดนครนายก ซึ่งมีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,912 คน โดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้อัตราส่วนระหว่างหน่วยตัวอย่างกับจำนวนพารามิเตอร์หรือตัวแปรสังเกตได้เป็น 20 ต่อ 1 (Lindeman, Merenda,& Gold, 1980 อ้างใน นงลักษณ์ วิรัชชัย, 2542) สำหรับโมเดลครั้งนี้ มีตัวแปรสังเกตได้ 15 ตัวแปร จึงควรได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง อย่างน้อยจำนวน 300 คน ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 391 คน ซึ่งผู้วิจัยจึงได้ทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratifiedrandom sampling) โดยใช้ขนาดของโรงเรียนเป็นชั้นในการสุ่มด้วยวิธีการเทียบสัดส่วน ทั้งนี้เพื่อกระจายความเป็นตัวแทนของประชากร แล้วจึงทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบง่าย

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะข้อคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 6 ระดับ มี 1 ฉบับ จำนวน80 ข้อแบ่งออกเป็น 8 ตอน สำหรับวิธีการตรวจสอบเพื่อหาคุณภาพของเครื่องมือวัด ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อคำถามรายข้อ เพื่อหาค่า Item total correlationและหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบัค (Cronbach’s alpha coefficient) โดย ตอนที่ 1 เป็น แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามการบริโภคเพื่ออนามัยช่องปาก ตอนที่ 3 เป็นแบบสอบถามความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.70  ตอนที่ 4 เป็นแบบสอบถามเจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.62  ตอนที่ 5 เป็นแบบสอบถามการรับรู้ภาวะคุกคามของโรค จำนวน 10 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.68  ตอนที่ 6 เป็นแบบสอบถามปัจจัยสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.72  ตอนที่ 7 เป็นแบบสอบถามการรับรู้ความสามารถตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก จำนวน 10 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.78  และตอนที่ 8 เป็นแบบสอบถามการควบคุมตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก จำนวน 10 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.82  และแบบตรวจฟัน 2 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่1 แบบตรวจคราบอ่อน (Debris index) และ ตอนที่ 2 แบบประเมินทักษะการแปรงฟันที่ถูกวิธี (Oral Hygiene Skill Achievement Index :S.A.I)

การวิเคราะห์ข้อมูล นำแบบสอบถามที่ได้มาตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้และนำไปวิเคราะห์หาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความเบ้ ค่าความโด่ง ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด วิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสังเกตได้ในโมเดลโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson product moment correlationcoefficient) ทำการตรวจสอบ ความกลมกลืนของโมเดลการวัดตัวแปรแฝงด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis) ตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลตามสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งใช้ค่า χ2/df, GFI, AGFI,RMR และ RMSEA เป็นดัชนีวัดระดับความกลมกลืน

โดยใช้โปรแกรมประยุกต์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์เส้นทาง (Path coefficient) ในโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ โดยการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรง (Direct effect: DE) อิทธิพลทางอ้อม(Indirect effect: IE) และอิทธิพลรวม (Total effect:TE) ของตัวแปรต่างๆ ภายในโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น เขตพื้นที่การศึกษา 7 จังหวัดนครนายก 

สรุปผลและอภิปรายผลการวิจัย

          สรุปผลการวิจัย

จากการวิจัย สามารถสรุปผลได้ดังนี้

1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ในการเก็บข้อมูลได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน 391 ชุด เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยของตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา พบว่า ตัวแปรสังเกตทั้ง 15 ตัวแปร มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2.02-5.04

2. ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสังเกตทั้ง 15 ตัวแปรในโมเดล ผลการตรวจสอบพบว่า ตัวแปรสังเกตแต่ละคู่มีความสัมพันธ์กันทั้งในทิศทางบวกและลบ โดยในทิศทางบวก มีค่าอยู่ระหว่าง 0.001 - 0.661 ทั้งนี้ พบว่าคู่ของตัวแปรสังเกตที่มีความสัมพันธ์กันสูงคือ  การรับรู้ความสามารถของตนเอง (se) กับ การควบคุมตนเอง (sc) มีค่าเท่ากับ 0.661 โดยในทิศทางลบ มีค่าอยู่ระหว่างลบ 0.023 - 0.474 ทั้งนี้ พบว่า คู่ของตัวแปรสังเกตที่มีความสัมพันธ์กันสูงคือ  การควบคุมตนเอง (sc) กับ การสนับสนุนทางสังคม (m2) มีค่าเท่ากับ - 0.474 ในภาพรวมแล้วคู่ความสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ 90 มีความสัมพันธ์อยู่ระหว่าง .200 - .700 ก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์สมการโครงสร้างเชิงเส้นได้ และยังไม่ละเมิดข้อตกลงเบื้องต้น (Kelloway, 1998)

3. ผลการตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลการวัด โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันเพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นของโมเดล พบว่า โมเดลการวัดองค์ประกอบทั้ง 5 โมเดลประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และ 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค และ 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และ 5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทุกโมเดลมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งพิจารณาได้จากค่าน้ำหนักองค์ประกอบมาตรฐานพบว่า มีค่าอยู่ระหว่าง 0.04 – 0.83 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทุกค่า

4. การวิเคราะห์ข้อมูล นำแบบสอบถามที่ได้มาตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้และนำไปวิเคราะห์หาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความเบ้ ค่าความโด่ง ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด วิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสังเกตได้ในโมเดลโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson product moment correlationcoefficient) ทำการตรวจสอบ ความกลมกลืนของโมเดลการวัดตัวแปรแฝงด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis) ตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลตามสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งใช้ค่า χ2/df, GFI, AGFI,RMR และ RMSEA เป็นดัชนีวัดระดับความกลมกลืน

โดยใช้โปรแกรมประยุกต์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์เส้นทาง (Path coefficient) ในโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ โดยการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรง (Direct effect: DE) อิทธิพลทางอ้อม(Indirect effect: IE) และอิทธิพลรวม (Total effect:TE) ของตัวแปรต่างๆ ภายในโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น เขตพื้นที่การศึกษา 7 จังหวัดนครนายก

ผลการวิเคราะห์ความกลมกลืนของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น พบว่า โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุตามสมมติฐานก่อนทำการปรับโมเดล ยังไม่มีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์  ผู้วิจัยจึงทำการปรับแก้โมเดลโดยปรับให้ความคลาดเคลื่อนของตัวแปรสังเกตได้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นไปตามภาพธรรมชาติของตัวแปรต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กันได้ ทำให้ได้โมเดลที่มีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ภายหลังการปรับ พบว่า ค่าสถิติไค-สแควร์มีนัยสำคัญทางสถิติ (χ2=220.03, df= 71, p=.00) ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยการที่ค่าไค-สแควร์มีนัยสำคัญทางสถิติ อาจเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากความซับซ้อนของโมเดล กล่าวคือ ถ้าโมเดลมีเส้นอิทธิพลหรือค่าพารามิเตอร์จำนวนมากก็มีแนวโน้มที่จะมีนัยสำคัญ หรือผลกระทบจากขนาดของกลุ่มตัวอย่าง คือ ถ้าโมเดลที่ทดสอบได้มาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ค่าไค-สแควร์ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีนัยสำคัญ หรืออาจเป็นผลกระทบจากการที่ค่าไค-สแควร์มีความไวต่อการละเมิดข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับการแจกแจง แบบปกติพหุตัวแปร (Multivariate Normality)(Joreskog & Sorbom, 1996) ส่วน χ2/df, GFI,AGFI, RMR และ RMSEA มีค่าเท่ากับ 3.45, 0.93, 0.88, 0.085 และ 0.073 ตามลำดับ ซึ่งดัชนีทุกค่ามีค่าที่ดีขึ้น โดยโมเดลที่มีการแก้ปรับแล้วนั้น ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับจะเห็นว่า โมเดลที่ได้จึงมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์มากที่สุด ดังนั้น โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ตามสมมติฐานที่ได้หลังการแก้ปรับมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในระดับพอใช้

ภาพประกอบ 2 ผลการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก

ของวัยรุ่นตอนต้น

ตาราง 1 ค่าดัชนีความกลมกลืนที่ได้จากการวิเคราะห์ เกณฑ์และผลการพิจารณา (ก่อนและหลังปรับ)

 

ดัชนี

เกณฑ์

ค่าดัชนีก่อนปรับ

ค่าดัชนีหลังปรับ

ผลการพิจารณา

χ2 , p

p > .05

474.61, 0.00

220.03, 0.00

ไม่ผ่านเกณฑ์

χ2/df

< 5.00

5.79

3.45

ผ่านเกณฑ์

GFI

> .90

0.86

0.93

ผ่านเกณฑ์

AGFI

> .90

0.80

0.88

ไม่ผ่านเกณฑ์

RMR

< .08

0.60

0.08

ผ่านเกณฑ์

RMSEA

< .08

0.111

0.073

ผ่านเกณฑ์

 

5. ผลการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวมต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น พบว่า พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นได้รับอิทธิพลทางตรงจากตัวแปรความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีค่าสัมประสิทธิ์เส้นทางมาตรฐานเท่ากับ .79 .01 และ .27ตามลำดับ ส่วนตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อ

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น คือ ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และเจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก โดยมีค่าสัมประสิทธิ์เส้นทางมาตรฐานเท่ากับ .10, - 0.08 และ .13 ตามลำดับ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์การพยากรณ์ (R2) ดังแสดงในตาราง 2

ตาราง 2 คะแนนมาตรฐานของอิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อมและอิทธิพลรวมระหว่างตัวแปรเชิงอิสระ กับ

ตัวแปรตาม

ตัวแปรตาม

R2

ความ สัมพันธ์

ตัวแปรอิสระ

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก

สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ

ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก

สภาวะอนามัยช่องปาก

0.04

DE

IE

TE

0.20

-

0.20

-

0.05*

0.05*

-

0.03

0.03

-

- 0.02*

- 0.02*

-

0.17

0.17

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก

0.83

DE

IE

  TE

-

-

-

0.27

-

0.27

0.01

0.13

0.14

-

- 0.08

- 0.08

0.79

0.10

0.89

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

0.31

DE

IE

  TE

-

-

-

-

-

-

0.49*

-

0.49*

- 0.32*

-

- 0.32*

-

0.34*

0.34*

การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค

0.50

DE

IE

  TE

-

-

-

-

-

-

0.69*

-

0.69*

- 0.24*

-

- 0.24*

-

0.49*

0.49*

เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก

0.49

DE

IE

  TE

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

0.70*

-

0.70*

χ2= 220.03, df= 71, p-value = 0.00001,  χ2/ df = 3.45 ; RMSEA = 0.073 ; RMR = 0.085 ; CFI = 0.87 ; AGFI = 0.88 ; GFI = 0.93

DI = อิทธิพลทางตรง ( Direct Effect)

IE = อิทธิพลทางอ้อม (Indirect Effect)

TE = อิทธิพลโดยรวม (Total Effect)

* มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 

อภิปรายผลการวิจัย

จากโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น พบว่า ตัวแปร

ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ได้ร้อยละ 83 ส่วนที่เหลือเป็นอิทธิพลของตัวแปรอื่นที่ไม่ได้ถูกเลือกเข้ามา ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ได้รับอิทธิพลทางตรงจากตัวแปรตัวแปรความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และเจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก โดยผ่านตัวแปรเจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปากและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และโมเดลตามสมมติฐานมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ในระดับพอใช้ สามารถแยกอภิปรายผลการวิจัยได้ดังนี้

          1. ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก มีอิทธิพลทางตรง และส่งผลโดยอ้อมผ่านเจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปากต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ 0.79 และ 0.10 ตามลำดับ ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้มีสอดคล้องกับหลายการศึกษา เช่น การศึกษาของภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง (2536) ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี ซึ่งพบว่าความรู้เรื่องทันตสุขภาพของนักเรียนมีผลต่อพฤติกรรมทันตสุขภาพของนักเรียน และการศึกษาของ พรทิพย์ วงศ์พิทักษ์ (2541) ศึกษาในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในเขตตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่า ความรู้มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติเกี่ยวกับทันตสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 %และ การศึกษาของ เย็นจิต ไชยฤกษ์ (2542) ที่ศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดปทุมธานี ที่พบว่าความรู้ของนักเรียนมีความสัมพันธ์ต่อการปฏิบัติด้านทันตสุขภาพของนักเรียน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากความรู้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อความคิดและกพฤติกรรมต่างๆของนักเรียน

          2. เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปากมีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นโดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ 0.13 สอดคล้องกับหลายการศึกษา เช่น การศึกษาของมาซาลูและแอสตรอม (Masalu and Astrom. 2001) และ คาสเซมและคณะ (Kassem et al. 2003) ที่พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมในการบริโภคเครื่องดื่ม คอนเนอร์และคณะ (Conner et al. 2002: 194-201) และ แบคแมนและคณะ (Backman et al. 2002: 184-93) ที่พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารได้ สอดคล้องกับโบเกอร์และคณะ (Bogers et al. 2004: 157-66) พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคผลไม้และผักได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับวิจัยหลายเรื่องในประเทศไทย เช่น การศึกษาของ เตือนใจ เทียนทอง (2546) พบว่า วัยรุ่นที่มีเจตคติที่ดีต่อการส่งเสริมสุขภาพสูง มีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพสูงกว่าวัยรุ่นที่มีเจตคติที่ดีต่อการส่งเสริมสุขภาพต่ำกว่า สอดคล้องกับการศึกษาของ กฤษณา วุฒิสินธ์ (2546) เย็นจิต ไชยฤกษ์ (2542) และ ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง (2536) ที่พบว่า เจตคติมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมดูแลทันตสุขภาพของนักเรียน

          3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ 0.27 ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้ สอดคล้องกับหลายการศึกษา เช่นการศึกษาของ เตือนใจ ภาคภูมิ (2543) ที่พบว่า นักเรียนที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองสูงจะมีพฤติกรรมการทำความสะอาดช่องปากดีกว่าเด็กที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำกว่า หรือ รำพึง ษรบัณฑิต (2536) และการศึกษาของ ธงชัย ปรีชา (2540) เยาวลักษณ์ ตรีธัญญาทรัพย์ (2535: 121-124) ที่ต่างพบว่า การรับรู้ในความสามารถของตนเองในการป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

          4.สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติมีอิทธิพลโดยอ้อมผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ -0.08 ซึ่งแสดงว่า หากนักเรียนมีการรับรู้ข่าวสารที่กระตุ้นการดูแลอนามัยช่องปาก การสนับสนุนจากสังคมหรือได้อิทธิพลจากเพื่อนมาก อาจจะส่งผลให้มีการรับรู้ความสามารถของตนเองในการดูแลสุขภาพของตนเองน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สนใจพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากได้ ทั้งนี้ เนื่องจากพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปากนั้นเป็นพฤติกรรมที่ต้องอาศัยแรงจูงใจภายในตนเองหรือความคาดหวังผลลัพธ์ของการปฏิบัติของตนเองสูง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแบนดูรา(Bandura. 2000) ซึ่งอธิบายว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองมีผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก และแรงจูงใจที่บุคคลจะมีต่อตนเองรวมไปถึงพฤติกรรมที่เขาจะทำ โดยบุคคลใดมีการรับรู้ความสามารถของตนต่อการกระทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งสูง บุคคลก็มีแนวโน้มที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นสูงด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลมีการรับรู้ความสามารถของตนในการกระทำพฤติกรรมนั้นต่ำ บุคคลก็มีแนวโน้มที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นต่ำ หรืออาจไม่ทำพฤติกรรมนั้นเลยก็ได้

ผลจากการวิจัยดังกล่าวสามารถสรุปการอภิปรายในเชิงการนำไปใช้งานได้ว่า การจะแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพสำหรับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดอิทธิผลของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ขัดขวางพฤติกรรม และเพิ่มความเข้มแข็งให้ปัจจัยทางจิตบางประการ ดังเช่น การให้ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากสอดแทรกไปในรายวิชาปกติในชั้นเรียน การปรับเปลี่ยนเจตคติของนักเรียนให้มีความรู้สึกชอบเห็นคุณค่าของการดูแลอนามัยช่องปาก การทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบและภัยคุกคามต่อสุขภาพช่องปากอันเกิดจากการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การส่งเสริมให้ครอบครัว-เพื่อนและครูให้มีบทบาทที่สำคัญในการชักจูงให้วัยรุ่นตอนต้นสนใจการดูแลอนามัยช่องปาก รวมถึงการจัดกิจกรรมเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองและควบคุมตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก จึงจะเป็นการกระทำที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเหตุปัจจัยของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นได้ทั้งหมด

ข้อเสนอแนะ

ผลการวิจัยที่ได้รายงานถึงค่าสัมประสิทธิอิทธิพลของตัวแปรที่ทำการศึกษาในแบบจำลอง การวิเคราะห์ถึงจุดเด่นและจุดด้อยของการนำเทคนิคการวิเคราะห์สมการโครงสร้างเชิงเส้นมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไปดังนี้

          1. ควรนำเทคนิคการวิจัยในเชิงคุณภาพเข้ามาใช้เพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในสถานการณ์จริงของโครงการโรงเรียนส่งเสริมทันตสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าถึงปัจจัยที่ค้นพบในเชิงปริมาณ 

2. เนื่องจากในบริบทของการเรียนและกิจกรรมในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนในเขตเมือง ดังเช่นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความแตกต่างไปจากโรงเรียนในต่างจังหวัด แบบจำลองดังกล่าวจึงอาจจะนำไปใช้อธิบายปรากฎการณ์ได้มีข้อจำกัด ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบความสามารถของแบบจำลองที่จะใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์นี้ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในต่างจังหวัดได้ การวิจัยครั้งต่อไปควรจะทำการตรวจสอบความไม่แปรเปลี่ยนของแบบจำลองในกลุ่มนักเรียนในเขตเมืองและต่างจังหวัดด้วย

3. ควรมีการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นที่มีประสิทธิผล โดยอาจมีการศึกษาในลักษณะเป็นการวิจัยผสานวิธี (Mixed Method) ซึ่งระยะแรกอาจเป็นการวิจัยศึกษาหาความสัมพันธ์เปรียบเทียบ (Correlation comparative Study) เพื่อแสวงหาปัจจัยเชิงสาเหตุทางด้านจิตลักษณะและสถานการณ์ของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น แล้วนำผลวิจัยที่สำคัญมากำหนดเนื้อหาในการสร้างเป็นชุดฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการวิจัยระยะต่อมาควรทำการวิจัยเชิงทดลอง (Experiment study) เพื่อยืนยันประสิทธิผลของชุดฝึกอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น อันจะทำให้เกิดประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น และสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการป้องกันและควบคุมโรคฟันผุและเหงือกอักเสบที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อเกิดประโยชน์ในงานด้านทันตสาธารณสุขของประเทศในวงกว้างต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย.(2556). รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7

ประเทศไทย พ.ศ.2551-2555. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย.(2556). รายงานผลการสัมภาษณ์กลุ่มอายุ 12 ปี และ 15 ปีในการสำรวจ

สภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7 ประเทศไทย พ.ศ.2551-2555. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย.(2551). รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 6

ประเทศไทย พ.ศ.2549-2550. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักกิจกรรมองค์การทหารผ่านศึก.

กฤษณา วุฒิสินธ์. (2546). ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตนเองด้านทันตสุขภาพของครอบครัวและการ

เกิดสภาวะโรคฟันน้ำนมผุในเด็กก่อนวัยเรียน จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต. (ประชากรศึกษา). กรุงเทพฯ:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

เตือนใจ เทียนทอง. (2546). ปัจจัยทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของเยาวชนในโรงเรียน

มัธยมศึกษาตอนปลาย เขตการศึกษา 1 . ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (การวิจัยและพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ธงชัย ปรีชา. (2540). การเปรียบเทียบประสิทธิผลของโปรแกรมทันตสุขศึกษา 3 รูปแบบในการปรับเปลี่ยน

พฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ วท.ม. (สุขศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ณัฐวุธ แก้วสุทธา, อังศินันท์ อินทรกำแหง, พัชรี ดวงจันทร์ (2556). ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแล

อนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น. วารสารพฤติกรรมศาสตร์, 19(2), 153-164. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์.

นงลักษณ์ วิรัชชัย. (2542). โมเดลลิสเรล: สถิติวิเคราะห์สำหรับการวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย.

นฤมล สีประโค (2550). ความสัมพันธ์ของความรู้ ความเชื่อในประสิทธิภาพแห่งตน การบริโภคอาหารเพื่ออนามัย

ช่องปากกับการป้องกันการเกิดโรคในช่องปากของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น   โรงเรียนศรีวิชัยวิทยาอำเภอเมือง   จังหวัดนครปฐม.ปริญญานิพนธ์ วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน). นครปฐม : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

พรทิพย์ วงศ์พิทักษ์. (2541) .ความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่

6 ในเขตตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. ภาคนิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

เพ็ญแข ลาภยิ่ง, เสกสรรค์ พวกอินแสง. (2555). ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์

สุขภาพช่องปากแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559.  สำนักทันตสาธารณสุข.

ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง. (2536). การศึกษาพฤติกรรมสุขภาพเกี่ยวกับทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เมธินี คุปพิทยานันท์.(2546).ประสิทธิผลของโปรแกรมฝึกอบรมทางจิตพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อปลูกฝังและพัฒนา

พฤติกรรมทันตสุขภาพ เด็กนักเรียนประถมศึกษา.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย.สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.กรุงเทพฯ.

เย็นจิต ไชยฤกษ์.(2542).พฤติกรรมทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัด

กรมสามัญศึกษา จังหวัดปทุมธานี.ปริญญานิพนธ์ กศ.ม.(สุขศึกษา) .กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เยาวลักษณ์ ตรีธัญญาทรัพย์.(2538). การประยุกต์ทฤษฎีความสามารถตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้าน

สุขภาพของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี.วิทยานิพนธ์ วท.ม (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

เยาวลักษณ์ ศุภกรรม.(2540).ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการปฏิบัติเกี่ยวกับการ

ป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.วิทยานิพนธ์ วท.ม (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

รำพึง ษรบัณฑิต.(2537). ประสิทธิผลของโปรแกรมสุขศึกษาในการป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบของนักเรียน

ประถมศึกษาปีที่ 6 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก.วิทยานิพนธ์ วท.ม (สุขศึกษา).กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

วิธี แจ่มกระทึก. (2541). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา

ตอนปลาย โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. จิตวิทยาการแนะแนว). กรุงเทพฯ :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สดุดี ภูห้องไสย. (2541). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอ

เมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์. วท.ม. (อนามัยครอบครัว). กรงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุดารัตน์ สุขเจริญ.(2540). ความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับทันตสุขภาพของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี

ที่ 6 ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต.กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. (2556). คู่มือบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ

2556. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด.

Bandura, A. (1977). Social Learning Theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Bandura. A. (2000). Self efficacy: The Exercise of Control. 4th ed. New York: W.H. Freeman & Co

Becker,MH.&Maiman,L.(1975,January).Sociobehavioral Determinants of Compliance with HealthMedical Care Recommendation. Medical Care,13(1),12.

Backman, Desiree R.; et al. (2002). Psychosocial Predictors of Healthful Dietary Behavioron

Adolescents. J Nutr Educ Behav. 34: 184-93.

Bogers, R.P.; et al. (2004) Explaining Fruit and Vegetable Consumption: the Theory ofPlanned

Behaviour and Misconception of Personal Intake Levels. Appetite. 42: 157-66.

Borzekowski Dina LG, Robinson TN. (2001). The 30-second effect: an experiment revealing the

impact of television    commercials on food preferences of preschools. J Am Diet Assoc; 101:42-46.

Conner, Mark; Norman, Paul; Bell, Russell.(2002). The Theory of Planned   Behavior and Healthy Eating. Health           Psychology. 21(2): 194-201.

Joreskog, K. G. & Sorbom, D. (1996). LISREL 8:User's reference guide. Chicago, IL:Scientific

Software International.

Kelloway, E. K. (1998). Using LISREL for structural equation modeling : a researcher's guide.

Thousand Oaks : Sage.

Masalu, J.R.; Astrom, A.N. (2001). Predicting Intended and Self-perceived Sugar Restriction among

Tanzanian Students Using the Theory of Planned Behavior. Journal of Health Psychology. 6(4): 435-45.

*************************************


 

หมายเลขบันทึก: 562809เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท